×

ทั่วโลกจับตา ‘พาวเวลล์’ ขึ้นแถลงสภาคองเกรส หวังรอดูสัญญาณดอกเบี้ย Fed ท่ามกลางวิกฤตยูเครนและเงินเฟ้อ

02.03.2022
  • LOADING...
ทั่วโลกจับตา ‘พาวเวลล์’ ขึ้นแถลงสภาคองเกรส หวังรอดูสัญญาณดอกเบี้ย Fed ท่ามกลางวิกฤตยูเครนและเงินเฟ้อ

ถือเป็นอีกหนึ่งความเคลื่อนไหวที่ได้รับความสนใจจากนักวิเคราะห์ ผู้เชี่ยวชาญ และนักลงทุนในตลาดไม่น้อยในรอบสัปดาห์นี้ สำหรับกำหนดการขึ้นแถลงต่อสภาคองเกรส สหรัฐฯ ในระหว่างวันที่ 2-3 มีนาคมนี้ ของ เจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed)

 

โดยตามกำหนดการ พาวเวลล์จะขึ้นแถลงนโยบายการเงินรายครึ่งปีต่อคณะกรรมาธิการด้านบริการการเงินแห่งสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ในวันที่ 2 มีนาคม และจะแถลงต่อคณะกรรมการด้านการธนาคารของวุฒิสภาในวันที่ 3 มีนาคม ซึ่งการขึ้นแถลงครั้งนี้อาจจะเป็นการแสดงความเห็นต่อสาธารณะของตัวพาวเวลล์เป็นครั้งสุดท้ายที่เกี่ยวกับนโยบายการเงิน ก่อนที่ Fed จะเริ่มดำเนินการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ตั้งเป้าสกัดกั้นตัวเลขเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นทำสถิติแตะระดับสูงสุดในรอบกว่า 40 ปี

 

งานนี้ทางสถานีโทรทัศน์ CNBC ได้รวบรวมความเห็นของนักวิเคราะห์หลายสำนักที่ออกมาคาดการณ์ความเป็นไปได้ของท่าทีของ Fed ในครั้งนี้ ท่ามกลางโจทย์ยากที่ Fed ต้องหาทางตอบให้ได้ว่าจะเผชิญกับความกังวลเกี่ยวกับภาวะเงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ระดับสูง และวิกฤตความขัดแย้งตึงเครียดระหว่างรัสเซียกับยูเครนอย่างไร

 

มาร์ค แซนดิ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จาก Moody’s Analytics กล่าวว่า หน้าที่หลักของประธาน Fed ในครั้งนี้ก็คือการอธิบายให้ความกระจ่างต่อสภาบนและสภาล่างในสหรัฐฯ ว่า Fed จะดำเนินการอย่างไรเพื่อควบคุมเงินเฟ้อควบคู่ไปกับการหาทางตอบรับความคาดหวังของนักลงทุน เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นที่มากพอที่จะยอมเข้าไปลงทุนในตลาด แม้จะมีเหตุพิพาทน่าหวั่นใจกรณีรัสเซียกับยูเครนเกิดขึ้นมาก็ตาม

 

หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จาก Moody’s Analytics กล่าวชัดเจนว่า ความพยายามในการสร้างสมดุลในครั้งนี้ของ Fed ถือเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก แต่โดยส่วนตัวมองว่า พาวเวลล์น่าจะต้องเผื่อทางเลือกไว้หลายเส้นทางเพื่อตอบสนองต่อความไม่แน่นอนที่กระจายอยู่ทั่วตลาด และใช้โอกาสนี้ตอกย้ำกับทางสภาคองเกรสว่าความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นทำให้ Fed ต้องดำเนินการบังคับใช้กฎหมายอย่างระมัดระวังให้มากที่สุด

 

สำหรับการขึ้นแถลงครั้งนี้ นักวิเคราะห์อีกส่วนหนึ่งมองว่า พาวเวลล์อาจจะส่งสัญญาณถึงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรก โดยผลการสำรวจก่อนหน้านี้คาดว่า Fed มีโอกาสปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยที่ 5-7 ครั้งในปีนี้ ที่เป้าอัตราดอกเบี้ยที่ 1.25-1.50 เปอร์เซ็นต์ และ Fed จะดำเนินการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างน้อยครั้งละ 0.25 เปอร์เซ็นต์ แต่สำหรับในการประชุมคณะกรรมการกำกับนโยบายการเงิน (FOMC) ระหว่างวันที่ 15-16 มีนาคมนี้ คาดว่า Fed น่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.50 เปอร์เซ็นต์

 

ขณะที่ทาง ปีเตอร์ บรูควาร์ หัวหน้าเจ้าหน้าที่การลงทุนแห่ง Bleakley Advisory Group กล่าวว่า ตัวพาวเวลล์มีแนวโน้มจะดำเนินการตามสถานการณ์มากกว่าตามกฎหรือระเบียบแบบแผนใดๆ เนื่องจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน ถือเป็นสิ่งที่คาดเดาความแน่นอนใดๆ ได้ยาก ดังนั้นการ ‘รอดู’ สถานการณ์เล่นตามน้ำ จึงเป็นกลยุทธ์ที่ปลอดภัยที่สุดสำหรับพาวเวลล์ในห้วงเวลานี้

 

ด้านนักเศรษศาสตร์ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในปี 2022 นี้จะยังคงสามารถเดินหน้าขยายตัวได้อย่างแข็งแกร่ง แม้ว่าตัวเลขการเติบโตอาจจะน้อยกว่าการเติบโตในปี 2021 เล็กน้อย โดยในการประชุมเดือนธันวาคมปีที่แล้ว Fed คาดการณ์ว่า GDP ของสหรัฐฯ ในปีนี้จะเติบโตเฉลี่ยอยู่ที่ 4 เปอร์เซ็นต์

 

ในมุมมองของบรูควาร์ เศรษฐกิจสหรัฐฯ กำลังเผชิญกับภาวะ Stagflation ที่เงินเฟ้ออยู่ในระดับสูง แต่การเติบโตกลับอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งสิ่งที่นักวิเคราะห์กำลังรอดูจากพาวเวลล์ก็คือ ตัวพาวเวลล์จะให้ความสำคัญกับอะไรมากกว่ากันระหว่างเศรษฐกิจโตชะลอตัว หรือตัวเลขเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้น โดยบรูควาร์กล่าวว่า หากพิจารณาจากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา Fed มักจะให้ความสำคัญกับการเติบโตทางเศรษฐกิจมากกว่า

 

อย่างไรก็ตาม มีนักวิเคราะห์อีกกลุ่มหนึ่งไม่เห็นด้วยกับแนวคิดข้างต้น ซึ่งรวมถึง Goldman Sachs ที่เชื่อว่า ตัวเลขเงินเฟ้อที่พุ่งสูงในปัจจุบัน ทำให้ Fed จำเป็นต้องโฟกัสกับการขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อรั้งเงินเฟ้อ ขณะที่ กฤษณะ กุหา หัวหน้ากลยุทธ์นโยบายธนาคารกลางของ Evercore ISI เสริมว่า ท่ามกลางความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์ ประธานพาวเวลล์จะให้น้ำหนักกับการดำเนินนโยบายเพื่อดึงให้เงินเฟ้อกลับสู่ภาวะปกติและรักษาระดับการจ้างงาน ก่อนใช้โอกาสนี้ยอมรับว่าความท้าทายที่เกิดขึ้นในเวลานี้อย่างวิกฤตยูเครนที่ส่งผลต่อราคาพลังงานทำให้ Fed ต้องหานโยบายเพิ่มเติมเข้ามาจัดการ

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X