คืนนี้ที่ปารีส ‘มหานครแห่งความรัก’ หนึ่งในเมืองที่โรแมนติกที่สุดในโลกจะมีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นครับ
ไม่ใช่การบอกรักของใครหรือการประท้วงใหญ่ที่น่าตระหนก แต่เป็นการเขี่ยบอลเริ่มต้นการแข่งขันฟุตบอลโลกหญิง ครั้งที่ 8 ซึ่งถูกจับตามองว่าจะเป็นฟุตบอลโลกหญิงที่ดีที่สุดเท่าที่เคยมีการแข่งขันมา และถ้ายึดตามถ้อยคำของ ฟาตมา ซามูรา เลขาธิการของฟีฟ่า “ฟุตบอลโลกหญิงครั้งนี้สำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์”
สำคัญอย่างไร
ว่ากันว่าฟุตบอลโลกหญิงครั้งนี้อาจสามารถเปลี่ยนแปลงความคิดของคนทั้งโลกที่มีต่อเหล่านักฟุตบอลหญิงไปอย่างสิ้นเชิงครับ เราอาจจะมองฟุตบอลของผู้หญิงในสายตาที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง
โดยที่คนในวงการฟุตบอลหญิงเองได้พยายามอย่างหนักที่จะทำให้ฟุตบอลโลกหญิงครั้งนี้เป็น ‘จุดเปลี่ยน’ ให้ได้ เพราะถ้าไม่ใช่ครั้งนี้ก็อาจจะไม่มีโอกาสที่ดีกว่านี้อีกแล้ว
เหตุผลเพราะฟุตบอลโลกหญิงครั้งนี้จัดขึ้นที่ประเทศฝรั่งเศส ชาติที่ฟุตบอลหญิงมีความแข็งแกร่งสูงที่สุด มีสโมสรฟุตบอลหญิงที่เก่งที่สุด มีผู้ชมมากที่สุด เรียกได้ว่าฝรั่งเศสเป็นเหมือน ‘หัวใจ’ ของวงการฟุตบอลหญิงในปัจจุบัน
Photo: Getty
ขณะที่ทีมที่เข้าร่วมแข่งขันทั้ง 24 ทีมนั้นล้วนเป็นทีมระดับชั้นนำ และท่ามกลางทีมเหล่านั้นก็มีทีมเต็งที่ล้วนแต่มีความแข็งแกร่งและมีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จมากมาย ไม่ว่าจะเป็นแชมป์เก่าเมื่อ 4 ปีที่แล้วอย่างสหรัฐอเมริกา, นาเดชิโกะ ญี่ปุ่น ในฐานะรองแชมป์เก่าและแชมป์เก่าเมื่อปี 2011, บราซิลที่มีตำนานตลอดกาลอย่าง มาร์ทา ผู้เปรียบได้เหมือนเปเล่ของวงการฟุตบอลหญิง, เยอรมนี, นอร์เวย์ ฯลฯ
และที่คนไทยอย่างเราอดภูมิใจไปด้วยไม่ได้คือ 1 ใน 24 ทีม เรามี ‘ชบาแก้ว’ ทีมชาติไทยที่ผ่านเข้ารอบสุดท้ายได้เป็นสมัยที่ 2 ติดต่อกันให้ได้เชียร์ด้วยครับ
ช่วงที่ผ่านมาก็มีความพยายามในการจุดกระแสของฟุตบอลโลกหญิงครั้งนี้อย่างหนัก โดยเฉพาะสื่อต่างประเทศที่เล็งเห็นความสำคัญและได้พยายามนำเสนอเรื่องราวต่างๆ แง่มุมที่เราไม่ค่อยได้สัมผัสของเหล่านักเตะสาวๆ เหล่านี้ให้ได้รู้จักพวกเธอมากกว่าที่จะได้เห็นแค่รูปลักษณ์ภายนอก
เรียกว่าในทุกสัปดาห์จะได้เห็นบทสัมภาษณ์หรือสกู๊ปของนักฟุตบอลหญิงให้ติดตามอย่างสม่ำเสมอ จนทำให้ความรู้สึกนั้นเริ่มเปลี่ยนไป จากที่แปลกใจในทีแรกก็เริ่มเป็นความคุ้นเคย
สิ่งที่เห็นและเป็นอยู่นี้ หากเทียบกับจุดเริ่มต้นเมื่อปี 1991 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีการจัดการแข่งขันระดับชิงแชมป์นานาชาติของฟุตบอลหญิงที่ประเทศจีน รายการที่ตอนแรกมีชื่อว่า M&M’s Cup ด้วยซ้ำ ก่อนที่ฟีฟ่าจะอนุญาตให้ใช้ชื่อว่าฟุตบอลโลกหญิงได้ในเวลาต่อมา ก็ต้องบอกว่าฟุตบอลหญิงนั้นเดินทางมาไกลพอสมควรครับ
เพียงแต่อย่างที่บอกว่าทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องการจะทำให้ฟุตบอลโลกหญิงครั้งนี้ไปได้สูงกว่า ไกลกว่า และสวยงามกว่า
Photo: Getty
ถ้าเป็นไปได้ก็อยากให้ดียิ่งกว่าฟุตบอลโลกหญิงในปี 1999 ที่สหรัฐอเมริกา ซึ่งได้รับการยอมรับว่าดีที่สุดในประวัติศาสตร์
ประเมินด้วยความรู้สึกแล้วก็มีความเป็นไปได้ครับ ในแง่ของบรรยากาศการแข่งขันแล้วไม่มีอะไรที่น่าห่วง คนฝรั่งเศสชอบดูฟุตบอลหญิงอยู่แล้ว และยอดจำหน่ายตั๋วเข้าชมการแข่งขันก็ทำลายสถิติเดิมด้วยครับ
เกมเปิดสนามที่ปาร์กเดแพร็งส์ สนามเหย้าของทีมปารีส แซงต์ แชร์กแมง รวมถึงเกมรอบรองชนะเลิศและรอบชิงชนะเลิศที่จะจัดขึ้นที่สนามสต๊าดเดอลียง สนามเหย้าของทีมโอลิมปิก ลียง ถูกจำหน่ายหมดภายในเวลาแค่ 48 ชั่วโมงเท่านั้น
ในเชิงคุณภาพของการแข่งขันเองก็เช่นกัน มันน่าตื่นเต้นจนแม้แต่อดีตนักฟุตบอลหญิงที่แขวนสตั๊ดไปแล้วยังอยากจะกลับมาลงสนามอีกครั้ง
เคลลี สมิธ หนึ่งในนักฟุตบอลหญิงระดับตำนานของอังกฤษ เจ้าของสถิติติดทีมชาติ 117 นัดในการรับใช้ชาติ 19 ปี (1995-2014) ยอมรับว่าความสนใจที่ผู้คนมีต่อฟุตบอลหญิงเวลานี้ทำให้เธอตื่นเต้นอย่างมาก
“ชาติต่างๆ มีการลงทุนกันมากขึ้น ฟีฟ่าก็เปิดกว้างให้รายการมีทีมเข้าร่วมมากขึ้นเป็น 24 ทีม ทำให้มีชาติที่จะได้เข้ามาสัมผัสบรรยากาศมากขึ้น
“ตอนที่ฉันยังเล่นอยู่ มีแค่ 2-3 ทีมเท่านั้นที่จะสามารถคว้าแชมป์ฟุตบอลโลกได้ แต่ตอนนี้เราสามารถระบุชื่อได้ 6-8 ทีมที่มีโอกาสจะสร้างสิ่งที่พิเศษขึ้นในรายการนี้ และทำให้การแข่งขันในรายการนี้เข้มข้นยิ่งขึ้น และเป็นเรื่องดีสำหรับผู้ชมที่จะได้ชมเกมคุณภาพ
“นอกจากนี้ยังมีเรื่องราวดีๆ อีกมากมายสำหรับผู้หญิง มีการรณรงค์ในโซเชียลมีเดียมากมายเพื่อโปรโมตผู้เล่นและทีม มีการรับรู้มากขึ้น ผู้คนมองเห็นมากขึ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่เคยมีเลยในยุคที่ฉันลงเล่น”
สิ่งที่ เคลลี สมิธ พูดนั้นไม่ผิดจากความจริงครับ เราได้เห็นแคมเปญเกี่ยวกับฟุตบอลหญิงมากมาย รวมถึงการทำประชาสัมพันธ์เชิงรุกที่เต็มไปด้วยความสร้างสรรค์และมีเสน่ห์
อย่างทีมชาติอังกฤษในการประกาศรายชื่อผู้เล่นที่จะได้ติดทีมชาติไปฟุตบอลโลกก็มีซูเปอร์สตาร์อย่าง เดวิด เบ็คแฮม อดีตกัปตันทีม ‘สิงโตคำราม’ มาเผยรายชื่อร่วมกับ เอ็มมา วัตสัน นักแสดงสาวที่ทุกคนจดจำเธอได้จากบทบาทเฮอร์ไมโอนีในภาพยนตร์ Harry Potter
หรืออย่างทีมชาติเยอรมนีก็มีแคมเปญแสบๆ ที่ให้นักฟุตบอลหญิงพูดว่า “ถึงเราจะไม่มี Balls (เอ่อ หมายถึงลูกบอลประจำตัวท่านชายน่ะครับ!) แต่เรารู้วิธีที่จะใช้มัน (ในความหมายถึงลูกฟุตบอลจริงๆ)”
ความเปลี่ยนแปลงของโลก การเติบโตของโซเชียลมีเดีย และยุคสมัยการต่อสู้ของสิทธิสตรี (นี่เป็นฟุตบอลโลกหญิงครั้งแรกที่เกิดขึ้นหลัง #Metoo) ทำให้นอกจากองค์กรแล้ว สปอนเซอร์เองก็ให้ความสนใจและให้ความสำคัญกับพวกเธอมากขึ้น (และเป็นที่มาของแคมเปญสนุกๆ มากมาย)
หรืออย่างชุดแข่งขันนั้น ฟุตบอลโลกหญิงครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ทีมที่เข้าร่วมมีชุดแข่งแบบของพวกเธอเองโดยไม่ต้องรับมรดกตกทอดชุดที่ดีไซน์มาสำหรับผู้ชายอีก ทำให้ชุดแข่งขันมีความสวยงาม เหมาะสมกับสรีระ และตอบโจทย์สำหรับนักฟุตบอลหญิงจริงๆ ซึ่งมีความแตกต่างจากนักฟุตบอลชายพอสมควร
Photo: Getty
ฟีฟ่าเองก็ต้องการพัฒนาฟุตบอลหญิงอย่างจริงจัง มีการกำหนดยุทธศาสตร์ใหม่ ต้องการให้ชาติสมาชิกทั้ง 211 ชาติมีแผนการพัฒนาฟุตบอลหญิงในประเทศภายในปี 2022 และเพิ่มจำนวนนักฟุตบอลหญิงอีกเท่าตัวให้เป็น 60 ล้านคนภายในปี 2026
ฟุตบอลโลกหญิงครั้งนี้ ฟีฟ่ายังเพิ่มเงินรางวัลให้อีกเป็นเท่าตัว จาก 15 ล้านเหรียญสหรัฐเมื่อปี 2015 มาเป็น 30 ล้านเหรียญสหรัฐในครั้งนี้
Photo: Getty
เพียงแต่ตัวเลขเงินรางวัลนั้นมันยังห่างไกลจากฟุตบอลชายมาก เพราะในฟุตบอลโลก 2018 ที่ประเทศรัสเซีย เงินรางวัลรวมสูงถึง 400 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยแชมป์โลกทีมชาติฝรั่งเศสทีมเดียวก็ได้เงินมากถึง 38 ล้านเหรียญสหรัฐแล้ว มากกว่าเงินรางวัลรวมของฟุตบอลโลกหญิงทั้งรายการอีก
เรื่องความไม่เท่าเทียมนี่เองครับที่เป็นหนามทิ่มแทงความรู้สึกของพวกเธอ และเป็นเป้าหมายสูงสุดของการต่อสู้
Photo: Getty
หลายปีที่ผ่านมาเราได้เห็นการต่อสู้อย่างหนักของนักฟุตบอลหญิงมากมายครับ เช่น กรณีของ มาคาเรนา ซานเชซ นักเตะสาวชาวอาร์เจนตินาที่ฟ้องร้องสโมสรต้นสังกัดของเธอเพื่อเรียกร้องสิทธิของนักฟุตบอลหญิง
ที่จาเมกา เซเดลลา มาร์เลย์ ลูกสาวของ บ็อบ มาร์เลย์ ดิ้นรนต่อสู้อย่างหนักเพื่อให้เหล่า Reggae Girlz ได้เตะฟุตบอล หลังโดนสมาคมฟุตบอลจาเมกาสั่งยุบทีมถึง 2 ครั้ง
และที่น่าเสียดายที่สุดคือการตัดสินใจของ อาดา เฮเกอร์เบิร์ก นักเตะสาวที่เก่งที่สุดในโลก เจ้าของรางวัลบัลลงดอร์หญิงคนแรกที่ประกาศจะไม่ขอร่วมทีมชาตินอร์เวย์มาแข่งฟุตบอลโลกหญิงครั้งนี้ แม้ว่านัดชิงชนะเลิศจะเตะในลียง เมืองที่เธอมาค้าแข้งและประสบความสำเร็จอย่างสูงสุดก็ตาม
Photo: Getty
เหตุผลของเฮเกอร์เบิร์กคือเธอต้องการให้ทุกคนปฏิบัติต่อนักฟุตบอลหญิงอย่างเท่าเทียมทุกอย่าง ไม่เฉพาะแค่เรื่องของรายได้ ซึ่งแม้จะเป็นนักฟุตบอลหญิงที่มีรายได้จากการเล่นฟุตบอลสูงสุด แต่รายได้ตลอดปีของเธอก็เพียง 450,000 เหรียญสหรัฐต่อปี น้อยกว่า ลิโอเนล เมสซี ถึง 325 เท่า
ทีมชาติสหรัฐอเมริกาเองก็ต่อสู้ในเรื่องของรายได้ที่ไม่เท่าเทียมเช่นกัน โดยยื่นฟ้องร้องต่อสหพันธ์ฟุตบอลสหรัฐอเมริกาว่าพวกเธอได้รับรายได้ที่น้อยกว่านักฟุตบอลชายมาก (ทั้งๆ ที่พวกเธอเป็นแชมป์โลก)
แน่นอนครับว่าพวกเธอไม่ได้เรียกร้องอย่างหน้ามืดตามัว และพวกเธอก็รู้ว่าการต่อสู้ครั้งนี้มันไม่ใช่ศึกที่จะเอาชนะได้ในระยะเวลาอันสั้น ทุกอย่างต้องใช้เวลาไม่ต่างจากการพยายามปลูกดอกไม้ในสนามฟุตบอล
แต่อย่างน้อยพวกเธอได้พยายามลุกขึ้นสู้ เรียกร้อง ในขณะเดียวกันก็พยายามที่จะพิสูจน์ตัวเองด้วยการแสดงให้เห็นว่าพวกเธอนั้นไม่ใช่แค่เล่นฟุตบอลเป็น แต่เล่นฟุตบอลได้ดีไม่แพ้ผู้ชาย ซึ่งเราจะได้เห็นในครั้งนี้ครับว่านักฟุตบอลหญิงเขาพัฒนากันไปถึงไหนแล้ว
นี่เป็นเหตุผลที่ทำให้ฟุตบอลโลกหญิงครั้งนี้สำคัญที่สุด
มันไม่ใช่แค่เกมฟุตบอล มันมีความหมายที่มากมายกว่านั้นมาก
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
- ทีมชาติไทยอยู่ในกลุ่ม F ที่เรียกว่าแข็งมาก เพราะอยู่ร่วมกับสหรัฐอเมริกา แชมป์เก่า, สวีเดน และชิลี โดยนัดแรกจะเจอทีมเต็งหนึ่งอย่างสหรัฐอเมริกาในวันที่ 12 มิถุนายน (ตามเวลาประเทศไทย)
- ข่าวดีคือมีการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกหญิงครั้งนี้ให้ชมด้วยทาง beIN SPORTS และ PPTV (เฉพาะทีมไทย ในรอบรองชนะเลิศและรอบชิงชนะเลิศ) หลังจากที่ต้องลุ้นกันมานานว่าจะได้ชมทีม ‘ชบาแก้ว’ หรือเปล่า
- ใน 24 ทีมที่เข้ารอบสุดท้าย Nike เป็นสปอนเซอร์ชุดแข่งถึง 14 ทีม และมีการออกแบบชุดใหม่ให้ทั้งหมด บางทีมก็มีโลโก้ทีมชาติเฉพาะด้วย เช่น ทีมชาติเนเธอร์แลนด์ ที่เปลี่ยนโลโก้จากสิงโตหนุ่มเป็นสิงโตสาวแทน
- ฟุตบอลโลกหญิงที่แคนาดาเมื่อ 4 ปีที่แล้วมีผู้ชมรวม 1.35 ล้านคน และมีผู้ชมทางทีวี 750 ล้านคน ซึ่งเชื่อว่าครั้งนี้ตัวเลขน่าจะดีกว่ามาก
- ใน 24 ทีม มี 8 ทีมที่ใช้โค้ชผู้หญิง รวมถึงทีมชาติไทยที่มีโค้ชหนึ่งฤทัย สระทองเวียน คนสำคัญที่สุดคนหนึ่งในวงการฟุตบอลหญิงไทยเป็นเฮดโค้ช