×

วิโรจน์สงสัยเอกสารสัญญาให้ทุนสยามไบโอไซเอนซ์ 600 ล้านบาท ไม่ระบุส่งมอบวัคซีนให้ไทยก่อน ขัดแย้งหนังสือคณะกรรมการกลั่นกรองขอเงินกู้ไปใช้

โดย THE STANDARD TEAM
04.08.2021
  • LOADING...
siambioscience

วานนี้ (3 สิงหาคม) วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เเถลงข่าวต่อสื่อมวลชนประเด็นเอกสารสัญญาให้งบประมาณสนับสนุน 600 ล้านบาท ระหว่างรัฐบาลไทย-บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด โดยกล่าวว่า จากข้อมูลเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2564 เว็บไซต์สำนักสารนิเทศสำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข ระบุถึงยอดการรับมอบวัคซีน AstraZeneca จากบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด และยอดที่ได้รับมาจากเเหล่งอื่นๆ ณ วันที่ 16 กรกฎาคม 2564 จำนวนทั้งสิ้น 8,193,500 โดส โดยจำนวนนี้เป็นการรวมเอายอดที่ประเทศญี่ปุ่นบริจาคให้ไว้เเล้ว แต่หากไม่รวมวัคซีนที่บริจาคจากประเทศญี่ปุ่น จำนวนวัคซีนที่รัฐบาลได้รับคือ 7,140,500 โดส โดยยอดการรับบริจาคจากญี่ปุ่นมี 2,704,100 โดส (ยอด ณ วันที่ 16 กรกฎาคม 2564)

 

ทั้งนี้ จากข่าวเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2564 ทางบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด ได้มีการชี้แจงโดยกล่าวถึงข้อจำกัดในเรื่องของการขาดเเคลนวัตถุดิบที่จะทำให้สามารถส่งมอบวัคซีนให้กับรัฐบาลไทยได้เพียงประมาณ 5-6 ล้านโดสต่อเดือน นอกจากนี้ยังระบุว่า บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด ได้มีการส่งมอบวัคซีนให้กับกระทรวงสาธารณสุขหรือรัฐบาลไทยไปเเล้ว 9,000,000 โดส อย่างไรก็ตาม ยอดนี้มีข้อสังเกตว่าผลิตโดยบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ทั้งหมด หรือเป็นยอดที่นับรวมกับยอดที่ได้รับบริจาคจากประเทศญี่ปุ่นไปด้วย ซึ่งหาก 9,000,000 โดส เป็นยอดที่ได้รับการผลิตมาจากบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด เท่านั้น ณ วันที่ 24 กรกฎาคม ก็หมายถึงว่ามีการส่งมอบวัคซีน AstraZeneca เพิ่มเติมอีก 1,895,900 โดส และจากข่าวล่าสุดเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม ทางบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด ได้ชี้แจงเเละระบุว่า ได้ส่งมอบวัคซีนอีก 2.3 ล้านโดสเสร็จสิ้นเเล้วในเดือนกรกฎาคม

 

“เท่ากับว่ารัฐบาลไทยหรือกระทรวงสาธารณสุขได้รับมอบวัคซีนจากบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด เดือนกรกฎาคม ทั้งสิ้น 5,810,600 โดส แต่ถ้าในจำนวนนี้มีวัคซีนที่ได้รับบริจาคจากประเทศญี่ปุ่นที่ประมาณ 1 ล้านโดสเศษ จะเท่ากับว่าได้รับวัคซีนที่ผลิตโดยบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ที่ส่งต่อมาจากบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด จำนวน 4,757,600 โดส หรือยอดเคลื่อนไหวอยู่ระหว่างประมาณ 5-6 ล้านโดส อย่างไรก็ตาม ยอดการส่งมอบวัคซีนในเดือนกรกฎาคมไม่ถึง 10 ล้านโดสเเน่นอน ตัวเลขทั้งหมดนี้เป็นการประเมินเพียงคร่าวๆ จากข่าวที่ปรากฏเท่านั้น เหตุผลเพราะในปัจจุบันนี้ระบบติดตามการตรวจสอบย้อนกลับโซ่ความเย็นวัคซีนโควิดที่พัฒนาโดยกระทรวงการอุดมศึกษาฯ ได้ปิดไม่ให้ประชาชนทั่วไปเข้าไปติดตามข้อมูลการตรวจสอบส่งมอบวัคซีนและข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับสต๊อกวัคซีน จึงไม่สามารถตรวจสอบได้ ข้อมูลการส่งมอบยังคงต้องติดตามจากข่าวที่รายงานจากสื่อมวลชนเป็นหลัก” วิโรจน์กล่าว

 

วิโรจน์กล่าวต่อไปว่า เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม โฆษกรัฐบาลได้ชี้เเจงผ่านรายการ แจงให้เคลียร์ โดยชี้เเจงชัดว่า บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด เป็นเพียงบริษัทที่รับจ้างผลิตวัคซีนให้กับบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด เท่านั้น เเละระบุว่า รัฐบาลไม่มีอำนาจไปบังคับให้มีการส่งมอบวัคซีนที่มีการผลิตโดยบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ให้กับประชาชนคนไทยก่อน ในประเด็นนี้ตนคิดว่าประชาชนต้องตั้งข้อสังเกตเเละหาคำตอบร่วมกัน รวมถึงต้องกดดันให้รัฐบาลออกมาชี้เเจงเรื่องนี้ให้มีความชัดเจนกว่านี้

 

“ในสัญญาจองวัคซีนล่วงหน้า 26 ล้านโดส หากไปดูในภาคผนวกหรือ Appendix A ในส่วนของวัตถุประสงค์หรือ Objective จะปรากฏชื่อของบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ในสัญญาฉบับนี้ชัดเจน โดยระบุอยู่ในส่วนที่เรียกว่าวัตถุประสงค์เฉพาะเจาะจงในข้อที่ 1. ซึ่งระบุเกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมในด้านขีดความสามารถและกำลังการผลิตวัคซีนของบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด นั่นหมายความว่า สยามไบโอไซเอนซ์เป็นเงื่อนไขเเละข้อผูกพันที่อยู่ในสัญญาที่ทำระหว่างกระทรวงสาธารณสุขหรือรัฐบาลไทยกับบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด” 

 

วิโรจน์กล่าวต่อไปว่า ขอยืนยันว่าบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ไม่ได้เป็นอิสระ สัญญาระหว่างรัฐบาลไทยเเละบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด และต้องย้อนกลับไปดูว่าเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2563 ตามหนังสือที่ นร.106/คนกง. ระบุว่า การพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ในคราวประชุมครั้งที่ 17/2563 ถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาการอุดหนุนเงินเพื่อเพิ่มศักยภาพอุตสาหกรรมการผลิตวัคซีนชนิดไวรัลเวกเตอร์ให้กับบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ในหนังสือฉบับดังกล่าวมีเนื้อความที่เป็นเงื่อนไขในการอุดหนุนบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด อย่างชัดเจนว่า “เพื่อให้ประเทศไทยได้รับสิทธิ์ในการจัดซื้อวัคซีนที่ผลิตโดยผู้ผลิตในไทยเป็นอันดับแรกตามจำนวนที่ต้องการ และมีเงื่อนไขที่จะจำกัดการส่งออกได้ด้วย และเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม ได้มีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) อุดหนุนวงเงินดังกล่าวนี้ เพื่ออุดหนุนบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด”

 

วิโรจน์ย้ำว่า เมื่อมีการระบุไว้ในหนังสือเช่นนี้ ประชาชนจึงต้องร่วมกันตั้งคำถามว่าเหตุใดรัฐบาลไทยจึงไม่สามารถจำกัดสิทธิการส่งออกและขอใช้สิทธิในการซื้อวัคซีนที่ผลิตโดยบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด จากบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด ได้ก่อน ตามเงื่อนไขที่ได้อุดหนุนเงิน 600 ล้านบาทที่เป็นเงินแผ่นดินเเละเป็นเงินภาษีประชาชน ในการพัฒนาการผลิตวัคซีนไวรัลเวกเตอร์ให้กับบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด และประชาชนควรตั้งคำถามว่าเงื่อนไขดังกล่าวนี้ คือเงื่อนไขในการจำกัดสิทธิการส่งออกเเละเงื่อนไขในการสั่งซื้อวัคซีนได้ตามที่ต้องการเป็นอันดับแรกหรือไม่มีข้อความนี้ระบุเอาไว้ในสัญญา ถ้าข้อสังเกตนี้เป็นจริงว่าไม่มีข้อความนี้ในเงื่อนไขสัญญา ก็ต้องตั้งคำถามต่อไปยังรัฐบาลว่า รัฐบาลอุดหนุนวงเงิน 600 ล้านบาท ซึ่งมีการเบิกใช้จริง 596.23 ล้านบาท ให้กับบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ได้อย่างไร และสัญญารับทุนอุดหนุนโครงการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการผลิตวัคซีนโควิด ที่มีการลงนามในวันที่ 18 ธันวาคม 2563 ลงนามไปได้อย่างไร เพราะการอนุมัติเงินสนับสนุนอยู่ภายใต้เงื่อนไขนี้เเละมติ ครม. ที่อนุมัติก็ทำภายใต้เงื่อนไขนี้

 

“วันนี้พรรคก้าวไกลจะเปิดสัญญารับทุนอุดหนุนโครงการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการผลิตวัคซีนโควิดให้กับบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด เท่าที่ได้อ่านในสัญญา เนื้อความไม่มีเงื่อนไขใดที่ระบุว่าวัคซีนที่ผลิตโดยบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด และการส่งมอบต่อให้กับบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด จะต้องส่งมอบให้กับรัฐบาลไทยหรือกระทรวงสาธารณสุขก่อน หรือต้องส่งมอบตามที่กระทรวงสาธารณสุขเเจ้งตามตัวเลขที่ได้รับสิทธิ์ในการสั่งซื้อเป็นอันดับแรกก่อน สัญญารับทุนอุดหนุนไม่มีข้อความนี้ อาจจะอยู่ในข้อความสัญญาที่ถมดำหรืออยู่ในส่วนใดก็ได้ แต่รัฐบาลจะต้องมีหน้าชี้เเจงว่าข้อความนี้คือเงื่อนไขการจำกัดการส่งออกและเงื่อนไขในการสั่งซื้อเป็นอันดับเเรกตามความต้องการหรือไม่ ถ้าไม่มี อนุมัติทุนอุดหนุน 600 ล้านบาทให้กับบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ได้อย่างไร ภายใต้เงื่อนไขอะไร”

 

วิโรจน์กล่าวทิ้งท้ายว่า ในวันนี้เรื่องวัคซีนเป็นเรื่องที่มีความสำคัญต่อชีวิตประชาชน โดยประชาชนให้ความสนใจว่าเหตุใดการฉีดวัคซีนจึงยังล่าช้า เเละประชาชนต้องการวัคซีนที่มีคุณภาพ รวมถึงประชาชนก็มีสิทธิ์ที่จะสงสัยว่ากำลังการผลิตของบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด มีความสมบูรณ์อยู่หรือไม่ มีปัญหาหรือไม่ ซึ่งในสัญญารับทุนอุดหนุน ข้อ 8.6 ระบุไว้ชัดเจนว่า ผู้รับทุนยินยอมและอำนวยความสะดวกให้ผู้ให้ทุนหรือผู้ที่ให้ทุนมอบหมายเข้าไปในสถานที่ทำการของผู้รับทุนหรือสถานที่ดำเนินการโครงการได้ในเวลาอันควร เพื่อประโยชน์ในการติดตามเเละประเมินผลงานตามโครงการได้ ดังนั้นภายใต้สัญญาอุดหนุน 600 ล้านบาท และความในข้อ 8.6 จึงคิดว่าท่ามกลางความกังวลของประชาชนเกี่ยวกับการผลิตวัคซีนของบริษัท สยามไบโอโซเอนซ์ จำกัด ที่ส่งมอบได้ไม่ครบ 10 ล้านโดสต่อเดือนเช่นนี้ มีปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบอย่างไร มีปัญหาการผลิตหรือไม่ จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลใช้ ข้อ 8.6 ตามสัญญารับทุน โดยให้ตัวแทนของภาคประชาชน นั่นคือ คณะกรรมาธิการการสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎรเเละสื่อมวลชน เข้าไปติดตามตรวจสอบการผลิตในสถานที่ทำการผลิตของบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ซึ่งจะเป็นความโปร่งใสที่รัฐบาลจะทำให้ประชาชนมีความสบายใจขึ้นมาได้

 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising