Bloomberg รายงานว่า เป็นเวลาเกินกว่า 1 ปีแล้วที่นักลงทุนในตลาดหุ้นประเทศกำลังพัฒนาของภูมิภาคเอเชีย ยกเว้นประเทศจีน ยังคงถอนเม็ดเงินออกจากตลาดอย่างต่อเนื่อง สาเหตุมาจากความเชื่อของนักลงทุนที่คาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ Fed จะยังรักษาระดับดอกเบี้ยที่สูงไว้แบบนี้ไปอีกสักระยะ
16,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คือมูลค่าหุ้นในตลาดเอเชียที่นักลงทุนทั่วโลกขายออกนับตั้งแต่วันที่ 4 กันยายนที่ผ่านมา ซึ่งถือมูลค่าการขายออกที่มากที่สุดในรอบ 16 เดือนตามข้อมูลของ Bloomberg โดยตลาดหุ้นที่มียอดขายออกสูงสุดนำโดยอินเดีย ตามมาด้วยไต้หวันและเกาหลีใต้
นอกเหนือจากทีท่าของ Fed ที่จะยังรักษาระดับดอกเบี้ยให้สูง เศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวและราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้น สภาวะสงครามระหว่างกลุ่มฮามาส-อิสราเอลก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยใหม่ที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นใจของนักลงทุนในภูมิภาคนี้ เพราะแม้ผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐจะปรับลดลงมาเล็กน้อย ซึ่งน่าจะกระตุ้นให้นักลงทุนมองหาแหล่งพักเงินอื่นและลดการเข้าซื้อพันธบัตร แต่นั่นก็ไม่ช่วยหยุดการไหลออกของเงินจากตลาดหุ้นในภูมิภาคนี้ได้
การขายหุ้นบริษัทอย่าง Taiwan Semiconductor Manufacturing Co. (TSMC) ของไต้หวัน และ SK hynix Inc ของเกาหลีใต้ พิสูจน์ให้เห็นว่า กระแสการลงทุนในธุรกิจด้าน AI อ่อนตัวลง ในขณะที่ราคาน้ำมันสูงเป็นเหตุผลให้ต่างชาติลดการถือครองหุ้นในตลาดอินเดียลง
อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางการไหลออกของเงินลงทุนและความเสี่ยงต่างๆ ที่กล่าวไปข้างต้น บีตา แมนเธย์ นักกลยุทธ์ด้านตราสารทุนโลกประจำ Citigroup Inc. ให้สัมภาษณ์กับ Bloomberg ว่า เธอยังมีมุมมองเชิงบวกกับหุ้นในภูมิภาคนี้ เนื่องจากราคาปรับตัวลงมาอยู่ในระดับที่ค่อนข้างถูกสำหรับหุ้นกลุ่มนี้ พร้อมทั้งระบุว่า หากไม่รวมความเสี่ยงเชิงภูมิรัฐศาสตร์ ปัจจัยความเสี่ยงในด้านของเศรษฐกิจก็ถือว่าลดลงไปแล้วในระดับหนึ่ง
โดยรวมแล้วนักลงทุนมีการลดการถือครองหุ้นประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียลง ซึ่งเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา กองทุน ETF ที่เทรดดิ้งไปกับผลของดัชนี MSCI Emerging Markets ต้องรับมือกับการถอนเงินเป็นจำนวนที่เยอะที่สุดในรอบกว่า 1 ปี
อ้างอิง: