×

เธอคลั่งงานอยู่หรือเปล่า นักวิจัยชี้ ผู้หญิงบ้างานเสี่ยงเป็นโรคเบาหวาน

31.07.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • จากการติดตามข้อมูลของคนทำงานจำนวน 7,065 คน มาตลอด 12 ปี พบว่า ผู้หญิงที่ใช้เวลาทำงาน 45 ชั่วโมง หรือมากกว่านั้นต่อสัปดาห์ มีความเสี่ยงเป็นโรคเบาหวานเพิ่มขึ้นถึง 65% เมื่อเทียบกับคนที่ทำงาน 35-40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์
  • หากนอนน้อยไปสักสัปดาห์หนึ่ง ความเสี่ยงของการเป็นโรคเบาหวานก็สูงขึ้นเช่นกัน และผู้หญิงในวัยกลางคนมักจะมีอัตราการนอนไม่หลับสูงกว่าช่วงวัยอื่นๆ นั่นอาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ผู้หญิงมีอัตราความเสี่ยงสูงกว่าเพศชาย
  • มีการคาดเดาว่าโรคนี้จะส่งผลกระทบเศรษฐกิจของโลกอย่างมาก โดยภายในปี 2030 คาดว่าจะมีผู้ป่วยโรคเบาหวานราวๆ 439 ล้านคน โดยเพิ่มจากปี 2010 ถึง 50%

คุณเป็นเธอคนนั้นหรือเปล่า ที่ก้มหน้าง่วนอยู่กับการตอบไลน์งาน เช็กเมลงานเป็นว่าเล่น และทำงานหามรุ่งหามค่ำจนไม่มีเวลาให้ตัวเองหรือคนรอบข้าง หากใช่ จงอ่านให้ดี เพราะการศึกษาชิ้นล่าสุดที่ตีพิมพ์ในวารสาร BMJ ที่ทำการวิจัยเกี่ยวกับโรคเบาหวานพบว่า เมื่อผู้หญิงใช้เวลาในการทำงานน้อยลง ความเสี่ยงของการเป็นโรคเบาหวานก็ลดทอนลงด้วย

 

นักวิจัยดูผลข้อมูลของคนแคนาดาจำนวน 7,065 คน ที่ใช้เวลาติดตามมาตลอด 12 ปี และพบว่าผู้หญิงที่ใช้เวลาทำงาน 45 ชั่วโมง หรือมากกว่านั้นต่อสัปดาห์ มีความเสี่ยงเป็นโรคเบาหวานเพิ่มขึ้นถึง 65% เมื่อเทียบกับคนที่ทำงาน 35-40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์

 

Photo: giphy.com

 

นอกจากนั้นผลที่ว่านี้มีการเปลี่ยนแปลงไม่มากเมื่อนำปัจจัยเรื่องการสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ และมวลดัชนีร่างกายเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

 

อ่านมาถึงตรงนี้ คุณอาจสงสัย “ใครทำงานหนักเกินก็เป็นโรคกันได้ทั้งนั้นแหละ!”  แต่ช้าก่อน เพราะเมื่อดูผลการติดตามของผู้ชายแล้ว แม้จะมีชั่วโมงการทำงานที่ยาวนานกว่า แต่กลับไม่ได้มีความเสี่ยงกับโรคเบาหวานเทียบเท่ากับเพศหญิงเลยนี่สิ

 

แม้จะไม่มีเหตุผลที่ชัดเจนบอกได้ว่าเพราะเหตุใดเรื่องเพศถึงเข้ามาเกี่ยว แต่นั่นอาจข้องเกี่ยวกับกิจกรรมยามว่างที่ผู้หญิงมักทำมากกว่าคุณผู้ชาย

 

“กิจกรรมที่ผู้หญิงต้องทำเมื่อกลับบ้านแล้วยังรวมถึงการทำงานบ้าน อันเป็นสิ่งที่ผู้หญิงทำมากกว่าผู้ชาย และนั่นทำให้เกิดความเครียดได้ และความเครียดนั่นเองเป็นสิ่งที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ” มาฮี กิลแบต์-วีเมต์ (Mahee Gilbert-Ouimet) ผู้ทำการวิจัยจากมหาวิทยาลัยโตรอนโต (University of Toronto) ที่ทำการศึกษามาตลอด 12 ปี และเป็นหนึ่งในผู้เขียนงานวิจัยชิ้นดังกล่าวเผย

 

Photo: giphy.com

 

นอกจากนั้นผู้หญิงที่ใช้เวลากับการทำงานมากกว่ามีแนวโน้มที่จะทำงานที่ได้เงินน้อยกว่าผู้ชาย “แม้ว่าทั้งหญิงและชายจะทำงานที่คล้ายกัน แต่ผู้หญิงมักได้ค่าตอบแทนที่น้อยกว่า ซึ่งแน่นอนว่านั่นส่งผลต่อสุขภาพด้วย ลองนึกดูสิว่าคุณกดดันและเครียดแค่ไหนที่ต้องพยายามมากกว่าเพื่อให้ได้ค่าแรงที่ถูกกว่า” มาฮีเผย

 

“เราต้องทำการศึกษาเรื่องเกี่ยวกับผู้หญิงให้มากขึ้น เนื่องจากเรายังประเมินความเกี่ยวโยงเรื่องสุขภาพของพวกเขาต่ำเกินไป และถือเป็นเรื่องน่าเสียดาย เพราะถ้าศึกษาอย่างใกล้ชิดแล้ว เราะจะพบว่ามีความไม่เท่าเทียมกันอยู่สูงมาก”

 

เมื่อศึกษายังพบอีกว่า ผู้ชายที่มีชั่วโมงทำงานที่นานกว่าในอาชีพที่ได้ค่าตอบแทนน้อยกว่ายิ่งมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวาน แม้จะมีผลการศึกษาที่ออกมาจะแย้ง แต่ก็มีชิ้นงานวิจัยเพิ่มเติมที่ชี้ตรงกันว่าการโหมงานหนักกับโรคเบาหวานมีความเกี่ยวโยงกัน

 

ผลการศึกษาของญี่ปุ่นจากปี 2016 แสดงให้เห็นว่า มีความเชื่อมโยงระหว่างความเสี่ยงต่อโรคเบาหวาน กับคนที่ทำงานนอกเวลากว่า 45 ชั่วโมง หรืองานที่ทำไม่เป็นเวลา ขณะที่การศึกษาจากปี 2006 ที่เน้นไปที่กลุ่มผู้หญิงชี้ไปที่ผลลัพธ์ใกล้กัน ชั่วโมงการทำงานที่ยาวนานส่งผลในแง่ลบต่อสุขภาพในหลายๆ ด้าน เช่น ปัญหาเกี่ยวกับหัวใจ เป็นต้น

 

Photo: giphy.com

 

ออร์ฟิว บัคซ์ตัน (Orfeu Buxton) ศาสตราจารย์ด้านสุขภาพและพฤติกรรมทางชีวภาพแห่งมหาวิทยาลัยเพนน์ สเตท (Penn State University) ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการทำวิจัยชิ้นล่าสุดข้างต้น แต่เคยทำการทดสอบที่ใกล้เคียงกันเผยว่า อีกปัจจัยที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงที่ว่าคือ เมื่อผู้หญิงหักโหมงานจนสะสมความเครียดเป็นระยะเวลานาน พวกเธอก็มีเวลาดูแลตัวเองน้อยลงเช่นกัน นั่นหมายถึงการกินอาหารที่ไม่มีประโยชน์ ไม่มีเวลาออกกำลังกาย และอาจมีเวลาพักผ่อนที่ไม่เพียงพอ เพราะมัวแต่กังวลว่าจะทำงานไม่เสร็จ ซึ่งงานทดสอบชิ้นอื่นๆ ก็พบผลที่ไม่ต่างกัน

 

สิ่งนี้ทำให้เกิดข้อถกเถียงในเชิงธุรกิจถึงการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมองค์กรให้ทำงานกันน้อยลง “สิ่งนี้น่าจะทำให้บริษัทและองค์กรตื่นตัว โดยเฉพาะเมื่อพวกเขาให้สวัสดิการสุขภาพกับพนักงานด้วย” ศาสตราจารย์ออร์ฟิวกล่าว

 

นอกจากนั้นเขายังศึกษาเรื่องผลกระทบของการอดนอน และค้นพบว่าหากนอนน้อยไปสักสัปดาห์หนึ่ง ความเสี่ยงของการเป็นโรคเบาหวานก็สูงขึ้นทันทีเช่นกัน และผู้หญิงในวัยกลางคนมักมีจะอัตราการนอนไม่หลับสูงกว่าช่วงวัยอื่นๆ และนั่นอาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ผู้หญิงมีอัตราความเสี่ยงสูงกว่าเพศชายนั่นเอง

 

ศาสตราจารย์ยังกล่าวอีกว่า การวิจัยล่าสุดนี้มีประโยชน์และน่าจะช่วยกระตุ้นให้ทำการศึกษาเพิ่มเติมในประเด็นนี้

 

“โรคเบาหวานนั้นเป็นโรคที่คนเป็นกันเยอะ ต้องใช้ค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาสูง และสามารถคร่าชีวิตได้เช่นกัน ดังนั้นเราจึงควรทำความเข้าใจถึงตัวแปรและปัจจัยต่างๆ นอกเหนือจากการใช้ยารักษาและการแพทย์เข้าช่วย เพื่อที่จะป้องกันการเกิดโรคนี้ได้ดียิ่งขึ้น” เขาสรุป

 

Photo: giphy.com

 

มีการคาดเดาว่าโรคนี้จะส่งผลกระทบเศรษฐกิจของโลกอย่างมาก โดยภายในปี 2030 คาดว่าจะมีผู้ป่วยโรคเบาหวานราวๆ 439 ล้านคน โดยเพิ่มจากปี 2010 ถึง 50%

 

ทั้งนี้มาฮีตบท้ายว่า “ที่ทำงานควรเอื้ออำนวยให้ลูกจ้างของพวกเขาทำงานให้น้อยลง เพราะมันส่งผลต่อสุขภาพชีวิตของพวกเขา”

 

ทีนี้คุณก็หาข้ออ้างเรื่องสุขภาพให้ทำงานน้อยลงได้ (หน่อยหนึ่ง) แล้วล่ะ

 

เจ้านายจะเห็นด้วยไหมนะ

 

#เหนื่อยไหมสิ่งที่เธอทำอยู่

 

อ่านเรื่อง คุณทำงานมากกว่า 39 ชั่วโมงต่อสัปดาห์อยู่หรือเปล่า? หรือ งานของคุณกำลังฆ่าคุณช้าๆ ได้ที่นี่

 

ภาพประกอบ: Pantitra H.

อ้างอิง:

FYI
  • ข้อมูลจากหน่วยงานเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐศาสตร์และการพัฒนา (Organization for Economic Cooperation and Development) เผยในปี 2559 ว่า 19 นาที คือเวลาที่พ่อบ้านอินเดียใช้ในการทำงานบ้านในแต่ละวัน ในขณะที่แม่บ้านอินเดียใช้ในการทำงานบ้านแต่ละวันอยู่ที่ 298 นาที
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X