จากการจัดอันดับเสรีภาพสื่อใน 180 ประเทศทั่วโลกประจำปี 2018 โดยองค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน (RSF) พบว่านอร์เวย์และสวีเดน ยังคงคว้าตำแหน่งแชมป์และรองแชมป์ประเทศที่มีเสรีภาพสื่อมากที่สุดในโลกได้อีกครั้งเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน ขณะที่ท็อป 10 จากหัวตารางไร้วี่แววประเทศมหาอำนาจของโลก
เยอรมนี หนึ่งในประเทศยักษ์ใหญ่ที่คอยขับเคลื่อนเศรษฐกิจยุโรปและเศรษฐกิจโลก อยู่อันดับที่ 15 แคนาดา ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีจัสติน ทรูโด รั้งอันดับที่ 18 ในขณะที่ประเทศสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติอย่างฝรั่งเศส (อันดับที่ 33) สหราชอาณาจักร (อันดับที่ 40) สหรัฐอเมริกา (อันดับที่ 45) รัสเซีย (อันดับที่ 148) และจีน (อันดับที่ 176) ท็อป 5 จากท้ายตาราง
ขยับกลับเข้ามาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ติมอร์ตะวันออก ได้รับการจัดอันดับให้เป็นประเทศที่มีเสรีภาพสื่อมากที่สุดในย่านอาเซียน (อันดับที่ 95) ตามมาด้วยอินโดนีเซีย (อันดับที่ 124) โดยฟิลิปปินส์ (อันดับที่ 133) และเมียนมา (อันดับที่ 137) เป็น 2 ประเทศที่ร่วงลงถึง 6 อันดับ เนื่องจากรัฐบาลของประธานาธิบดีดูเตร์เตได้คุกคามสื่ออย่างหนัก จากกรณีวิพากษ์วิจารณ์การทำสงครามยาเสพติด นำไปสู่การวิสามัญ ฆ่าตัดตอน และละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง ขณะที่รัฐบาลเมียนมาของนางออง ซาน ซูจี เองก็สูญเสียความน่าเชื่อถือลงอย่างมาก จากกรณีกีดกันสื่อให้เข้าพื้นที่รายงานวิกฤตกวาดล้างชาวโรฮีนจาภายในประเทศ
ประเทศไทยที่อยู่ภายใต้รัฐบาลทหารเป็นปีที่ 4 แล้ว รั้งอันดับที่ 140 ในปีนี้ โดยขยับขึ้น 2 อันดับจากปีที่ผ่านมา มีคะแนนเสรีภาพสื่ออยู่ที่ 44.31 คะแนน (ยิ่งใกล้ 0 ยิ่งมีเสรีภาพมาก) แม้จะมีการปรับอันดับขึ้น แต่สิทธิและเสรีภาพของสื่อไทยยังเกิดขึ้นไม่มาก เนื่องจากยังมีกฎระเบียบและคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) บางฉบับ ควบคุมการทำงานของแวดวงสื่ออยู่
ส่วนประเทศในแถบอาเซียนที่เหลืออย่างกัมพูชา (อันดับที่ 142) ร่วงลงถึง 10 อันดับ จากการเซนเซอร์และปราบปราบสื่ออย่างหนักของสมเด็จฮุนเซน มาเลเซีย (อันดับที่ 145) สิงคโปร์ (อันดับที่ 151) บรูไนดารุสซาลาม (อันดับที่ 153) ลาว (อันดับที่ 170) และเวียดนาม (อันดับที่ 175) โดยมีเกาหลีเหนือรั้งอันดับสุดท้ายเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน
อ้างอิง: