×

อุณหภูมิเฉลี่ยโลกพุ่ง​เกินเกณฑ์​ 1.5 องศา ในจำนวนวันที่มากจนทำสถิติในปีนี้

โดย Mr.Vop
09.10.2023
  • LOADING...
อุณหภูมิโลก

เหล่านักวิทยาศาสตร์​ที่เฝ้าดูปัญหา​โลกร้อนต่างแสดงความเป็นห่วง​เมื่อตรวจพบอุณหภูมิ​เฉลี่ย​ของโลกล้ำเส้น 1.5 องศาเซลเซียส ​หลายครั้งในปี 2023 นี้ โดยครั้งล่าสุดยังคงค่าสูงอยู่ยาวนานหลายวันชนิดที่ไม่เคยเป็นมาก่อนด้วย

 

เกณฑ์​ 1.5 องศา​เซลเซียส​มาจากไหน ใครเป็นคนกำหนด

 

ตัวเลขนี้มาจากข้อกำหนด​ของการประชุมชาติภาคีสมาชิก UNFCCC (กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ) หรือ United Nations Framework Convention on Climate Change ที่ปารีส เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2015 โดยมีเป้าหมายแรกเพื่อวางแผนควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับระดับอุณหภูมิ​เฉลี่ย​ของโลก​ในยุคก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม (ปี 1850-​1900 คือก่อนการแพร่หลาย​ของ​เชื้อเพลิงฟอสซิล​) และมีเป้าหมายหลัก​คือมุ่งไปที่การควบคุม​อุณหภูมิ​เฉลี่ย​โลก​ไม่ให้เกิน ​1.5 องศาเซลเซียสให้​ได้ โดยให้ชาติภาคีสมาชิก​ทบทวนผลกันทุกๆ 5 ปี

 

สิ่งที่เกิดขึ้นในปีนี้

 

ปี 2023 อุณหภูมิ​เฉลี่ย​ของโลกเริ่มทะลุเกณฑ์​เป็นช่วงสั้นๆ ครั้งแรกเมื่อต้นเดือนมีนาคม และอีกครั้งในเดือนมิถุนายน แต่หลังเดือนกรกฎาคม โลก​ก็มีจำนวนวันที่อุณหภูมิ​สูง​เกินเกณฑ์​มากขึ้นเรื่อยๆ จนมาเลวร้าย​สุดในเดือนกันยายน​ ที่มีวันที่อุณหภูมิ​เฉลี่ย​ของโลก​พุ่ง​สูง​เกิน​เกณฑ์​ 1.5​ องศา​เซลเซียส ​ยาวนานติดกันหลายวันจนทำสถิติ

 

นับจากต้นปีจนถึง​วันที่​ 2 ตุลาคม​ โลกเรามีจำนวนวันร้อนเกิน 1.5​ องศา​เซลเซียส มากถึง 86 วัน

 

ปีอื่นก่อนหน้านี้ก็เคยมีบ้าง แต่ก็จะเกิดไม่กี่วันในรอบปี ที่เด่นสุดคือปี 2016 ที่เกิดเอลนีโญ​ ปีนั้นมีจำนวนวันทะลุเกณฑ์​ที่ 75 วัน แต่ในปี 2023 นี้ ตัวเลขความร้อนทิ้งห่างปี 2016 ขาดลอยตั้งแต่ยังไม่ทันสิ้นปีด้วยซ้ำ

 

“มันเป็นสัญญาณว่าเรามาถึงระดับที่เราไม่เคยมีมาก่อน” ดร.เมลิสสา ลาเซนบี จากมหาวิทยาลัยซัสเซ็กซ์กล่าว

 

“ปี 2023 นี้ถือเป็น​ปีที่โลกร้อนเป็นประวัติการณ์​ ที่น่ากังวลคือปีหน้า 2024 อาจร้อนยิ่งกว่านี้”

 

ทำไมถึงเป็นเดือนกันยายน

 

เราคนไทยอาจเคยชินกับคำว่าอากาศ​ร้อนที่ควบคู่​มากับเดือนเมษายน แต่สำหรับเขตอาร์กติกในซีกโลกเหนือ ซึ่งเป็นพื้นที่หลักที่ใช้ในการบันทึกอุณหภูมิ​เฉลี่ย​ของโลกกันนั้น จะเข้าฤดูร้อน​ในเดือนกรกฎาคม และจะไปร้อนที่สุดปลายฤดู​ร้อนคือเดือนกันยายน โดยอุณหภูมิ​​จะเริ่มสูงขึ้นตั้งแต่เดือนมิถุนายน ​และเริ่มเย็นลงในเดือนตุลาคม​

 

ที่มาของความร้อน

 

ปี 2023 นี้เป็นอีกปีที่เกิดปรากฏการณ์​เอลนีโญ ซึ่งมีแนวโน้ม​ที่จะรุนแรงขึ้นในปีหน้า “เรา​ยังตรวจพบแนวน้ำอุ่นผิดปกติพาดยาวจากญี่ปุ่​นถึงแคลิฟอร์เนีย​ รวมทั้ง​ระดับอุณหภูมิ​น้ำในมหาสมุทร​แอตแลนติก​ปีนี้ก็ร้อนเป็นประวัติการณ์” ดร.เจนนิเฟอร์​ ฟรานซิส จากศู​นย์วิจัยสภาพภูมิอากาศ​วูดเวลล์​ในสหรัฐ​ฯ (Woodwell Climate Research Center)​ อธิบาย

 

จำนวนอนุภาค​แขวนลอยในอากาศ​​ในแถบแอตแลนติก​เหนือที่ทำหน้าที่สะท้อนแสงอาทิตย์กลับสู่อวกาศก็ลดลงอย่างมีนัย​สำคัญในปีนี้ ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากการลดจำนวนเที่ยวของการขนส่งข้ามมหาสมุทร

 

ผู้เชี่ยวชาญบางคนยังเน้นให้สังเกตอุณหภูมิที่พุ่งสูงขึ้น 2 ครั้งในรอบไม่กี่เดือนที่ผ่านมาของขั้วโลกใต้ที่อาจเกิดจากความแปรปรวนตามปกติ แต่กลับส่งผลไปสู่ระบบอากาศทั่วโลก “ทั้งหมดนี้รวมกับสาเหตุอื่นที่เรายังไม่รู้และยังคงต้องศึกษาเพิ่มเติม ได้ก่อให้เกิดสภาพอุณหภูมิโลกที่สูงเกินเส้น 1.5 องศาเซลเซียสที่ขีดเอาไว้ตามความตกลงปารีสไปหลายวันในปีนี้”

 

เหล่านักวิทยาศาสตร์ต่างคาดหวังว่าตัวเลขความผิดปกติครั้งล่าสุดของสภาพอากาศโลก โดยเฉพาะอุณหภูมิเฉลี่ยที่สูงทะลุเกณฑ์​ที่ 1.5 องศาเซลเซียส จะปลุกจิตสำนึกของนักการเมืองและผู้นำประเทศจากชาติภาคีสมาชิก UNFCCC ในการประชุมภาคีครั้งที่ 28 หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า COP28 ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน – 12 ธันวาคม 2023 ใน Expo City ที่ดูไบ ให้ช่วยกันออกมาตรการเร่งด่วนที่มีประสิทธิภาพให้เห็นผลโดยเร็วไม่ว่าวิธีการใด

 

ผลของความเลวร้ายจากอุณหภูมิโลกที่ผิดปกติในปีนี้ได้ส่งผลให้เห็นแล้วจากคลื่นความร้อนในยุโรปที่ก่อตัวจนเกิดพายุเมดิเคนหรือพายุหมุนกึ่งเขตร้อน ‘แดเนียล’ ที่ก่อฝนหนักถล่มหลายประเทศ ตั้งแต่กรีซ, ตุรกี, บัลแกเรีย ข้ามทะเลเมดิเตอร์เรเนียนไปทำเขื่อนแตกในลิเบีย จนมีผู้เสียชีวิตนับหมื่นคน ไม่นับฝนตกหนักผิดปกติในเอเชียตะวันออก อินเดีย และอเมริกาใต้ ถือเป็นสัญญาณเตือนว่าถึงเวลาสำคัญอย่างยิ่งที่ผู้นำโลกทุกประเทศต้องทุ่มเทอย่างจริงจังก่อนสภาพอากาศของโลกจะเปลี่ยนไปจนเกินเยียวยา

 

ภาพ: David McNew / Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising