สหภาพยุโรป (EU) กำลังจะได้ผู้นำหญิงในสองตำแหน่งสำคัญเป็นครั้งแรก หลังจาก อูร์ซูลา ฟอน เดอร์ เลเยน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของเยอรมนี ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการยุโรปแทน ฌอง-โคลด ยุงเกอร์ ขณะที่ คริสติน ลาการ์ด กรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คนปัจจุบันได้รับการเสนอชื่อให้นั่งเก้าอี้ประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) ต่อจาก มาริโอ ดรากี ที่กำลังจะหมดวาระในเดือนตุลาคม
การตัดสินใจเสนอชื่อแคนดิเดตหญิงกุมบังเหียนองค์กรฝ่ายบริหารของ EU และองค์กรกำหนดนโยบายการเงินของยูโรโซนมีขึ้นหลังจากที่สหภาพยุโรปมีการประชุมหารือกันนาน 3 วัน และได้ข้อสรุปในการสนับสนุนฟอน เดอร์ เลเยน และลาการ์ดให้เป็นผู้นำองค์กรสำคัญในบรัสเซลส์และแฟรงก์เฟิร์ต ซึ่งหากทั้งคู่ได้รับเลือกอย่างเป็นทางการก็จะถือเป็นการฉีกธรรมเนียมปฏิบัติที่ก่อนหน้านี้ผู้ดำรงตำแหน่งล้วนเป็นชายมานานกว่า 6 ทศวรรษ
สำหรับ ฟอน เดอร์ เลเยน วัย 60 ปี จะดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการยุโรปอย่างเป็นทางการ หากเธอได้รับการโหวตด้วยคะแนนเสียงส่วนใหญ่จากสมาชิกสภายุโรป ขณะที่ลาการ์ดก็จะต้องรอการลงมติรับรองจากประเทศสมาชิกยูโรกรุ๊ปเช่นกัน
โดนัลด์ ทัสก์ ประธานคณะมนตรียุโรป กล่าวว่าหลังจากการประชุมมาราธอน เขารู้สึกพอใจกับผลที่ได้ เพราะยุโรปกำลังจะมีผู้นำเป็นผู้หญิง ซึ่งถือว่าคุ้มค่ากับการรอคอย
ขณะที่ อังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีหญิงแห่งเยอรมนี กล่าวว่าเป็นสัญญาณดีที่ผู้หญิงจะได้นั่งเก้าอี้บริหารสำนักงานเหล่านี้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ นอกจากนี้ยังถือเป็นครั้งแรกในรอบ 52 ปีที่คนสัญชาติเยอรมันได้ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการยุโรปด้วย
ทั้งนี้ ฟอน เดอร์ เลเยน ได้รับการเสนอชื่อจากประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส หลังจากที่ฮังการี โปแลนด์ สาธารณรัฐเช็ก สโลวาเกีย และอิตาลี ต่างปฏิเสธชื่อของ ฟรานส์ ทิมเมอร์แมนส์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของเนเธอร์แลนด์ สืบเนื่องจากเขาเคยวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลประชานิยมที่ไม่สามารถปกป้องความเป็นอิสระของระบบศาลยุติธรรมได้
สำหรับความท้าทายที่รออยู่ตรงหน้าลาการ์ดหลังจากที่ก้าวขึ้นเป็นผู้นำหญิงคนแรกของ ECB ก็คือการผลักดันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่ๆ ท่ามกลางภาวะชะลอตัวทางเศรษฐกิจในยุโรป
สิ่งที่ตลาดจับตาก็คืออดีตรัฐมนตรีคลังของฝรั่งเศส วัย 63 ปี จะกำหนดทิศทางนโยบายการเงินของ ECB อย่างไร หลังดรากียอมรับว่าสหภาพยุโรปจำเป็นต้องกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม ซึ่งอาจหมายถึงการปรับลดดอกเบี้ยลง และเดินหน้าใช้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ท่ามกลางสัญญาณทางเศรษฐกิจที่ยังไม่สู้ดี โดยที่อัตราเงินเฟ้อยังคงเคลื่อนตัวต่ำกว่าระดับเป้าหมายที่ 2% ของ ECB ถึงแม้ ECB จะคงอัตราดอกเบี้ยติดลบมานานหลายปี และกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการซื้อพันธบัตรรวมกว่า 2.6 ล้านล้านยูโรแล้วก็ตาม
ภาพ: Getty
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
อ้างอิง: