×

วิษณุชี้ ส.ว. หมดวาระยังต้องรักษาการ แต่ไม่มีอำนาจโหวตนายกฯ แล้ว คาดได้รัฐบาล ส.ค. นี้ บอกมีวิธีอื่นเยอะแยะ ไม่จำเป็นต้องลาก 10 เดือน

โดย THE STANDARD TEAM
25.07.2023
  • LOADING...
วิษณุ เครืองาม

วันนี้ (25 กรกฎาคม) ที่ทำเนียบรัฐบาล วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีมีการถกเถียงกันว่าผู้ตรวจการแผ่นดินมีอำนาจยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเรื่องข้อบังคับการประชุมที่ 41 สามารถเสนอชื่อ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรีรอบที่ 2 ได้หรือไม่ว่า ขอไม่ตอบในเรื่องนี้ เมื่อผู้ตรวจการแผ่นดินชี้แล้วก็ต้องเคารพท่าน เมื่อผู้ตรวจการฯ ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยก็ต้องรอฟังศาลรัฐธรรมนูญก็แล้วกัน

 

ส่วนเรื่องการเลื่อนโหวตนายกฯ ครั้งที่สามในวันที่ 27 กรกฎาคมนั้น ก็เป็นธรรมดาและได้ยินว่าสภาก็จะเลื่อนอยู่แล้ว ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ถูกต้อง แต่ว่าจะเลื่อนไปนานขนาดไหนก็แล้วแต่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำสั่ง คิดว่าน่าจะไม่ใช้เวลานาน เพราะเป็นปัญหาในเรื่องข้อกฎหมาย ไม่ใช่ปัญหาข้อเท็จจริง

 

เมื่อถามว่ารัฐสภาจะต้องรอคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญใช่หรือไม่ วิษณุกล่าวว่า ก็อยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญว่าจะสั่งชั่วคราวก่อนหรือไม่

 

วิษณุกล่าวถึงปฏิทินการได้นายกฯ และรัฐบาลว่า เขยิบแค่นี้เรายังรู้สึกเดือดร้อน ทนไม่ไหว ใครที่ช่างคิดให้เขยิบไปอีก 10 เดือน ซึ่งหากเขยิบก็คงไม่มากเท่าไร ตนยังมองในแง่ดีว่าในเดือนสิงหาคมจะได้รัฐบาล แต่อาจจะยังทำงานไม่ได้ เพราะจะต้องตั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) และเข้าถวายสัตย์ปฏิญาณ รวมถึงแถลงนโยบายด้วย

 

เมื่อถามย้ำว่าหากหาทางออกไม่ได้จริงๆ นายกรัฐมนตรีคนนอกมีความเป็นไปได้หรือไม่ วิษณุกล่าวว่าเป็นไปได้ทั้งนั้น แต่ยากมาก เพราะการที่จะมีนายกฯ คนนอกจะต้องใช้มาตรา 272 วรรคสอง ซึ่งอาศัยเสียง ส.ส. 500 คนก่อน และยังต้องอาศัยเสียง 376 คนอีก มันวุ่นวาย ยุ่งยากหลายขั้นตอน ไม่มีใครคิดไปถึงขั้นนั้น

 

เมื่อถามอีกว่าหากเลยเดือนสิงหาคมไปรัฐบาลรักษาการจะมีการเตรียมการอะไรบ้าง วิษณุกล่าวว่าไม่มีอะไรที่ต้องเตรียม เพราะการแต่งตั้งโยกย้ายสามารถทำได้ แต่ต้องขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตนเป็นห่วงว่าจะมีผู้ว่าราชการจังหวัดเกษียณอายุหลายจังหวัด ซึ่งก็บอกไปว่ามีเสนอการแต่งตั้งไปตามปกติ ส่วนงบประมาณก็ใช้งบกลางปี 2565 ไปพลางก่อน ทั้งในส่วนของงบทำการ เงินเดือน และค่าตอบแทน ส่วนการทำโปรเจกต์ใหม่ๆ นั้นทำไม่ได้ รวมทั้งการเสนอกฎหมายงบประมาณเข้าสภาก็ทำไม่ได้  หากสภามีกระทู้ถามต้องไปตอบ

 

เมื่อถามย้ำว่าตั้งแต่รับราชการมาเคยเจอสถานการณ์การเมืองแบบนี้หรือไม่ วิษณุกล่าวว่าตนอยู่ในช่วงเวลาที่ผลัดเปลี่ยนรัฐบาลมาแล้ว 11 ครั้ง ซึ่งแต่ละครั้งก็ไม่เหมือนกัน ใจหายใจคว่ำแต่ก็ผ่านไปได้ ซึ่งไม่เหมือนปัญหาอย่างทุกวันนี้ แต่จะน่าตื่นเต้นโลดโผน และเราก็นึกว่าแย่แล้วแต่มันก็ไม่แย่ แล้วก็ผ่านพ้นไปได้

 

ส่วนกรณีมีการเสนอยืดเวลาออกไปอีก 10 เดือน เพื่อให้ ส.ว. หมดอำนาจในการโหวตนายกรัฐมนตรีว่าตนไม่เคยได้ยิน ได้ยินแต่ว่าพรรคการเมืองทั้งหลายเขาจะไม่ยอมให้เกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น และรัฐบาลเองไม่อยากที่จะอยู่แบบนั้นด้วย แต่ละคนก็หมดเวลาและอยากจะแยกย้ายไปทำมาหากินของตัวเอง

 

ผู้สื่อข่าวถามว่ามันเป็นแนวทางหนึ่งที่พรรคก้าวไกลอยากจะเสนอ วิษณุกล่าวว่า ตนเห็นพรรคเพื่อไทยพูดเองว่าเขาคิดเรื่องนี้เป็นทางสุดท้าย เพราะยังมีวิธีอื่นอีกตั้งเยอะแยะ และมันไม่มีประโยชน์อะไรที่จะถ่วงเวลาไปอย่างนั้น รัฐบาลจะแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการก็ลำบาก จะใช้งบกลางก็ลำบาก จะเสนองบประมาณใหม่เข้าสภาก็ไม่ได้ และในระหว่างนี้อาจจะต้องโดนไปตอบกระทู้ รัฐบาลต้องไปตอบเอง

 

เมื่อถามว่าดูเหมือนกฎหมายจะเปิดช่องในเรื่องนี้ วิษณุกล่าวว่าก็ถูก แต่เราจะไปทำอย่างนั้นทำไม ในเมื่อมันไม่ได้ลำบากยากเย็นในการที่จะตั้งรัฐบาลขนาดนั้น เพียงแค่หนักนิดเบาหน่อย ถอยหน่อย มันก็สามารถทำได้ ตนถึงได้บอกว่ารัฐบาลที่รักษาการอยู่ในขณะนี้ก็ไม่ได้อยากจะอยู่อย่างนั้น ฝ่ายเขาเองก็ไม่ได้อยากให้เป็นอย่างนั้น และประชาชนยิ่งไม่อยากใหญ่ อยากเห็นรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นพรรคใดก็ตามช่วยมาเป็นรัฐบาลทีเถอะ

 

เมื่อถามว่าถ้า ส.ว. หมดอายุไปแล้ว ขั้นตอนต่อไปจะต้องมีการคัดสรรอย่างไร วิษณุกล่าวว่า “ในรัฐธรรมนูญเขียนไว้ว่าในระหว่างที่มีการคัดสรร ส.ว. ชุดใหม่ ส.ว. ชุดเก่าจะต้องรักษาการต่อไป แต่ไม่สามารถมีส่วนในการเลือกนายกฯ ได้ในช่วงรักษาการนี้ เพราะการเลือกนายกฯ เขาล็อกเอาไว้ 5 ปี พอครบ 5 ปีในวันที่ 11 พฤษภาคม 2567 ก็หมดไป ซึ่ง ส.ว. ก็หมดไปด้วย ส.ว. ที่อยู่เขาให้อยู่เพื่อปฏิบัติหน้าที่อื่นที่ไม่ใช่หน้าที่ตามมาตรา 272  ไม่ใช่การเลือกนายกฯ”

 

ส่วนการคัดสรร ส.ว. ใหม่จะใช้เวลาเท่าไรนั้น ผมไม่ทราบ เพราะต้องมีกฎหมายลูกในการคัดสรร ส.ว. โดยคัดสรรเป็นอาชีพ ไม่ได้คัดสรรเป็นจังหวัด เรื่องนี้ทางคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นคนจัดการ ซึ่งหาก ส.ว. ชุดนี้ใกล้หมดวาระ ทาง กกต. จะมาคิดวางไทม์ไลน์ต่อไป

 

เมื่อถามว่ามีโอกาสที่จะมีการแก้ไขการคัดสรร ส.ว. ให้มาจากการเลือกตั้งหรือไม่ วิษณุกล่าวว่า ส.ว. ก็มาจากการเลือกตั้ง เพียงแต่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งโดยตรง เป็นการเลือกจากสาขาอาชีพมาเป็นกลุ่มๆ และมาคัดสรร แต่หากจะมีการแก้ไขใหม่จากนี้ก็ต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่มาก ใหญ่สุดๆ ถึงขนาดอาจจะต้องทำประชามติ ทั้งนี้ บทบัญญัติของการคัดสรร ส.ว. ใหม่ เขียนไว้อยู่หลายมาตรา ถ้าจะแก้มันก็ต้องรื้อ แต่ตนคิดว่าไม่มีใครคิดทำอย่างนั้น นอกจากว่าจะเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับอยู่แล้ว อย่างนี้ก็แล้วไป

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X