‘ความไม่มั่นคงด้านอาหาร’ กำลังกลายเป็นประเด็นที่ทั่วโลกวิตกกังวลมากขึ้น โดยรายงานฉบับใหม่ระบุว่า ผู้คน 828 ล้านคน ซึ่งได้รับผลกระทบจากความหิวโหยในปี 2021 โดยจำนวนนี้ 3 ใน 5 เป็นผู้หญิง ทำให้ช่องว่างความมั่นคงด้านอาหารระหว่างผู้ชายและผู้หญิงเพิ่มขึ้น 8.4 เท่า ตั้งแต่ปี 2018 โดยตั้งแต่สงครามในยูเครนเริ่มต้นขึ้น สถานการณ์ดังกล่าวก็ดูเหมือนจะแย่ลงไปอีก
ตามรายงานล่าสุดของ CARE ซึ่งเป็นองค์กรด้านมนุษยธรรม ประมาณการว่า มีผู้คน 828 ล้านคนทั่วโลกได้รับผลกระทบจากความหิวโหยในปี 2021 โดยจำนวนนี้ 59% เป็นผู้หญิง หรือเท่ากับว่ามีผู้หญิง 150 ล้านคนที่เผชิญกับความไม่มั่นคงด้านอาหารมากกว่าผู้ชาย
ความไม่เสมอภาคทางเพศในการเข้าถึงอาหารกำลังเพิ่มขึ้น
ตั้งแต่ปี 2018 ความเหลื่อมล้ำด้านความมั่นคงทางอาหารระหว่างผู้ชายและผู้หญิงเพิ่มขึ้นถึง 8.4 เท่า โดยการเร่งตัวนี้ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการระบาดใหญ่ของโควิด
เมื่อสงครามในยูเครนเริ่มขึ้น รวมกับปัญหาขาดแคลนอาหาร ควบคู่ไปกับปัจจัยด้านเงินเฟ้อ สถานการณ์ดังกล่าวก็ดูเหมือนจะเลวร้ายลงไปอีก
งานวิจัยฉบับนี้ ซึ่งรวบรวมข้อมูลจากสหประชาชาติ (UN) และธนาคารโลก (World Bank) จนถึงเดือนธันวาคม 2021 ยังไม่ทราบผลกระทบที่ชัดเจนจากวิกฤตการณ์ในปี 2022 แต่ Emily Janoch ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายความเป็นผู้นำทางความคิดของ CARE และหนึ่งในผู้เขียนรายงาน เปิดเผยกับสำนักข่าว CNBC ว่า ทุกสิ่งที่เราเห็นกำลังบอกเราว่าสถานการณ์จะแย่ลง
ความไม่มั่นคงด้านอาหารเพิ่ม เมื่อความไม่เท่าเทียมทางเพศเพิ่ม
ตามรายงาน ‘ความมั่นคงด้านอาหารและโภชนาการในโลกปี 2022’ ของ UN ระบุว่า ผู้หญิงมีความมั่นคงด้านอาหารต่ำกว่าผู้ชายในทุกภูมิภาคของโลก โดยความเหลื่อมล้ำดังกล่าวเด่นชัดขึ้น โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนาและซีกโลกใต้
รายงานของ CARE ยังพบว่า เมื่อความไม่เท่าเทียมทางเพศเพิ่มขึ้นใน 109 ประเทศ ความไม่มั่นคงด้านอาหารก็เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน ตัวอย่างเช่นในซูดาน ซึ่งธนาคารโลกได้ให้คะแนนความเท่าเทียมทางเพศ 2.5 จาก 6 และพบว่าผู้หญิงเกือบ 2 ใน 3 (65%) เผชิญความไม่มั่นคงด้านอาหาร เทียบกับผู้ชาย 49% เนื่องจากเด็กผู้หญิงและผู้หญิงมีหน้าที่รับผิดชอบในการเตรียมอาหารในครัวเรือน 85-90% ทั่วโลก ตามรายงานขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ
อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริงแล้วแม้ว่าทั้งผู้ชายและผู้หญิงจะเผชิญความไม่มั่นคงทางอาหารในทางเทคนิค แต่ผู้หญิงก็มักจะเผชิญผลกระทบมากกว่า ตัวอย่างเช่นในโซมาเลีย ผู้ชายรายงานว่าได้กินอาหารมื้อเล็กๆ ขณะที่ผู้หญิงรายงานว่าไม่ได้กินอาหารเลย
ขณะเดียวกัน ในบังกลาเทศ ผู้หญิง 1 ใน 5 (21%) รายงานว่า ประสบกับความรุนแรงที่บ้านมากขึ้น อันเป็นผลมาจากราคาอาหารที่สูงขึ้น
ควรสนับสนุนทางการเงินให้แก่ผู้หญิง
กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ประมาณการว่า มูลค่าทางเศรษฐกิจของงานที่ไม่ได้รับค่าจ้าง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นงานที่ผู้หญิงทำ คิดเป็นสัดส่วนระหว่าง 10-60% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ
ขณะที่ Rebecca Burgess ผู้อำนวยการประจำประเทศของ The Hunger Project UK กล่าวว่า การส่งเสริมการมีส่วนร่วมและการตัดสินใจทางเศรษฐกิจของผู้หญิง ทั้งในระดับครัวเรือนและระดับนิติบัญญัติ จะช่วยบรรเทาความยากจนและปรับปรุงผลลัพธ์ทางโภชนาการได้อย่างมาก
“การศึกษาจำนวนมากได้แสดงให้เห็นว่า เมื่อผู้หญิงได้รับโอกาสในการสร้างรายได้และควบคุมรายได้ ผู้หญิงมักจะลงทุนในอาหาร การดูแลสุขภาพ และการศึกษาสำหรับครอบครัวของพวกเธอ” Burgess กล่าว
นอกจากนี้ การศึกษาของ CARE ในปี 2021 ยังพบว่า การลงทุนด้านความเท่าเทียมทางเพศในภาคเกษตรได้ผลตอบแทนถึง 5 ดอลลาร์ สำหรับการลงทุนทุกๆ 1 ดอลลาร์ เทียบกับผลตอบแทน 2 ดอลลาร์ สำหรับการลงทุนทุกๆ 1 ดอลลาร์ในโครงการการเกษตรที่เพิกเฉยต่อความเท่าเทียมทางเพศ
อ้างอิง:
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP