จากการเสนอแยกกระทรวงกีฬาออกเป็นเอกเทศจากปัจจุบันที่เป็นกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาของพรรคเพื่อไทย ทำให้เกิดแนวคิดและการถกเถียงมากมายถึงความเหมาะสมและการดำเนินการ
แต่ในระดับโลกพวกเขามีการบริหารจัดการกีฬาอย่างไรกันบ้าง โดยเฉพาะในชาติมหาอำนาจที่จบ 10 อันดับแรกในตารางเหรียญรางวัลของโอลิมปิกเกมส์ 2024
โดยจาก 10 ชาติหัวตารางเหรียญรางวัลโอลิมปิกเกมส์ 2024 มีเพียงแค่ 2 ชาติเท่านั้นที่มีกระทรวงกีฬาโดยตรง ได้แก่ ออสเตรเลียและอิตาลี
ขณะที่อีก 5 ชาติ มีกระทรวงกีฬาซึ่งรวมอยู่กับกระทรวงอื่นๆ ไล่ตั้งแต่
– ญี่ปุ่น จะเป็น กระทรวงศึกษาธิการ วัฒนธรรม กีฬา วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี
– ฝรั่งเศส จะเป็น กระทรวงการกีฬาและกิจการเยาวชน
– เนเธอร์แลนด์ จะเป็น กระทรวงสาธารณสุข สวัสดิการ และกีฬา
– สหราชอาณาจักร จะเป็น กระทรวงวัฒนธรรม สื่อ และกีฬา
– เกาหลีใต้ จะเป็น กระทรวงวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว
ขณะที่อีก 3 ชาติอย่าง สหรัฐอเมริกา, จีน และเยอรมนี จะมีหน่วยงานเป็นเอกเทศ ภายใต้การดูแลของรัฐบาลกลาง และไม่ได้มีกระทรวงอย่างชัดเจน
โดยสหรัฐอเมริกาจะดูแลกีฬาของพวกเขาผ่านสภาคองเกรสโดยตรง และมีหน่วยงานใหญ่ที่สุดคือ คณะกรรมการโอลิมปิกและพาราลิมปิกสหรัฐฯ
จีนก็จะมีหน่วยงานกำกับดูแลภายใต้รัฐบาลกลางชื่อว่า หน่วยงานการบริหารงานทั่วไปของการกีฬาแห่งประเทศจีน หรือ General Administration of Sport of China (GAS)
และเยอรมนีก็จะมีสมาพันธ์กีฬาโอลิมปิกแห่งเยอรมนี คอยดูแลกีฬาภาพรวม ซึ่งจะทำงานร่วมกับกระทรวงกิจการภายใน (มหาดไทย) ของประเทศอย่างใกล้ชิด
ทำให้เรามองเห็นได้ว่า ความสำเร็จในด้านการกีฬาเพื่อความเป็นเลิศมีองค์ประกอบที่หลากหลาย ทั้งรูปแบบการบริหาร, กลยุทธ์, หน่วยงาน และการสนับสนุนกีฬาในแต่ละประเทศ
อ้างอิง: