×

‘ธนาคารโลก’ ห่วงโควิดลากยาวตลอดไตรมาส 3 ฉุด ‘GDP’ ประเทศไทยปีนี้เหลือโตแค่ 1.2% จากปัจจุบันมองการเติบโตที่ 2.2%

15.07.2021
  • LOADING...
ธนาคารโลก

ธนาคารโลก (World Bank) คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกในปีนี้จะขยายตัวราว 6% จากการฟื้นตัวของประเทศที่มีเศรษฐกิจแข็งแกร่ง ขณะที่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกมีแนวโน้มจะฟื้นตัวได้ถึง 7.7% โดยได้แรงหนุนจากการฟื้นตัวของประเทศจีน 

 

อย่างไรก็ตาม การเข้าถึงวัคซีนที่ไม่เท่าเทียมกันของประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ และความสามารถในการรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิดที่แตกต่าง รวมถึงเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในช่วง 1-2 ปีนี้ ทำให้การฟื้นตัวของหลายประเทศยังค่อนข้างช้า 

 

สำหรับแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ถูกปรับคาดการณ์ลงมาจาก 3.6% มาอยู่ที่ 2.2% ในปีนี้ ส่วนปีหน้าคาดว่าจะฟื้นตัวได้ 5.1% เพื่อกลับไปสู่ระดับเดียวกับช่วงก่อนโควิด 

 

เกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสประจำประเทศไทยของธนาคารโลก ประจำประเทศไทย เปิดเผยว่า ข่าวดีคือเศรษฐกิจไทยเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวจากแรงหนุนของอุปสงค์ต่างประเทศ ทำให้ภาคส่งออกฟื้นตัวได้ก่อน และการใช้นโยบายเศรษฐกิจการคลังโดยมีมาตรการเยียวยาช่วงประคองเศรษฐกิจ รวมถึงการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับภาคอุตสาหกรรม

 

แต่ปัจจัยสำคัญที่ต้องจับตาคือ การระบาดระลอกใหม่ของโควิดว่าจะเกิดขึ้นอีกหรือไม่ รวมถึงความเร็วในการจัดซื้อและกระจายวัคซีนได้อย่างทั่วถึง ซึ่งจะส่งผลต่อการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างประเทศ

 

“ด้วยการระบาดของโควิดระลอก 3 ทำให้เราได้ประเมินถึงกรณีเลวร้ายสุดคือ ประเทศไทยต้องล็อกดาวน์ต่อเนื่องทั้งไตรมาส 3 จะทำให้การเติบโตของ GDP ไทยลดลงไปเหลือเพียง 1.2% ในปีนี้ ส่วนปีหน้าจะเหลือเพียง 2.1% ซึ่งจะเป็นผลเสียต่อเศรษฐกิจไทยค่อนข้างมาก”

 

เกียรติพงศ์กล่าวเสริมว่า มาตรการตรวจเชื้อ สืบย้อน และกักตัวที่เหมาะสม และการดำเนินการฉีดวัคซีนให้ทั่วถึงจะมีความจำเป็นเพื่อหลีกเลี่ยงการล็อกดาวน์ กระตุ้นการเพิ่มการเคลื่อนย้ายและการบริโภคภายในประเทศให้ต่อเนื่อง และเพื่อให้ประเทศสามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ ส่วนในระยะยาว การปฏิรูปเพื่อลดต้นทุนและอุปสรรคการค้าจะช่วยให้ไทยได้ประโยชน์อย่างเต็มที่จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก

 

ด้าน เบอร์กิท ฮานสล์ ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทย เปิดเผยว่า วัคซีนจะเป็นปัจจัยสำคัญและเป็นตัวกำหนดว่าประเทศไทยจะเปิดรับนักท่องเที่ยวอีกครั้งได้เมื่อไร รวมถึงภาคบริการที่อิงกับการบริโภคในประเทศ ในขณะที่นโยบายการคลังของไทยยังมีพื้นที่เพียงพอที่จะช่วยเหลือได้มากขึ้น แต่สิ่งสำคัญคือการออกนโยบายที่มีกลุ่มเป้าหมายเฉพาะเจาะจงมากขึ้นเพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการกระตุ้นเศรษฐกิจ 

 

ประเด็นสำคัญที่ต้องจับตามองอีกส่วนหนึ่งคือ ระดับหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้น และความอ่อนแอของบริษัทและผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลาง (SMEs) ทําให้มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น กิจกรรมทางเศรษฐกิจลดลงจากการแพร่ระบาดของโควิด ส่งผลให้หลายบริษัทและครัวเรือนประสบปัญหาขาดสภาพคล่องอย่างกะทันหัน และทําลายความสามารถในการชําระหนี้ 

 

หนี้ของบริษัทและครัวเรือนอยู่ในระดับสูงอยู่แล้วตั้งแต่ก่อนเกิดการแพร่ระบาดก็ถูกดันให้สูงขึ้นไปอีก และยังกัดกร่อนผลกําไรที่สะสมมาในช่วงก่อนหน้า และเพิ่มความเสี่ยงต่อเสถียรภาพทางการเงิน 

 

ทั้งนี้ รายได้ของแรงงานที่ลดลงทําให้หนี้ครัวเรือนโดยรวมของไทยสูงขึ้นจาก 79.9% ของ GDP ในช่วงปลายปี 2562 เป็น 89.1% ในช่วงปลายปี 2563 ซึ่งสูงที่สุดเป็นอันดับสองในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออก ธนาคารพาณิชย์จึงต้องปรับเพิ่มความเข้มงวดของเงื่อนไขการปล่อยสินเชื่อสําหรับทั้งครัวเรือนและ SMEs ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวในภาคธุรกิจท่องเที่ยวและก่อสร้าง

อ่านรายงานฉบับเต็มได้ที่:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising