×

ประชาคมโลกตอบโต้รัฐประหาร ‘เมียนมา’ อย่างไร หลังผ่านมา 2 สัปดาห์

15.02.2021
  • LOADING...
ประชาคมโลกตอบโต้รัฐประหาร ‘เมียนมา’ อย่างไร หลังผ่านมา 2 สัปดาห์

ตลอด 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา นับตั้งแต่เมียนมาตกอยู่ภายใต้การรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลพลเรือนของตั๊ดมาดอว์หรือกองทัพเมียนมา ประชาคมโลกต่างร่วมกดดันและเรียกร้องให้กองทัพปล่อยผู้ถูกควบคุมตัว และคืนอำนาจให้กับรัฐบาลพลเรือนโดยเร็ว 

 

โดยมีผู้นำเพียงไม่กี่ประเทศที่แสดงจุดยืนและมาตรการตอบโต้ที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรม นายกรัฐมนตรีจาซินดา อาร์เดิร์นของนิวซีแลนด์ เป็นผู้นำประเทศคนแรกที่ตัดสินใจระงับความสัมพันธ์ในทุกระดับกับรัฐบาลทหารของเมียนมา พร้อมประกาศแบน ห้ามผู้นำการยึดอำนาจเหล่านี้เดินทางเข้านิวซีแลนด์ รวมถึงประกันเงินช่วยเหลือที่ทางรัฐบาลนิวซีแลนด์ส่งมอบให้เมียนมาเป็นประจำทุกปี เพื่อไม่ให้ความช่วยเหลือดังกล่าวสนับสนุนหรือเป็นประโยชน์แก่รัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจ อีกทั้งประกาศจะไม่รับรองรัฐบาลทหารเป็นรัฐบาลที่ชอบธรรมของเมียนมา

 

ก่อนที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน จะดำเนินมาตรการคว่ำบาตรบรรดาผู้นำทหาร รวมถึงครอบครัวเพิ่มเติม สั่งระงับการเดินทางเข้าประเทศ รวมถึงอายัดทรัพย์สิน ธุรกิจ และปิดกั้นการเข้าถึงเงินทุนรวม 1 พันล้านดอลลาร์ในสหรัฐฯ และอาจพิจารณามาตรการกดดันทางเศรษฐกิจเพิ่มเติม โดย พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดกองทัพเมียนมาและผู้นำรัฐประหารในครั้งนี้อยู่ในแบล็กลิสต์ของทางการสหรัฐฯ อยู่ก่อนแล้ว นับตั้งแต่ที่กองทัพเมียนมาเป็นสาเหตุสำคัญของการฆ่าล้างเผ่าพันธ์ุชาวโรฮีนจา จนเกิดเป็นวิกฤตผู้ลี้ภัยครั้งใหญ่ของโลก เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา 

 

ขณะที่นายกรัฐมนตรีมูห์ยิดดิน ยัสซินของมาเลเซีย และประธานาธิบดีโจโก วีโดโดของอินโดนีเซีย ก็แสดงจุดยืนเรียกร้องให้สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน (ASEAN) จัดประชุมวาระพิเศษถึงสถานการณ์ในเมียนมา รวมถึงก่อนหน้านี้ บรูไน ในฐานะประธานอาเซียน 2021 ก็เคยออกแถลงการณ์ให้เปิดพื้นที่พูดคุย เอื้อให้เกิดภาวะปรองดอง และนำความปกติสุขกลับสู่สังคมเมียนมา ตามเจตนารมณ์ละผลประโยชน์ของชาวเมียนมา แต่อุปสรรคสำคัญคือ หลักการไม่แทรกแซง (Non-Interference) ที่อาเซียนยึดถือ

 

ส่วนรัฐมนตรีต่างประเทศสหภาพยุโรป จาก 27 ประเทศสมาชิก มีกำหนดการจะประชุมพิจารณาความสัมพันธ์และมาตรการกดดันทางเศรษฐกิจ เพื่อตอบโต้การรัฐประหารในเมียนมา 22 กุมภาพันธ์นี้ อีกทั้งยังมีกระแสเรียกร้องให้รัฐบาลในอีกหลายประเทศดำเนินมาตรการตอบโต้ที่เป็นรูปธรรมมากกว่าแค่การประณาม เช่น กระแสเรียกร้องในญี่ปุ่นและออสเตรเลีย 

 

 

ภาพประกอบ: นิสากร ฤทธาภัย 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising