×

‘ปีแห่งความล้มเหลวของมนุษยชาติ’ ในการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

โดย THE STANDARD TEAM
31.12.2023
  • LOADING...
สภาพภูมิอากาศ

ปี 2023 ถูกบันทึกว่าเป็นปีที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ โดยหลายพื้นที่ของโลกยังคงเผชิญอุณหภูมิสูงทำสถิติในช่วงปลายเดือนธันวาคม ซึ่งเป็นเดือนที่อากาศควรจะหนาวเย็น นำไปสู่การตั้งคำถามถึงความสามารถของมวลมนุษยชาติในการจัดการกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่เกิดจากน้ำมือของมนุษย์เอง 

 

ความล้มเหลวปรากฏชัด

 

เจมส์ แฮนเซน อดีตนักวิทยาศาสตร์ขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (NASA) ของสหรัฐฯ กล่าวกับ The Guardian ว่า ปี 2023 จะถูกจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ว่าเป็นปีที่ความล้มเหลวปรากฏให้เห็นเป็นที่ประจักษ์

 

“ในอนาคต เมื่อลูกหลานของเรามองย้อนกลับไปยังประวัติศาสตร์ของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มนุษย์สร้างขึ้นนั้น ปีนี้และปีหน้าจะถูกมองว่าเป็นจุดเปลี่ยน เนื่องจากเป็นปีที่การไร้ความสามารถของรัฐบาลในการจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ถูกเปิดเผยในที่สุด” เขากล่าว

 

“รัฐบาลไม่เพียงล้มเหลวในการควบคุมภาวะโลกร้อนเท่านั้น แต่อัตราการเกิดภาวะโลกร้อนยังเร่งตัวเร็วขึ้นอีกด้วย” 

 

แฮนเซนนับเป็นบุคคลแรกๆ ที่เตือนถึงภาวะโลกร้อน และทำให้ประเด็นนี้เป็นที่รับรู้ในวงกว้าง จากการให้การต่อวุฒิสภาสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 1988 ล่าสุดเขาเตือนว่า หลังจากเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งอาจเป็นเดือนกรกฎาคมที่ร้อนที่สุดในรอบ 120,000 ปี โลกกำลังเคลื่อนเข้าสู่ ‘แนวสภาพภูมิอากาศใหม่’ (New Climate Frontier) ด้วยอุณหภูมิที่สูงกว่าทุกช่วงเวลาในรอบล้านปีที่ผ่านมา

 

แฮนเซน ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการโครงการสภาพภูมิอากาศที่สถาบันเอิร์ธของมหาวิทยาลัยโคลัมเบียในนิวยอร์ก กล่าวว่า ความหวังสูงสุดคือการเปลี่ยนแปลงผู้นำจากรุ่นสู่รุ่น ด้านสว่างของเรื่องนี้คือคนหนุ่มสาวอาจตระหนักได้ว่าพวกเขาต้องรับผิดชอบอนาคตของตนเอง

 

ความคิดเห็นของแฮนเซนสะท้อนถึงความท้อแท้ผิดหวังในหมู่ผู้เชี่ยวชาญที่มีต่อช่องว่างขนาดมหึมาระหว่างคำเตือนทางวิทยาศาสตร์กับการดำเนินการทางการเมือง ต้องใช้เวลาเกือบ 30 ปีกว่าที่ผู้นำโลกจะยอมรับว่าเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นสาเหตุของวิกฤตสภาพภูมิอากาศ แต่การประชุมสุดยอด COP28 ของสหประชาชาติในปีนี้ที่ดูไบ กลับจบลงด้วยเสียงเรียกร้องเพียงให้ประเทศต่างๆ ‘เปลี่ยนผ่าน’ จากเชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งเป็นข้อตกลงที่คลุมเครือและไร้พลัง แม้จะมีหลักฐานเพิ่มมากขึ้นว่าโลกกำลังร้อนขึ้นถึงระดับอันตรายแล้วก็ตาม 

 

สถิติน่าสะพรึง

 

นักวิทยาศาสตร์ยังคงประมวลผลข้อมูลจากปีอันร้อนระอุนี้ ข้อมูลล่าสุดมาจากหน่วยงานอุตุนิยมวิทยาของญี่ปุ่น ซึ่งวัดอุณหภูมิในปี 2023 ได้สูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกระหว่างปี 1991-2020 อยู่ 0.53 องศาเซลเซียส ซึ่งสูงกว่าสถิติก่อนหน้าที่บันทึกไว้ในปี 2016 อย่างมาก โดยในปีดังกล่าวอุณหภูมิสูงกว่าค่าเฉลี่ยที่ 0.35 องศาเซลเซียส ทั้งนี้ คาดว่าในระยะยาวโลกจะร้อนกว่ายุคก่อนอุตสาหกรรมประมาณ 1.2 องศาเซลเซียส

 

ก่อนหน้านี้ องค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติของสหรัฐอเมริกาประมาณการว่า มี ‘โอกาสมากกว่า 99%’ ที่ปี 2023 จะเป็นปีที่ร้อนที่สุดในรอบ 174 ปี หลังจากที่โลกประสบกับเดือนที่อบอุ่นเป็นประวัติการณ์ติดต่อกันถึง 6 เดือน โดยเฉพาะในเดือนพฤศจิกายน พบว่ามีถึง 2 วันที่อุณหภูมิสูงกว่าค่าเฉลี่ยก่อนยุคอุตสาหกรรมถึง 2 องศาเซลเซียส ตามรายงานของ Copernicus Climate Change Service ซึ่งเป็นหน่วยงานติดตามการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของยุโรป ด้าน Berkeley Earth คาดการณ์ว่า อุณหภูมิเฉลี่ยในปี 2023 จะสูงกว่าระดับก่อนยุคอุตสาหกรรมเกือบ 1.5 องศาเซลเซียสอย่างแน่นอน 

 

อุณหภูมิผิวน้ำทะเลพุ่งสูงจนน่าตกใจ

 

ผู้สังเกตการณ์สภาพภูมิอากาศระดับอาวุโสรู้สึกประหวั่นพรั่นพรึงกับอัตราความเร็วของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น “สภาพภูมิอากาศปี 2023 นั้นน่าตกใจมาก ตั้งแต่คลื่นความร้อน ความแห้งแล้ง น้ำท่วม และไฟป่า ไปจนถึงอัตราการละลายของน้ำแข็ง และอุณหภูมิที่ผิดปกติ โดยเฉพาะในมหาสมุทร” ศาสตราจารย์โยฮัน ร็อกสตรอม ผู้อำนวยการร่วมของสถาบันพอตสดัมเพื่อการวิจัยผลกระทบทางภูมิอากาศในเยอรมนี กล่าว

 

ร็อกสตรอมเป็นหนึ่งในผู้เขียนรายงาน ‘Hothouse Earth’ ในปี 2018 ซึ่งเตือนว่า ปรากฏการณ์โดมิโนซึ่งประกอบด้วยน้ำแข็งละลาย ทะเลที่ร้อนขึ้น และป่าไม้ที่กำลังจะตาย อาจทำให้โลกเข้าสู่สภาวะที่ความพยายามของมนุษย์ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไม่สามารถช่วยอะไรได้

 

เขากล่าวว่า สิ่งที่รบกวนจิตใจเขามากที่สุดในปี 2023 คืออุณหภูมิผิวน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเขามองว่า แม้ปีนี้เป็นปีที่เกิดเอลนีโญ แต่อุณหภูมิก็ไม่น่าจะสูงขึ้นอย่างฉับพลันเช่นนี้

 

“เราไม่เข้าใจว่าทำไมความร้อนในมหาสมุทรจึงเพิ่มขึ้นรุนแรงขนาดนี้ และเราไม่รู้ว่าผลที่ตามมาจะเป็นอย่างไรในอนาคต” เขากล่าว “เรากำลังมองเห็นสัญญาณแรกของการเปลี่ยนแปลงใช่หรือไม่?”

 

ขั้วโลกร้อนระอุ

 

ในทวีปแอนตาร์กติกา นักวิทยาศาสตร์รู้สึกสับสนและวิตกกังวลกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วเช่นกัน Criosfera 2 ซึ่งเป็นห้องปฏิบัติการพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมของบราซิลที่รวบรวมข้อมูลทางอุตุนิยมวิทยา ได้วัดระดับน้ำแข็งในทะเลและพบว่า ระดับน้ำในแอนตาร์กติกาแตะระดับต่ำสุดทั้งในฤดูร้อนและฤดูหนาว 

 

ฟรานซิสโก เอลิเซว อาคิโน ศาสตราจารย์ด้านภูมิอากาศวิทยาและสมุทรศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยสหพันธรัฐรีโอกรันดีโดซูล และรองผู้อำนวยการศูนย์ขั้วโลกและภูมิอากาศของบราซิล กล่าวว่า สิ่งที่พบถือเป็นสัญญาณเตือนของการเปลี่ยนแปลงทางสิ่งแวดล้อมที่กำลังดำเนินอยู่ทั่วโลก และเป็นความท้าทายที่ยากจะอธิบายสำหรับนักวิทยาศาสตร์ขั้วโลก

 

ขณะที่ทวีปแอนตาร์กติกาก็ได้รับผลกระทบจากคลื่นความร้อนในฤดูหนาว ซึ่งสัมพันธ์กับการเคลื่อนตัวของแม่น้ำในชั้นบรรยากาศ (Atmospheric Rivers) โดยในช่วงต้นเดือนกรกฎาคม ทีมนักวิทยาศาสตร์จากชิลีได้ลงพื้นที่บนเกาะคิงจอร์จ ทางตอนเหนือสุดของคาบสมุทรแอนตาร์กติก และได้บันทึกเหตุการณ์ฝนตกอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในช่วงกลางฤดูหนาว ซึ่งโดยปกติแล้วจะมีแต่หิมะตก

 

ย้อนกลับไปในเดือนมกราคม ภูเขาน้ำแข็งขนาดมหึมาประมาณ 1,500 ตารางกิโลเมตร แตกออกจากหิ้งน้ำแข็งบรันต์ (Brunt Ice Shelf) ในทะเลเวดเดลล์ นับเป็นการแบ่งตัว (Calving) ขนาดมหึมาครั้งที่ 3 ของภูเขาน้ำแข็งในแอนตาร์กติกาในรอบ 3 ปี

 

ภัยพิบัติรุนแรงทุกรูปแบบ

 

อาคิโนกล่าวว่า การกระทำของมนุษย์ผ่านการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลได้สร้างพลวัตที่ ‘น่าหวาดกลัว’ ระหว่างขั้วโลกกับเขตร้อน แนวปะทะอากาศเย็นและเปียกจากแอนตาร์กติกมีปฏิสัมพันธ์กับความร้อนและความแห้งแล้งในแอมะซอน จนส่งผลให้เกิดพายุนอกฤดูและน้ำท่วมทางตอนใต้ของบราซิล ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนไป 51 คนเมื่อต้นเดือนกันยายน และกลับมาเกิดอีกครั้งด้วยอานุภาพทำลายล้างรุนแรงแบบเดียวกันในช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน 

 

อาคิโนกล่าวว่า ‘บันทึกสถิติ’ เหล่านี้เป็นการชิมลางของสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นเมื่อโลกเข้าสู่ภาวะโลกร้อนในระดับที่เป็นอันตราย “ตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไป เราจะเข้าใจอย่างเป็นรูปธรรมถึงความสัมพันธ์ของอุณหภูมิเฉลี่ยโลกที่เพิ่มขึ้น 1.5 องศาเซลเซียส กับภัยพิบัติต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น” เขากล่าว 

 

หรืออันที่จริงสิ่งนี้กำลังเกิดขึ้นแล้ว โดยภัยพิบัติทางสภาพภูมิอากาศที่ร้ายแรงที่สุดในปีนี้คือเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในลิเบีย ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 11,300 คนในเมืองเดอร์นา พายุแดเนียลทำให้เกิดฝนตกถล่มเมืองชายฝั่งทะเลแห่งนี้ โดยในวันเดียวมีฝนตกหนักถึง 200 เท่าจากปกติที่เกิดขึ้นตลอดทั้งเดือนกันยายน ซึ่งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์ทำให้มีโอกาสที่จะเกิดภัยพิบัติรุนแรงเช่นนี้มากขึ้นถึง 50 เท่า

 

ในขณะที่แคนาดาและยุโรปเผชิญกับเหตุการณ์ไฟป่าที่เผาผลาญพื้นที่มากเป็นประวัติการณ์ รวมถึงเหตุการณ์ไฟป่าในลาไฮนา บนเกาะเมาวีของฮาวาย ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 100 คน นับเป็นเหตุการณ์ไฟป่าที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ของสหรัฐฯ ซึ่งเกิดขึ้นในเดือนสิงหาคม

 

ราอูล คอร์เดโร ศาสตราจารย์ด้านสภาพอากาศที่มหาวิทยาลัยโกรนิงเกน และมหาวิทยาลัยซานติอาโก กล่าวว่า ผลกระทบจากความร้อนในปีนี้ส่งผลครอบคลุมทั่วทั้งอเมริกาใต้ ตั้งแต่การขาดแคลนน้ำอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในอุรุกวัย ไฟป่ารุนแรงเป็นประวัติการณ์ในชิลี ความแห้งแล้งรุนแรงที่สุดในรอบ 50 ปีในลุ่มน้ำแอมะซอน เหตุการณ์ไฟดับในเอกวาดอร์อันเนื่องมาจากการขาดแคลนน้ำในการผลิตไฟฟ้า และค่าขนส่งที่เพิ่มขึ้นตามคลองปานามาเนื่องจากระดับน้ำในคลองต่ำ

 

คอร์เดโรกล่าวว่า อิทธิพลของเอลนีโญมีแนวโน้มจะอ่อนลงในปีหน้า แต่อุณหภูมิที่สูงกว่าค่าเฉลี่ย หรือสูงสุดเป็นประวัติการณ์ มีแนวโน้มที่จะคงอยู่ต่อไปอย่างน้อยสามเดือนข้างหน้า และอุณหภูมิโลกจะยังคงสูงขึ้นอีกตราบใดที่มนุษย์ยังคงเผาเชื้อเพลิงฟอสซิลและป่าไม้ต่อไป

 

ภาพ: Getty Images

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising