เกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสประจำประเทศไทย ธนาคารโลก กล่าวว่า ช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมาส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยค่อนข้างมาก โดยมีคนไทยที่เข้าใกล้เส้นความยากจนเพิ่ม 1.5 ล้านคน และทำให้เส้นความยากจนในปี 2563 เพิ่มสู่ระดับ 8.8% ถือว่าเพิ่มขึ้นสูงจากช่วงปี 2562 ที่อยู่ 6.2%
ทั้งนี้ แม้ว่าเศรษฐกิจไทยจะผ่านจุดต่ำสุดในช่วงไตรมาส 2/63 แล้ว แต่ยังมีโควิด-19 ระลอกใหม่ที่อาจกระทบการท่องเที่ยวและแรงงานในไทย โดยต้องติดตามผลของมาตรการรัฐทั้งในระยะสั้นและยาว ซึ่งช่วงที่ผ่านมาพบว่าภาครัฐใช้เม็ดเงินเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจราว 13% ของจีดีพี โดยแบ่งเป็นมาตรการทางการคลังราว 6% ของจีดีพี
อย่างไรก็ตาม ประเมินว่าต้องใช้เวลาอีก 2 ปี กิจกรรมทางเศรษฐกิจจึงจะกลับสู่ช่วงก่อนโควิด-19 โดยคาดว่าปี 2564 นี้ จีดีพีไทยพลิกกลับเป็นบวกที่ 4% จากปี 2563 ที่คาดว่าจะติดลบ 6.5% แต่หากสถานการณ์โควิด-19 รุนแรงและรัฐมีมาตรการที่เข้มข้นขึ้น อาจส่งผลให้จีดีพีปี 2564 เหลือ 2.4% ขณะที่ความเสี่ยงในปีนี้ยังขึ้นอยู่กับ 3 ปัจจัย ได้แก่
- เศรษฐกิจโลกอาจจะฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ เพราะโควิด-19 ที่ยังระบาด
- การส่งวัคซีนอาจช้ากว่าที่คาด จากที่ช่วงครึ่งปีหลังนี้ หวังว่าประชากรไทยจะได้รับวัคซีนแล้ว
- ความไม่แน่นอนทางการเมืองที่อาจยืดเยื้อ กระทบความเชื่อมั่น
อย่างไรก็ตาม ความท้าทายของเศรษฐกิจไทย และมาตรการของภาครัฐโดยเฉพาะด้านการช่วยเหลือกลุ่ม SMEs คือ มาตรการซอฟต์โลนที่ออกมาแล้วแต่การเบิกจ่ายรัฐยังค่อนข้างต่ำ จึงมีความพยายามที่จะปรับกลไกให้ดีขึ้น ขณะที่มาตรการรัฐที่ออกมาช่วยเยียวยา เช่น โครงการเราไม่ทิ้งกัน (ให้เงินเดือนละ 5,000 บาท นาน 3 เดือน) สามารถช่วยแรงงานนอกระบบได้มากกว่า 50% แต่ยังเป็นมาตรการระยะสั้นเท่านั้น
ด้าน แฮรี่ เอ็ดมุนด์ โมรอซ นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารโลก กล่าวว่า แม้เศรษฐกิจไทยมีวี่แววจะฟื้นตัวขึ้นบ้าง แต่ยังมีผลกระทบด้านแรงงานอยู่ โดยช่วงไตรมาส 1/63 และ 2/63 พบว่ามีคนตกงานราว 340,000 ตำแหน่ง ชั่วโมงการทำงานที่ลดลง และค่าจ้างแรงงานภาคเอกชนยังปรับลดลงราว 1.6% (โดยเฉพาะภาคเกษตร) ขณะที่ในช่วงไตรมาส 3/63 และเดือนตุลาคม-พฤศจิกายนเห็นการจ้างงานเพิ่มใกล้ 850,000 ตำแหน่งและชั่วโมงการทำงานเพิ่มขึ้น
ทว่าปัญหาแรงงานไทยที่ต้องจับตามองคือโครงสร้างในระยะยาว โดยไทยมีปัญหาแรงงานมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นจากสังคมสูงวัยจะขยายตัวต่อเนื่องและเป็นปัญหาในช่วงเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา และในอนาคตมีแนวโน้มว่าปี 2583 แรงงานในตลาดจะเหลือ 35 ล้านคน จากปี 2563 ที่อยู่ราว 39 ล้านคน
ทั้งนี้ ข้อแนะนำถึงมาตรการของภาครัฐคือ การออกมาตรการด้านแรงงานทั้งระยะสั้นและระยะยาวเพิ่มเติม ได้แก่
- ระยะสั้น – การคุ้มครองแรงงานที่อาจจะ หรือตกงานแล้วในช่วงวิกฤตโควิด-19 โดยเฉพาะการรักษาระดับการจ้างงานและการสนับสนุนการสร้างทักษะที่ตลาดต้องการ เพื่อให้แรงงานที่ตกงานสามารถเข้าถึงตลาดแรงงานได้อีกครั้ง
- ระยะยาว – การเพิ่มผลิตภาพในตลาดแรงงาน เพื่อให้สอดรับกับสังคมไทยที่ก้าวสู่สังคมสูงวัย ทั้งการปรับทักษะแรงงานในการตอบโจทย์ภาคเอกชน โดยออกแบบร่วมกับภาคการศึกษาที่เพิ่มทักษะแรงงานที่ตลาดต้องการ รวมถึงทักษะในอุตสาหกรรมที่มีการเติบโต
- ระยะยาว – การพัฒนาแรงงานในกลุ่มผู้หญิงให้มากขึ้นผ่านการสนับสนุนและสร้างความยืดหยุ่น เช่น สวัสดิการที่เกี่ยวข้องกับบุตร (การดูแลเด็ก) การเทรนนิ่งเพิ่มทักษะต่างๆ
- ระยะยาว – เพื่อรับกับสังคมสูงวัย อาจต้องขยายระยะเวลาก่อนเกษียณอายุ และปรับรูปแบบการทำงานให้มีความยืดหยุ่นขึ้น เช่น รูปแบบการทำงาน หรือสถานที่ในการทำงาน
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล