World Bank ประเมินโครงการดิจิทัลวอลเล็ตกระตุ้นเศรษฐกิจได้แค่ระยะสั้น 0.5-1.0% ในช่วงระยะเวลา 2 ปี แต่สร้างต้นทุนการคลังระยะยาว คาดดัน ‘หนี้สาธารณะ’ แตะ 65-66% ต่อ GDP
วันนี้ (14 ธันวาคม) ธนาคารโลก (World Bank) เปิดเผยรายงานตามติดเศรษฐกิจไทย (Thailand Economic Monitor) ฉบับเดือนธันวาคม 2566 โดยคาดการณ์ว่าหากมีการดำเนินโครงการเติมเงินผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาท (ซึ่ง World Bank ประเมินว่าจะใช้งบประมาณ 5 แสนล้านบาท หรือ 2.7% ของ GDP) ในเดือนพฤษภาคม 2567 คาดว่าการเติบโตจะเพิ่มสูงกว่าการคาดการณ์พื้นฐานอีก 0.5-1.0% ในช่วงระยะเวลา 2 ปี
ขณะที่หนี้สาธารณะอาจปรับตัวขึ้นแตะ 65-66% ต่อ GDP ในปี 2567-2568 ส่วนการขาดดุลทางการคลังอาจเพิ่มขึ้นเป็น 4-5% ของ GDP ใกล้ระดับเฉลี่ยในช่วงวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปี 2563-2565
ขณะที่ ดร.เกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสประจำประเทศไทยจากธนาคารโลก ระบุว่า หากมีการดำเนินการ (Implement) โครงการดิจิทัลวอลเล็ตจะทำให้ GDP ไทยถูกกระตุ้นได้ในระยะสั้น และจะชะลอเส้นทางการรัดเข็มขัดทางการคลังของรัฐบาลไทย (Fiscal Consolidation)
“โดยรวมแล้วดิจิทัลวอลเล็ตมีผลต่อเศรษฐกิจในระยะสั้น แต่มีต้นทุนทางการคลังยาว” ดร.เกียรติพงศ์กล่าว
นอกจากนี้ ดร.เกียรติพงศ์ ยังเตือนว่า มีลักษณะพิเศษบางประการ (Specific Characteristic) ที่อาจทำให้ผลลัพธ์ (Impact) ของโครงการดิจิทัลวอลเล็ตต่อ GDP Growth ลดลง ได้แก่
- การครอบคลุมผู้มีสิทธิ์ (Coverage) โดยยิ่งมีผู้ได้รับสิทธิ์มากเพียงใด ผลต่อ GDP ยิ่งลดลง
- ความเป็นไปได้ที่จะรั่วไหลไปต่างประเทศ (Potential Leakage) โดยเฉพาะสินค้านำเข้า
- สินค้าในบางพื้นที่อาจไม่เพียงพอ (Limited Supply Capacity) โดยเฉพาะในบางจังหวัด ซึ่งอาจนำไปสู่การเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยได้
- ความท้าทายในการดำเนินการ (Implementation Challenge) โดยรัฐบาลจำเป็นต้องทำให้มั่นใจว่าจะมีผู้ขายหรือร้านค้า (Vendors) เพียงพอ
เปิดประมาณการเศรษฐกิจไทยฉบับปรับปรุง
ส่วน GDP ไทยในปี 2566 คาดว่าจะชะลอตัวลงเล็กน้อยจาก 2.6% ในปี 2565 เหลือขยายตัว 2.5% โดยการปรับลดดังกล่าวมีสาเหตุมาจากผลการดำเนินเศรษฐกิจที่อ่อนแอในไตรมาสที่ 3 ซึ่งเป็นผลมาจากการสะสมทุนที่ลดลงอย่างมาก และการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่อ่อนแอกว่าที่คาดไว้เนื่องจากการส่งออกสินค้าหดตัว
สำหรับประมาณการเศรษฐกิจในปี 2567 และ 2568 GDP คาดว่าจะขยายตัว 3.2% และ 3.1% ตามลำดับ โดยการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนที่มั่นคงคาดว่าจะเป็นแรงผลักดันสำคัญในการเติบโต ซึ่งลดลงจากประมาณการก่อนหน้าที่คาดว่าในปี 2567 เศรษฐกิจไทยจะโต 3.4% ในปี 2567
World Bank ยังคาดว่าการส่งออกสินค้าในปี 2567 จะฟื้นตัว โดยได้รับแรงหนุนจากการเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่คาดการณ์ไว้ และภาวะการเงินโลกที่คาดว่าจะผ่อนคลายลงแม้ว่าเศรษฐกิจจีนจะชะลอตัวก็ตาม
นอกจากนี้ World Bank ยังคาดว่าในปี 2567 จำนวนนักท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้นเป็น 35.8 ล้านคน หรือคิดเป็น 90% ของระดับก่อนการแพร่ระบาดในปี 2562 เพิ่มขึ้นจากประมาณ 28.3 ล้านคนในปี 2566
ส่องสถานการณ์ความยากจนในประเทศไทย
World Bank คาดว่าในปี 2565 ความยากจนจะลดลงเนื่องจากการฟื้นตัวของตลาดแรงงาน การบริโภคต่อครัวเรือนเพิ่มขึ้น 8.1% ระหว่างปี 2664-2565 จากการที่ครัวเรือนมีรายได้และการบริโภคที่เพิ่มขึ้น คาดว่าอัตราความยากจนที่เส้น 6.85 ดอลลาร์สหรัฐ จะลดลงเหลือ 11% ในปี 2565 จาก 12.2% ในปี 2564
World Bank ยังแนะว่าในระยะกลางประเทศไทยควรให้ความสำคัญกับความช่วยเหลือทางสังคม และการโอนเงินช่วยเหลือที่ตรงเป้าหมายมากขึ้น โดยเฉพาะเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เพื่อจัดการกับสวัสดิการและการบรรเทาความยากจนอย่างมีประสิทธิผล ประเทศไทยยังสามารถดำเนินการปฏิรูปเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพของการใช้จ่ายสาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านสาธารณสุขและการศึกษา
นอกจากนี้ประเทศไทยมีพื้นที่ในการเพิ่มรายได้จากภาษีและรักษาความยั่งยืนทางการคลัง ในขณะเดียวกันก็สามารถตอบสนองต่อแรงกดดันด้านการใช้จ่ายภาครัฐและความต้องการด้านการลงทุนได้