×

กูรูมองเศรษฐกิจโลก-ปัญหาห่วงโซ่อุปทานกดดันส่งออกไทยช่วงที่เหลือของปีโตได้ไม่เกิน 5% ส่วนปีหน้าเสี่ยงติดลบ

26.08.2022
  • LOADING...
เศรษฐกิจโลก

นักเศรษฐศาสตร์ชี้ ส่งออกไทยหมดโอกาสโตสองหลัก มองเศรษฐกิจโลกชะลอ-ปัญหาห่วงโซ่การผลิตกดดันช่วงที่เหลือของปีโตได้ไม่เกิน 5% หวั่นสถานการณ์ลากยาวอาจฉุดปีหน้าโตติดลบ

 

อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า ตัวเลขการส่งออกเดือนกรกฎาคมที่ออกมาขยายตัวได้เพียง 4.3% ถือเป็นตัวเลขที่ต่ำกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์เอาไว้ว่าน่าจะยังขยายตัวได้ที่ 5-6% โดยมองว่า 2 ปัจจัยหลักที่ทำให้ส่งออกไทยเติบโตได้ค่อนข้างน้อยคือ การชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลก ทั้งจีน สหรัฐฯ และยุโรป และปัญหาห่วงโซ่อุปทานโลก โดยเฉพาะในส่วนของชิปและเซมิคอนดักเตอร์ที่ขาดแคลน ซึ่งส่งผลกระทบต่อการผลิตยานยนต์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ซึ่งมีน้ำหนักมากต่อการส่งออกไทย

 

“ทั้งการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและปัญหาห่วงโซ่อุปทานมีแนวโน้มจะลากยาวถึงปลายปีเป็นอย่างน้อย ทำให้เรามองว่าการส่งออกไทยในช่วงที่เหลืออย่างเก่งจะขยายตัวได้เฉลี่ยที่ 5% ต่อเดือน ทำให้ภาพรวมทั้งปีส่งออกน่าจะเติบโตได้ราว 7.1%” อมรเทพกล่าว

 

อมรเทพกล่าวว่า ขณะนี้ธนาคารยังประเมินว่าการส่งออกไทยในปีหน้าจะขยายตัวได้ที่ 3% แต่สิ่งที่ต้องจับตาดูในช่วงต่อจากนี้คือทั้งปัญหาเศรษฐกิจโลกชะลอตัวและห่วงโซ่อุปทานจะลากยาวข้ามไปถึงปีหน้าด้วยหรือไม่ เพราะหากปัญหาดังกล่าวยังไม่คลี่คลาย รวมถึงจีนซึ่งเป็นตลาดส่งออกของไทยยังไม่ฟื้นตัว ก็มีโอกาสที่การส่งออกไทยในปีหน้าจะเติบโตเป็นศูนย์หรือกระทั่งติดลบได้เช่นกัน

 

นริศ สถาผลเดชา หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีทีบี (ttb analytics) กล่าวว่า ตัวเลขส่งออกที่ชะลอตัวลงในเดือนล่าสุดไม่ถือเป็นเรื่องเกินความคาดหมายของตลาดที่มองว่าการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกไทย ทำให้ภาพรวมทั้งปีน่าจะขยายตัวได้ที่ระดับ 5-6% อยู่แล้ว แต่ประเด็นที่อาจสร้างความประหลาดใจคือ การที่ส่งออกชะลอลงแต่การนำเข้ากลับไม่ลดลงตาม เนื่องจากโดยปกติหากเป็นการนำเข้าสินค้าทุนเพื่อนำมาผลิตหากการส่งออกปรับลดลงการนำเข้าจะต้องลดลงด้วยเช่นกัน

 

“ตัวเลขแค่เดือนเดียวคงยังบอกไม่ได้ว่าการนำเข้าที่ยังไม่ลดลงมาเป็นการนำเข้าเพื่อบริโภคในประเทศหรือเปล่า คงต้องรอดูอีกประมาณ 3 เดือน โดยเมื่อถึงตอนนั้นหากช่องว่างนี้ยังไม่ถูกปิดลงและเราขาดดุลเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ก็น่ากังวล และจะมีผลต่อ GDP แน่ๆ ซึ่งตอนนี้เราก็มองว่าการส่งออกจะเป็นตัวฉุด GDP ในช่วงไตรมาส 3 และ 4 อยู่แล้ว” นริศกล่าว

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X