×

หวั่นเชื้อดื้อยาล้ำหน้ายาปฏิชีวนะ องค์การอนามัยโลกเตือนเร่งวิจัยด่วนก่อนสาย

20.09.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

1 Mins. Read
  • องค์การอนามัยโลก (WHO) ตีพิมพ์รายงานเตือน หลังคาดการณ์ความเป็นไปได้ที่เชื้อโรคอาจปรับตัวให้มีความต้านทานยาหลากหลายชนิดล้ำเกินศักยภาพยา
  • มีผู้เสียชีวิตจากโรคที่เกี่ยวข้องจากเชื้อดื้อยาทั่วโลก 700,000 คนต่อปี สำหรับในประเทศไทยสูงถึง 38,000 คนต่อปี
  • ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก เผยถึงความรุนแรงของสถานการณ์ว่า “เราอาจกลับไปอยู่ในยุคที่คนกลัวการติดเชื้อทั่วๆ ไป และต้องเสี่ยงตายจากการเข้ารับการผ่าตัดเล็กๆ น้อยๆ”

     สถานการณ์การพัฒนายาปฏิชีวนะอยู่ในสภาพน่ากังวลอย่างรุนแรง จนทำให้องค์การอนามัยโลก (WHO) ตีพิมพ์รายงานเตือน หลังคาดการณ์ความเป็นไปได้ที่เชื้อโรคอาจปรับตัวให้มีความต้านทานยาหลากหลายชนิดล้ำเกินศักยภาพของยาในปัจจุบัน

     ข้อมูลช่วงพฤษภาคมที่ผ่านมาชี้ให้เห็นว่า มียาปฏิชีวนะ 51 ชนิดที่อยู่ระหว่างการพัฒนา โดยมียา 33 ชนิดเท่านั้นที่สร้างขึ้นเพื่อจำกัดเชื้ออันตรายที่ติดรายชื่อของ WHO ในจำนวนดังกล่าว มียาที่สร้างขึ้นใหม่ 8 ชนิด ที่เหลือเป็นยาที่ปรับปรุงจากเดิม แต่ WHO ย้ำว่ากลุ่มยา 25 ชนิดนี้ถือเป็นทางออกในระยะสั้น

 

Photo: FRED TANNEAU/AFP

 

     สำหรับปีนี้ WHO ได้เพิ่มแบคทีเรียอีก 12 ชนิดลงในรายชื่อเชื้อที่ต้านทานยาปฏิชีวนะจนอาจเป็นภัยร้ายแรงต่อมนุษยชาติ โดยปัจจุบัน มีผู้เสียชีวิตจากโรคที่เกี่ยวข้องจากเชื้อดื้อยาทั่วโลก 700,000 คนต่อปี สำหรับในประเทศไทยสูงถึง 38,000 คนต่อปี

     ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส (Tedros Adhanom Ghebreyesus) ผู้อำนวยการ WHO ย้ำถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการลงทุนเพื่อวิจัยและพัฒนาประเด็นเชื้อดื้อยา

     “ไม่อย่างนั้น เราอาจกลับไปอยู่ในยุคที่คนกลัวการติดเชื้อทั่วๆ ไป และต้องเสี่ยงตายจากการเข้ารับการผ่าตัดเล็กๆ น้อยๆ” ผู้อำนวยการรายนี้เผยถึงความน่ากลัวของปัญหา

 

Photo: JEAN-PHILIPPE KSIAZEK/AFP

 

     ขณะเดียวกัน ซูซาน ฮิลล์ (Susan Hill) ผู้อำนวยการกรมยาหลักและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพของ WHO เปิดเผยว่า “บริษัทเภสัชกรรมและนักวิจัยต้องให้ความสนใจต่อยาปฏิชีวนะแบบใหม่เพื่อต่อต้านการติดเชื้อรุนแรงจนสามารถฆ่าผู้ป่วยในเวลาไม่กี่วัน”

 

Photo: FLORIAN DAVID/AFP

 

     เพื่อหาทางออกของปัญหานี้ องค์การอนามัยโลกได้จัดตั้งความร่วมมือพัฒนาและวิจัยยาปฏิชีวนะโลก (Global Antibiotic Research and Development Partnership) ขึ้น โดยเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา เยอรมนี ลักเซมเบิร์ก เนเธอร์แลนด์ แอฟริกาใต้ สวิตเซอร์แลนด์ และสหราชอาณาจักร ได้เข้าร่วมการสนับสนุนเงินทุนพัฒนา 65 ล้านยูโร

     อย่างไรก็ตาม ยาชนิดใหม่ๆ เพียงอย่างเดียวไม่สามารถรับมือภัยเชื้อดื้อยาได้หมด WHO ยังช่วยเพิ่มศักยภาพการป้องกันและการควบคุมการติดเชื้อด้วยระหว่างการพัฒนาข้อแนะนำการใช้ยาปฏิชีวนะ

 

Cover Photo: FRED TANNEAU/AFP

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X