‘ฟุตบอลโลกหญิง 2023’
เริ่มต้นมาได้เกือบหนึ่งสัปดาห์แล้วที่ประเทศออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ เพียงแต่ด้วยความที่การแข่งขันในปีนี้ แม่ชบาแก้วของเราพลาดหวัง ไม่ได้เข้าร่วมชิงชัยกับเขาด้วย เพราะไม่ผ่านรอบคัดเลือก กระแสของรายการในบ้านเราจึงอาจไม่เปรี้ยงปร้างมากนัก
แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าฟุตบอลโลกหญิงครั้งนี้จะไม่มีอะไรให้ติดตามเลย
ในทางตรงกันข้าม ท่ามกลางบรรยากาศการแข่งขันที่สนุกและตื่นเต้นจากความคึกคักของผู้เล่นและแฟนบอลที่เข้าชมกันแน่นขนัด (FIFA ประกาศว่า พวกเขาขายตั๋วเข้าชมได้ถึง 1.5 ล้านใบแล้ว!) ตลอดการแข่งขันไม่กี่วันที่ผ่านมาก็มีเรื่องราวดีๆ ที่น่าสนใจเกิดขึ้นอยู่หลายเรื่องด้วยกัน
เป็นประวัติศาสตร์เล็กๆ ที่ยิ่งใหญ่ ที่ขออนุญาตรวบรวมมาฝากกันสัก 3-4 เรื่องก่อนสำหรับคนที่สนใจในเกมลูกหนังที่อ่อนโยนแต่เข้มแข็งในเวลาเดียวกัน 🙂
Wonder Girls ที่ไม่ Nobody
เพียงแค่ 26 วันหลังวันเกิดอายุครบ 16 ปี เคซีย์ แฟร์ ก็ได้โอกาสลงสนามแจ้งเกิดในฟุตบอลโลกหญิงแล้ว! และทำให้เธอกลายเป็นนักฟุตบอลหญิงที่อายุน้อยที่สุดที่เคยลงสนามในรายการระดับสุดยอดเช่นนี้
แต่ถึงชื่อจะดูเป็นฝรั่ง แต่สาวน้อยเคซีย์ซึ่งเกิดในเมืองวอร์เรน รัฐนิวเจอร์ซีย์ ไม่ได้ลงเล่นให้ทีมชาติสหรัฐอเมริกาแต่อย่างใด เพราะทีมที่เธอลงสนามให้คือทีมชาติเกาหลีใต้ โดยเธอได้โอกาสลงสนามในเกมที่เกาหลีใต้พ่ายต่อโคลอมเบีย 2-0 ในฐานะตัวสำรอง ลงเล่นในนาทีที่ 68
ด้วยวัย 16 ปีกับ 26 วัน ทำให้เธอทำลายสถิติที่ยืนยงมาตั้งแต่ปี 1999 ของ อิเฟอันยี ชิเอจิเน นักเตะทีมชาติไนจีเรีย ที่เป็นเจ้าของสถิตินักเตะสาวที่อายุน้อยที่สุดด้วยวัย 16 ปีกับ 34 วัน ในฟุตบอลโลก 1999
ที่เธอมาเล่นให้เกาหลีใต้ได้ เพราะคุณแม่ของเธอเป็นชาวเกาหลีใต้ และเป็นเจ้าของร้านอาหารในบ้านเกิด ก่อนพบรักกับคุณพ่อซึ่งมาเป็นครูสอนภาษาอังกฤษในเกาหลี (ตอนนี้เริ่มคิดถึงซีรีส์เกาหลีแล้วนะ…) ก่อนที่จะตกลงปลงใจและตกล่องปล่องชิ้นย้ายไปอยู่อเมริกาด้วยกัน
หนูแฟร์เกิดที่นั่น โตที่นั่น และได้โอกาสในการเรียนฟุตบอลที่สถาบัน Players Development Academy ในเมืองซัมเมอร์เซ็ต ซึ่งเป็นหนึ่งในสถาบันลูกหนังที่ดีที่สุดของอเมริกาซึ่งอยู่ในนิวเจอร์ซีย์เช่นกัน
เพียงแต่สุดท้ายแล้วเธอเลือกที่จะเล่นให้กับทีมชาติของแม่ โดยที่ได้รับการดูแลอย่างดีจากรุ่นพี่ในทีม รวมถึงแฟนบอลที่รักและเอ็นดูสาวน้อยคนนี้เป็นอย่างดี
อนาคตของเธอยังอีกไกล เป็น Wonder Girls ตัวจริงที่ไม่ต้องร้องเพลง Nobody (ใครเก็ตมุกนี้แปลว่าเกิน 30 แน่นอน!)
Superwoman ของโคลอมเบีย
ในเกมเดียวกับที่ เคซีย์ แฟร์ ได้กลายเป็นนักเตะประวัติศาสตร์ อีกฟากฝั่งของสนามก็มีเรื่องราวที่น่าประทับใจเช่นกัน
โคลอมเบียซึ่งเอาชนะเกาหลีใต้ได้ 2-0 นั้น หนึ่งในผู้ทำประตูคือ ลินดา ไคเซโด สาวน้อยที่โตกว่าเคซีย์นิดหน่อยคืออายุ 18 ปี แต่สิ่งที่ยอดเยี่ยมที่สุดในเรื่องราวของลินดานั้น ไม่ใช่เรื่องของฝีเท้าที่ยอดเยี่ยมและความเร็วที่เหมือนแม่กวางน้อยที่ว่องไวในป่าใหญ่
ชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ที่สุดสำหรับลินดาคือเรื่องราวการต่อสู้ของเธอ
ตอนอายุ 15 ปี ลินดาถูกตรวจพบว่าเป็นมะเร็งรังไข่ ซึ่งมีโอกาสกระทบต่อชีวิตการเป็นนักกีฬาของเธออย่างมาก เธอเล่าความรู้สึกในครั้งนั้นว่า “ฉันจำตอนที่จะต้องเข้าห้องผ่าตัดได้ว่า ฉันคิดว่าฉันคงไม่มีโอกาสจะเล่นฟุตบอลในระดับสูงสุดอีกแล้ว”
คนที่พยายามปลอบใจเธอคือ เนลสัน อบาเดีย โค้ชของเธอที่พยายามบอกว่า สักวันเธอจะกลับมาได้อย่างแน่นอน
แต่คนเดียวที่จะพาเธอกลับมาได้ก็คือตัวของลินดาเอง ซึ่งหลังเข้ารับการผ่าตัดรักษาจนหายดี แม้จะท้อแท้กับช่วงเวลาที่ยากลำบาก แต่ลินดาก็ค่อยๆ พาตัวเองกลับมาเล่นฟุตบอลอีกครั้ง และดูเหมือนว่าเธอจะไปได้ไกลกว่าที่เคยคิดฝันไว้
นอกจากจะได้ย้ายมาเล่นให้ทีมหญิงของเรอัล มาดริดแล้ว เธอยังติดทีมชาติโคลอมเบียมาเล่นฟุตบอลโลกหญิง 2023 ครั้งนี้ด้วย และตอนนี้ก็แจ้งเกิดได้สำเร็จ
ที่สำคัญที่สุดคือ ลินดาได้กลายเป็น Superwoman ที่สร้างแรงบันดาลใจให้แก่ผู้คนอีกมากมายเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ชัยชนะนัดแรกของฟิลิปปินส์
ด้วยความเป็นเจ้าภาพร่วม ทำให้นิวซีแลนด์ค่อนข้างคึกคักทีเดียวสำหรับฟุตบอลโลกหญิงครั้งนี้ และทีมน้องเฟิร์น (จริงๆ สมญาคือ The Ferns) ก็คว้าชัยชนะนัดแรกมาได้ด้วยการล้มนอร์เวย์ ที่นำมาโดย เอดา เฮแกร์เบิร์ก อดีตนักฟุตบอลหญิงเจ้าของรางวัลบัลลงดอร์คนแรกได้ 1-0
แน่นอนว่าพวกเธอหวังจะเก็บชัยชนะในเกมที่ 2 ให้ได้ เพื่อการันตีโอกาสในการเข้ารอบน็อกเอาต์ ซึ่งความเป็นไปได้ก็สูงมาก เพราะทีมที่เจอคือฟิลิปปินส์ ซึ่งผ่านเข้ามาเล่นฟุตบอลโลกหญิงเป็นครั้งแรก
แต่ปรากฏว่าเกิดเรื่องช็อกขึ้น เมื่อแม่สาวฟิลิปินาสโชว์เพลงแข้งสะเด่า จัดการสอยเจ้าภาพร่วมไป 1-0 ในเกมเมื่อวานนี้ โดยผู้ทำประตูคือ ซารินา โบลเดน ที่โหม่งทำประตูสุดสวยเข้าไป
เรื่องนี้ทำเอาโค้ชอย่าง อเลน สไตซิช ถึงกับบอกว่า “นี่คือหนึ่งในชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์กีฬาของประเทศนี้”
ที่สไตซิชพูดแบบนี้ก็เพราะฟุตบอลนั้นลำพังก็ไม่ได้เป็นกีฬายอดนิยมของชาวฟิลิปปินส์อยู่แล้ว ที่นั่นเขาชอบดูบาสเกตบอลมากกว่า และฮีโร่อันดับหนึ่งของชาติก็คือตำนานนักมวยอย่าง ‘แพ็กแมน’ แมนนี ปาเกียว
แต่ด้วยชัยชนะครั้งนี้มีโอกาสที่จะทำให้ฟุตบอลหญิงเป็นที่นิยมขึ้นอย่างแน่นอน ซึ่งก็มีบรรยากาศการไปนั่งเชียร์ร่วมกันของแฟนบอลในห้างสรรพสินค้าที่ต่างคนต่างเฮกันลั่น ทั้งในตอนที่โบลเดนทำประตูได้ หรือตอนที่ผู้ตัดสินเป่านกหวีดจบเกม
ที่น่าสนใจคือนักเตะฟิลิปปินส์ชุดนี้ ‘อิมพอร์ต’ มาเกือบทั้งทีม โดยต่างคนต่างมากันคนละทิศละทาง อย่างโบลเดนก็เป็นนักฟุตบอลหญิงในสหรัฐอเมริกา ซึ่งอาจจะมองได้ว่ามีความ ‘เลือดไม่แท้’ เหมือนกัน แต่ในอีกทางการผสมผสานนักเตะร้อยพ่อพันแม่แบบนี้เข้าด้วยกันก็ไม่ใช่เรื่องง่าย
สิ่งที่ทำให้ฟิลิปปินส์ชนะได้นั้นไม่ใช่แค่เรื่องของฝีเท้า แต่เป็นเรื่องของหัวใจที่รวมกันเป็นหนึ่งเดียว
นักเตะทรานส์ (และนอนไบนารี) คนแรกในฟุตบอลโลก
ในเกมระหว่างแคนาดาและไนจีเรียมีเหตุการณ์ประวัติศาสตร์เกิดขึ้นเช่นกัน
‘ควินน์’
กองกลางหัวใจสำคัญของทีมชาติแคนาดาถูกส่งลงสนามเป็นตัวจริงตั้งแต่นาทีแรก และมีส่วนช่วยให้ทีมยันเสมอไนจีเรียได้ 0-0
การลงสนามของควินน์นี่เองที่เป็นประวัติศาสตร์ เพราะเธอคนนี้เคยเป็นเขามาก่อน ก่อนกลายเป็นนักฟุตบอลข้ามเพศ หรือทรานส์เจนเดอร์คนแรกที่ได้ลงเล่นในฟุตบอลโลก แม้ว่าความจริงจะเคยเล่นฟุตบอลโลกหญิง 2019 มาก่อนแล้ว แต่ตอนนั้นยังไม่ได้เปิดตัวแต่อย่างใด (ก่อนจะได้เล่นในโอลิมปิกต่อ)
ฮาล โยฮาล นักข่าวแคนาดาที่ติดตามควินน์มายาวนานตั้งแต่ปี 2019 บอกว่า นี่คือเหตุการณ์ประวัติศาสตร์อย่างแท้จริง
“นี่คือประวัติศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ มันแสดงให้คนที่ติดตามกีฬาได้เห็นว่า ต่อให้จะเป็นนอนไบนารีก็ยังสามารถเล่นกีฬาได้อย่างยอดเยี่ยม”
ก่อนหน้านี้ประเด็นเรื่องนักกีฬาทรานส์เป็นเรื่องที่มีการถกเถียงกันตลอด โดยเฉพาะนักกีฬาที่เปลี่ยนจากชายมาเป็นหญิง ซึ่งถูกมองว่าได้เปรียบในเรื่องของร่างกายแต่กำเนิด การลงสนามของควินน์ซึ่งเคยประกาศตัวว่าเป็นนอนไบนารีเมื่อปี 2020 จึงมีความหมายอย่างมาก
ว่าบนโลกใบนี้ที่เราสามารถเป็นอะไรก็ได้ เล่นกีฬาอะไรก็ได้ ขอแค่ไม่ได้ผิดกติกาหรือเอาเปรียบใครจนเกินไป
นี่แหละ The Beautiful Game ที่แท้จริง
อ้างอิง: