สถานีโทรทัศน์บีบีซีของอังกฤษเปิดเผยรายงานการวิเคราะห์สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงด้านสภาวะภูมิอากาศทั่วโลก โดยอาศัยชุดข้อมูล ERA5 ของ Copernicus Climate Change Service ซึ่งรวบรวมและประมวลบันทึกข้อมูลอุณหภูมิ และการสังเกตการณ์ของสภาพภูมิอากาศทั่วโลกจากกรมอุตุนิยมวิทยา สำนักพยากรณ์อากาศ และดาวเทียมต่างๆ พบว่า จำนวนวันที่อากาศร้อนสุดขีด หรืออุณหภูมิพุ่งแตะระดับ 50 องศาเซลเซียส เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่านับตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1980 เป็นต้นมา
ที่สำคัญ จำนวนวันดังกล่าวยังมาพร้อมกับจำนวนบริเวณที่พบอุณหภูมิร้อนสุดขีดเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน นับเป็นความท้าทายต่อสุขภาพและวิถีชีวิตของประชากรทั่วโลก
ทั้งนี้ บีบีซีพบว่า จำนวนวันที่มีอุณหภูมิสูงเกิน 50 องศาเซลเซียสเพิ่มมากขึ้นเฉลี่ย 2 เท่าในรอบ 10 ปี โดยในช่วงปี 1980-2009 พบวันที่ร้อนสุดขีดเฉลี่ยอยู่ที่ 14 วันต่อปี ขณะที่ในช่วงปี 2010-2019 จำนวนวันดังกล่าวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 26 วันต่อปี ขณะที่วันที่อุณหภูมิโลกพุ่งขึ้นกว่า 45 องศาเซลเซียส มีจำนวนเพิ่มขึ้น 14 วันต่อปีเช่นกัน
Dr. Friederike Otto ผู้ช่วยผู้อำนวยการสถาบันการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อม หรือ Environmental Change Institute แห่งมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด เตือนว่า จำนวนวันที่ร้อนสุดขีดนี้มีสิทธิ์เพิ่มขึ้นแตะ 100% หากทั่วโลกยังคงเดินหน้าใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล หรือน้ำมันเป็นแหล่งพลังงานหลักของโลกต่อไป
ยิ่งไปกว่านั้น การที่อุณหภูมิโลกโดยเฉลี่ยเพิ่มสูงขึ้นเพราะภาวะโลกร้อน ก็ยิ่งทำให้เกิดความเสี่ยงที่เป็นอันตรายคุกคามถึงชีวิต อย่างกรณี ‘คลื่นความร้อน’ (Heat Wave) ที่คร่าชีวิตผู้คนหลายสิบคนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา อีกทั้งอุณหภูมิที่ร้อนจัดยังจะเป็นปัญหาต่อสิ่งปลูกสร้าง โครงสร้างพื้นฐาน ถนน และระบบไฟฟ้า โดยภูมิภาคตะวันออกกลางคือพื้นที่ที่พบอุณหภูมิ 50 องศาเซลเซียสได้มากที่สุด
นอกจากนี้ ความร้อนจัดยังส่งผลคุกคามต่อการดำรงชีวิต เนื่องจากประชากรในหลายประเทศทั่วโลกเสี่ยงเผชิญกับภัยแล้งและไฟป่าเพิ่มมากขึ้น โดยมีการประเมินว่า ภายในปี 2100 จะมีประชากรมากถึง 1,200 ล้านคนทั่วโลกเผชิญกับภาวะเครียดต่อเนื่องจากความร้อน (Heat Stress)
อ้างอิง: