×

World Bank เตือน เศรษฐกิจโลกเสี่ยงเผชิญ ‘Lost Decade’ เติบโตต่ำสุดในรอบ 30 ปี แนะเร่งปรับนโยบายหนุนการค้าการลงทุน

28.03.2023
  • LOADING...
World Bank

เมื่อวันจันทร์ที่ 27 มีนาคมที่ผ่านมา ธนาคารโลก หรือ World Bank ได้เผยแพร่รายงานเกี่ยวกับเศรษฐกิจโลก โดยเตือนว่า ศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจทั่วโลกโดยเฉลี่ยจะลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 30 ปีที่ 2.2% ต่อปี ไปจนถึงปี 2030 ซึ่งนำไปสู่ ‘ทศวรรษที่สูญหาย’ หรือ Lost Decade ของเศรษฐกิจโลก เว้นเสียแต่ว่าบรรดารัฐบาลแต่ละประเทศจะเร่งกำหนดและเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนในการมุ่งกระตุ้นอุปทานแรงงาน การผลิต และการลงทุนโลก 

 

ขณะเดียวกันความล้มเหลวที่ไม่สามารถกระตุ้นการชะลอตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP)ในวงกว้าง จะส่งผลกระทบอย่างลึกซึ้งต่อความสามารถของโลกในการจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและลดความยากจน

 

อย่างไรก็ตาม คำเตือนที่ระบุในรายงานฉบับล่าสุดของธนาคารโลกกล่าวว่า ความพยายามร่วมกันในการส่งเสริมการลงทุนในภาคธุรกิจที่ยั่งยืน ลดต้นทุนการค้า ยกระดับการเติบโตด้านบริการ และขยายการมีส่วนร่วมของแรงงาน สามารถเพิ่มศักยภาพการเติบโตของ GDP ได้ถึง 0.7 % มาอยู่ที่ 2.9%

 

อินเดอร์มิต กิลล์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารโลก กล่าวว่า การเติบโตที่ชะลอตัวต่อเนื่องนานพร้อมกันทั่วโลก ทำให้เศรษฐกิจโลกเผชิญกับ Lost Decade อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ แต่ทว่านโยบายที่กระตุ้นการทำงาน เพิ่มผลิตภาพ และเร่งรัดการลงทุน จะสามารถป้องกันการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกอย่างรุนแรงได้

 

ธนาคารโลกอธิบายว่า อัตราการเติบโตของ GDP โดยเฉลี่ยเป็นขีดจำกัดความเร็วชนิดหนึ่งสำหรับเศรษฐกิจโลก ซึ่งสร้างแผนภูมิอัตราสูงสุดระยะยาวที่สามารถเติบโตได้โดยไม่ก่อให้เกิดภาวะเงินเฟ้อมากเกินไป โดยวิกฤตที่ทับซ้อนกันในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ซึ่งรวมถึงการระบาดของโควิดและการรุกรานยูเครนของรัสเซีย ได้ยุติการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนเกือบ 3 ทศวรรษแล้ว เพิ่มความกังวลเกี่ยวกับการชะลอการผลิต ซึ่งจำเป็นต่อการเติบโตของรายได้และค่าจ้างที่สูงขึ้น

 

ผลลัพธ์ที่ตามมาคือ ศักยภาพการเติบโตเฉลี่ยของ GDP ลดลงเหลือ 2.2% ระหว่างปี 2022-2030 ลดลงจาก 2.6% ในช่วงปี 2011-2021 และต่ำกว่าอัตรา 3.5% ในปี 2000-2010 อยู่เกือบ 1 ใน 3 

 

นอกจากนี้การลงทุนต่ำจะชะลอการเติบโตในประเทศกำลังพัฒนา โดยการเติบโตของ GDP โดยเฉลี่ยจะลดลงเหลือ 4% ในช่วงที่เหลือของทศวรรษ 2020 จาก 5% ในปี 2011-2021 และ 6% ในปี 2000-2010

 

รายงานของธนาคารโลกชี้ให้เห็นว่า ผลผลิตที่เพิ่มขึ้น รายได้ที่สูงขึ้น และอัตราเงินเฟ้อที่ลดลง ได้ช่วยให้ 1 ใน 4 ของประเทศที่กำลังพัฒนามีสถานะมีรายได้สูงในช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมา แต่พลวัตทางเศรษฐกิจเหล่านั้นกำลังถดถอย โดยผลผลิตมีแนวโน้มที่จะเติบโตในอัตราที่ช้าที่สุดนับตั้งแต่ปี 2000 การเติบโตของการลงทุนในปี 2022-2024 จะเป็นครึ่งหนึ่งของอัตราที่เห็นในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ขณะที่การค้าระหว่างประเทศเองก็เติบโตในอัตราที่ช้าลงมาก

 

ธนาคารโลกแนะว่า เพื่อเปลี่ยนแนวโน้มการเติบโตที่ชะลอตัวและดึงดูดการลงทุนมากขึ้น รัฐบาลในฐานะผู้กำหนดนโยบายควรจัดลำดับความสำคัญในการควบคุมเงินเฟ้อ ประกันเสถียรภาพภาคการเงิน และลดหนี้ 

 

ยิ่งไปกว่านั้นควรให้การสนับสนุนการลงทุนที่เป็นมิตรต่อสภาพอากาศที่เพิ่มขึ้นในด้านการขนส่งและพลังงาน ซึ่งการเกษตร การผลิตที่ชาญฉลาดด้านสภาพอากาศ และระบบที่ดินและน้ำ สามารถกระตุ้นการเติบโตได้มากถึง 0.3% ต่อปี

 

ขณะเดียวกันการลดต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับการขนส่ง โลจิสติกส์ และกฎระเบียบ สามารถกระตุ้นการค้าได้ โดยเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงเพื่อขจัดอคติที่มีต่อสินค้าคาร์บอนเข้มข้นที่มีอยู่ในตารางภาษีของหลายประเทศ และขจัดข้อจำกัดในการเข้าถึงสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

 

นอกจากนี้การส่งเสริมการส่งออกบริการดิจิทัลอาจส่งผลให้ผลิตภาพเพิ่มขึ้นอย่างมาก ขณะที่การเพิ่มอัตราการมีส่วนร่วมของกำลังแรงงานสำหรับผู้หญิงและคนอื่นๆ อาจเพิ่มอัตราการเติบโตที่มีศักยภาพทั่วโลกได้มากถึง 0.2% ต่อปีภายในปี 2030


บทความที่เกี่ยวข้อง


อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising