×

‘เจอส่วยแจ้งผู้ว่าฯ’ วิโรจน์เปิดเว็บไซต์ร้องเรียนส่วยกรุงเทพฯ ชู 3 นโยบายปราบส่วย-ทำการเมืองโปร่งใส

โดย THE STANDARD TEAM
14.02.2022
  • LOADING...
วิโรจน์ ลักขณาอดิศร

วานนี้ (13 กุมภาพันธ์) วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) พรรคก้าวไกล พร้อมด้วย ปาล์ม-นิธิกร บุญยกุลเจริญ ว่าที่ผู้สมัครสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) เขตบางบอน ผู้พัฒนาเว็บไซต์และแอปพลิเคชันสำหรับเป็นแพลตฟอร์มส่งข้อมูลร้องเรียนต่างๆ และ ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เขตบางแค พรรคก้าวไกล เปิดตัวเว็บไซต์ ‘เจอส่วยแจ้งผู้ว่าฯ’ เพื่อสร้างการบริหารงานด้วยหลักการเมืองเปิดเผย โปร่งใส เพื่อให้ประชาชนร้องเรียนและมีการตรวจสอบปัญหาส่วยคอร์รัปชันทุกรูปแบบ ลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น ลดต้นทุนของคนหาเช้ากินค่ำ รวมถึงผู้ประกอบการทั้งรายเล็กและรายกลางไม่ให้ต้องจ่ายเงินใต้โต๊ะอีกต่อไป

 

โดยภายในงานมีการเชิญผู้ประกอบ ผู้ได้รับผลกระทบและประสบการณ์ตรงจากการถูกเจ้าหน้าที่รีดไถ เก็บส่วย มาบอกเล่าให้ความรู้สึก

 

ไก่-สุกฤษฎิ์ ผ่องคำพันธ์ เจ้าของร้านจิมส์ เบอร์เกอร์แอนด์เบียร์ มีทั้งหมด 7 สาขา กล่าวว่าการเก็บส่วยมาในรูปแบบของการขอสปอนเซอร์ เขาเปิดเผยว่า “มีมาเดือนละครั้งสองครั้งครับ คล้ายๆ ส่วย ราคาหลักพันถึงหมื่นก็มี ถามว่าผมชนตรงๆ ก็ได้ แต่มันเสียเวลาหากิน เลยคิดเป็น Marketing Cost ไป” นอกจากนี้เขายังเปิดเผยต่อไปอีกว่า “มีตำรวจมาอ้างว่าผมเป็นเปิดเพลงผิดลิขสิทธิ์ ก็พยายามจะเรียกเก็บค่าลิขสิทธิ์ เมื่อตรวจสอบก็พบว่าเป็นมิจฉาชีพ” เขากล่าวเสริมถึงช่องว่างและรูปแบบของการคอร์รัปชันจนทำให้มีมิจฉาชีพจับช่องทางและเลียนแบบ

 

อีกหนึ่งผู้ประกอบ เอกราช อุดมอำนวย ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. เขตดอนเมือง เปิดร้านอาหารอีสาน ประเภทยำและส้มตำ เปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่ฝ่ายสิ่งแวดล้อม สำนักงานเขต ขอเงินกับตนโดยตรง เพราะตนเปิดร้านในสามเขตของ กทม. ซึ่งเขาแบ่งเฉดของการคอร์รัปชันเป็น 3 เฉด เฉดขาว เทา และดำ “เฉดขาว เช่น ทำบัตรประชาชน ขายซอง 5 บาท สินน้ำใจ แต่เฉดที่ผมเจอจะเป็นเฉดเทา ก็คือเรียกเลย เจ้าหน้าที่สองเขตนี่ไม่ทำอะไรเลย เรียกเงินอย่างเดียว ไม่เหมือนเขตพญาไท ดีก็ดีเลย ทำตามระเบียบ”

 

นอกจากนี้เอกราชยังได้เผยเพิ่มเติมต่อไปอีกว่า “กระบวนการขอใบอนุญาตร้านอาหารไม่ควรให้ดุลยพินิจเจ้าหน้าที่อย่างเดียว มันทำให้เกิดช่องว่าง กระบวนการร้านอาหารต้องผ่านการอบรมและตรวจโรค พอจบก็จะตรวจสาธารณูปโภคภายในร้าน ทุกคนไม่ปฏิเสธตรงนี้ แต่พอเราให้ดุลยพินิจกับเจ้าหน้าที่ มันก็มีโอกาสถูกรีดไถ”

 

หลังจากแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของผู้ประกอบการ วิโรจน์ยืนยันว่าหากได้รับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯ กทม. พร้อมที่จะปราบส่วยด้วยนโยบาย 3 ข้อ ดังนี้

 

ข้อแรก วิโรจน์เสนอการสร้างแพลตฟอร์ม เพื่อให้ง่ายต่อการร้องเรียนและนำเสนอข้อมูลอย่างเปิดเผยและมีการตรวจสอบ ยกตัวอย่าง เว็บไซต์เจอส่วยแจ้งผู้ว่าฯ กทม. โดยกล่าวว่า “การมีแพลตฟอร์มในการรวบรวมหลักฐาน ระบุการกระทำความผิด จะช่วยตรวจสอบและให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ต้องดูว่าจริงหรือไม่ หากจริงต้องดำเนินการเอาผิด และไม่สามารถเลือกปฏิบัติได้ แพลตฟอร์มจะต้องเป็นตัวช่วยเชื่อมประชาชนและผู้ว่าฯ กทม.”

 

ข้อสอง วิโรจน์ชูกลไกการตรวจสอบต้องโปร่งใส โดยเฉพาะเรื่องของจัดซื้อจัดจ้าง “เราต้องสร้างกลไกความโปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้าง การจะทำให้คนอื่นสะอาด ตัวเองต้องสะอาดก่อน จะต้องมีการนำเอาโครงการที่มีมูลค่าสูงทั้งหมดที่มีมาเปิดเผยผ่านเว็บไซต์ เชิญองค์กรที่อยากตรวจสอบมาตรวจสอบ หากพบความไม่ชอบมาพากลหรือข้อสงสัยก็สามารถส่งข้อมูล คำถามเพื่อการตรวจสอบได้”

 

วิโรจน์ยืนยันว่า การป้องกันการคอร์รัปชันที่ดีที่สุดคือความโปร่งใส ไม่ใช่การอวดอ้างว่าตัวเองเป็นคนดี และใช้การเป็นคนดีที่ตนอุปโลกน์ เป็นเกราะป้องกันการตรวจสอบตนและครอบครัวของตน อย่างนี้ตนเรียกว่าเป็นกระบวนการจอมปลอมที่ไม่สามารถแก้ไขคอร์รัปชันได้

 

และข้อสุดท้าย วิโรจน์ยกตัวอย่างงบกลางในมือผู้ว่าฯ กทม. ที่เพิ่มสูงขึ้นถึง 7 พันล้านบาทในระยะเวลาไม่กี่ปี นั่นทำให้มีช่องว่างในการคอร์รัปชันกับโครงการใหญ่ๆ

 

“ผมตั้งคำถามว่า เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าเงินที่เพิ่มมา 7 พันล้านบาท ผู้ว่าฯ กทม. ไม่ได้รับโทรศัพท์จากคนอื่นๆ เจรจาแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ หากผมเป็นผู้ว่าฯ กทม. จะไม่มีงบกลางในมือเกินจำเป็น แต่จัดสรรให้กับประชาชนผ่านโครงการที่เสนอโดยภาคประชาชนเอง เหมือนที่เมืองหลวงเอกของโลกอย่างปารีส ลอนดอนทำ คือการทำงบประมาณแบบให้ประชาชนมีส่วนร่วม ผมขอย้ำว่ากรุงเทพฯ คือผู้คน ไม่ใช่ทัศนียภาพหรือสิ่งปลูกสร้าง กทม. ต้องเชื่อมโยงกับความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ปากท้องที่ดีขึ้น ไม่ต้องเป็นเมืองติดอันดับโลก แต่ทำให้คนกรุงเทพฯ มีชีวิตอยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรี นี่คือกรุงเทพฯ ที่ควรจะเป็น”

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising