×

ราคาน้ำมันโลกพุ่งสูง เสี่ยงต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยอย่างไร

11.11.2021
  • LOADING...
ราคาน้ำมันโลกพุ่งสูง

เข้าสู่ช่วงไตรมาส 4/64 ปริมาณผู้ติดเชื้อโควิดทั่วโลกเริ่มลดลง อันเป็นผลจากการฉีดวัคซีนจำนวนมากทั่วโลก ส่งผลให้หลายประเทศมีการผ่อนคลายนโยบายควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด ส่วนประเทศไทยก็ปรับเปลี่ยนมาตรการในเดือนพฤศจิกายนนี้ ทั้งการยกเลิกเคอร์ฟิว และการเปิดประเทศเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวเป็นครั้งแรกในรอบ 20 เดือน การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นมีผลสำคัญต่อแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2565 ที่หลายฝ่ายคาดการณ์ว่าจะเป็นการฟื้นตัวที่ดีของเศรษฐกิจไทย 

 

อย่างไรก็ตาม ในช่วงไตรมาส 4 นี้ มีประเด็นปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นในระดับโลก นั่นคือ ราคาน้ำมันทั่วโลกที่ปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งถือเป็นสัญญาณความเสี่ยงใหม่ที่อาจก่อตัวในปี 2565 เนื่องจากราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ต้นทุนของผู้ผลิตในหลายอุตสาหกรรมปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลกระทบในเชิงลบต่อภาคการผลิตทั่วโลก ซึ่งปัจจุบันยังคงเผชิญปัญหาด้านซัพพลายเชนอย่างต่อเนื่อง จากความสามารถในการผลิตที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการทั่วโลก จนทำให้ปัญหาด้านการผลิตทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น

 

ในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ราคาน้ำมันโลกในหลายประเทศปรับตัวเพิ่มสูงเกินกว่า 10% โดยราคาน้ำมันสหรัฐฯ (Crude Oil) ปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่า 14% จากระดับ 72 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 83 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบที่ตลาดดูไบ อันเป็นราคาน้ำมันที่ประเทศไทยใช้อ้างอิง มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นในระดับใกล้เคียงกันที่ 13% ส่งผลทำให้ราคาน้ำมันขายปลีกภายในประเทศปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง 

 

การปรับราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นในครั้งนี้ มีปัจจัยมาจากความต้องการบริโภคน้ำมันทั่วโลกที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นผลจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั่วโลก ภายหลังสถานการณ์การระบาดของโรคโควิดสายพันธุ์เดลตาที่สามารถควบคุมได้ดีขึ้น และอีกสาเหตุหลักที่มาจากปริมาณการผลิตน้ำมันทั่วโลกยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่าที่ควรจะเป็น ส่งผลให้ราคาน้ำมันปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นตามปริมาณน้ำมันที่ผลิตออกมาอย่างจำกัด

 

การผลิตน้ำมันทั่วโลกยังไม่สามารถปรับตัวเพิ่มสูงได้เท่าที่ควร เนื่องมาจาก 2 ปัจจัยหลัก คือ 

 

  1. การควบคุมปริมาณการผลิตน้ำมันของผู้ผลิตหลักจากองค์กรร่วมประเทศผู้ผลิตน้ำมันเพื่อการส่งออกและประเทศกลุ่มสมาชิก (OPEC+) ที่ยังคงกำลังการผลิตน้ำมันไว้ที่ระดับเดิม แม้จะมีความต้องการบริโภคน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น 

 

  1. ราคาต้นทุนการผลิตที่มากขึ้น ส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจเพิ่มกำลังการผลิต โดยเฉพาะในสหรัฐฯ ที่ต้นทุนค่าเครื่องจักรและค่าจ้างแรงงานปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในปี 2564 

 

จากการประเมินขององค์กรข้อมูลด้านพลังงานของสหรัฐฯ (EIA) พบว่าแนวโน้มปริมาณน้ำมันทั่วโลกจะยังคงขาดแคลนต่อไปในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2565 หากไม่มีการเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมัน ดังนั้น มีความเป็นไปได้สูงที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกช่วงไตรมาสแรกของปี 2565 อันเป็นช่วงเวลาฤดูหนาวที่ความต้องการใช้น้ำมันเพิ่มขึ้น จะมีโอกาสทำให้ราคาน้ำมันปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นสู่ระดับ 85-90 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล 

 

สำหรับผลกระทบที่เกิดขึ้นจากราคาน้ำมันโลก ย่อมส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันภายในประเทศและเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะในปี 2565 ที่ถือว่าเป็นปีที่ประเทศไทยจะฟื้นตัวจากการท่องเที่ยวและการบริโภคภายในประเทศ โดยเฉพาะด้านการบริโภคในครัวเรือน ซึ่งข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติปี 2563 แสดงให้เห็นว่าภาคครัวเรือนไทยมีค่าใช้จ่ายน้ำมันสำเร็จรูปเฉลี่ย 1,361 บาทต่อเดือน คิดเป็นสัดส่วน 6.4% ของค่าครองชีพ ซึ่งจากการประมาณการของศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics พบว่า การปรับเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันภายในประเทศ 25% จะส่งผลให้ค่าใช้จ่ายในครัวเรือนเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 1.6% คิดเป็นมูลค่า 340 บาทต่อเดือน

 

สำหรับทางด้านภาคธุรกิจ ผลกระทบของราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นจะมีผลกระทบสูงต่อธุรกิจที่พึ่งพาการใช้พลังงานมาก เช่น ธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์ และธุรกิจประมง ที่มีสัดส่วนต้นทุนจากการใช้น้ำมันที่ 32% และ 19% ตามลำดับ ในภาพรวม หากราคาน้ำมันภายในประเทศปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น 25% จะส่งผลทำให้ต้นทุนภาคธุรกิจสูงขึ้น 1.83 แสนล้านบาท โดยธุรกิจที่ได้รับผลกระทบต่อมาร์จิ้นสูงสุด ได้แก่ ขนส่งและโลจิสติกส์ ประมง เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรและอุปกรณ์ เหมืองแร่ ยานยนต์และชิ้นส่วน และวัสดุก่อสร้าง

 

นอกจากนี้ การเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันจะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อของไทยปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น โดยในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2564 ดัชนีเงินเฟ้อไทยในหมวดการเดินทางได้ปรับตัวเพิ่มขึ้น 6.9% จากปี 2563 ซึ่งถือเป็นการปรับตัวที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์  อัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นจากราคาน้ำมัน เป็นหนึ่งในปัจจัยที่คณะกรรมการนโยบายการเงินให้ความสำคัญต่อการกำหนดทิศทางนโยบายการเงินของประเทศไทยในอนาคต 

 

ดังนั้น เพื่อรองรับความเสี่ยงด้านต้นทุนการผลิตที่อาจเพิ่มสูงขึ้นจากราคาน้ำมัน รัฐบาลสามารถเข้ามาช่วยเหลือเพื่อควบคุมราคาขายปลีกน้ำมันภายในประเทศให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม จนกว่าราคาน้ำมันจะปรับตัวลดลงเข้าสู่สมดุล ตามปริมาณการผลิตน้ำมันที่จะเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2565 โดยสามารถให้ความช่วยเหลือผ่านทางการชดเชยราคาของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง หรืออาจพิจารณาลดภาษีน้ำมันในระยะสั้น ในกรณีที่ราคาน้ำมันโลกพุ่งสูง เพื่อเป็นการสนับสนุนเศรษฐกิจไทยให้สอดคล้องกับการฟื้นตัวในปี 2565

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X