Wonderland นับเป็นภาพยนตร์เกาหลีที่มีแฟนรอชมมากที่สุดด้วยพลังดาราแถวหน้า ไม่ว่าจะเป็น พัคโบกอม, แบซูจี, กงยู และ ทังเหวย หากนับจากไอเดียเริ่มต้นในปี 2019 นี่จะเป็นผลงานในรอบ 9 ปีของผู้กำกับคิมแทยง ผู้มีวิธีการเล่าเรื่องอันเป็นเอกลักษณ์ เจ้าของผลงานเก่าๆ ทั้ง Memento Mori (1999), Family Ties (2006) และ Late Autumn (2010) แต่มีอันต้องเลื่อนแล้วเลื่อนอีก ทั้งวิกฤตโควิดและความไม่พร้อมหลายๆ อย่าง จนกระทั่งออกฉายในโรงภาพยนตร์เมื่อวันที่ 5 มิถุนายนที่ผ่านมา ไม่รอช้า เวลาแค่เดือนเศษๆ Netflix ก็เอามาสตรีมให้แฟนๆ ได้ดูกัน
ภาพยนตร์เรื่องนี้มาพร้อมไอเดียสุดล้ำว่าด้วยแพลตฟอร์มเสมือนจริงในชื่อ Wonderland ที่ใช้ AI หรือปัญญาประดิษฐ์สร้างโลกให้ ‘คนที่อยู่’ ได้สื่อสารกับ ‘คนที่จาก’ ผ่านวิดีโอคอล ที่น่าจะมีซีนซึ้งให้คนดูเตรียมกระดาษทิชชูก่อนเข้าไปดูในโรง แต่สุดท้ายภาพยนตร์เรื่องนี้กลับออกมาผิดฟอร์ม ขายตั๋วในเกาหลีใต้ได้ไม่ถึง 1 ล้านใบ
Wonderland ประกอบด้วย 3 เส้นเรื่องหลัก ว่าด้วยเรื่องราวของ จองอิน (แบซูจี) เธอใช้บริการ Wonderland เพื่อเยียวยาจิตใจหลังจากที่ แทจู (พัคโบกอม) แฟนหนุ่มของเธออยู่ในอาการโคม่ามานาน แต่วันหนึ่งปาฏิหาริย์ก็เกิดขึ้นเมื่อแทจูฟื้นจากอาการโคม่า ทว่าเขากลับไม่ใช่คนเดิมอีกต่อไป
ขณะที่ ไป๋หลี่ (ทังเหวย) อดีตที่ปรึกษากองทุนที่ทำงานในหลายประเทศ เธอสานฝันตัวเองด้วยการไปเป็นนักโบราณคดีโดยทิ้งลูกสาวเอาไว้กับแม่ และติดต่อสื่อสารกันผ่านวิดีโอคอล การเดินทางครั้งนี้ทำให้เธอพบกับ ซองจุน (กงยู) หนุ่มปริศนาที่เข้ามาช่วยเธอในหลายเหตุการณ์ พร้อมๆ กับทบทวนเรื่องราวที่เคยผิดพลาดในชีวิต และสุดท้ายก็ได้ค้นพบความจริงที่เธอต้องยอมรับ
และสุดท้ายคือเรื่องราวของ แฮรี (จองยูมี) และ ฮยอนซู (ชเวอูชิก) ผู้ดูแลเหตุการณ์ภายใน Wonderland อย่างพิถีพิถัน และปิดฉากการพบกันของทุกคนอย่างสวยงาม ขณะเดียวกันทั้งคู่ก็มีประสบการณ์ร่วมในการใช้บริการ Wonderland ด้วยเหมือนกัน ทั้ง 3 เส้นเรื่องถูกเรียงร้อยเข้าด้วยกันผ่านการจากลาและการปล่อยวางผ่านโลกเทคโนโลยีที่สุดท้ายตัวแปรสำคัญอยู่แค่ในใจเราเอง
เนื้อเรื่องหลักของ Wonderlandเป็นเหมือนนิยายวิทยาศาสตร์ที่เราใช้เทคโนโลยีแห่งโลกอนาคตทำให้จมอยู่กับอดีตได้ด้วยภาพลวงตาว่าคนที่จากไปยังมีชีวิตอยู่ โดยแบ่งออกเป็นเรื่องสั้นๆ ที่เชื่อมโยงกันอย่างหลวมๆ แล้วใส่คำถามน่าขบคิดเกี่ยวกับความเป็น ความตาย ระยะเวลาทำใจที่ไม่เท่ากันสำหรับทุกคนไว้ในแต่ละตอน อย่างเช่นเรื่องของไป๋หลี่ที่น่าจะสะท้อนการใช้ชีวิตของคนยุคใหม่ได้มากที่สุด เมื่อเธอทำงานตามแต่ชีวิตจะพาไป เมื่อรู้ตัวอีกทีก็ได้ทิ้งความฝันของตัวเองไปเรียบร้อยแล้ว รวมทั้งเวลาที่จะได้ใช้กับลูกสาว Wonderlandจึงเหมือนเป็นโอกาสที่สองของชีวิต แต่เมื่อถึงเวลาหนึ่งก็ขึ้นอยู่กับว่าเธอจะยอมปล่อยทุกอย่างให้ผ่านไปหรือไม่
ส่วนเรื่องราวของจองอินสอดแทรกเรื่องราวความเจ็บปวดของการ ‘จากเป็น’ หรือ ‘จากตาย’ แบบไหนเจ็บปวดกว่ากัน และการอยู่ในโลกแห่งความฝันกับการยอมรับความจริง สิ่งไหนคือสิ่งที่ควรจะเป็น และยังบอกเป็นนัยๆ ว่าโลกสมบูรณ์แบบของ AI ก็ไม่ได้ตอบโจทย์ทุกอย่างของชีวิต ซึ่งคุณค่าของคนบางทีก็ขึ้นอยู่กับความบกพร่องที่เราพร้อมปรับปรุง และเรียนรู้ที่จะอยู่กับความไม่สมบูรณ์แบบอย่างมีความสุข แต่ถึงอย่างนั้นโลกของ AI ก็ช่วยเติมช่องว่างในบางช่วงเวลาของชีวิต อย่างเช่นเคสของฮยอนซูที่ได้ใช้เวลาช่วงสั้นๆ กับใครสักคนที่หมดโอกาสแล้วในชีวิตจริง
แม้ไอเดียเริ่มต้นและสารที่ต้องการจะสื่อดูแล้วน่าสนใจ แต่ปัญหาใหญ่ๆ ของ Wonderlandคือการเล่าเรื่องที่หลวมเกินไป และให้ข้อมูลเบื้องหลังแต่ละตัวละครน้อยมาก ทำให้บทสรุปสุดท้ายเต็มไปด้วยความคลุมเครือจนมีคำถามทิ้งค้างไว้กับการเล่าเรื่องตลอดทาง
เริ่มตั้งแต่การเล่าเหมือนซีรีส์เรื่องสั้นๆ แล้วเอาฉากสำคัญๆ มาต่อกัน รวมถึงขาดบริบทการสร้างโลก Wonderlandมากพอ ทั้งๆ ที่สถานการณ์ในเรื่องค่อนข้างซับซ้อน ทำให้การดำเนินเรื่องดูขาดความต่อเนื่อง และต้องใช้เวลาสักพักจึงจะเข้าใจว่าภาพยนตร์กำลังอยากบอกอะไร จนผ่านไปเกือบครึ่งเรื่อง เนื้อหาทั้งหมดถึงจะค่อยๆ เรียงร้อยเข้าด้วยกัน ผลที่ออกมาเลยไม่มีพื้นฐานที่ทำให้เนื้อหาสอดคล้องกัน นอกจากนี้ในเรื่องยังมีตัวละครอีกหลายตัวที่เฉลี่ยน้ำหนักไว้ไม่เท่ากัน และส่วนใหญ่ก็ผิวเผิน จนบางตัวถูกทิ้งค้างเอาไว้ไม่ให้คำตอบกับคนดู
อย่างเช่นปมเรื่องพ่อของฮยอนซู จนแล้วจนรอดก็ตอบไม่ได้ว่าพ่อจริงๆ ของเขาคือใคร หรือตัวละครซองจุนของกงยูก็ค่อนข้างคลุมเครือว่าเป็น AI ที่สร้างขึ้นเพื่อควบคุมสถานการณ์ในโลกเสมือนจริงของไป๋หลี่ หรือว่ามีความสัมพันธ์อะไรกันมาก่อน ส่วนบทสุดท้ายของจองอินก็ยังคงไม่ได้คำตอบว่าเธอเลือกที่จะไปต่อหรือพอแค่นี้กับแทจู รวมทั้งการต่อต้านระบบของไป๋หลี่ให้กลับมามีอารมณ์ความรู้สึกเกิดขึ้นได้อย่างไร เหมือนผู้กำกับตั้งใจใช้อารมณ์ศิลปะให้คนดูเชื่อมต่อกันเอง แต่ด้วยพื้นฐานตัวละครที่ปูไว้ไม่มากพอ การตีความอย่างที่ผู้กำกับตั้งใจจึงไม่เกิดขึ้น
ผลจากการเล่าเรื่องผิวเผินยังทำให้การใช้ศักยภาพของนักแสดงทำได้ไม่เต็มที่ ทั้งที่น่าจะทำได้ดีกว่านี้ เช่น พัคโบกอมและแบซูจีที่ทำได้ดีเท่าที่บทมีให้ และค่อนข้างน่าเสียดายเพราะเคมีของทั้งคู่ถือว่าดีมากๆ เมื่ออยู่หน้าจอ ขณะที่กงยูก็เอาตัวรอดไปได้ ไม่จม ไม่หาย แม้จะมาไม่มากแต่ก็น่าจดจำทุกฉากที่เขาปรากฏตัว ส่วนคนที่มีภาษีดีที่สุดคงต้องยกให้ทังเหวย ซึ่งถ่ายทอดอารมณ์ได้อย่างลึกซึ้งทั้งที่ต้องแสดงความรู้สึกหลากหลาย ตั้งแต่ความเข้มแข็งไปจนถึงความเศร้าโศกและความสับสน
ความจริงแล้ว Wonderlandน่าจะกลายเป็นขวัญใจของนักวิจารณ์ ด้วยเนื้อหาที่มีความทันสมัยและชวนให้ครุ่นคิดว่าปัญญาประดิษฐ์จะมีผลต่อความรู้สึกของคนได้อย่างไร แต่ก็ต้องมาตกม้าตายด้วยการเล่าเรื่องไม่ลงตัว หากเปรียบสมองคนดูเป็นเหมือน AI ก็เรียกว่ายังใส่ Prompt ไม่สมบูรณ์จนประมวลผลไม่ได้อย่างน่าเสียดาย