×

วิโรจน์ เดินตลาด-สำรวจโรงไฟฟ้าขยะอ่อนนุช ชี้สิ่งแรกที่ควรทำ คือแก้ปัญหาที่ประชาชนไม่สามารถแก้ด้วยตัวเอง

โดย THE STANDARD TEAM
07.04.2022
  • LOADING...
วิโรจน์ เดินตลาด-สำรวจโรงไฟฟ้าขยะอ่อนนุช ชี้สิ่งแรกที่ควรทำ คือแก้ปัญหาที่ประชาชนไม่สามารถแก้ด้วยตัวเอง

วันนี้ (7 เมษายน) วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) พรรคก้าวไกล เดินทางไปยังหมู่บ้านอิมพีเรียล พาร์ค ถนนเฉลิมพระเกียรติ ร.9 ซอย 67 พื้นที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างโรงไฟฟ้ากำจัดขยะของ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด โดยเฉพาะเรื่องมลพิษทางกลิ่นที่เหม็นรบกวนความเป็นอยู่ของประชาชนอย่างรุนแรง และกระจายไปไกลในรัศมีกว่า 5 กิโลเมตร มีหมู่บ้านได้รับผลกระทบกว่า 30 หมู่บ้าน ล่าสุด มีคำสั่งจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ให้สั่งพักใบอนุญาตประกอบกิจการผลิตไฟฟ้าของ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด เนื่องจากบริษัทไม่ปฏิบัติตาม Code of Practice: CoP สำหรับการใช้ก๊าซชีวภาพเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าให้ครบถ้วน โดยเฉพาะการจัดการเชื้อเพลิงขยะชุมชน จนส่งผลให้เกิดปัญหากลิ่นเน่าเหม็นต่อชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียง 

 

วิโรจน์กล่าวว่า แม้มีคำสั่งดังกล่าวออกมา แต่ไม่ได้หมายความว่าการดำเนินกิจกรรมในโรงไฟฟ้าขยะแห่งนี้จะยุติลง ในทางกลับกันอาจเอื้อให้โรงไฟฟ้าขยะกลายเป็นที่พักขยะ เพื่อส่งต่อไปฝังกลบในบ่อขยะในพื้นที่อื่น รวมถึงบ่อใหญ่ในจังหวัดข้างเคียง หมายความว่า กรุงเทพมหานครอาจต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นอีก 800 บาทต่อตัน และหากการกำจัดขยะโดยเปลี่ยนเป็นพลังงานทำไม่สำเร็จตามเป้าหมายที่ต้องการลดการฝังกลบ จากเดิมร้อยละ 80 ให้เหลือร้อยละ 30 ปัญหาขยะแบบเดิมๆ ก็จะยังอยู่กับกรุงเทพฯ ต่อไป 

 

วิโรจน์กล่าวต่อไปว่า ปัญหากลิ่นของโรงไฟฟ้าแห่งนี้ ไม่ได้เกิดจากปัญหาขยะจำนวนมากถูกพักไว้แล้วเกิดกลิ่นเหม็น แต่กลิ่นที่รุนแรงขนาดนี้ สันนิษฐานว่าน่าจะเกิดจากกระบวนการหมักของขยะ เพื่อเตรียมเปลี่ยนเป็น Refuse Derived Fuel (RDF) หรือเชื้อเพลิงขยะ ซึ่งเดิมออกแบบไว้เป็นระบบปิด แต่จากการตรวจสอบของกรมโรงงานพบว่า ระบบบำบัดกลิ่นเสีย ทำให้เกิดกลิ่นที่รุนแรงจนต้องเปิดระบายออกมา สร้างปัญหาให้พื้นที่รอบข้างและนำไปสู่การร้องเรียนต่างๆ

 

หลังการพบปะรับฟังปัญหาจากประชาชนในพื้นที่ วิโรจน์รุดไปพูดคุยกับพนักงานที่ทำงานในโรงไฟฟ้าขยะโดยตรง เพื่อสอบถามถึงความคืบหน้าในการซ่อมระบบบำบัดกลิ่นที่เสีย และรูปแบบการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าขยะ หลังมีคำสั่งจาก กกพ. สั่งพักใบอนุญาตประกอบกิจการผลิตไฟฟ้า ว่ายังมีการดำเนินการต่อไปหรือไม่ ซึ่งได้รับคำตอบว่า คำสั่งดังกล่าวเป็นเพียงการยุติการขายไฟฟ้าเท่านั้น แต่การดำเนินการหมักเพื่อแปลงขยะเป็น RDF ยังมีอยู่ โดยลดปริมาณลง อย่างไรก็ตาม การรับขยะเข้ามาวันละ 800 ตัน ยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง และยอมรับว่าหากกระบวนการเปลี่ยนขยะเป็นพลังงานหยุดชะงัก ก็เป็นไปได้ที่จะต้องนำไปสู่กระบวนการฝังกลบ ส่วนการซ่อมระบบบำบัดกลิ่นจะเสร็จสิ้นภายในเดือนเมษายนนี้

 

ต่อมา วิโรจน์พร้อมด้วยทีมผู้สมัครสมาชิกสภากรุงเทพมหารคร (ส.ก.) เขตห้วยขวาง ได้เดินหาเสียงในตลาดห้วยขวาง เพื่อพบปะพูดคุยกับพ่อค้าแม่ค้าและพี่น้องประชาชนที่มาจับจ่ายซื้อของ

 

“หลายคนถามว่า หากได้เป็นผู้ว่าฯ กทม. จะแก้ปัญหาอะไรก่อน สิ่งที่จะต้องทำก่อนคือ การแก้ปัญหาที่ประชาชนฝากอำนาจไว้กับเรา และเป็นปัญหาที่ประชาชนไม่สามารถแก้ไขด้วยตนเองได้ เช่น ปัญหาโรงไฟฟ้าขยะอ่อนนุชส่งกลิ่นเหม็น หรือการเปิดเผยสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว หรือการแก้ปัญหาไซต์ก่อสร้างต่างๆ ที่บดบังผิวจราจรหรือทางเท้า ทำให้เกิดอุบัติเหตุบ่อย ปัญหาเหล่านี้จะต้องไปเคลียร์กับนายทุนผู้รับเหมา ซึ่งประชาชนแก้ไขเองไม่ได้ และหวังว่าผู้ว่าฯ กทม. ที่เขาฝากอำนาจให้จะมาแก้ตรงนี้ ตรงนี้คือจุดที่ผมชัดเจนที่สุด” วิโรจน์กล่าว

 

นอกจากนี้ วิโรจน์ยังกล่าวว่า การบริหารเมืองไม่ใช่การบริหารบริษัทเอกชน จำเป็นต้องบริหารระเบียบและกำกับให้เป็นธรรมด้วย หากระเบียบที่จัดการโดยเมืองไม่เป็นธรรม จะไม่ทำให้เกิดแรงจูงใจต่อคนตัวใหญ่หรือนายทุน ให้มาช่วยเมืองในการพัฒนาหรือโอบรับคนตัวเล็กหรือกลาง เพื่อทำให้เมืองนี้เป็นเมืองที่อยู่อย่างผาสุกร่วมกัน

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising