การประชุมสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum: WEF) ครั้งที่ 55 ประจำปี 2025 ที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ระหว่างวันที่ 20-24 มกราคม 2025 กลายเป็นเวทีเกาะติดวาระที่ 2 ของ โดนัลด์ ทรัมป์ หลังจากที่สาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 47 อย่างเป็นทางการ
ในปีนี้บรรดาผู้นำและผู้แทนทั้งภาครัฐและเอกชนจากทั่วโลกราว 2,750 คนที่ไปร่วมการประชุม คาดว่าจะใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการเฝ้าติดตามผลกระทบจากรัฐบาลทรัมป์ชุดใหม่
ความท้าทายมากมายจากท่าทีของทรัมป์ที่มุ่งเป้าทำงานและใช้อำนาจคำสั่งพิเศษอย่างเข้มข้นตั้งแต่วันแรก ส่งผลให้หลายฝ่ายกังวลต่อผลกระทบรุนแรงที่จะเกิดขึ้นทั้งในด้านเศรษฐกิจและภูมิรัฐศาสตร์
และนี่คือปฏิกิริยาบางส่วนจากเหล่าผู้นำทั่วโลกบนเวที World Economic Forum ต่อการกลับมาของทรัมป์ 2.0
ตั้งวอร์รูมประเมินผลกระทบทรัมป์ 2.0
แมรี คัลลาฮาน เออร์โดเอส หัวหน้าฝ่ายบริหารสินทรัพย์และความมั่งคั่งของ JPMorgan Chase & Co (JPM.N) กล่าวในการอภิปรายแบบกลุ่ม (Panel Discussion) ภายในงาน World Economic Forum โดยชี้ว่า ช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงมากมายที่พวกเราทุกคนต้องทำความเข้าใจ
“ที่ JPMorgan เรามีวอร์รูมที่จัดตั้งขึ้นเพื่อวิเคราะห์และประเมินในแต่ละเรื่อง ดังนั้นพวกเขาจึงทำงานตลอดทั้งคืนและกำลังดำเนินการอยู่”
เขาชี้ว่า ความอ่อนไหวในการซื้อขายสินทรัพย์ทั่วโลกต่อนโยบาย ‘อเมริกาต้องมาก่อน’ (America First) ของทรัมป์นั้นกลับมาอีกครั้ง เห็นได้จากค่าเงินดอลลาร์แคนาดาที่อ่อนค่าลงอย่างรวดเร็วเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ เพียงไม่กี่วินาทีหลังจากที่ทรัมป์ประกาศว่าจะเพิ่มการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าของแคนาดาอีก 25% ภายในไม่กี่วันข้างหน้า
ขณะที่การเปลี่ยนแปลงในลักษณะดังกล่าวและความผันผวนของตลาดที่อาจเพิ่มขึ้น ซึ่งเกิดจากการใช้งานโซเชียลมีเดียที่คาดเดาไม่ได้ของทรัมป์แบบที่เราเคยเห็นกันในช่วงที่ทรัมป์ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยแรก จะต้องมีการปรับตัว แต่บรรดานายธนาคารและเทรดเดอร์มองว่า ผู้ที่จะได้ประโยชน์คือผู้ที่สามารถรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงในนโยบายของทรัมป์ได้
“เวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์ แต่สิ่งนี้เป็นสิ่งที่คุณควรทำเพื่อให้มีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจ” เออร์โดเอสกล่าว โดยสะท้อนถึงคำสั่งพิเศษที่ทรัมป์ลงนามห้ามเจ้าหน้าที่หน่วยงานรัฐบาลกลางทำงานจากระยะไกล
ด้าน บิล วินเทอร์ส ซีอีโอของ Standard Chartered (STAN.L) ระบุว่า การค้าโลกจะได้รับผลกระทบจาก ‘ความวุ่นวายอันน่าสนใจ’ ในยุครัฐบาลทรัมป์ 2.0 โดยเขากล่าวในงานประชุมว่า “เราจะรอดูว่าจะมีมาตรการภาษีอะไรออกมาบ้าง แต่เรารู้ว่าจีนมีส่วนสำคัญมากในแง่ของการส่งออกที่เกินดุลจำนวนมหาศาลและจะถูกโจมตีจากทุกส่วนของโลก”
EU พร้อมคุยรัฐบาลทรัมป์
ยุโรปเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่ถูกจับตามองว่าอาจได้รับผลกระทบจากการกลับมาของทรัมป์ ที่ต้องการแก้ไขเรื่องความไม่สมดุลทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป (EU) ด้วยการเพิ่มการจัดเก็บภาษีสินค้านำเข้าหรือการส่งออกพลังงานมากขึ้น
ท่าทีแข็งกร้าวของทรัมป์ส่งผลให้ประเทศยุโรปเริ่มส่งสัญญาณความพร้อมที่จะ ‘เจรจา’ โดยหลายประเทศกำลังใช้แนวทาง ‘รอและดู’ ในการเสริมสร้างความสัมพันธ์กับรัฐบาลทรัมป์ชุดใหม่
อัวร์ซูลา ฟอน แดร์ ไลเอิน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป กล่าวในการประชุม World Economic Forum 2025 วานนี้ (21 มกราคม) ว่า โลกเข้าสู่ยุคใหม่ของการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ที่รุนแรงในช่วงศตวรรษที่ผ่านมา
เธอไม่ได้เอ่ยชื่อทรัมป์โดยตรง แต่กล่าวถึงแนวทางการใช้มาตรการคว่ำบาตร การควบคุมการส่งออก และมาตรการทางภาษีเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศตนเอง ซึ่งอาจส่งผลให้ความร่วมมือในลักษณะการค้าเสรีระหว่างเขตเศรษฐกิจต่างๆ สิ้นสุดลง
“เราจะต้องทำงานร่วมกัน เพื่อหลีกเลี่ยงการแข่งขันระดับโลกที่นำไปสู่ความตกต่ำ” เธอกล่าว และมองว่าทั่วโลกจำเป็นต้องปรับปรุงกฎระเบียบให้มีความทันสมัย เพื่อรักษาความสามารถในการสร้างผลประโยชน์ร่วมกัน
ทั้งนี้ ฟอน แดร์ ไลเอิน สนับสนุนข้อตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศว่าเป็นความหวังที่ดีที่สุดสำหรับมนุษยชาติ หลังจากที่ทรัมป์ลงนามคำสั่งถอนสหรัฐฯ ออกจากข้อตกลงดังกล่าวรอบที่ 2
อย่างไรก็ตาม เธอยืนยันว่าสหรัฐฯ เป็นหนึ่งในหุ้นส่วนที่ใกล้ชิดที่สุดของสมาชิกสหภาพยุโรปทั้ง 27 ประเทศ
“ไม่มีเศรษฐกิจใดในโลกที่มีการบูรณาการเท่ากับเรา” เธอกล่าว พร้อมระบุว่า ปริมาณการค้าระหว่างสหภาพยุโรปและสหรัฐฯ อยู่ที่ 1.55 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 30% ของการค้าโลก
“ดังนั้นลำดับความสำคัญอันดับแรกของเราคือ การมีส่วนร่วมตั้งแต่เนิ่นๆ หารือถึงผลประโยชน์ร่วมกัน และเตรียมพร้อมที่จะเจรจา เราจะใช้หลักปฏิบัติจริง แต่จะยืนหยัดในหลักการของเราเสมอ เพื่อปกป้องผลประโยชน์และยึดมั่นในคุณค่าของเรา นั่นคือวิถีของยุโรป”
ด้าน โอลาฟ โชลซ์ นายกรัฐมนตรีเยอรมนี กล่าวอย่างมีความหวัง หลังจากมีการติดต่อกับรัฐบาลทรัมป์ชุดใหม่เป็นครั้งแรก
เขายืนยันว่า “สหรัฐฯ เป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิดที่สุดของเยอรมนีนอกยุโรป” และ “จะทำทุกอย่างเท่าที่ทำได้เพื่อให้แน่ใจว่าจะเป็นเช่นนี้ต่อไป”
“การสนทนาที่ดีครั้งแรกของผมกับประธานาธิบดีทรัมป์ และการติดต่อระหว่างที่ปรึกษาของเราชี้ไปในทิศทางนี้”
ขณะที่ ฟรีดริช เมอซ์ ผู้นำฝ่ายค้านของเยอรมนี ซึ่งมีโอกาสครองตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหากชนะการเลือกตั้งในเดือนหน้า กล่าวในงาน World Economic Forum 2025 โดยมองว่าทรัมป์อาจเป็นพันธมิตรที่น่าสนใจสำหรับยุโรปได้ หากภูมิภาคนี้มีจุดยืนในการเจรจาร่วมกันที่แข็งแกร่ง
“เขาเป็นคนทำข้อตกลง ดังนั้นเราต้องมาคิดกันว่าเราจะเสนออะไรได้บ้าง ยกตัวอย่างเช่น หากเราต้องซื้ออุปกรณ์ทางทหารจากสหรัฐฯ ทำไมเราไม่รวมการซื้อของเราไปในระดับยุโรป”
กีดกันการค้าไม่เกิดประโยชน์
ประเด็นสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ที่อาจปะทุแรงขึ้นในยุคทรัมป์ 2.0 เป็นอีกเรื่องใหญ่ที่ถูกหยิบยกขึ้นพูดในงาน World Economic Forum ครั้งนี้
โดย ติงเสวี่ยเซียง รองนายกรัฐมนตรีจีน ขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ยืนยันว่าจีนไม่แสวงหาการเกินดุลทางการค้า และยินดีที่จะนำเข้าสินค้าและบริการที่มีคุณภาพสูงและมีการแข่งขันมากขึ้น เพื่อสร้างสมดุลทางการค้า
เขากล่าวว่า โลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจนั้นไม่ใช่เกมผลรวมเป็นศูนย์ (Zero-Sum Game) แต่เป็นกระบวนการของผลประโยชน์และความก้าวหน้าร่วมกัน
โดยเขาชี้ว่า การกีดกันทางการค้า (Protectionism) นั้นไม่นำมาซึ่งผลประโยชน์ใดๆ และไม่มีผู้ชนะในสงครามการค้า พร้อมทั้งเรียกแนวทางการค้าแบบพหุภาคีว่าเป็น “เส้นทางที่ถูกต้องสำหรับการรักษาสันติภาพโลกและส่งเสริมการพัฒนาของมนุษย์”
ภาพ: Yves Herman / Reuters
อ้างอิง:
- https://www.reuters.com/markets/trumps-return-white-house-will-bring-trade-ructions-stanchart-ceo-says-2025-01-21/
- https://www.reuters.com/world/europe/german-chancellor-hopeful-europe-must-consider-what-offer-trump-2025-01-21/
- https://www.reuters.com/world/eus-von-der-leyen-says-need-work-together-avoid-global-race-bottom-2025-01-21/
- https://www.reuters.com/business/davos/world-economic-forum-meeting-davos-live-updates-2025-01-21/