×

ควรเตรียมรับมือ ‘เศรษฐกิจโลกถดถอย’ แต่ ‘จีน’ อาจเป็นม้ามืด

02.10.2022
  • LOADING...
เศรษฐกิจโลกถดถอย

ไม่ว่าจะถึงขั้น Recession ไหม หรือจะนิยามเศรษฐกิจถดถอยว่าอย่างไร สิ่งที่จะเกิดขึ้นแน่ๆ ในช่วง 6-12 เดือนข้างหน้า คือเศรษฐกิจโลกอาการไม่เบาแน่

 

รายงานสำรวจความเห็นนักเศรษฐศาสตร์ 22 คนทั่วโลกพบว่า ส่วนใหญ่ต่างเห็นตรงกันว่าทั้งธุรกิจและคนวางนโยบายควรต้องเตรียมรับมือ Global Recession ในปี 2023 จากการที่ธนาคารกลางในเศรษฐกิจขนาดใหญ่หลายแห่งขึ้นดอกเบี้ยพร้อมๆ กันเพื่อต่อสู้กับเงินเฟ้อที่อาจจะยังดื้อดึงไม่ลงง่ายๆ


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


โดย 90% ของนักเศรษฐศาสตร์ในแบบสำรวจมองว่ายุโรปอาการหนักแน่ๆ ตั้งแต่ปลายปีนี้จากวิกฤตพลังงานที่ทำให้เศรษฐกิจซบเซาพร้อมเงินเฟ้อสูง (Stagflation)

 

นอกจากนั้น หลายคนมองเศรษฐกิจอเมริกาว่าจะแย่ลงอย่างชัดเจนในปีหน้า เมื่อฤทธิ์ยาขมจากดอกเบี้ยสูงออกผลเต็มที่ (ดอกเบี้ยเป็นเหมือนยาแรงที่ใช้เวลากว่าจะออกฤทธิ์)

 

อย่างไรก็ตาม มีบางคนเหมือนกันที่มองว่าจีนอาจเป็นม้ามืด เพราะต่อไปอาจผ่อนคลายนโยบาย Zero-COVID เปิดให้มีการเดินทางรวมถึงต่างประเทศได้มากขึ้น และอาจปล่อยยาแรงมากระตุ้นเศรษฐกิจมากขึ้นผ่านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในต้นปีหน้า

 

แต่ทั้งนี้อย่างเก่งก็แค่ช่วยบรรเทาอาการทรุดของเศรษฐกิจโลก ไม่พอที่จะพยุงเศรษฐกิจโลกคนเดียวในเวลาที่อเมริกาและยุโรปต่างชะลอตัว

 

จากท่องเที่ยวไปส่งออก แล้วกลับไปท่องเที่ยวใหม่

แต่ไม่ใช่ทุกอย่างจะแย่ไปหมด ก่อนโควิดภาคบริการโดยเฉพาะการท่องเที่ยวเป็นหัวหอกของการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะสำหรับประเทศไทย แต่พอโควิดมาท่องเที่ยวแห้งเหือดกลายเป็นการส่งออกสินค้ากลับมาเป็นตัวละครหลักผลักดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจต่างๆ รวมทั้งประเทศไทยในปีที่ผ่านมา

 

ตั้งแต่นี้ไป เราอาจกลับไปหนังม้วนเก่า คือท่องเที่ยวที่กำลังฟื้นตัวต่อเนื่องเป็นพระเอกอีกครั้ง โดยสถานการณ์ด้านพลังงานในยุโรป เป็นหนึ่งในโอกาสสำคัญที่อาจทำให้การเดินทางมาพักผ่อนหรือทำงานในประเทศไทยมีความน่าสนใจเพิ่มขึ้นมาอีกครั้ง ซึ่งจะเป็นแรงสนับสนุนที่สำคัญของเศรษฐกิจไทยในปีหน้า อันเป็นช่วงที่ภาคการส่งออกอ่อนแอลงจากกำลังซื้อที่ลดลงของเศรษฐกิจใหญ่ๆ

 

ประเทศที่พึ่งพาทั้งส่งออกและท่องเที่ยวอย่างไทยจะได้อย่างเสียอย่าง ส่งออกจะกลายเป็นตัวฉุดและเราก็ต้องกลับไปพึ่งการท่องเที่ยวเป็นพระเอกเช่นเคย การดูแลให้ท่องเที่ยวฟื้นตัวได้ต่อเนื่องจึงจะยิ่งสำคัญในปีหน้า

 

กำลังซื้อลดลง คนจนเพิ่มขึ้น นโยบายต้องช่วยคนตัวเล็ก

ปัญหาค่าครองชีพดูแค่ตัวเลขเงินเฟ้อไม่ได้, เงินเฟ้อเป็นเสมือนภาษีของคนรายได้น้อย

 

นักเศรษฐศาสตร์กว่า 80%ในแบบสำรวจมองว่ากำลังซื้อคนจะลดลงเพราะรายได้และค่าแรงจะไม่สามารถปรับตามเงินเฟ้อได้ทำให้เงินในกระเป๋าลดลง

 

และ 90% ของนักวิเคราะห์กลุ่มนี้มองว่าคนจนจะเพิ่มขึ้นหลังจากนี้ เพราะเงินเฟ้อที่มาจากราคาพลังงานและอาหารกระทบคนรายได้น้อยมากกว่าคนรายได้สูง

 

แม้ตัวเลขเงินเฟ้อน่าจะปรับตัวลงในปีหน้า แต่ปัญหาค่าครองชีพยังอาจจะไม่ได้หายไปเพราะรายได้คนไม่ได้ปรับขึ้นตาม ราคาสินค้าจำนวนมากอาจไม่ได้ปรับลงเมื่อราคาพลังงานลดลง

 

มาตราการช่วยกลุ่มคนตัวเล็กของรัฐจึงจะมีบทบาทสำคัญมาก รัฐบาลต่างๆ ในวันนี้อาจไม่ได้มีเงินในกระเป๋าตังค์มากพอที่จะใช้กระตุ้นเศรษฐกิจขนานใหญ่อีกรอบ จึงต้องใช้นโยบายการคลังที่ยิงแม่นตรงจุดมากขึ้น ช่วยคนที่ไม่สามารถช่วยตนเองได้จริงๆ

 

ประเทศต่างๆ ควรฉวยโอกาสที่คนใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมากขึ้นในยุคหลังโควิด เอาเทคโนโลยีมาปรับช่วยคนเล็ก เช่น ส่งเสริมอีคอมเมิร์ซให้ช่วย SMEs ขยายตลาดใหม่ กระจายความเสี่ยง ใช้ฟินเทคช่วยให้คนเข้าถึงบริการการเงิน เช่น สินเชื่อ ประกัน ได้ดีขึ้น ไม่ต้องหันไปพึ่งเงินนอกระบบ 

 

โลกแตกแยกขึ้น ธุรกิจเร่งรีบปรับตัวต่อโลกใหม่มากขึ้น

นักเศรษฐศาสตร์กลุ่มนี้ส่วนใหญ่มองว่าโลกจะแตกแยกมากขึ้นหลังจากปีนี้ โดยจะมีผลดิสรัปต์การค้าระหว่างประเทศมากที่สุดจากสงครามการค้าและสงครามเทคโนโลยีระหว่างประเทศมหาอำนาจที่ลามไปสู่ประเทศอื่นๆ

 

ในโลกที่ความไม่แน่นอนทางสูงขึ้น ซัพพลายเชนถูกดิสรัปต์ง่ายขึ้น ธุรกิจจะต้องปรับตัวเพื่อลดความเสี่ยงลง

 

จากทำธุรกิจกับพาร์ตเนอร์ที่ใช่ อาจต้องเลือกทำกับคนที่มาจากประเทศที่ ‘เป็นมิตร’

 

จากที่ไปตั้งโรงานผลิตในที่ที่ถูกที่สุดอาจต้องมาผลิตในประเทศมากขึ้นและมีการกระจายความเสี่ยงมากขึ้น

 

จากที่เน้นประสิทธิภาพ (Efficiency) มาให้ความสำคัญเรื่องการลดความเสี่ยงที่จะถูกดิสรัปต์ทางซัพพลายเชน (Resilience) มากขึ้น

 

โดยนักเศรษฐศาสตร์กว่า 80% ที่สำรวจมองว่า ธุรกิจส่วนใหญ่จะรีบปรับยุทธศาสตร์เหล่านี้อย่างเร่งด่วน ซึ่งแตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากแบบสำรวจปีก่อนที่นักวิเคราะห์ตอนนั้นส่วนใหญ่มองว่าธุรกิจจะยัง ‘รอดูสถานการณ์’ ก่อน

 

แต่ในด้านบวก การลงทุนในอนาคตอาจถูกกระจายมาที่อาเซียนมากขึ้นเพราะหนีจากประเทศที่มีความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์สูง เทรนด์นี้ได้เกิดขึ้นแล้วโดยเฉพาะในเวียดนามที่มี FTA อยู่กับหลายเศรษฐกิจ และอินโดนีเซียที่มีตลาดในประเทศขนาดใหญ่ ประเทศไทยก็มีโอกาสเช่นกัน

 

สุดท้ายแม้ในระยะสั้นจะมีความท้าทายไม่น้อย นักเศรษฐศาสตร์ที่เสวนาก็เห็นตรงกัน มีโอกาสให้คว้าในโลกหลังโควิดเช่นกัน โดยมองว่าการพัฒนาด้านการสาธารณสุข (Health) ความยั่งยืน (ESG) และดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันจะยังไปได้ดี

 

สรุปคือ สถานการณ์เศรษฐกิจใน 6-12 เดือนข้างหน้าจะท้าทายพอสมควร ซึ่งไม่ใช่ว่าให้แตกตื่นกัน แต่ควรมีสติเตรียมพร้อมรับมือกับอนาคตข้างหน้าตั้งแต่ตอนนี้ และในทุกวิกฤตก็มีโอกาสแทรกอยู่เช่นกัน 

 

ประเทศหรือองค์กรใดที่ปรับตัวได้เร็วฝ่าคลื่นพายุเหล่านี้ (Adaptable) ไปได้ก็อาจกลายเป็นผู้ชนะที่แกร่งยิ่งกว่าเดิม

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising