×

วิเคราะห์เศรษฐกิจโลกฟื้นตัว V-Shape แต่ทำไม ‘ไทย’ เสี่ยงถดถอยซ้ำซ้อน ทางรอดคืออะไร

27.04.2021
  • LOADING...
วิเคราะห์เศรษฐกิจโลกฟื้นตัว V-Shape แต่ทำไม ‘ไทย’ เสี่ยงถดถอยซ้ำซ้อน ทางรอดคืออะไร

HIGHLIGHTS

6 mins. read
  • เศรษฐกิจโลกมีทิศทางฟื้นตัวขึ้นต่อเนื่อง เมื่อ IMF ประกาศปรับคาดการณ์ GDP ของโลกมาอยู่ที่ 6% จากเดิมที่มองว่าจะโต 5.5% ส่วนหนึ่งเพราะการเร่งกระจายฉีดวัคซีนที่ทั่วถึงและเห็นผล
  • เศรษฐกิจไทยก่อนเผชิญโควิด-19 ระลอก 3 ยังเติบโตไม่ถึง 3% ยิ่งเราเผชิญกับการระบาดรอบใหม่ ทำให้นักวิเคราะห์ต่างมองว่า มีความเสี่ยงสูงที่เราจะเจอกับภาวะถดถอยอีกครั้ง 
  • แม้การส่งออกไทยจะปรับตัวดีขึ้นจากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัว แต่ในภาพรวม ผลกระทบต่อแรงงานไทยยังคงเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มท่องเที่ยว การบริการ และโรงแรม 
  • การแพร่ระบาดหลายรอบที่เกิดขึ้นพิสูจน์แล้วว่า มาตรการวัคซีนเป็นสิ่งจำเป็น หากยังไม่มีวัคซีนที่เพียงพอจนเกิด Herd Immunity ก็อาจมีการระบาดรอบใหม่ขึ้นได้อีก

แม้ว่าปี 2563 ที่ผ่านมา ทุกประเทศทั่วโลกต้องเจอกับวิกฤตโควิด-19 อย่างไม่ทันตั้งตัว จนทำให้เศรษฐกิจโลกทรุดลง แต่ปีนี้การควบคุมโควิด-19 เริ่มชัดเจน ประเทศที่กระจายวัคซีนอย่างทั่วถึงก็ทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจทั่วโลกดูดีขึ้น 

 

จนล่าสุดต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา ทางกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์เศรษฐกิจโลกปี 2564 เป็นเติบโต 6% ซึ่งถือเป็นการปรับเพิ่มคาดการณ์ครั้งที่ 2 ติดต่อกัน จากเดิมที่ 5.5% และ 5.2% ตามลำดับ แม้การปรับคาดการณ์ดังกล่าวส่วนหนึ่งจะเกิดจากฐานที่ต่ำในปีก่อน แต่การปรับคาดการณ์ขึ้นถึง 2 ครั้ง ถือเป็นสัญญาณที่บ่งชี้ว่า เศรษฐกิจโลกดีขึ้นจากก่อนหน้านี้อย่างชัดเจน และอาจถือเป็นการฟื้นตัวในลักษณะ V-Shape ก็ว่าได้

 

ทว่า ภายใต้เศรษฐกิจโลกที่ดูสดใส แต่ IMF กลับปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจไทยลงถึง 2 ครั้งติดต่อกัน โดยปรับลดจาก 4% มาอยู่ที่ 2.7% และล่าสุดเมื่อต้นเดือนเมษายนปรับลดลงมาอยู่ที่ 2.6%

 

น่าคิดว่าเหตุใดที่เศรษฐกิจไทยซึ่งพึ่งพาเศรษฐกิจโลกมาโดยตลอด แต่รอบนี้กลับไม่มีสัญญาณฟื้นตัวตามโลก THE STANDARD WEALTH รวบรวมคำตอบมาให้แล้ว

 

เศรษฐกิจโลกฟื้น แต่ทุกประเทศฟื้นไม่เท่ากัน ใครรอด-ใครทรุด? 

ปี 2564 หลังวิกฤตโควิด-19 มีภาพสดใสขึ้น เมื่อมีข่าวการค้นพบวัคซีนต้านโควิด-19 และหลายประเทศกระจายฉีดวัคซีนสู่ประชากรโลกจำนวนมาก 

 

ล่าสุด อิสราเอลประกาศว่า ประเทศมีภูมิคุ้มกันหมู่ (Herd Immunity) และให้ประชาชนเลิกใส่หน้ากากอนามัยแล้ว หลังจากมีอัตราการฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ถึง 61.72% ของประชาชนทั้งหมด หรือฝั่งสหราชอาณาจักรที่ฉีดวัคซีนใกล้ 50% โดยประเทศพัฒนาแล้วเตรียมแผนเพื่อเปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจและฟื้นตัวขึ้น

 

ทั่วโลกฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 แล้ว ไทยอยู่ตรงไหน? (19 เม.ย. 2564)

 

ในภาพรวม IMF คาดการณ์ว่า GDP โลกปี 2564 จะโต 6% สูงกว่าคาดการณ์เดิมที่อยู่ 5.5% แต่ก็ระบุปัจจัยที่น่ากังวลคือการฟื้นตัวของแต่ละประเทศจะแตกต่างกันมาก เช่น ปีนี้ IMF คาดว่า GDP สหรัฐฯ จะโต 6.4% จีน 8.4% ฯลฯ ขณะที่ประเทศที่รายได้ต่ำจะฟื้นตัวช้า 

 

โดย IMF ปรับลด GDP หลายประเทศในอาเซียนลง โดยเฉพาะประเทศที่พึ่งพาการท่องเที่ยวที่ยังจะซบเซาต่อไป และยิ่งมีการฉีดวัคซีนล่าช้าย่อมฟื้นตัวช้า เมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว (และมีการฉีดวัคซีนทั่วถึง) 

 

หนึ่งในประเทศกลุ่มที่ฟื้นตัวช้าจากวิกฤตครั้งนี้คือ ประเทศไทยที่พึ่งพาภาคการท่องเที่ยวเกือบ 20% ของ GDP ซึ่งอาจใช้เวลาหลายปีกว่าจะกลับมาฟื้นตัวเท่าก่อนโควิด-19

 

ด้าน ชนาภา มานะเพ็ญศิริ พนักงานวิเคราะห์ Bnomics (หนึ่งในหน่วยงานของธนาคารกรุงเทพ) ระบุว่า ปัจจัยที่ส่งผลต่อการปรับคาดการณ์ GDP ทั้งในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้นและแย่ลงของ IMF ครั้งนี้มาจาก 3 ปัจจัย ได้แก่ 

 

1. อัตราการฉีดวัคซีนทั่วโลกที่สูงขึ้นเรื่อยๆ 

 

2. นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐทั่วโลกที่มีต่อเนื่อง

 

3.การปรับตัวของธุรกิจในการประกอบกิจการในช่วงการระบาด เช่น การ Work from Home ภาคธุรกิจสามารถปรับตัวได้หรือไม่ 

 

 

เศรษฐกิจไทย 2564 ร่วงลง แต่ปี 2565 จะเริ่มฟื้น ต้องมีวัคซีนในวงกว้าง

แม้ว่า IMF จะปรับลดคาดการณ์การขยายตัวเศรษฐกิจไทยปี 2564 ลดลงเหลือ 2.6% จากก่อนหน้าที่อยู่ราว 2.7% แต่มีการปรับคาดการณ์ปี 2565 จะขยายตัวสู่ 5.6% จากก่อนหน้าที่อยู่ 4.6% ซึ่งการปรับประมาณการนี้ยังไม่รวมผลการระบาดโควิด-19 รอบ 3 ในไทย

 

ด้าน พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ และหัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์เศรษฐกิจและการลงทุน กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร กล่าวกับ THE STANDARD WEALTH ว่า การระบาดระลอกใหม่นี้ทำให้เราประเมินผลกระทบใน 3 แบบ

 

1.ในกรณีที่ดี ภาครัฐสามารถควบคุมการแพร่ระบาดใน 1 เดือนเหมือนช่วงการระบาดเฟส 2 ในเดือนมกราคมที่ผ่านมา ย่อมกระทบต่อ GDP ไม่มาก

 

2. ในกรณีเลวร้าย หากมาตรการควบคุมของรัฐที่ออกมาแล้วไม่ได้ผล อาจต้องมีการล็อกดาวน์ 2-3 เดือนเหมือนช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน 2563 ซึ่งจะกระทบต่อ GDP มาก ทำให้ปีนี้ไทยอาจโตต่ำกว่า 2%

 

3. ในกรณีฐานมองว่า หากการแพร่ระบาดหนักกว่าเฟส 2 แต่ควบคุมได้มากกว่าการระบาดระลอกแรก จะส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยล่าช้าออกไปอีก

 

ทั้งนี้ ช่วงที่ปรับ GDP ไทยปี 2564 ขึ้นเป็น 2.7% เพราะคาดว่าการระบาดโควิด-19 จะจบ และการท่องเที่ยวจะทยอยกลับมา แต่เมื่อมีการระบาดระลอกใหม่ก็เริ่มมองว่ากระทบกับ Sentiment การเปิดประเทศในไตรมาส 4 ซึ่งอาจทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติของไทยในปีนี้อยู่ต่ำกว่า 1 ล้านคน 

 

จากการแพร่ระบาดหลายรอบที่เกิดขึ้นพิสูจน์แล้วว่า มาตรการวัคซีนเป็นสิ่งจำเป็นที่สุดต่อเศรษฐกิจไทยในตอนนี้ เพราะหากยังไม่มีวัคซีนที่เพียงพอต่อประชากรจนเกิด Herd Immunity (ภูมิคุ้มกันหมู่) ก็อาจมีการระบาดรอบใหม่ขึ้นอีก

 

ภาพ: ฐานิส สุดโต

 

เศรษฐกิจไทยไตรมาส 2/64 เสี่ยงถดถอยซ้ำซ้อน ฉุดการฟื้นตัวของประเทศ 

เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบ 3 ในช่วงที่เศรษฐกิจไทยยังไม่สามารถฟื้นตัวจากโควิด-19 รอบ 2 ได้เต็มที่ ย่อมส่งผลให้เศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 อาจเห็น เศรษฐกิจไทยเกิดภาวะถดถอยทางเทคนิคอีกครั้ง  

 

ด้านศูนย์วิจัยกรุงศรีออกประมาณการว่า ไตรมาส 2/64 นี้ GDP ไทยอาจติดลบ 0.2% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า และทำให้เศรษฐกิจไทยเข้าสู่ภาวะถดถอยเชิงเทคนิค (GDP ติดลบต่อเนื่อง 2 ไตรมาสขึ้นไป) เพราะติดลบต่อจากไตรมาส 1/64 ที่คาดว่าจะติดลบ 2.8% จากผลกระทบของโควิด-19 ระลอกที่ 2 

 

ด้าน อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยกับ THE STANDARD WEALTH ว่า ทางสำนักวิจัยคาดการณ์ว่า ไตรมาส 2/64 นี้ GDP ไทยจะติดลบเมื่อเทียบกับไตรมาส 1/64 และเข้าสู่ภาวะถดถอย ทำให้ผลกระทบของโควิด-19 ระลอก 3 ยิ่งต้องใช้เวลาในการฟื้นตัวมากขึ้น ขณะนี้ยังมีความหวังว่าไตรมาส 3/64 เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวขึ้น หากการระบาดจะขึ้นถึงจุดสูงสุดในช่วงเมษายน-พฤษภาคมนี้

 

ทั้งนี้ คาดว่าปัจจัยที่ช่วยพยุงเศรษฐกิจไทยให้กลับมาฟื้นตัวได้จะมาจาก 3 ปัจจัย ได้แก่ 

 

1. การควบคุมสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ให้ได้

 

2. การออกมาตรการรัฐที่ตรงจุด ตรงคน และมีความเหมาะสมอย่างต่อเนื่อง

 

3. การส่งออกที่จะฟื้นตัวตามภาคต่างประเทศและเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวขึ้น 

 

ขณะที่ พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า มีโอกาสสูงที่เศรษฐกิจไทยไตรมาส 2/64 จะติดลบเมื่อเทียบกับไตรมาส 1/64 คาดว่าจะอยู่ที่ -2.8-4.2% แต่เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนคาดว่า GDP ไทยจะขยายตัว 2.8-4.3% เพราะฐานต่ำที่ติดลบในปี 2563 

 

อย่างไรก็ตาม ในกรณีพื้นฐานมองว่า หากสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ จะส่งผลให้การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปี 2564 อยู่ที่ 3.0% ภายใต้เงื่อนไขว่า ต้องมีมาตรการรัฐออกมาช่วยเหลือและฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยเพิ่มเติม ซึ่งหากไม่มีมาตรการฯ จะส่งผลให้ GDP ไทยปี 6254 อยู่ที่ 1.5% แต่ในกรณีเลวร้าย ผลกระทบต่อการระบาดของโควิด-19 ราว 6 เดือน คาดว่าจะทำให้ GDP ปีนี้อยู่ที่ 1.5% ซึ่งอยู่ภายใต้เงื่อนไขรัฐบาลออกมาตรการช่วยเหลือและฟื้นฟูเศรษฐกิจ

 

นักวิเคราะห์แห่ปรับลดเป้า GDP ปี 2564 ลุ้นต่ำ 2% แม้มีฐานต่ำจากปีก่อนพยุง

ด้านศูนย์วิจัยกรุงศรีเปิดเผยว่า ผลกระทบจากการระบาดรอบที่ 3 อาจทำให้เศรษฐกิจไทยไตรมาส 2/64 อาจจะติดลบต่อ เนื่องจากไตรมาส 1/64 และเข้าสู่ Technical Recession หรือเศรษฐกิจถดถอยเชิงเทคนิค

 

ทั้งนี้ ทางศูนย์วิจัยกรุงศรีจึงปรับลดคาดการณ์ GDP ปี 2564 ลงเหลือ 2.2% จากก่อนหน้านี้ที่คาดการณ์ว่าจะโต 2.5% โดยการปรับ GDP แบ่งออกเป็น 3 กรณี ภายใต้การมีมาตรการช่วยเหลือของรัฐออกมาเพิ่มเติม ได้แก่ 

 

1. กรณีดีที่สุด หากรัฐ Soft Lockdown นาน 1 เดือน คาดว่าจะส่งผลดีต่อ GDP มีโอกาสเพิ่มขึ้น 0.25%  

 

2. กรณีฐาน หากมี Soft Lockdown นาน 2 เดือน คาดว่าจะกระทบต่อ GDP ลดลง 0.25% 

 

3. กรณีเลวร้าย หากมี Soft Lockdown นาน 3 เดือน จะส่งผลต่อ GDP ลดลง 0.75%  

 

ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยปรับลดคาดการณ์ GDP ปี 2564 เหลือ 1.8% จากเดิมที่ 2.6% เนื่องจากผลกระทบของโควิด-19 ระลอกใหม่นี้จะกระทบต่อความเชื่อมั่นและบริโภคครัวเรือนที่ต่ำลง ซึ่งการปรับลด GDP ครั้งนี้รวมปัจจัยบวกอย่างการส่งออกที่ฟื้นตัวกว่าที่คาดแล้ว อย่างไรก็ตาม ตัวแปรสำคัญของเศรษฐกิจไทยคือการเร่งวัคซีน หากล่าช้าอาจทำให้เกิดการระบาดระลอกใหม่ซ้ำอีก

 

พิพัฒน์กล่าวต่อว่า ในกรณีเลวร้าย GDP ไทยปีนี้จะโตต่ำ 2% ซึ่งหัวใจหลักในการฟื้นเศรษฐกิจคือ ‘วัคซีน’ เป็นนโยบายเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุด แม้ว่าจะมีการเยียวยา แต่หากเกิดการระบาดระลอกใหม่ซ้ำอีก ย่อมจะกระทบต่อประชาชนที่เมื่อรายได้ลดลง หนี้สินอาจเพิ่มขึ้น และส่งผลต่อความสามารถการชำระหนี้ 

 

และหากประเทศไทยยังไม่ได้วัคซีนในวงกว้างอย่างทั่วถึงและรวดเร็ว ย่อมจะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด (เดิมมองว่า 2 ปีฟื้นกลับสู่ก่อนโควิด-19) 

 

“ตอนนี้อิสราเอลฉีดวัคซีนเกิน 60% และเชื่อว่ามีภูมิคุ้มกันหมู่แล้ว ขณะที่อังกฤษก็ระดมฉีดได้เร็ว ทำให้เริ่มเห็นการเปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และจะส่งผลให้เศรษฐกิจในประเทศกลับมาเดินได้ ดังนั้นจะพบว่า ต้นทุนของวัคซีนถูกกว่าต้นทุนทางเศรษฐกิจมาก ไทยจึงควรเร่งฉีดวัคซีนให้ทั่วถึงโดยเร็ว” พิพัฒน์กล่าว

 

 

ทางออกเศรษฐกิจไทยฉบับเร่งด่วน ในวันที่พึ่งพาการท่องเที่ยวแบบเดิมไม่ได้

โครงสร้างเศรษฐกิจไทยแม้ส่วนใหญ่จะพึ่งพาการส่งออก แต่หากมองไปถึงการจ้างงานจะพบว่า ภาคการท่องเที่ยวที่มีสัดส่วน 22% ของ GDP กลับมาการจ้างงานมากกว่า (6.9 ล้านคน จากแรงงาน 37 ล้านคน) ทำให้ผลกระทบโควิด-19 รอบนี้ส่งถึงประชาชนฐานรากและกระจายในทุกกลุ่ม แต่จากสถานการณ์ปัจจุบัน ไทยไม่อาจกลับไปพึ่งพาการท่องเที่ยวได้เหมือนเดิม

 

นริศ สถาผลเดชา เจ้าหน้าที่บริหารศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี เปิดเผยกับ THE STANDARD WEALTH ว่า สถานการณ์ตอนนี้ แม้การส่งออกไทยจะปรับตัวดีขึ้นจากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัว แต่ในภาพรวม ผลกระทบต่อแรงงานไทยยังคงเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มท่องเที่ยว การบริการ โรงแรม ฯลฯ

 

แต่สิ่งที่ต้องคำนึงคือการท่องเที่ยวไทยยังไม่อาจฟื้นตัวได้ในเร็วๆ นี้ และกว่าจะมีนักท่องเที่ยวกลับสู่ระดับก่อนโควิด-19 (ปี 2562) ที่ 40 ล้านคน ยังต้องใช้เวลาอีกนาน ดังนั้นไทยต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจทั้งในมิติการใช้แรงงานเข้มข้นไปสู่อุตสาหกรรมที่เพิ่มมูลค่า เพื่อเพิ่มผลิตภาพของไทย (เช่น ธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์)

 

นอกจากนี้เศรษฐกิจไทยยังต้องเจอความท้าทายจากสังคมสูงวัย ยิ่งทำให้ไทยต้องเร่งปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ โดยต้องปรับทั้งภาคธุรกิจ โดยรัฐควรสนับสนุนให้การทำธุรกิจของภาคเอกชนทำได้ง่ายขึ้น และต้องสนับสนุนให้ SMEs สามารถเติบโตเป็นรายใหญ่ได้ ขณะเดียวกันต้องผลักดันให้รายใหญ่ออกไปแข่งในระดับโลก เพื่อไม่ให้แข่งกันในประเทศหรือแข่งกับ SMEs

 

อ่านข่าวเพิ่มเติมได้ที่:

 

ภาพประกอบ: นิสากร ฤทธาภัย

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising