×

มอง World Economic Forum ในมุมที่มากกว่า เกรตา-ทรัมป์ และความยั่งยืนที่ถูกพูดซ้ำซาก

31.01.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

8 MINS. READ
  • ปลายเดือนมกราคมของทุกปี ผู้นำจากรัฐบาลและองค์กรธุรกิจทั่วโลกจะเข้าร่วมประชุมประจำปี World Economic Forum ที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดยมีผู้เข้าร่วมงานไม่ต่ำกว่า 3,000 คน และบุคคลสำคัญไม่น้อยกว่า 500 คนในพื้นที่เดียวกัน ปี 2020 มาในธีม Stakeholders for a cohesive and sustainable world ตอกย้ำความสำคัญของการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
  • นอกจากการปะทะคารมของ โดนัลด์ ทรัมป์ และเกรตา ธันเบิร์ก มีรายละเอียดที่สวยงามและมุมที่น่าคิดจากงานนี้ ผู้บริหารระดับสูงจากประเทศไทยต่างก็เห็นพ้องกับเวทีโลกว่าถึงเวลาที่ทุกคนจะต้องเปลี่ยนแปลงอย่างจริงจัง ก่อนจะถูกทิ้งไว้ข้างหลังโดยไม่มีใครช่วยได้

หนึ่งในงานประชุมที่ใหญ่ที่สุดของโลกที่ผู้คนจดจำคือการประชุมประจำปีของ World Economic Forum (WEF) ที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เป็นเวทีใหญ่ที่บรรดาบุคคลสำคัญจะต้องไปร่วมงานเพื่อแสดงวิสัยทัศน์และร่วมกันกำหนดทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของโลก จัดกันต่อเนื่องเป็นปีที่ 50 แล้ว และ WEF ก็กลายเป็นสถาบันสำคัญที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการเมือง ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ รวมทั้งภาคธุรกิจอย่างหลีกเลี่ยงมิได้

 

ผู้เขียนมีโอกาสได้เข้าร่วมงาน World Economic Forum 2020 ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 21-24 มกราคมที่ผ่านมา และเห็นรายละเอียดที่น่าสนใจในงานที่เป็นมากกว่าสีหน้าท่าทางของ เกรตา ธันเบิร์ก นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมชื่อดัง คำพูดเหน็บแนมของ โดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ และแนวโน้มของการพัฒนาทุนมนุษย์เพื่อรักษาพื้นที่ของตนเองในโลกธุรกิจ จึงอยากจะนำบางช่วงบางตอนมาเล่าผ่านบทความชิ้นนี้

 

 

 

หิมะขาวโพลนที่ดาวอส เสียงสนทนาของเทคโนแครตและปัญหาสิ่งแวดล้อมเก๋ๆ

นับจากปี 1971 ที่จัดงานประชุมประจำปีเป็นครั้งแรก World Economic Forum กลายเป็นเวทีที่เกิดเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่โลกจารึกนับครั้งไม่ถ้วนตลอดครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา เดิมงานนี้ใช้ชื่อว่า European Management Forum ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็นชื่อปัจจุบันในปี 1987 เพื่อยกระดับวงสนทนาให้ครอบคลุมทุกทวีปทั่วโลก โดยเริ่มให้ผู้นำทางการเมืองเข้าร่วมประชุมได้ในปี 1974 หลังจากเกิดสงครามระหว่างชาติอาหรับและอิสราเอล รวมทั้งการถือกำเนิดของระบบการจัดการการเงินเบรนตันวูดส์ ที่ทำให้ WEF ให้ความสำคัญกับมิติด้านเศรษฐกิจและสังคมอย่างชัดเจน

 

ปัจจุบันมีองค์กรเอกชนที่เป็นสมาชิกของ WEF ราว 1,000 แห่ง ซึ่งล้วนเป็นบริษัทแถวหน้าสุดของทุกอุตสาหกรรมทั่วโลก มีมูลค่าธุรกิจไม่น้อยกว่า 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 1.5 แสนล้านบาท ซึ่งตัวแทนสมาชิกที่เข้าร่วมประชุมจะสามารถมีส่วนร่วมกับการประชุมและนำเสนอแนวคิดในการร่วมมือกันกับทั้งภาครัฐและเอกชนจากประเทศอื่นๆ ได้ นอกจากภาคธุรกิจยังมีผู้เข้าร่วมงานที่มาจากโลกวิชาการ ผู้นำทางความคิด ศาสนา และวัฒนธรรม รวมทั้งสื่อชั้นนำจากทั่วโลกด้วย

 

เป็นเรื่องธรรมดาเมื่อมีบุคคลสำคัญและผู้ที่สังคมจับตามารวมตัวกันและประกาศวิสัยทัศน์บางอย่าง WEF ถูกวิจารณ์ว่าเป็นเวทีของพวกชนชั้นสูงจากภาคการเงิน อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ กลุ่มขุนนางวิชาการ (เทคโนแครต) รวมทั้งยังเป็นพื้นที่ของการเมืองระหว่างประเทศที่นักการเมืองต่างฉกฉวยโอกาสจากการเข้าร่วมงานด้วย เกิดการประท้วงจากนักเคลื่อนไหวอยู่บ่อยครั้ง รวมถึงการรวมตัวประท้วงของชาวทิเบตและอุยกูร์ในกรุงเบิร์น เมื่อครั้งที่ประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ผู้นำจีน มาเข้าร่วมประชุมใหญ่ในปี 2017 

 

และเมื่อทรัมป์ประกาศเข้าร่วมประชุม WEF 2020 หลังจากเขาปฏิเสธการเข้าร่วมในปีก่อนหน้า ทำให้ทั่วโลกต่างจับตาที่ผู้นำพญาอินทรีซึ่งเพิ่งจะมีข้อตกลงทางการค้าเฟสแรกกับประเทศจีน หลังจากที่ต่อสู้ในสงครามการค้าจนทั่วโลกปั่นป่วนมานานนับปี การรักษาความปลอดภัยของงานจึงถูกยกระดับขึ้นอีก เห็นได้จากการทำงานของพลซุ่มยิงบนหลังคาของอาคาร Congress Centre และพื้นที่โดยรอบที่พร้อมจัดการหากเกิดเหตุการณ์ไม่ชอบมาพากล รวมทั้งการจำกัดการเข้าถึงพื้นที่ห้องประชุมที่แบ่งออกเป็นระดับที่แตกต่างกัน ทีมงานไม่อนุญาตให้สื่อทุกสำนักเข้าไปในห้องประชุมที่มีบรรดาผู้นำประเทศและบุคคลสำคัญอยู่ จะติดตามได้เพียงการถ่ายทอดสดของ WEF เท่านั้น ขณะเดียวกันยังแบ่งประเภทของสื่อออกเป็นระดับ ทั้งกลุ่ม Media Leader ซึ่งเป็นสื่อมวลชนหรือผู้ประกาศข่าวที่มีชื่อเสียงระดับโลก หรือ Associated Reporting Press ที่สามารถเข้าฟังทุกการประชุมที่ทีมงานอนุญาต ส่วนสื่อที่ติดตามบุคคลสำคัญและสื่ออื่นๆ จะไม่สามารถเข้าไปในพื้นที่ได้ แต่จะจำกัดให้อยู่ในพื้นที่สำหรับสื่อมวลชนทั่วไปเท่านั้น

 

ผู้เขียนได้เข้าฟังการเสวนาหัวข้อ ‘The Future of Financial Markets’ ซึ่งมีตัวละครที่สำคัญของเศรษฐกิจและภาคการเงินโลก นั่นคือ สตีเวน มนูชิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของสหรัฐฯ และคริสตาลินา จอร์เจียวา ผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เข้าร่วมการเสวนา โดยมนูชินส่งสัญญาณชัดเจนว่าการเจรจาการค้าเฟส 2 ระหว่างสหรัฐฯ และจีนอาจจะเกิดขึ้นหลังจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในเดือนพฤศจิกายนปีนี้ผ่านพ้นไปแล้ว ซึ่งเป็นไปตามที่หลายฝ่ายคาด รัฐบาลของทรัมป์จะดึงเกมยาวโดยรอดูผลจากการเจรจาในเฟสที่ 1 จากนั้นจะใช้ความชอบธรรมในการเป็นผู้กอบกู้วิกฤตจากสงครามการค้าและโหมกระแสชาตินิยมอเมริกันชน ดึงคะแนนเสียงจากชนชั้นกลาง กลุ่มเกษตรกร และกลุ่มฐานราก ให้เขากลับมานั่งตำแหน่งประธานาธิบดีต่อในเทอมที่ 2

 

สีหน้าของมนูชินจึงดูดี ยิ้มแย้มแจ่มใส เพราะไพ่การเมืองในมือเป็นไปตามที่วางไว้

 

ขณะที่ผู้บริหารของ IMF พยายามให้ความหวังในห้องประชุมโดยบอกว่าเศรษฐกิจของปี 2020 น่าจะดีกว่าปี 2019 ที่ผ่านมา (วันที่ผู้เขียนเข้าฟังคือ 22 มกราคม ซึ่งยังไม่เกิดปัญหาไวรัสโคโรนาจากประเทศจีน) โดยเชื่อว่าผลจากการเจรจาการค้าเฟส 1 ที่ตกลงกันได้นั้นจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวมของโลกให้ขยายตัวเพิ่มได้ราว 0.3% แต่ก็ยังมีบางประเทศที่อาจต้องเผชิญกับภาวะที่ชะลอตัว เช่น อินเดีย และประเทศเกิดใหม่บางแห่งที่โครงสร้างเศรษฐกิจยังเปราะบาง สิ่งสำคัญที่จอร์เจียนาพูดคือการเห็นพ้องกับธนาคารกลางสหรัฐฯ และเน้นย้ำว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางไม่ใช่เครื่องมือเทวดาเพียงอย่างเดียวที่จะใช้แก้ไขปัญหาเสถียรภาพของระบบการเงิน ภาวะที่อัตราดอกเบี้ยต่ำยาวนานแบบนี้จะเกิดการแสวงหากำไรหรือ Search for yield ในระดับที่รุนแรงขึ้น เห็นได้จากการกระโดดเข้าไปลงทุนในกลุ่มสินทรัพย์เสี่ยงที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก ซึ่ง IMF และบรรดาธนาคารกลางก็กำลังจับตาดูเป็นพิเศษ 

 

มากกว่าเรื่องเศรษฐกิจที่พุดคุยกันอยู่ทุกปี WEF ได้ยกระดับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมขึ้นมาเป็นธีมสำคัญของปีนี้ โดยใช้ชื่อว่า ‘Stakeholders for a cohesive and sustainable world’ โดยเน้นความสำคัญของการทำธุรกิจโดยคำนึงผลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกคน ไม่ใช่แค่ผู้ถือหุ้น (Shareholders) เท่านั้น ในที่นี้ครอบคลุมทั้งตัวองค์กร ลูกค้า ผู้รับจ้างผลิตในห่วงโซ่อุปทาน ชุมชนที่อยู่ใกล้เคียงกับธุรกิจดังกล่าว และผู้ที่อาจจะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงโดยสินค้าและบริการของธุรกิจนั้นๆ จึงเป็นที่มาสำคัญของแนวคิดทุนนิยมเพื่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกคน (Stakeholders Capitalism) นั่นเอง

 

เกรธา ธันเบิร์ก นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมที่โดดเด่นที่สุดในรอบปีที่ผ่านมา ได้เรียกร้องให้ทุกฝ่ายยกเลิกการอุดหนุนหรือลงทุนในธุรกิจผลิตและสำรวจพลังงานฟอสซิลทันที และตอกหน้าทรัมป์เรื่องการปลูกต้นไม้ 1 ล้านล้านต้น โดยบอกว่าการให้เงินคนอื่นไปปลูกต้นไม้ไม่อาจชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นกับระบบนิเวศที่ถูกทำลายได้ นอกจากบทบาทของผู้เข้าร่วมประชุม ตัวเธอเองก็ยังปฏิบัติหน้าที่ผู้ชุมนุมที่รวมตัวกันประท้วงหน้างาน WEF ในอีกไม่กี่วันต่อมาด้วย เนื่องจากเห็นว่าบรรดาผู้นำภาคธุรกิจพากันเพิกเฉยข้อเสนอของเธอ และดูเหมือนว่า WEF ก็ตั้งใจใช้ภาพของเกรตาเพื่อนำเสนอต่อสาธารณชนในฐานะสัญลักษณ์ของการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและเสียงนกหวีดที่ดังขึ้นบนโลกที่ร้อนขึ้นทุกวัน  

 

 

ภาพวาดของเกรตาเด่นหราที่หน้าทางเข้างานเช่นเดียวกับภาพของผู้นำคนอื่นๆ สิ่งที่น่าคิดคือเรื่องนี้จะแตกต่างจากการสื่อสารการตลาดปกติได้ก็ต่อเมื่อมีผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากการร่วมมือทำที่จริงใจเท่านั้น

 

ใน Global Risk Report 2020 ซึ่งจัดทำโดย WEF ระบุว่าปัญหาที่เป็นภัยคุกคามอันดับหนึ่งของโลกในตอนนี้คือความล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศโดยรัฐบาลกลางและภาคเอกชนทั่วโลก แน่นอนว่าแม้อดีตรองประธานาธิบดีอัล กอร์ ของสหรัฐฯ ผู้เป็นตำนานเรื่อง ‘An Inconvenient Truth’ จะออกมากระทุ้งอีกครั้งในปีนี้ว่าปัญหาดังกล่าวตอนนี้ร้ายแรงต่อมนุษยชาติเทียบเท่ากับวิกฤตก่อการร้ายตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์หรือ 9/11 กระนั้นก็ต้องยอมรับว่าโลกยังไม่เห็นข้อตกลงหรือการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญเรื่องสิ่งแวดล้อมจากเวทีดังกล่าวมาจนกระทั่งวินาทีนี้

 

คงจะใจร้ายไปหน่อยถ้าจะค่อนขอดบรรดาผู้นำรัฐบาลและภาคเอกชนว่าปากว่าตาขยิบ เพราะปัจจุบันมีความคืบหน้า ความร่วมมือ และโครงการต่างๆ เกิดขึ้นและองค์กรจำนวนมากต่างก็ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ เพียงแต่ช่องว่างระหว่างคนที่เพิกเฉยและคนที่หันมาช่วยยังมีอยู่มากเท่านั้น 

 

และไม่แน่ใจว่าช่องว่างนี้จะถูกปิดลงได้จริงในอนาคตข้างหน้าหรือไม่

 

พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง เข้าใจทุนมนุษย์ในยุค 4.0

ตัวแทนจากประเทศไทยที่ไปเข้าร่วมงาน WEF 2020 ที่เมืองดาวอสปีนี้มาจากหลายภาคส่วน มีทั้ง ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นตัวแทนจากรัฐบาลไทย ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เข้าร่วมประชุมกับผู้ว่าการธนาคารกลางจากทั่วโลก นอกจากนี้ยังมีซีอีโอจากกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่อย่าง ฐาปน สิริวัฒนภักดี จากไทยเบฟ และชาญศิลป์ ตรีนุชกร จาก ปตท. เดินทางมาร่วมงานด้วย

 

ผู้เขียนพูดคุยกับ ดร.วิรไท ซึ่งเล่าว่าโลกกำลังพบกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่จะสร้างแรงกระเพื่อมต่อระบบเศรษฐกิจอีกหลายระลอกในอนาคต จำเป็นที่ภาคธุรกิจและประชาชนต้องปรับตัวหนีคลื่นของ Disruption ที่กลืนกินทุกพื้นที่อยู่ในขณะนี้ สำหรับภาคการเงินทั่วโลก ธนาคารกลางต่างๆ จะผลักดันเรื่องของการธนาคารเพื่อความยั่งยืนผ่านกลไกของนโยบายการเงินและการกำกับดูแลเสถียรภาพมากขึ้น สิ่งที่หลายคนคิดว่าตกกระแสไปแล้วอย่างเงินดิจิทัลหรือคริปโตเคอร์เรนซีเป็นประเด็นใหญ่ที่บรรดาผู้ว่าธนาคารกลางหยิบยกกันมาพูดคุยในวงใหญ่ แม้ภาคการเงินจะพากันแตะเบรกการผงาดของ Libra ซึ่งพัฒนาโดยเฟซบุ๊กเมื่อปีที่ผ่านมา แต่ดูเหมือนว่าเงินดิจิทัลจะยังมีบทบาทสำคัญกับยุคเปลี่ยนผ่านนี้มากขึ้นเรื่อยๆ

 

ไม่เกิดวันนี้ แต่ใช่จะไม่เกิดในวันข้างหน้า

 

สอดคล้องกับเวทีเสวนาในงานที่เชิญตัวแทนจาก IMF ธนาคารกลางยุโรป รวมทั้งนักวิชาการจากจีนมาถกกันเรื่องบทบาทของเงินดอลลาร์สหรัฐ แม้ว่าจะมีปัจจัยที่กดดันต่อเงินสกุลหลักนี้อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนในช่วงหลายศตวรรษที่ผ่านมา ทั้งการเปลี่ยนแปลงของโลกดิจิทัล บทบาทของจีนและเงินหยวนในฐานะมหาอำนาจทางเศรษฐกิจแห่งโลกตะวันออก สงครามการค้าและปัจจัยต่างๆ ที่กดดันให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง แต่ดูเหมือนทุกคนจะยังมองตรงกันว่าเงินดอลลาร์จะยังเป็นเงินสกุลสำคัญที่มีบทบาทต่อสถานะการเงินของธนาคารกลางและรัฐบาลทั่วโลก หากแต่เงินหยวนจะมีพื้นที่มากขึ้นเช่นเดียวกับเงินยูโรที่เชื่อว่าจะได้รับการยอมรับในวงกว้างมากกว่าเดิม หลังจากความตึงเครียดเรื่อง Brexit และประเด็นเปราะบางในยุโรปคลี่คลายลง

 

และเป็นไปได้ที่ในอนาคตจะมีเงินสกุลหลัก (Dominant Currency) ของโลกถึง 5-6 สกุลเงิน

 

 

 

นอกจากเรื่องเงินแล้ว สิ่งที่สำคัญกว่าคือเรื่องคน เพราะโลกยุคใหม่จะไม่มีวันเหมือนเดิมอีกต่อไป ขณะนี้เราจึงได้ยินเรื่องของการเรียนรู้ทักษะใหม่หรือการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) ดังมากขึ้นทุกที ซึ่ง ดร.สุวิทย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เล่าให้ผู้เขียนฟังว่าได้แชร์แนวคิดการศึกษา 4.0 ในเวที WEF 2020 โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาทุนมนุษย์ (Human Capital) ซึ่งจะเป็นข้อได้เปรียบที่สำคัญของภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจในการดึงดูดการลงทุน 

 

ผู้นำจากภาคการศึกษาทั่วโลกบนเวที WEF ต่างเห็นด้วยเรื่องของการพัฒนาทักษะใหม่ (Reskill) ซึ่งจะช่วยพัฒนาแรงงานเดิมที่มีอยู่ให้มีศักยภาพมากขึ้น สอดรับกับความต้องการแรงงานรูปแบบใหม่ของธุรกิจในอนาคต สำหรับประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว นั่นคือสัดส่วนของวัยแรงงานจะลดลงเรื่อยๆ ดังนั้นจะรอพัฒนาบัณฑิตใหม่ที่จบการศึกษาอย่างเดียวคงไม่ทันกับการแข่งขันในเวทีโลก จึงถึงเวลาที่ทางมหาวิทยาลัยและส่วนที่เกี่ยวข้องจะหันมาให้ความสำคัญในการต่อยอดการศึกษาของคนทำงานที่มีมากกว่า 30 ล้านคน รวมทั้งโอกาสในการเรียนรู้ของผู้สูงอายุที่มีกว่า 10 ล้านคน เพื่อเติมขีดความสามารถและคืนกลับมาเป็นแรงงานของอนาคตได้

 

สิ่งที่เป็นหัวใจสำคัญของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยขณะนี้คือเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ซึ่งขณะนี้มีเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) เป็นหัวจักรสำคัญ ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจาให้สถาบันการศึกษาระดับโลกมาเปิดทำการในพื้นที่และแลกเปลี่ยนองค์ความรู้กับมหาวิทยาลัยของไทยเพื่อเตรียมพร้อมแรงงานทั้งระบบ ขณะเดียวกันยังเตรียมออกมาตรการส่งเสริมให้คนทำงานไปศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมเพื่อพัฒนาทักษะโดยใช้กลไกด้านภาษีเป็นแรงจูงใจ ซึ่งจะมีความชัดเจนต่อไปในอนาคต ซึ่งขณะนี้รัฐบาลให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบเศรษฐกิจใหม่ที่เรียกว่า BCG Model ซึ่งเป็นการบูรณาการกันทั้งมิติของเศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ซึ่งจะสอดคล้องกับกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่หรือ New S-Curve ด้วย

 

 

 

เทคโนโลยีเปลี่ยน สิ่งแวดล้อมก็ต้องแก้ คนก็ต้องปรับตัว

 

ผู้เขียนมองหิมะขาวโพลนที่ปกคลุมไปทั่วเมืองดาวอสท่ามกลางอากาศที่เย็นกว่าจุดเยือกแข็ง ในช่วงเดือนมกราคมของทุกปี บรรดาผู้ที่อาศัยในเมืองตากอากาศชื่อดังอย่างดาวอสจะพร้อมใจย้ายไปอยู่บ้านของญาติในต่างเมืองเพื่อปล่อยเช่าที่พักซึ่งราคาถีบตัวสูงลิบรับการประชุมของ World Economic Forum ร้านอาหารและร้านค้าตลอดเส้นถนนที่ตัดผ่านหน้า Congress Centre ต่างปิดบริการและให้บรรดาแบรนด์ดังต่างๆ เช่าใช้พื้นที่เพื่อทำกิจกรรม บ้างก็นำเสนอเทคโนโลยีใหม่ บ้างก็เป็นพื้นที่นัดพบของบรรดานักธุรกิจร่วมชาติ ผู้ร่วมงานนับพันเดินขวักไขว่เต็มพื้นที่ ซึ่งเป็นไปได้ที่เราอาจจะยืนรอรถข้าง ทิม คุก ซีอีโอของ Apple หรือศาสตราจารย์รางวัลโนเบลอย่าง โรเบิร์ต ชิลเลอร์ เมื่อมีแต่คนดังมารวมตัวกัน ทีนี้ก็ไม่มีคนดังอีกต่อไป

 

ไม่แน่ใจว่าปัญหาที่เกิดขึ้นมากมายในขณะนี้ เราควรจะให้ความสำคัญกับเรื่องใดก่อนกันแน่ ทั้งสงครามการค้า ปัญหาตะวันออกกลาง โรคระบาดใหม่ๆ ที่อุบัติขึ้น หรือคลื่นการเปลี่ยนแปลงของโลกดิจิทัลที่ถาโถม เพราะทุกเรื่องดูจะคอขาดบาดตายทั้งหมด แน่นอนว่าทรัมป์คงจะไม่ใช่ประธานาธิบดีคนสุดท้ายของสหรัฐฯ ที่มาเยี่ยมเยือนเวที World Economic Forum เช่นเดียวกับ คริสติน ลาการ์ด แห่งธนาคารกลางยุโรป อังเกลา แมร์เคิล แห่งเยอรมนี หรือเกรตา ธันเบิร์ก ผู้ปลุกกระแสเยาวชนรักษ์โลกก็ตามที แต่ดูเหมือนเหตุการณ์ไฟป่าในแอมะซอน ออสเตรเลีย อินโดนีเซีย และสารพัดปัญหาซ้ำซากที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จากปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งสถานการณ์ดูจะแย่ลงเรื่อยๆ

 

ผู้นำรัฐบาลและบริษัทขนาดใหญ่ยังคงจะเดินทางไปประชุมที่ดาวอสทุกปี WEF ก็คงจะยังจัดงานต่อไปเรื่อยๆ ตราบเท่าที่ยังมีมนุษย์อาศัยอยู่บนโลกใบนี้

 

โลกที่เรายังรักน้อยกว่าความสุขของตัวเอง

 

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X