×

UN ระบุ ประชาคมโลกล้มเหลวในการปกป้องพลเรือน จากปัญหาความขัดแย้งและการใช้ความรุนแรง

25.05.2023
  • LOADING...
un

อันโตนิโอ กูเตร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ (UN) ระบุว่า ประชาคมโลกล้มเหลวในการปกป้องพลเรือน จากปัญหาความขัดแย้งและการใช้ความรุนแรง ซึ่งในปี 2022 ที่ผ่านมา มีพลเรือนเกือบ 17,000 คน เสียชีวิตจากปมความขัดแย้งในพื้นที่บริเวณ 12 จุดทั่วโลก โดยยอดผู้เสียชีวิตได้เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าถึง 53%

 

กูเตร์เรสกล่าวในเวทีการประชุมของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) ว่า เพื่อเป้าหมายในการปกป้องพลเรือนตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ ประชาคมโลกจะต้องช่วยกันปกป้องพลเรือนผู้บริสุทธิ์เหล่านี้ พร้อมกับยกตัวอย่างเหตุการณ์ที่นำไปสู่การเสียชีวิตของพลเรือนจำนวนมาก เช่น สงครามรัสเซีย-ยูเครน ความขัดแย้งในซูดาน เอธิโอเปีย รวมถึงในซีเรีย เป็นต้น

 

โดยกูเตร์เรสระบุอีกว่า งานวิจัยของ UN ที่เข้าไปศึกษาในพื้นที่สงครามหรือพื้นที่ขัดแย้ง พบว่า 94% ของเหยื่อที่ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากเหตุระเบิดในพื้นที่ชุมชนเมื่อปี 2022 ที่ผ่านมา ล้วนแล้วแต่เป็นพลเรือนทั้งสิ้น ขณะที่ผู้คนกว่า 117 ล้านคน กำลังเผชิญหน้ากับภาวะความหิวโหยเฉียบพลัน ซึ่งสาเหตุสำคัญมาจากสงครามและความไม่มั่นคงไร้เสถียรภาพ

 

นอกจากนี้เลขาธิการ UN ยังชี้อีกว่า กฎหมายที่ถูกมองข้ามคือกฎหมายที่ถูกบ่อนทำลาย เราจำเป็นต้องมีส่วนในการรับผิดชอบเพื่อสร้างหลักประกันว่ากฎหมายและหลักการสากลทั้งหลายที่เราต่างยึดถือร่วมกันจะได้รับการเคารพปกป้อง ซึ่งสิ่งนี้เองก็ขึ้นอยู่กับเจตจำนงทางการเมืองด้วย พร้อมทั้งเน้นย้ำว่า “สันติภาพคือวิธีการปกป้องที่ดีที่สุด”

 

ขณะที่รายงานของหน่วยงานภายใน UN ระบุว่า จำนวนผู้ลี้ภัยที่จำใจจะต้องจากบ้านเกิดเมืองนอนของตนเองไปเนื่องจากปัญหาความขัดแย้ง การใช้ความรุนแรง และการละเมิดสิทธิมนุษยชน มีมากถึง 100 ล้านคนทั่วโลกแล้ว โดยมากกว่า 2 ใน 3 อาศัยอยู่ในประเทศที่มีปัญหาเรื้อรังมานาน เช่น ดีอาร์คองโก ซูดาน ภูมิภาคซาเฮล โซมาเลีย เมียนมา อัฟกานิสถาน และเฮติ เป็นต้น ซึ่งหลายความขัดแย้งเกี่ยวพันกับความยากลำบากในการปรับตัวกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ความไม่มั่นคงทางอาหารและความยากลำบากในทางเศรษฐกิจ โดยหลายพื้นที่ต้องการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอย่างเร่งด่วนอีกด้วย

 

แฟ้มภาพ: Tchandrou Nitanga / AFP

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X