สถาบันการเงินระหว่างประเทศ (IIF) เปิดเผยรายงาน Global Debt Monitor ประจำเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2024 โดยระบุว่าในปี 2023 ยอดรวมหนี้ทั่วโลก (ทุกภาคส่วน ทั้งภาคครัวเรือน เอกชน และรัฐบาล) พุ่งสู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 313 ล้านล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 15 ล้านล้านดอลลาร์ภายในปีเดียว
สำหรับสัดส่วนหนี้ต่อ GDP โลกในปี 2023 ลดลงต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 ติดต่อกันแล้ว แต่ก็ชะลอตัวอย่างมากในปีที่ผ่านมา เนื่องมาจากการลดลงของสัดส่วนหนี้ต่อ GDP ในประเทศพัฒนาแล้วหลายแห่ง (Mature Markets) เช่น มอลตา และนอร์เวย์
ในทางตรงกันข้าม อัตราส่วนหนี้สินต่อ GDP ของกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ (EM) กลับเพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ (New High) ในปีที่ผ่านมา อยู่ที่ 255% ต่อ GDP
หนี้ไทยทะลุ 264% ต่อ GDP สูงสุดในอาเซียน
สำหรับสถานการณ์หนี้ไทย ในรายงานของ IIF แสดงให้เห็นว่าหนี้ต่อ GDP ของไทยในไตรมาสที่ 4 ของปี 2023 อยู่ที่ 264.8% ต่อ GDP (ในรูปดอลลาร์สหรัฐ) โดยแบ่งเป็น
- หนี้ครัวเรือนที่ 91.6%
- หนี้บริษัทเอกชนที่ไม่ใช่สถาบันการเงินที่ 86.2%
- หนี้รัฐบาลที่ 54.2% (ทั้งนี้ หนี้รัฐบาลในความหมายของ IIF ไม่รวมหนี้รัฐวิสาหกิจ)
- หนี้ภาคการเงินที่ 32.8%
ตามข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า ไทยมีหนี้ทุกภาคส่วนสูงกว่าค่าเฉลี่ยประเทศตลาดเกิดใหม่ (EM) และสูงที่สุดในอาเซียน
จับตาความเสี่ยงฉุดสถานการณ์หนี้โลกแย่ขึ้น
ในรายงาน IIF ระบุอีกว่า ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับทิศทางอัตราดอกเบี้ยธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) และดอลลาร์สหรัฐ อาจเพิ่มความผันผวนในเงื่อนไขการระดมทุนระหว่างประเทศ และอาจส่งผลกระทบต่อความต้องการและความสามารถของกลุ่มประเทศ EM ในการเจาะตลาดตราสารหนี้ระหว่างประเทศ
นอกจากนี้ หนึ่งในปัจจัยที่น่ากังวลเป็นพิเศษคือ ประเด็นความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ลึกขึ้น (Geoeconomic Fragmentation) และการกีดกันทางการค้าที่เพิ่มขึ้น อาจกระทบต่อ Risk Sentiment ทั่วโลก และอาจทำให้ความเปราะบางของหนี้ (Debt Vulnerabilities) หรือความเป็นไปได้ที่จะเกิดการผิดนัดชำระ ‘รุนแรงขึ้น’
ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์กระทบถึงการคลังสาธารณะ
ความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์ทำให้เกิดความกังวลว่า การกู้ยืมของรัฐบาลจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากค่าใช้จ่ายด้านกลาโหมในบางประเทศอาจพุ่งสูงขึ้นอย่างกะทันหัน
ขณะที่มาตรการกีดกันทางการค้าที่เพิ่มขึ้น และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ก็อาจส่งผลกระทบทางลบต่อห่วงโซ่อุปทาน ทำให้ค่าใช้จ่ายเพื่อบรรเทาผลกระทบเชิงลบของรัฐบาลสูงขึ้น
ท่ามกลางภาวะที่รัฐบาลหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทย ยังขาดดุลงบประมาณสูงกว่าระดับก่อนเกิดการระบาดของโควิด
วิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์หนี้ไทย พุ่งต่อหรือจ่อชะลอตัว?
สำหรับสถานการณ์ ‘หนี้ครัวเรือนไทย’ สุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) ให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD WEALTH โดยประเมินว่า สัดส่วนหนี้ครัวเรือนไทยในปีนี้ 2567 ยังไม่น่าต่ำกว่า 90% ต่อ GDP ท่ามกลางความไม่แน่นอนมากมาย
ขณะที่สถานการณ์ ‘หนี้สาธารณะไทย’ ก็ยังไม่น่าจะกลับไปสู่ระดับก่อนโควิดได้ หลังจากเมื่อเดือนกันยายน ปี 2566 สัดส่วนหนี้สาธารณะไทยแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 62.44% ต่อ GDP ตามข้อมูลจากสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) และน่าจะทำสถิติใหม่ (New High) ต่อ
โดยตามแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2567-2571) ฉบับเดือนธันวาคม ปี 2566 ก็พบว่าประมาณการยอดหนี้สาธารณะคงค้าง หนี้สาธารณะต่อ GDP และการขาดดุลงบประมาณ น่าจะยังไม่กลับไประดับก่อนโควิด และยังคาดว่าจะสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
โดยตามแผนการคลังระยะปานกลางที่รัฐบาลวางไว้ในปี 2569 หนี้สาธารณะไทยคาดว่าจะแตะระดับ 64.23% ต่อ GDP เลยทีเดียว
ภาพ: Tim Grist Photography / Getty Images
อ้างอิง:
- https://www.soc.go.th/wp-content/uploads//2023/12/V66_541.pdf
- https://www.iif.com/portals/0/Files/content/Global%20Debt%20Monitor_Feb2024_vf.pdf?_cldee=MFuVYCKV1NutVo6vgmCa-QDlfYoeB9rgmDTFEXZqpoNr9JwOCRCjncyhex1PNdh3&recipientid=contact-00c7be94172aeb1180ec000d3a0f728a-6a7da6bf79374549913bfa93d7d26f80&utm_source=ClickDimensions&utm_medium=email&utm_campaign=Press%20Emails&esid=754ffa19-dccc-ee11-9079-000d3a99aa70