×

จับตาชีพจรเศรษฐกิจโลก เข้าใกล้ภาวะถดถอยหรือยัง

11.04.2022
  • LOADING...
เศรษฐกิจโลก

ในปัจจุบัน เริ่มมีนักเศรษฐศาสตร์กระแสรองจำนวนมากขึ้นที่มองว่าเศรษฐกิจโลกจะเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย โดยเฉพาะหลังจากภาวะผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ กลับทิศ (Inverted Yield Curve) เกิดขึ้น ที่หลายฝ่ายมองว่าเป็นสัญญาณของเศรษฐกิจถดถอย (Recession) ภายใน 1-2 ปีข้างหน้า

 

ก่อนที่จะเจาะในประเด็นดังกล่าว อยากชวนท่านผู้อ่านพิจารณาถึงพัฒนาการเศรษฐกิจโลกในช่วงที่ผ่านมาเพื่อให้เห็นฉากทัศน์ของเศรษฐกิจในปัจจุบัน โดยหากพิจารณาจากทิศทางตลาดการเงิน จะเห็นได้ว่า ในระยะหลัง ตลาดการเงินโดยเฉพาะในประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐอเมริกา เป็นเหมือน ‘หนังคนละม้วน’ เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว โดยไม่สามารถเติบโตได้ดี ความผันผวนสูงขึ้น และเกิดสถานการณ์ Risk-Off หรือลดลงรุนแรงอยู่บ่อยครั้ง ขณะที่ปัจจัยของความผันผวนมีหลายประการ 

 

เช่น 1. นโยบายการเงินโลก โดยในรายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) สหรัฐฯ เดือนมีนาคม (Fed Minutes) ส่งสัญญาณลดทอนขนาดงบดุล (มาตรการ Quantitative Tightening: QT) ค่อนข้างรุนแรง โดยประกาศลดทอนเดือนละ 9.5 หมื่นล้านดอลลาร์ ทำให้ผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ 10 ปี เพิ่มขึ้นรุนแรง และทำให้ความชันเส้นผลตอบแทนกลับมาเป็นบวก จากที่เคยเป็นลบ (หรือที่เรียกว่า Inverted Yield Curve) ในช่วงก่อนหน้า 

 

2. ตัวเลขเงินเฟ้อทั่วโลกทั้งในสหรัฐฯ ยุโรป และในไทย ยังคงปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง หลายที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ หรือสูงสุดในรอบ 4 ทศวรรษ ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณความเสี่ยงนโยบายการเงินที่อาจต้องตึงตัวเพิ่มขึ้น 

 

3. ภาวะสงครามที่ยังคงไม่ชัดเจนและทวีความรุนแรงสลับกับลดทอนความรุนแรงลง (หรือที่เรียกว่า ‘เมฆหมอกแห่งสงคราม’ หรือ Fog of War) โดยล่าสุดชาติตะวันตกประกาศคว่ำบาตรรัสเซียเพิ่มเติม จากประเด็นกล่าวหารัสเซียว่าทำอาชญากรรมสงคราม (หรือการสังหารผู้บริสุทธิ์) หลังรัสเซียถอนทหารจากเมืองเคียฟและเมืองใกล้เคียง แม้ว่าจะมีพัฒนาการเชิงบวกจากการเจรจาสันติภาพก็ตาม 

 

4. ตัวเลขตลาดแรงงานสหรัฐฯ ยังคงปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง ท่ามกลางค่าจ้างที่ยังคงปรับขึ้น เป็นสัญญาณให้ Fed ยังคงดำเนินนโยบายการเงินตึงตัวได้ และ 

 

5. ตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) จีนที่ชะลอลงรุนแรง จากการล็อกดาวน์ และปัญหาภาคอสังหาริมทรัพย์ และเริ่มมีความกังวลปัญหาห่วงโซ่อุปทานเพิ่มมากขึ้น หลังจากบรรดาตู้คอนเทนเนอร์ตกค้างในท่าเรือเซินเจิ้นและเซี่ยงไฮ้ ที่มีการปิดเมืองเพิ่มมากขึ้นเป็นประวัติการณ์ สถานการณ์เศรษฐกิจที่แย่ลงส่งผลให้คณะกรมการเมือง (State Council) ส่งสัญญาณพร้อมทำมาตรการกระตุ้นการบริโภคเพิ่มเติม ขณะที่ธนาคารกลางจีน (PBOC) พร้อมตั้งกองทุนเสถียรภาพการเงิน เพื่อช่วยให้เงินสนับสนุนสถาบันการเงินที่มีปัญหา

 

ภาพทั้งหมดบ่งชี้ว่า ความเสี่ยงเงินเฟ้อที่จะสูงขึ้นกว่าที่หลายฝ่าย (รวมถึงเราเอง) เคยมองมีมากขึ้น ทั้งจากปัญหาอุปทานขาดแคลน (Supply Shortage) ที่มีมากขึ้น ทั้งจากจีน (สินค้าขั้นกลาง) และรัสเซีย (พลังงาน) และจากความต้องการที่ร้อนแรง (Demand-Pull) จากตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่ร้อนแรงและค่าจ้างที่ปรับเพิ่มขึ้น 

 

ภาพเหล่านี้ ทำให้ความคาดหวังเงินเฟ้อ (Inflation Expectation) มีมากขึ้น เห็นได้จากการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อ 1-3 ปีข้างหน้าที่มีการสำรวจของหลายสถาบันในสหรัฐฯ พุ่งสูงขึ้น ขณะที่ค่าเช่าและค่าจ้างในสหรัฐฯ และในหลายที่ทั่วโลกก็ยังปรับตัวเพิ่มขึ้น ทำให้ธนาคารกลางต่างๆ เริ่มส่งสัญญาณทำนโยบายการเงินตึงตัวมากขึ้น และนโยบายการเงินที่สำคัญที่สุดก็หนีไม่พ้นสหรัฐฯ ทั้งจากประเด็นขนาดเศรษฐกิจและประเด็นเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ โดยหากสหรัฐฯ ทำนโยบายการเงินตึงตัวแล้ว ในที่สุดแล้วประเทศอื่นก็จะหลีกเลี่ยงที่จะต้องตึงตัวนโยบายการเงินด้วยไม่ได้ เพราะมิฉะนั้นจะเกิดการไหลออกของเงินทุนและกระทบกับค่าเงิน

 

ดังนั้น เราจึงต้องพิจารณามติของที่ประชุม FOMC สหรัฐฯ โดยละเอียด ทั้งในประเด็นการขึ้นดอกเบี้ย ที่ทาง FOMC ส่งสัญญาณว่าจะขึ้นถึง 7 ครั้ง (ไปจบที่ 1.75%) ในปีนี้เป็นอย่างน้อย ขณะที่ตลาดมองว่าจะขึ้นถึง 10 ครั้ง (จบที่ 2.5%) ในปีนี้ ซึ่งการขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องนี้ จะทำให้ต้นทุนการเงินระยะสั้นปรับเพิ่มขึ้น นอกจากนั้น ยังมีประเด็นเรื่องการลดทอนงบดุลผ่านมาตรการ Quantitative Tightening หรือ QT ซึ่งได้แก่การดูดสภาพคล่องกลับ ซึ่งมติของ FOMC ตรงกับที่เราเคยมองไว้ คือ 

 

  1. การลดทอนจะเริ่มในเดือนพฤษภาคม 
  2. การลดขนาดงบดุลมีเพดานการลดอยู่ที่เดือนละ 9.5 หมื่นล้านดอลลาร์ โดยเป็นการลดพันธบัตร 6 หมื่นล้าน และ Mortgage-Backed Securities (MBS) วงเงิน 3.5 หมื่นล้านดอลลาร์ ใกล้เคียงกับที่เรามองที่ 1 แสนล้านดอลลาร์ 
  3. การทำ QT จะมีลักษณะทั้ง Passive และ Active กล่าวคือ หากเดือนใดที่พันธบัตรครบกำหนดมีน้อยกว่าที่ตั้งเป้าไว้ Fed จะเริ่มขายพันธบัตรที่ยังไม่ครบกำหนด และ 
  4. จะเริ่มมีการขายตราสารหนี้ภาคอสังหาริมทรัพย์ (Mortgage-Backed Securities: MBS) ด้วย นอกจากนั้น ในการประชุมยังมีการถกเถียงถึงการขึ้นดอกเบี้ยถึง 50 bps ในคราวเดียว แม้ประธานธนาคารกลาง (Fed) เคยส่งสัญญาณจะขึ้น 25 bps แล้วก็ตาม 

 

ภาพเช่นนี้ บ่งชี้เศรษฐกิจไม่แข็งแรง (Unhealthy) จากเงินเฟ้อสูง ทำให้ Fed ต้องขึ้นดอกเบี้ยแรง ซึ่งทำให้ผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นสูงกว่าระยะยาว และเกิด Inverted Yield Curve (ผลตอบแทนพันธบัตรกลับทิศ) ขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งการที่ FOMC ทำ QT คือการตั้งใจที่จะทำให้ Yield Curve มีความชันเพิ่มขึ้น เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหา Inverted Yield Curve ที่หลายฝ่ายมองว่าจะเป็นสัญญาณของ Recession 

 

แต่ด้วยมาตรการ QT นี่เอง ที่จะนำไปสู่อีกปัญหาหนึ่ง เพราะจะทำให้ผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาว (เช่น 10 ปี) เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในระยะต่อไป เช่นเดียวกับดอกเบี้ยระยะสั้นที่จะปรับขึ้นต่อเนื่องตามดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งดอกเบี้ยที่สูงขึ้นนี้ จะทำให้ความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจมีมากขึ้นในระยะต่อไป เนื่องจากทำให้ต้นทุนทางการเงินเพิ่มขึ้น สูงกว่าการขยายตัวเศรษฐกิจที่เปรียบได้กับการขยายตัวของรายได้โดยเฉลี่ยของประชาชน เห็นได้จากดอกเบี้ยเงินกู้ซื้อบ้าน 30 ปี อยู่ที่ 4.9% จากจุดต่ำสุดที่ 2.7% ในช่วงปี 2021 โดยต้นทุนการเงินที่เพิ่มขึ้นทำให้เป็นไปได้ที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐฯ ในปี 2023

 

เราวิเคราะห์ว่าเป็นไปได้ที่ผลตอบแทนพันธบัตร 10 ปีจะมีแนวโน้มปรับขึ้นต่อเนื่อง จนทำจุดสูงสุดที่ 4% ในช่วงไตรมาส 2 ปี 2023 ซึ่งจะทำให้ดอกเบี้ยเงินกู้ซื้อบ้านของสหรัฐฯ อยู่ที่ระดับ 7% เป็นอย่างน้อย ซึ่งจะทำให้ภาระดอกเบี้ยผู้กู้ซื้อบ้านในสหรัฐฯ อยู่ที่ 1.23 ล้านล้านดอลลาร์ จาก 8.9 แสนล้านดอลลาร์ในปัจจุบัน  

 

ด้วยสถานการณ์ปัจจุบัน (ที่ Fed ขึ้นดอกเบี้ย 10 ครั้งปีนี้ และ 2 ครั้งปีหน้า ตามการคาดการณ์ของตลาด) จะทำให้ผลตอบแทนพันธบัตร 10 ปี สูงกว่าการขยายตัว GDP ในครึ่งหลังของปี 2022 ทำให้เป็นไปได้ว่าอาจเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยรุนแรงในช่วงต้นปี 2023 และดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ ที่ปรับขึ้นรุนแรง จะทำให้เศรษฐกิจอื่นๆ ต้องขึ้นดอกเบี้ยตาม ซึ่งอาจนำมาสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในประเทศอื่นๆ เช่นเดียวกัน

 

ความเสี่ยงเศรษฐกิจชะลอตัวแรงกำลังจะมาแล้ว ท่านผู้อ่านโปรดระมัดระวัง

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising