×

World Cup Memo Day 23: สิงโตคำรามกับคำถามสำคัญ อยากให้เซาท์เกตอยู่หรือไป?

12.12.2022
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 MIN READ
  • หากนิยามของความสำเร็จหมายถึงการได้โทรฟีสีทองกลับมา การพลาดหวังที่จะเป็นแชมป์ฟุตบอลโลก ทั้งๆ ที่มีทีมที่ถือว่าดีและพร้อมที่สุดในรอบหลายทศวรรษ ก็จะหมายถึงความล้มเหลวของทีมชาติอังกฤษ
  • นิยามความสำเร็จและความล้มเหลวของทีมชาติอังกฤษนั้นจะแปรผกผันโดยตรงกับอนาคตของ แกเร็ธ เซาท์เกต ผู้จัดการทีมชาติ ที่ในตอนนี้อย่าว่าแต่สมาคมฟุตบอลอังกฤษจะยังไม่ตัดสินใจ เจ้าตัวเองก็ยังไม่รู้ใจตัวเองเหมือนกันว่าจะทำอย่างไรต่อไป

ทีมชาติอังกฤษเดินทางกลับจากประเทศกาตาร์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว หลังเส้นทางของพวกเขาสิ้นสุดลงแค่รอบ 8 ทีมสุดท้าย เมื่อไม่สามารถผ่านด่านแชมป์โลกอย่างฝรั่งเศสได้

 

ข่าวดีเล็กๆ สำหรับแฟนทีมสิงโตคำรามที่เป็นทาสแมวด้วยคือ ‘Dave the Cat’ เจ้าแมวที่โผล่มาเรียกร้องความสนใจเสมอในแคมป์นักเตะทีมชาติอังกฤษ จนเป็นเหมือนตัวนำโชคนั้น ได้เดินทางกลับมาด้วย


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


ตามรายงานข่าวไม่ได้บอกว่าใครเป็นผู้รับเลี้ยงเดฟ แต่ก็คงหนีไม่พ้น จอห์น สโตนส์ ซึ่งเป็นคนตั้งชื่อให้และ ไคล์ วอล์กเกอร์ ที่เป็นเพื่อนร่วมทีมแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ที่หลงคุณเดฟเข้าจนเกินกว่าจะตัดใจอำลาจากกันได้

 

เรียกว่าถึงไม่ได้ถ้วยฟุตบอลโลกกลับมาด้วย แต่อย่างน้อยได้แมวกลับมาก็ถือว่าไม่ล้มเหลว!

 

และเอาเข้าจริงก็ยังเป็นเรื่องยากที่จะตัดสินว่า ตกลงแล้วทีมชาติอังกฤษล้มเหลวหรือไม่ในฟุตบอลโลกครั้งนี้?

 

เรื่องนี้เป็นประเด็นคำถามที่พูดคุยกันได้ยาว และดูเหมือนจะไม่มีคำตอบที่ถูกหรือผิด เป็นสีขาวกับดำที่ชัดเจน มันออกแนวสีเทาๆ ที่ยังก้ำกึ่งเสียมากกว่า ว่าสุดท้ายชาวอังกฤษนิยามความหมายของคำว่าความสำเร็จและความล้มเหลวเอาไว้อย่างไร

 

หากนิยามของความสำเร็จหมายถึงการได้โทรฟีสีทองกลับมา การพลาดหวังที่จะเป็นแชมป์ฟุตบอลโลก ทั้งๆ ที่มีทีมที่ถือว่าดีและพร้อมที่สุดในรอบหลายทศวรรษ ก็จะหมายถึงความล้มเหลว

 

แต่หากมองว่าความสำเร็จเป็นเรื่องของ ‘กระบวนการ’ การที่ทีมชาติอังกฤษสามารถปักหลักต่อกรกับแชมป์โลกที่แข็งแกร่งที่สุดอย่างฝรั่งเศสในแบบ ‘Toe-to-Toe’ และแพ้ฉิวเฉียดแค่เพียงปลายนิ้วก้อยแบบนี้ ก็น่าจะพอเรียกว่าเป็นความสำเร็จได้

 

ทีนี้ความสำเร็จและความล้มเหลวของทีมชาติอังกฤษนั้นจะแปรผกผันโดยตรงกับอนาคตของ แกเร็ธ เซาท์เกต ผู้จัดการทีมชาติ ที่ในตอนนี้อย่าว่าแต่สมาคมฟุตบอลอังกฤษจะยังไม่ตัดสินใจ เจ้าตัวเองก็ยังไม่รู้ใจตัวเองเหมือนกันว่าจะทำอย่างไรต่อไป

 

เพราะตลอดระยะเวลา 6 ปีนับตั้งแต่ที่รับตำแหน่งมาในฐานะ ‘มวยแทน’ แต่ทำผลงานได้เป็นที่น่าประทับใจ เปลี่ยนทีมชาติอังกฤษจากทีมที่ไม่เป็นโล้เป็นพายให้กลายมาเป็นหนึ่งในทีมระดับท็อปของโลกได้อีกครั้งนั้น เซาท์เกตก็ยังไม่ได้รับการยอมรับอย่างเต็มตัวและเต็มใจสำหรับใครหลายคน

 

ส่วนหนึ่งเป็นเพราะหากเป็นเรื่องของทีมชาติอังกฤษ สำหรับชาวอังกฤษแล้ว ‘ดีแค่ไหนก็ไม่เคยพอ’

 

การพาทีมเข้ารอบรองชนะเลิศฟุตบอลโลก 2018 เป็นความสำเร็จที่ไม่มีใครคาดคิด ถูกต่อยอดด้วยการพาทีมเข้ารอบชิงชนะเลิศฟุตบอลยูโร 2020 ที่ทำให้ทุกคนเริ่มคิดว่าจะถึงเวลา ‘It’s coming home’ แล้ว แต่ทั้งสองครั้งก็จบลงด้วยความผิดหวัง

 

ถ้าเป็นภาษาบ้านเราก็น่าจะเรียกว่า ‘ดีแต่ไม่สุด’

 

เซาท์เกตเองยังเผชิญกับกระแสวิพากษ์ในการทำงานมาตลอด โดยเฉพาะเรื่องของรูปแบบ วิธีการเล่น และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดตัวผู้เล่นที่หลายครั้งต้องยอมรับว่านายใหญ่สิงโตคำรามจัดทีมค้านทั้งสายตาและน่าคาใจ

 

ทำไมไม่เลือกคนนั้น ทำไมถึงส่งคนนี้ ทำไมไม่ทำแบบนี้ ทำไมไม่ทำแบบนั้น เรียกว่ามีคำถามมากมายก่ายกองไปหมด ซึ่งคำถามเหล่านี้บ่อยครั้งก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ว่าทำไมถึงเกิดคำถามขึ้นมา 

 

เพียงแต่มันก็เป็นเรื่องของคำว่าถูกต้องกับคำว่าถูกใจที่ไม่มีใครตัดสินได้อีก และการตัดสินใจของเซาท์เกตก็ไม่ใช่จะผิดทั้งหมด ส่วนใหญ่มักจะถูก แค่ขาดบางสิ่งบางอย่างเท่านั้น

 

ไม่นับเรื่องของการแก้ไขสถานการณ์ภายในเกมที่บางครั้งตัดสินช้า จนสุดท้ายสายเกินไปที่จะเปลี่ยนแปลงอะไรได้

 

มือไม่ถึง! คนจำนวนมากฟันธงไปแล้ว ในขณะที่คนอีกจำนวนไม่น้อยตั้งคำถามในทำนองเดียวกันว่า เมื่อพิจารณาจากทรัพยากรที่มีในมือแล้ว ทีมชาติอังกฤษควรจะไปได้ไกลกว่านี้อีกหรือไม่ ซึ่งก็มีการเปรียบเทียบว่าครั้งยังเป็นผู้เล่น เซาท์เกตก็ไม่เคยประสบความสำเร็จ (และเคยเจอฝันร้ายในฟุตบอลยูโร 1996 ด้วย) แตกต่างกับ ดิดิเยร์ เดส์ชองส์ ที่เคยพิชิตแชมป์โลกมาแล้วทั้งตอนเป็นผู้เล่นและเป็นโค้ช ทำให้รู้ว่า ‘ต้องทำอะไร’ ถึงจะไปสู่จุดสูงสุดได้

 

จูด เบลลิงแฮม สิ่งดีงามที่สุดสำหรับทีมชาติอังกฤษในฟุตบอลโลกครั้งนี้ ก็ได้รับโอกาสจาก แกเร็ธ เซาท์เกต

 

สิ่งเหล่านี้เองที่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าบั่นทอนกำลังใจของคนทำงาน ลองจินตนาการดูว่าหากทำงานอยู่แล้วโดนตั้งคำถามในเรื่องการทำงาน ทั้งวิธีการทำงานไปจนถึงผลลัพธ์ในการทำงาน ทั้งๆ ที่มันก็ไม่ได้แย่และออกจะดีกว่าที่ผ่านมาด้วยซ้ำ ความรู้สึกนั้นจะเป็นอย่างไร?

 

นี่เป็นสาเหตุที่ทำให้เซาท์เกต ผู้ที่มีสัญญาผูกพันกับสมาคมฟุตบอลอังกฤษถึงปี 2024 ออกตัวว่าเขายังไม่รู้ใจตัวเองว่าจะอยากรับงานนี้ต่อไปไหม

 

“การจะลุยต่ออีกครั้งมันใช้พลังมากมายมหาศาล เราต้องแน่ใจจริงๆ ว่าพร้อมสำหรับมัน”

 

ในอีกด้าน สมาคมฟุตบอลอังกฤษเองก็ต้องทบทวนเช่นกันว่าจากผลงานใน 3 ทัวร์นาเมนต์ใหญ่ที่ผ่านมา พวกเขาพอใจกับการทำงานของเซาท์เกตแค่ไหน?

 

และอาจต้องเริ่มคิดเผื่อแล้วว่า ถ้าหากต้องการเปลี่ยนแปลงหรือจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลง เพราะผู้จัดการทีมวัย 52 ปีไม่ต้องการจะทำงานต่อไป ใครจะเป็นคนที่เหมาะสมที่จะเข้ามารับตำแหน่งต่อ? จะเป็นชาวอังกฤษเอง หรือจะเป็นโค้ชมือดีต่างชาติ?

 

สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับทีมชาติอังกฤษที่ได้จากฟุตบอลโลกที่กาตาร์คือ การที่นักเตะสายเลือดใหม่ได้ประสบการณ์ของจริงมาไม่น้อย และเด็กๆ เหล่านี้ดีพอจะเรียกได้ว่าเป็น Golden Generation ชุดใหม่เลยทีเดียว

 

จูด เบลลิงแฮม โตเกินกว่าเด็กอายุ 19 ปีไปมาก, บูกาโย ซากา เพิ่งจะ 21 ปี, ฟิล โฟเดน 22 ปี, เมสัน เมาท์, รีซ เจมส์ และ ดีแคลน ไรซ์ อายุแค่ 23 ปี ส่วน อารอน แรมส์เดล อายุ 24 ปีเท่านั้น ขณะที่ มาร์คัส แรชฟอร์ด ก็เพิ่งจะอายุ 25 ปี นักเตะเหล่านี้มีค่าดั่งทอง คือสมบัติที่ล้ำค่าที่สุดของอังกฤษ

 

แฮร์รี เคน ในวัย 30 ปีตอนนี้ ในอีก 4 ปีข้างหน้าต่อให้สภาพร่างกายจะด้อยลง แต่ประสบการณ์ของเขาอย่างน้อยน่าจะพอช่วยทีมได้ในฐานะกำลังเสริม

 

ที่สำคัญคือทีมชุดนี้พอจะพูดได้ว่าเซาท์เกตปั้นมากับมือ หลายคนได้โอกาสเพราะเขารู้จักเด็กเหล่านี้ดีตั้งแต่ครั้งยังเป็นผู้จัดการทีมชาติชุดเล็ก และมากกว่านั้นคือเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่บางทีอาจจะมองข้ามไป อย่างความสามารถในการทำให้บรรยากาศภายในทีมสงบ ทีมมีสปิริต ทุกคนคล้อยตามไปในทางเดียวกัน แทบไม่มีใครแตกแถวให้เห็น

 

เรียกว่าเรื่อง Man Management ของเซาท์เกตถือว่าดีมาก

 

สิ่งเหล่านี้เองก็นำไปสู่ ‘ท่าที’ ที่น่าแปลกใจสำหรับสื่อในอังกฤษ ที่ปกติแล้วหากทีมชาติตกรอบ คนที่จะโดนถล่มยับคือผู้จัดการทีม แต่คราวนี้พวกเขากลับเลือกที่จะปกป้องเซาท์เกต ด้วยการยืนยันว่า ‘นี่แหละคนที่ใช่’ สำหรับทีมชาติอังกฤษ

 

จริงอยู่ที่เซาท์เกตยังไม่สามารถพาทีมไปถึงฝันได้ แต่ ‘กระบวนการ’ มันถูกต้องแล้ว สิ่งที่อังกฤษควรทำคือ ‘การเชื่อมั่นในกระบวนการ’ ว่าสักวันมันจะพาพวกเขาไปถึงฝั่งฝันได้

 

อังกฤษแพ้ฝรั่งเศสแค่เพียงเรื่องของระดับชั้นที่ห่างกันเล็กน้อยแต่สำคัญ ซึ่งสิ่งเหล่านี้สอนกันนอกสนามไม่ได้ ต้องมาสอนกันในสนาม

 

ตามความเห็นจากสื่ออังกฤษค่อนข้างไปในทิศทางเดียวกันว่า ‘วงรอบ’ การทำงานของเซาท์เกตกับทีมชาติอังกฤษยังไม่ครบรอบ เขาควรได้ทำงานต่อไปอย่างน้อยก็ในฟุตบอลยูโร 2024

 

เพียงแต่ในช่วงเวลาที่ทุกคนยังเจ็บและเสียใจอยู่ บางครั้งการตั้งคำถามยากๆ แบบนี้ก็ยากที่จะได้คำตอบกลับมา

 

จะหันไปถาม Dave the Cat ก็ไม่มีคำตอบเหมือนกัน

 

มีเพียงแค่เสียงร้องแง้วๆ และตาแป๋วๆ คู่นั้น (ยอมเป็นทาสให้วันหนึ่งก็ได้)

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising