วันนี้ (21 พฤศจิกายน) วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย กล่าวถึงกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าทั้งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) พรรคการเมือง และ พ.ร.ป.เลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ซึ่งอยู่ในขั้นตอนการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ รัฐบาลยังไม่ได้ตั้งรับอะไร ซึ่งเป็นภาระความรับผิดชอบของหลายฝ่าย ทั้งคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รัฐบาล รวมถึงสมาชิกรัฐสภาด้วย ที่จะต้องร่วมมือกันแก้ปัญหาถ้าเกิดปัญหา แต่ถ้าไม่มีปัญหาก็แล้วไป แต่ไม่รู้จะออกมาอย่างไร
“โดยต้องยึดตามหลักรัฐธรรมนูญ อยู่ที่ศาลว่าจะพิจารณาว่าการแก้แล้วธรรมนูญที่เกี่ยวข้องขัดแย้งกันเองหรือไม่ และแก้ปัญหาโดยวิธีใด หากแก้ไขเป็นการออกพระราชบัญญัติและร่วมมือกันเร่งพิจารณาก็คงจะได้ เพราะยังมีเวลาอีกกว่า 3 เดือนครึ่ง และเข้า 2 สภาพิจารณาร่วมกันด้วย หากไม่มีใครดึงให้ชักช้าก็สามารถไปได้ และอีกอย่างสภาหมดวาระวันที่ 22 มีนาคม 2566 สามารถขยายเป็นการประชุมวิสามัญได้” วิษณุกล่าว
วิษณุกล่าวต่อไปว่า สำหรับกรอบการเลือกตั้งวันที่ 7 พฤษภาคม 2566 นั้น กกต. เป็นผู้กำหนด หากมีการยุบสภาจะวันไหนก็ได้ เป็นเรื่องที่ กกต. ได้วางแผนไว้ล่วงหน้า ซึ่งระหว่างนี้ตนยังไม่ได้หารือกับ กกต.
ตนเองคาดหวังจะไม่เกิดสุญญากาศทางการเมือง และไม่มีการเตรียมทางหนีทีไล่ เพราะไม่รู้จะต้องเตรียมอย่างไร ซึ่งเชื่อว่าบางครั้งศาลอาจจะมีทางหนีทีไล่มาให้ด้วย เพราะศาลก็ไม่ต้องการเหนื่อยหลายรอบเหมือนกัน
ส่วนในช่วงก่อนการเลือกตั้งหาก พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะลงพื้นที่หาเสียงนั้นต้องใช้เวลาหลังเลิกงานใช่หรือไม่ วิษณุกล่าวว่า ถ้าใช้คำว่าไปหาเสียง จำเป็นต้องใช้เวลานอกราชการ แต่ถ้าไปโดยหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน ไปตรวจน้ำท่วม ไฟไหม้เยี่ยมราษฎร ไม่เรียกว่าเป็นการหาเสียง ซึ่งการลงพื้นที่ทุกครั้งสามารถดูรู้ เดาออกว่าเป็นการไปทำงานหรือไปหาเสียง
นอกจากนี้วิษณุยังปฏิเสธว่า พล.อ. ประยุทธ์ ไม่เคยมาปรึกษาเรื่องอนาคตทางการเมืองกับตนเองเลย และไม่ทราบว่าไทม์ไลน์การยุบสภาของนายกรัฐมนตรีจะเมื่อใด และไม่ตอบว่าจะควรยุบสภาหรือควรอยู่เต็มวาระ