×

วิโรจน์อัดงบกระทรวงศึกษาฯ คือกะลาใบเก่า รัฐบาลยิ่งอยู่ ยิ่งเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

โดย THE STANDARD TEAM
03.07.2020
  • LOADING...

เมื่อวานนี้ (2 กรกฎาคม) ที่รัฐสภา วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 วิโรจน์ได้อภิปรายถึงงบการศึกษา โดยระบุว่าการศึกษาในโลกยุคปัจจุบันไม่ใช่แค่การถ่ายทอดเรื่องที่คนรุ่นหนึ่งรู้ คนรุ่นหนึ่งเชื่อ เพื่อให้คนอีกรุ่นหนึ่งรู้และเชื่อตามๆ กันอีกต่อไป แต่เป็นกลไกในการพัฒนาคนให้แต่ละคนมีคุณค่าในตนเองที่แตกต่างหลากหลายเพื่อรองรับกับสภาพสังคมในโลกอนาคต

 

วิโรจน์กล่าวต่อว่า ผลการศึกษาไทยจากผลการทดสอบ PISA ที่ประเมินคุณภาพของระบบการศึกษาของประเทศต่างๆ ทั่วโลก พบว่าทั้ง 3 วิชาทั้งทักษะการอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ของประเทศไทยนั้นอยู่ในกลุ่มรั้งท้ายของโลกมาโดยตลอด เมื่อเทียบกับสิงคโปร์และเวียดนามก็ยืนยันได้ว่าการศึกษาของประเทศไทยคะแนนต่ำติดพื้น และเป็นฐานให้กับทั้งเวียดนามและสิงคโปร์แบบที่ไม่เห็นสัญญาณว่าจะโงหัวขึ้นมาได้

 

“ถ้าเราปล่อยให้รัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จัดงบประมาณทางการศึกษาแบบนี้ต่อไป ไม่มีทางที่จะพัฒนาเด็กไทยให้เติบโตขึ้นมาเป็นพลเมืองที่มีความสามารถในการแข่งขันและร่วมมือกับพลโลกจากนานาอารยประเทศได้เลย เทียบกับคนอื่นว่าช้ำแล้ว ถ้าเทียบกับตัวเองแล้วยิ่งช้ำ เขามีแต่ยิ่งเรียนแล้วยิ่งดีขึ้น แต่การศึกษาไทยมีแต่จะสาละวันเตี้ยลง นี่คือระบบการศึกษาแบบมูนวอล์ก ลีลาเหมือนจะเดินไปข้างหน้า แต่พอเปรียบเทียบกับคนอื่นกลับเดินถอยหลังอยู่ตลอดเวลา”

 

วิโรจน์กล่าวต่อว่า จากสถิติเด็กยากจนที่อยู่ในกลุ่มล่างที่มีทั้งทักษะการอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ อยู่ในเกณฑ์ที่สามารถประสบความสำเร็จในชีวิตได้ ในประเทศสิงคโปร์ เด็กยากจน 100 คน มีเด็กที่มีทักษะที่แข่งกับโลกนี้ได้ถึง 43 คน เวียดนามเด็กยากจน 100 คน มีช้างเผือกที่มีโอกาสหลุดพันจากความยากจนอยู่ถึง 30 คน ในขณะที่การศึกษาของประเทศไทย เด็กยากจน 100 คน จะมีเพียง 4 คน เท่านั้นที่มีโอกาสหลุดพ้นจากความยากจน ซึ่งถ้าการศึกษาไทยยังคงเหลื่อมล้ำแบบนี้ เด็กยากจน 100 คนก็จะเติบโตพขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ที่ยากจนต่อไป

 

“อย่าไปคิดว่าชีวิตจะเหมือนกับละครหลังข่าวที่หวังว่าจะได้แต่งงานกับลูกคนรวย มีชีวิตที่สุขสบาย ความจริงไม่มีหรอกนะครับ คนจนก็ได้กับคนจน มีลูก ลูกก็จน ลูกจนได้กับลูกจนก็เกิดหลานจน หลานจนได้กับหลานจน กลับชาติมาเกิดก็ยังจน เอาแค่ 3 เจเนอเรชัน จากเด็กยากจน 100 คนก็จะเบ่งบานกลายเป็นคนจน 182 คน นี่ไม่ใช่การปฏิรูปประเทศ แต่เป็นสารรูปประเทศตามแผนยุทธศาสตร์มัดตราสังชาติ 20 ปี”

 

วิโรจน์กล่าวต่อว่าประเทศสิงคโปร์จำนวนเด็กลดลง แต่เขามองว่านี่คือโอกาสที่จะปรับปรุงคุณภาพทางการศึกษาและทุ่มงบประมาณไปที่เด็กยากจนเพื่อแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ เหมือนกับครอบครัวที่มีลูกน้อยลงก็สามารถทุ่มงบประมาณในการพัฒนาลูกได้อย่างเต็มที่มากขึ้น แต่ประเทศไทยของเราคิดสวนทาง เราปรับลดงบประมาณลงตามจำนวนเด็กที่ลดลงเพื่อคงความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาให้ดำรงอยู่ต่อไป

 

“เด็กที่เรียนอยู่ในชั้นอนุบาล 1 ถึง ม.3 ในประเทศไทยที่มีอยู่ 4.9 ล้านคน ในจำนวนนี้มีเด็กยากจนอยู่ถึง 1.64 ล้านคน และใน 1.64 ล้านคนมีเด็กที่อยู่ในกลุ่มยากจนพิเศษที่ผู้ปกครองมีรายได้ต่ำกว่าเดือนละ 3,000 บาทอยู่ถึง 7 แสนคน ซึ่งเสี่ยงที่จะหลุดออกจากระบบการศึกษา ยิ่งเจอกับปัญหาการระบาดของโควิด-19 มีการประเมินกันว่าเด็กอาจจะหลุดจากระบบการศึกษาเพิ่มมากขึ้น แทนที่รัฐบาลจะเพิ่มการอุดหนุนเพิ่มขึ้น กลับไปตัดงบประมาณซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำ แล้วกลับไปเพิ่มงบกลางที่ พล.อ. ประยุทธ์ สามารถเซ็นได้คนเดียว นายกฯ ทอดทิ้งเด็กกลุ่มนี้ได้อย่างไรครับ และมีคนบอกว่าประเทศเรากำลังจะล้ำ ผมก็คิดว่าเลิศล้ำ ที่ไหนได้ เหลื่อมล้ำ…”

 

วิโรจน์กล่าวต่ออีกว่าเด็กที่เติบโตขึ้นมาเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพจะสร้างรายได้และเป็นกำลังการบริโภคให้กับประเทศ ซึ่งจะเหนี่ยวนำการลงทุนภาคเอกชนต่างๆ ตามมาอีกมากมาย แต่ถ้าเด็กเติบโตขึ้นมาอย่างไม่มีคุณภาพโดยที่รัฐไม่เหลียวแล เด็กกลุ่มนี้ก็ยังต้องอยู่กับแผ่นดินนี้ต่อไปจนลมหายใจสุดท้าย และในงบปี 2564 ที่ประโคมข่าวเรื่อง Coding และ STEM Education ที่จะพลิกการศึกษาไทยสู่อนาคต 4.0 ซึ่งมีงบประมาณอยู่แค่ 124.6 ล้านบาท อีกทั้งยังเป็นโครงการลูบหน้าปาดจมูก ซึ่งมีแต่งบประมาณ ประเภทที่เป็นโครงการรณรงค์ประชุมสัมมนาต่างๆ ที่ดึงครูออกนอกห้องเรียน และเป็นโครงการที่มีแต่จะสร้างภาระงานธุรการให้กับครู และงบประมาณโครงการเหล่านี้สูงถึง 5,818 ล้านบาท

 

“ปีการศึกษาหนึ่งมี 200 วัน ครูต้องทิ้งห้องเรียนเพราะโครงการจำพวกนี้ถึง 84 วัน การที่รัฐบาลจัดงบทางการศึกษาแบบนี้คือการทำให้เด็กสูญเปล่าทางการศึกษา สนับสนุนให้ครูทิ้งห้องเรียน และเอาเด็กเป็นปาหี่ทางการศึกษาเท่านั้นเอง 5,818 ล้านบาท ถ้าเอามาดูแลอาหารกลางวันให้กับเด็กนักเรียน จากวันละ 20 บาทเป็น 23 บาท ก็จะใช้งบเพียง 3,960 ล้านบาท ถ้าเอามาจัดรถรับส่งนักเรียนเพื่อให้นักเรียนในชุมชนบ้านห่างทางไกลที่มีอยู่ประมาณ 1 ล้านคนสามารถเข้าถึงโรงเรียนที่มีคุณภาพที่สามารถเติมเต็มความฝันของพวกเขาได้ นี่ให้เงินแค่ 4,000 ล้านบาท ทำไมรัฐบาลนี้ถึงไม่สามารถสร้างชีวิตที่ดีให้กับนักเรียนได้เลย เราเอาเงินที่จะสร้างภาระงานธุรการให้กับครูมาใช้ในการปรับปรุงคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับนักเรียนจะไม่ดีกว่าหรือครับ

 

“จากการระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา กระทรวงศึกษาธิการมีการเลื่อนเปิดเทอมไปเป็นวันที่ 1 กรกฎาคม ผมก็คิดว่าจะมีการเตรียมการปรับสภาพโรงเรียน ติดตั้งอ่างล้างมือเพิ่มเติม จัดทำฉากกั้นระหว่างโต๊ะเรียน จัดซื้อเครื่องตรวจวัดอุณหภูมิและเจลแอลกอฮอล์ต่างๆ เพื่อป้องกันการระบาดของโรค ซึ่งก็ปรากฏว่ามี แต่ไม่มีงบประมาณให้ ให้โรงเรียนไปกระเบียดกระเสียร เบียดบังเอางบกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนที่มีอยู่แค่หัวละ 100-200 บาทมาใช้ การศึกษาไทยไม่เคยปรับปรุงคุณภาพชีวิตของเด็กเลย ต่อให้หลักสูตรดีอย่างไรก็เรียนไม่รู้เรื่อง ถ้าคุณภาพชีวิตของเด็กไม่ดี เราต้องเชื่อว่าถ้าเด็กอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี กินอิ่มนอนหลับ ได้รับความเอาใจใส่ พัฒนาการจะเกิดได้ด้วยตัวเขาเอง

 

“นี่สะท้อนชัดครับว่าการเลื่อนเปิดเทอมนั้น กระทรวงศึกษาธิการไม่ได้เลื่อนเพื่อเด็ก แต่เลื่อนเพราะไม่อยากจะรับผิดชอบในการดูแลเด็กก็เท่านั้นเอง เด็กจะติดที่อื่นไม่ว่า แต่อย่ามาติดที่โรงเรียน ผมถามครับว่าสำหรับเด็กที่พ่อแม่ต้องไปทำงานทั้งคู่ การปล่อยให้เด็กเหล่านี้วิ่งเล่นปะปนกัน ผมว่าเสี่ยงกว่าการให้เด็กเหล่านี้มาโรงเรียนแล้วมีครูคอยเป็นหูเป็นตาแน่ๆ กระทรวงศึกษาธิการต้องเลิกจำกัดบทบาทในการพัฒนาคนไว้เฉพาะในอาณาเขตโรงเรียนได้แล้ว เด็กหนึ่งคนไม่ว่าเขาจะอยู่ในหรือนอกโรงเรียน ล้วนเป็นหน้าที่ของกระทรวงศึกษาธิการที่ต้องดูแลเด็กเหล่านี้ทั้งสิ้น

 

“งบประมาณทางการศึกษาในปี 2564 ยังคงเป็นระบบการศึกษาแบบเก่า ที่เราทำกันอยู่นี่ไม่ได้เรียกว่า ‘สอน’ แต่เป็นการ ‘หลอน’ ที่พยายามทำให้เด็กทุกๆ คนเป็นเหมือนๆ กัน กดให้เด็กยอมทำตามคำสั่ง เป็นระบบให้นายทุนใช้เลือกคนไปเป็นแรงงาน เรียนมากแต่รู้น้อย รู้น้อยแต่สอบมาก พอสอบมากได้ผลน้อย พอได้ผลน้อยก็เลยวนกลับไปเรียนเพิ่มอีก วนเวียนเป็นวงจรอุบาทว์ของการศึกษาไทยที่จ่ายเงินครบก็จบแน่ เอาก้นมานั่งแช่ก็ได้ใบ แต่ไม่อาจสร้างทักษะที่จำเป็นให้กับเด็กไทยได้เลย ซึ่งทั่วโลกเขาสอนให้เด็กเป็นเจ้านายตัวเอง แต่เรายังคงหลอนให้เด็กเป็นเจ้าคนนายคน ทั่วโลกเขาพยายามสร้างสตาร์ทอัพ สร้างผู้ประกอบการ ส่วนของเรายังคงจมปลักกับภาษิต สิบพ่อค้าไม่เท่าหนึ่งพระยาเลี้ยง

 

“นี่ไม่ใช่ New Normal แต่เป็น Very Old Coconut Shell หรือกะลาใบเก่าๆ ใบเดิม งบประมาณปี 2564 นี้มันไม่ใช่งบการศึกษาเพื่อสร้างให้เด็กเติบใหญ่ขึ้นมาเป็นพลโลก แต่เป็นงบที่เอากะลาน้ำแข็งมาครอบเด็กไทย และผมเชื่อว่าถ้าให้ พล.อ. ประยุทธ์ และให้รัฐบาลนี้จัดงบประมาณแบบนี้ต่อไป ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของประเทศในภาพรวมจะยังคงต่ำแบบนี้ต่อไป และยังคงเหลื่อมล้ำอยู่แบบเดิม ซึ่งผมและพรรคก้าวไกลยอมรับกับงบประมาณทางการศึกษาแบบนี้ไม่ได้ และจำเป็นต้องโยนกะลาใบนี้คืนให้กับ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา”

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X