×

World Bank เผย ไทยเหลื่อมล้ำด้านรายได้ ‘สูงสุด’ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออก-แปซิฟิก

29.11.2023
  • LOADING...

World Bank เปิดเผยว่า ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ของไทย (Gini Coefficient) สูงสุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออก-แปซิฟิก อยู่ที่ 43.3% ในปี 2021 พร้อมแนะไทยจำเป็นต้องมุ่งเน้นการพัฒนาทักษะแรงงาน การศึกษา และการพัฒนาในระดับภูมิภาค เพื่อสร้างสังคมที่เท่าเทียมกันมากขึ้น

 

วันนี้ (29 พฤศจิกายน) ธนาคารโลก (World Bank) เผยแพร่รายงาน ‘ปิดช่องว่าง: ความเหลื่อมล้ำและงานในประเทศไทย’ ที่ระบุว่า ประเทศไทยมีสัมประสิทธิ์ของความไม่เสมอภาค (Gini Coefficient) ของรายได้ ซึ่งเป็นหน่วยวัดมาตรฐานของความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้ อยู่ที่ 43.3% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดของความไม่เสมอภาคของรายได้ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก

 

โดยการกระจุกตัวของรายได้ในครัวเรือนที่ร่ำรวยที่สุดนั้นสูงเป็นพิเศษ โดยในปี 2021 จำนวน 10% ของคนไทยที่ร่ำรวยที่สุดถือครองรายได้และความมั่งคั่งมากกว่าครึ่งหนึ่งของประเทศ

 

“แม้ว่านับตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษ 2000 ประเทศไทยมีความคืบหน้าในการลดช่องว่างระหว่างคนที่ร่ำรวยที่สุดและยากจนที่สุดเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตาม ความคืบหน้าดังกล่าวได้ชะลอตัวลงนับตั้งแต่ปี 2015” รายงานระบุ

 

World Bank เสนอว่า ประเทศไทยสามารถลดความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้ด้วยการเพิ่มทักษะของแรงงาน ปรับปรุงการศึกษาให้เน้นความสามารถด้านดิจิทัล เพิ่มการมีส่วนร่วมของแรงงานสตรี และเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร

 

เปิดสาเหตุความเหลื่อมล้ำในไทย

 

รายงานระบุอีกว่า ความแตกต่างในด้านโอกาสทางการศึกษาและทักษะ รายได้ของเกษตรกรต่ำ ประชากรสูงวัย และหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น ล้วนเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดความท้าทายในการลดความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย 

 

นอกจากนี้ค่าครองชีพที่สูงขึ้นและสัดส่วนประชากรวัยทำงานที่ลดลง ก็เป็นปัจจัยที่ทำให้ความพยายามในการลดความเหลื่อมล้ำในไทยมีความซับซ้อนเพิ่มขึ้น

 

“เราพบว่าความเหลื่อมล้ำในประเทศไทยเริ่มต้นตั้งแต่อายุยังน้อยจากโอกาสในการพัฒนามนุษย์ที่ไม่เท่าเทียมกัน และจะคงอยู่ตลอดวงจรชีวิตและสืบทอดถึงรุ่นต่อๆ ไป” ดร.ฟาบริซิโอ ซาร์โคเน ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทย กล่าว

 

ความแตกต่างด้านรายได้ระหว่างภูมิภาคและชุมชนภายในภูมิภาคมีส่วนทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำโดยรวมในประเทศไทย

 

โดยในปี 2020 รายได้เฉลี่ยในกรุงเทพฯ ซึ่งมี GDP ต่อหัวสูงที่สุดของประเทศนั้นมากกว่า 6.5 เท่าของรายได้เฉลี่ยของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งมี GDP ต่อหัวต่ำที่สุด การกระจุกตัวของการเติบโตทางเศรษฐกิจในกรุงเทพฯ ได้ส่งผลให้เกิดความแตกต่างในระดับภูมิภาคของประเทศไทยมากยิ่งขึ้น

 

เป็นการเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการพัฒนาระดับภูมิภาคให้เกิดความสมดุลของช่องว่างทางการศึกษาและความแตกต่างทางอาชีพ เป็นสาเหตุหลักของความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย 

 

โควิดฉุดการศึกษาเด็กไทย-ทวีปัญหาหนี้ในไทย

 

แม้ว่าผลกระทบของโควิดที่มีต่อความยากจนและความเหลื่อมล้ำจะค่อนข้างน้อย แต่การแพร่ระบาดของโควิดอาจทำให้ช่องว่างของผลลัพธ์การเรียนรู้และปัญหาหนี้สินในครัวเรือนที่มีอยู่เดิมทวีความรุนแรงขึ้น

 

อุปสรรคของการเรียนทางไกลในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิดเกิดขึ้นกับนักเรียนในครัวเรือนที่ยากจนที่สุดของประเทศไทย คาดว่าการแพร่ระบาดของโควิดจะทำให้ช่องว่างการเรียนรู้กว้างขึ้น

 

โดยความแตกต่างระหว่างจำนวนปีของการศึกษากับจำนวนปีของการศึกษาที่ปรับด้วยคุณภาพการเรียนรู้ (Learning Adjusted Years) เพิ่มขึ้นจาก 3.7 ปี เป็น 4 ปี ส่งผลให้ผลลัพธ์การเรียนรู้ของประเทศที่ยังอยู่ในระดับต่ำอยู่แล้วนั้นยิ่งต่ำลงกว่าเดิม โดยเฉพาะในครอบครัวที่มีรายได้น้อย

 

ด้วยเหตุนี้ดัชนีทุนมนุษย์ ซึ่งเป็นตัวชี้วัดของธนาคารโลกที่มีส่วนร่วมด้านสุขภาพและการศึกษาต่อประสิทธิภาพการผลิตของบุคคลและประเทศ ตัวเลขของประเทศไทยจะลดลงจาก 0.61 ในปี 2020 เหลือ 0.55 ในปี 2022

 

สถานการณ์โควิดยังทำให้ปัญหาหนี้ครัวเรือนทวีความรุนแรงขึ้น ส่งผลให้เกิดช่องว่างความมั่งคั่ง อัตราโดยรวมของครัวเรือนที่เป็นหนี้ในประเทศไทยเพิ่มขึ้นจาก 45.2% เป็น 51.5% ระหว่างปี 2019-2021 เนื่องจากการกู้ยืมของครัวเรือนเพื่อชดเชยการสูญเสียรายได้

 

ข้อเสนอแนะของ World Bank ต่อประเทศไทย

 

ขณะที่ ดร.ฟาบริซิโอ ซาร์โคเน กล่าวอีกว่า “นโยบายเป็นสิ่งจำเป็นในระยะสั้น เพื่อจัดการกับการสูญเสีย การเรียนรู้ และราคาของสินค้าจำเป็นที่สูงขึ้น ซึ่งอาจทำให้ช่องว่างทุนมนุษย์ยิ่งกว้างขึ้น เราจำเป็นต้องมั่นใจว่านโยบายที่กำหนดขึ้นมาสามารถสนับสนุนกลุ่มเปราะบางได้อย่างเพียงพอ เพื่อเพิ่มความสามารถในการรับมือกับความท้าทายจากภาวะเงินเฟ้อและเหตุการณ์สภาพภูมิอากาศที่เพิ่มขึ้น”

 

World Bank ยังแนะนำอีกว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องสนับสนุนโรงเรียนในการประเมินผลการเรียนรู้ของนักเรียน และจัดให้มีโปรแกรมการฟื้นฟูการเรียนรู้ การเสริมสร้างโปรแกรมการคุ้มครองทางสังคม และการให้ความช่วยเหลือแบบพุ่งเป้า จะช่วยเพิ่มความศักยภาพของการให้ความช่วยเหลือที่มีอยู่ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อครัวเรือนที่ยากจน

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising