การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากเชื้อเพลิงฟอสซิลทั่วโลกพุ่งแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์อีกครั้งในปี 2023 ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า สถานการณ์โลกร้อนไม่ได้รับการแก้ไขให้ดีขึ้นในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา
รายงานที่เผยแพร่โดย Global Carbon Project ชี้ให้เห็นว่า ในปี 2023 มีการเผาไหม้ถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซมากขึ้นกว่าในปี 2022 โดยมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ที่ทำให้โลกร้อนขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศเพิ่มขึ้น 1.1% ซึ่งสวนทางกับเป้าหมายที่โลกจำเป็นต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงอย่างมาก เพื่อหยุดยั้งสภาพอากาศสุดขั้วไม่ให้รุนแรงขึ้น
การเผยแพร่รายงานดังกล่าวมีขึ้นในขณะที่ผู้นำโลกมารวมตัวกันที่นครดูไบ เพื่อเข้าร่วมการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 28 หรือ COP28
ขณะที่รายงานอีกฉบับซึ่งเผยแพร่ในวันอังคาร (5 ธันวาคม) Climate Action Tracker (CAT) ได้ปรับเพิ่มการคาดการณ์ภาวะโลกร้อนจากที่เคยประมาณการไว้ก่อนหน้านี้ในการประชุม COP26 ที่เมืองกลาสโกว์เมื่อ 2 ปีที่แล้ว
“2 ปีหลังจากกลาสโกว์ รายงานของเราแทบจะเหมือนเดิม” แคลร์ สต๊อกเวลล์ นักวิเคราะห์จาก Climate Analytics และผู้เขียนหลักของรายงาน CAT กล่าว “คุณคงคิดว่าเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วทั่วโลกจะกระตุ้นให้เกิดการลงมือปฏิบัติ แต่ดูเหมือนว่ารัฐบาลจะไม่ใส่ใจ และคิดว่าการย่ำอยู่กับที่จะจัดการกับผลกระทบที่ท่วมท้นได้”
ในขณะที่คาร์บอนอุดตันชั้นบรรยากาศ กักแสงอาทิตย์ และทำให้โลกร้อนอบอ้าว สภาพภูมิอากาศก็ยิ่งเป็นอันตรายต่อชีวิตมนุษย์มากขึ้น Global Carbon Project พบว่าปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในแต่ละปียังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยคาดการณ์ว่าปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั้งหมดในปี 2023 จะแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 40.9 กิกะตัน
นักวิจัยพบว่าปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในแต่ละประเทศและภูมิภาคมีความแตกต่างกันอย่างมาก โดยคาดว่าปีนี้การปล่อยก๊าซ CO2 จากเชื้อเพลิงฟอสซิลจะเพิ่มขึ้นในอินเดียและจีน ซึ่งเป็นผู้ก่อมลพิษรายใหญ่ที่สุดและรายใหญ่อันดับ 3 ตามลำดับ แต่จะลดลงในสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป ซึ่งในอดีตเคยเป็นผู้ก่อมลพิษรายใหญ่ที่สุด ขณะที่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยเฉลี่ยในภูมิภาคอื่นๆ คาดว่าจะลดลงเล็กน้อย
นักวิจัยเผยด้วยว่า การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน เช่น การตัดไม้ทำลายป่า ลดลงบ้าง แต่ไม่เพียงพอที่จะชดเชยอัตราการปลูกต้นไม้ในปัจจุบัน
นอกจากนี้ ยังเป็นครั้งแรกที่นักวิทยาศาสตร์ได้คาดการณ์การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากเครื่องบินและเรือ โดยคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 11.9% อันเนื่องมาจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เพิ่มสูงขึ้นจากการบิน
ปิแอร์ ฟรีดลิงสไตน์ นักวิทยาศาสตร์ภูมิอากาศจาก Global Systems Institute ของมหาวิทยาลัยเอ็กซิเตอร์ และผู้เขียนหลักของรายงานวิจัยนี้ กล่าวว่า “ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศปรากฏชัดอยู่รอบตัวเรา แต่การดำเนินการเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากเชื้อเพลิงฟอสซิลยังคงเป็นไปอย่างเชื่องช้า
“ขณะนี้ดูเหมือนว่าเราคงหลีกเลี่ยงไม่ได้แล้วที่เราจะพลาดเป้าหมายคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มมากกว่า 1.5 องศาเซลเซียสตามที่กำหนดไว้ในความตกลงปารีส และเหล่าผู้นำที่เข้าร่วมการประชุม COP28 จะต้องตกลงกันเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากเชื้อเพลิงฟอสซิลลงให้ได้อย่างรวดเร็ว เพื่อรักษาเป้าหมาย 2 องศาเซลเซียสให้คงอยู่”
ภาพ: Ryan Pyle / Corbis via Getty Images
อ้างอิง: