วันนี้ (13 มีนาคม) วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) พรรคก้าวไกล พร้อมด้วย สุประวีณ์ น้อยสุขยิ่ง ว่าที่ผู้สมัครสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) เขตธนบุรี, ทรงวุฒิ จันทร์อำนวยโชค ว่าที่ผู้สมัคร ส.ก. เขตคลองสาน และ เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) กทม. เขต 22 พรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์หลังเยี่ยมเยียนผู้สูงอายุในชุมชนหิรัญรูจี ชุมชนเก่าแก่ย่านฝั่งธนฯ เพื่อสอบถาม พูดคุย และสะท้อนปัญหาด้านสาธารณสุขกับผู้สูงอายุในชุมชนช่วงการระบาดของโควิดและวิกฤตข้าวของแพง
โดยวิโรจน์ระบุว่า เสียงสะท้อนจากชุมชนหิรัญรูจีส่วนใหญ่เป็นประเด็นด้านสาธารณสุข เพราะเป็นชุมชนที่มีผู้สูงอายุจำนวนมาก มีผู้ป่วยติดเตียงที่ต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ
“เราจะต้องมี Care Giver เพื่อดูแลผู้สูงอายุและผู้ป่วยติดเตียง ซึ่งผู้ป่วยติดเตียงส่วนใหญ่มักป่วยหรือมีอาการแทรกซ้อนเป็นโรคปอดอักเสบ นโยบายผู้สูงอายุของผมจะไปให้ไกลกว่าแค่ Care Giver แต่จะสนับสนุนวัคซีน IPD ป้องกันโรคปอดอักเสบด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้ต้องเกิดผู้ป่วยติดเตียงโดยไม่จำเป็น”
ทั้งนี้ นโยบายด้านสาธารณสุขของวิโรจน์เป็นชุดนโยบายเรียกสั้นๆ ว่า 3+1 ซึ่งจะประกอบด้วย
- การสนับสนุน Care Giver เพื่อดูแลผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียงทั่ว กทม.
- สนับสนุนวัคซีนป้องกันปอดอักเสบ (IPD)
- สนับสนุนนโยบายเพิ่มศูนย์กายภาพบำบัด เพิ่มงบประมาณปรับปรุง และเพิ่มปริมาณอุปกรณ์กายภาพบำบัด
และสุดท้ายที่เพิ่มขึ้นมาเป็นออปชันพิเศษก็คือ การแพทย์ทางไกล หรือ Telemed เพราะจากการสำรวจ พูดคุยในหลายๆ เขตทั่ว กทม. รวมทั้งชุมชนหิรัญรูจีในวันนี้พบว่า มีผู้สูงอายุที่อยู่ตามลำพัง ต้องการที่จะได้รับการดูแล ต้องการยา หรือต้องการคำแนะนำทางการแพทย์ แต่ไม่สะดวกเดินทางไปยังโรงพยาบาลหรือศูนย์สุขภาพได้ วิโรจน์จึงเห็นว่า การเพิ่มออปชัน Telemed นอกจากจะช่วยลดปัญหาผู้ป่วยติดเตียงที่ต้องได้รับคำแนะนำต่างๆ จากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ยังช่วยให้ผู้สูงอายุที่อยู่บ้านคนเดียว สามารถเข้าถึงโอกาสทางการแพทย์ได้ง่ายขึ้น
นอกจากนี้วิโรจน์ได้อธิบายให้ผู้สื่อข่าวฟังเพิ่มเติมว่า การใช้งบประมาณสำหรับวัคซีน IPD นั้นน้อยมากราว 50 ล้านบาทเท่านั้น แต่ได้ผลลัพธ์ดีมาก เพราะการป้องกันโรคปอดอักเสบในกลุ่มผู้ป่วยติดเตียงและผู้สูงอายุจะช่วยลดความเสี่ยงและความรุนแรงของโรค ซึ่งโรคนี้มีจำนวนผู้ป่วยเป็นอันดับ 3 ถ้าลดความรุนแรงของโรคได้ จะช่วยลดปัญหาการดูแลผู้ป่วยในครอบครัวอีกด้วย ส่วนการท็อปอัพสวัสดิการผู้สูงอายุก็ต้องทำควบคู่กันไป เพราะเบี้ยคนแก่ 600 บาทไม่เพียงพอสำหรับการใช้จ่ายด้านต่างๆ กทม. มีงบประมาณสำหรับการจัดสรรตรงนี้ โดยนำเงินมาจากภาษีที่ดินที่จะเก็บเพิ่มได้ 1 หมื่นล้านบาทมาจ่ายเป็นสวัสดิการ อุดหนุนทั้งผู้สูงอายุ เด็ก และคนพิการ ให้มีสวัสดิการที่ดียิ่งขึ้น