×

โลกคุ้นเคยกับดอกเบี้ยต่ำมานานกว่า 15 ปี แต่เมื่อดอกเบี้ยกลับมาสูงอีกครั้ง นักลงทุนควรปรับพอร์ตรับมืออย่างไร?

01.11.2023
  • LOADING...

อัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed Funds Rate) ในปัจจุบันยังอยู่ที่ระดับ 5.25-5.50% และมีแนวโน้มว่าจะยังอยู่ในระดับสูงต่อไป หรือแม้กระทั่งเพิ่มสูงขึ้นได้อีก นักลงทุนบางคนจึงอาจมีคำถามว่า สินทรัพย์ประเภทใดที่ควรถือในช่วงนี้

 

Morningstar บริษัทชั้นนำระดับโลกด้านข้อมูลและการวิเคราะห์การลงทุน ได้ออกบทวิเคราะห์สภาพตลาดการลงทุนว่า ในหลายสัปดาห์ที่ผ่านมาตลาดได้รับรู้และคาดว่าอัตราดอกเบี้ยจะอยู่ในระดับสูงต่อไปอีกสักระยะ ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยและอัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ปรับเพิ่มสูงขึ้น โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี ซึ่งถูกใช้เป็นอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงสำหรับการกู้ยืมเพื่อที่อยู่อาศัยและต้นทุนการกู้ยืมนั้นปรับขึ้นแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2007 ที่ 4.83% ขณะที่ผลตอบแทนตราสารหนี้ระยะสั้น เช่น พันธบัตรอายุ 6 เดือน ปรับตัวสูงขึ้นไปอยู่ที่ 5.6% ถือว่าสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2000

 

ดอกเบี้ยในปัจจุบันถือว่า ‘Higher’ ห่างไกลคำว่า ‘Highest’

 

แม้นักลงทุนบางกลุ่มอาจมองว่าสถานการณ์ในช่วงนี้ผิดปกติ แต่อีกกลุ่มก็เชื่อว่าภาวะดอกเบี้ยอยู่ในสภาวะที่ไม่ปกติแบบนี้มาตั้งแต่ช่วงวิกฤตการเงินปี 2008 แล้ว โดยหลังจากวิกฤตดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ เคยอยู่ต่ำกว่า 0.6% แล้วถึง 123 เดือน และยังไม่เคยพ้น 3% นับตั้งแต่นั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่นักลงทุนจะมองว่าภาวะอัตราดอกเบี้ยที่เราเจออยู่ในปัจจุบันถือว่า ‘สูง’ เพราะเราอยู่ในสภาวะดอกเบี้ยต่ำมาเป็นเวลา 10 กว่าปี แต่แท้จริงแล้วก่อนปี 2008 จำนวนเดือนที่ดอกเบี้ยนโยบายสูงกว่า 15% มีมากกว่าจำนวนเดือนที่มันน้อยกว่า 1% เสียอีก

 

หากมองย้อนกลับไปเมื่อ 60 กว่าปีก่อน อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ 10 ปี เคยขึ้นไปถึงระดับ 5.9% ด้วยซ้ำไป ดังนั้นนักลงทุนจึงควรรับมือกับภาวะอัตราดอกเบี้ยที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ทั้งผลกระทบต่อมูลค่าหุ้น รวมไปถึงการหาหนทางให้มีเงินพอใช้ในยามเกษียณภายใต้อัตราเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูงเช่นนี้

 

อีกหนึ่งความท้าทายที่นักลงทุนกำลังเผชิญอยู่ในตอนนี้คือ สภาวะ Inverted Yield Curve เมื่ออัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ระยะสั้นสูงกว่าระยะยาว ซึ่งสิ่งนี้กำลังสะท้อนถึงแนวโน้มที่นักลงทุนมองว่า Fed จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในอนาคต อย่างไรก็ตาม การปรับลดอัตราดอกเบี้ยของ Fed นั้นน่าจะยังไม่เกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อ ตลาดแรงงาน และเศรษฐกิจ ยังคงแข็งแกร่ง

 

ลงทุนให้เหมาะสม รับมือกับช่วงที่อัตราดอกเบี้ยสูง

 

Morningstar ได้รวบรวมกลยุทธ์การลงทุนในสภาวะดอกเบี้ยสูง โดยใช้การทดสอบย้อนหลังเพื่อดูผลตอบแทนของสินทรัพย์แต่ละประเภทตั้งแต่ปี 1980 ในช่วงระดับอัตราดอกเบี้ยต่างๆ ทั้งต่ำ กลาง และสูง เพื่อหาโอกาสในการลงทุน โดยผลลัพธ์มีดังต่อไปนี้

 

ผลตอบแทนดัชนีต่างๆ ในสภาวะดอกเบี้ย ต่ำ กลาง และสูง

ผลตอบแทนดัชนีต่างๆ ในสภาวะดอกเบี้ย ต่ำ กลาง และสูง

 

ในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยสูง ตราสารหนี้ถือเป็นการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนดี ยิ่งอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น อัตราผลตอบแทนจากการลงทุนในตราสารหนี้ก็สูงขึ้นตาม เห็นได้จาก Bloomberg Intermediate Treasury Index (ตัวที่ 2 จากบนสุด) ที่ให้อัตราผลตอบแทนเพียง 1.71% ในช่วงที่ดอกเบี้ยต่ำ แต่เมื่ออัตราดอกเบี้ยปรับมาอยู่ในระดับกลางถึงสูง ทำให้ผลตอบแทนสูงของดัชนีขึ้นเป็น 5.26% และ 12.05% ตามลำดับ ดังนั้นในสภาวะปัจจุบันที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับสูง นักลงทุนจึงควรเพิ่มการลงทุนในตราสารหนี้และน้ำหนักให้มากขึ้นอีกหากมองว่าดอกเบี้ยมีแนวโน้มสูงขึ้น

 

Kristy Akullian นักกลยุทธ์ลงทุนของ BlackRock กล่าวกับ Morningstar ว่า “อัตราผลตอบแทนที่แท้จริงจะปรับสูงขึ้นได้อีก และดอกเบี้ยจะอยู่ในระดับที่สูงไปอีกสักพัก แต่ก็แนะนำให้นักลงทุนเริ่มให้น้ำหนักการลงทุนในตราสารหนี้ได้แล้ว เนื่องจากว่าการจับจังหวะเข้าลงทุนเป็นเรื่องที่ยาก แม้นักลงทุนหลายคนจะยังรอให้ดอกเบี้ยเข้าใกล้จุดสูงสุดก่อนแล้วค่อยลงทุนก็ตาม” 

 

หุ้นคุณค่า (Value Stocks) ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าหุ้นเติบโต (Growth Stocks) ในช่วงที่ดอกเบี้ยสูง เพราะว่าหุ้นเติบโตต้องพึ่งพากระแสเงินสดในอนาคตด้วยระยะที่ยาวกว่า ทำให้ในช่วงที่ดอกเบี้ยสูงอัตราดอกเบี้ยคิดลด (Discount Rate) ก็อยู่ในระดับที่สูงกว่าในช่วงที่ดอกเบี้ยต่ำ ส่งผลให้เมื่อมูลค่าหุ้นเติบโตลดลงเมื่อดอกเบี้ยสูงเมื่อใช้ Discount Rate คิดย้อนกลับมาหามูลค่าปัจจุบัน หรืออีกประเด็นอาจเป็นเรื่องของต้นทุนในการจัดหาเงินทุนที่สูงขึ้นนั่นเองสำหรับบริษัทเหล่านี้ที่ต้องการเงินลงทุนที่สูงในช่วงของการเติบโต 

 

ตัวอย่างจากตารางจะเห็นว่า ผลตอบแทนของ MSCI World Value Index เพิ่มขึ้นจากช่วงที่ดอกเบี้ยต่ำไปสูง ในทางกลับกัน MSCI World Growth Index มีผลตอบแทนลดลง ดังนั้นภายใต้สภาวะปัจจุบันนักลงทุนจึงควรให้น้ำหนักในหุ้นคุณค่า (Value Stocks) มากขึ้น แต่ก็ไม่ควรทิ้งหุ้นกลุ่ม Growth Stocks เพื่อเป็นการกระจายการลงทุน โดย Growth Stocks ยังถือว่าเป็นหุ้นที่ดีสำหรับการลงทุนระยะยาว

 

การลงทุนในตราสารที่มีความเสี่ยงสูง เหมาะสมที่สุดในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยต่ำ เมื่อเศรษฐกิจมีแนวโน้มแย่ลง และ Fed ต้องลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจนั้น ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของตราสารหนี้ที่มีความเสี่ยงสูงจะยิ่งมากขึ้นจากพันธบัตรรัฐบาล และบ่อยครั้งจังหวะที่ดีที่สุดในการเข้าซื้อตราสารหนี้เอกชนที่มี Credit Risks สูงก็คือช่วงที่มีความเสี่ยงมากที่สุด เนื่องจากเป็นช่วงที่มีส่วนต่างผลตอบแทนจากพันธบัตรรัฐบาลที่สูงนั่นเอง เหมือนกับที่ Warren Buffett เคยกล่าวไว้ว่า “จงกลัวในเวลาที่คนอื่นโลภ และจงโลภในเวลาที่คนอื่นกลัว”

 

การลงทุนในบริษัทที่มีคุณภาพดีเหมาะสมที่สุดในทุกสถานการณ์ ในทุกช่วงสถานการณ์ของอัตราดอกเบี้ยพบว่า ดัชนี MSCI USA Quality Index ให้ผลตอบแทนที่ดีในทุกสภาวการณ์ เนื่องจากบริษัทที่ดีและมั่นคงมักจะให้ผลตอบแทนที่ดีในทุกสภาพตลาด ดังนั้นจึงควรมีสินทรัพย์เหล่านี้เป็นหลัก เพื่อการลงทุนในพอร์ตโฟลิโอ

 

จากผลการศึกษาในอดีตทำให้เห็นว่า ในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยอยู่สูงนั้น การลงทุนควรเน้นไปที่ตราสารหนี้ หุ้นคุณค่า และบริษัทที่มีคุณภาพที่ดี นักลงทุนอาจมองการลงทุนในกลุ่ม ETFs ที่เน้นคุณค่าและคุณภาพแทนก็ได้ อย่างเช่น ลงทุนใน DFA U.S. Core Equity 2 ETF, Schwab U.S. Dividend Equity ETF และ Vanguard Dividend Appreciation ETF เป็นต้น

 

สำหรับนักลงทุนตราสารหนี้ ความสำคัญที่ต้องจับตามองคือ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ เพราะแม้ว่าพันธบัตรระยะสั้นจะให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าในตอนนี้ แต่ภาวะ Inverted Yield Curve ก็มีแนวโน้มจะอยู่อีกไม่นาน การเพิ่มการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวเพื่อกระจายความเสี่ยงและเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับพอร์ตหากตลาดหุ้นปรับฐาน ก็ถือเป็นตัวเลือกที่เสริมความแข็งแกร่งให้นักลงทุนพร้อมรับมือกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้

 

อ้างอิง

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

X
Close Advertising