หมายเหตุ: สารคดีมีฟุตเทจจริงของการใช้ความรุนแรงและการฆาตกรรม
ท่ามกลางวิกฤตอันร้อนระอุเมื่อรัสเซียเริ่มเปิดฉากโจมตียูเครนจนความเสียหายลุกลามเป็นวงกว้างมากขึ้นทุกที สารคดีเรื่อง Winter on Fire: Ukraine’s Fight for Freedom (2015) กำกับโดย Evgeny Afineevsky ที่มีฉายทาง Netflix ถูกหยิบมาพูดถึงอีกครั้ง จากการบันทึกเหตุการณ์ ‘Euromaidan’ เวลากว่า 3 เดือนในช่วงฤดูหนาวปี 2013 จนถึงต้นปี 2014
ช่วงเวลาดังกล่าวประชาชนต่างเดินทางมารวมตัวกันในเมืองเคียฟ จัตุรัสไมดาน เพื่อต่อต้าน วิกเตอร์ ยานูโควิช ประธานาธิบดียูเครนในขณะนั้น ซึ่งอยู่ฝ่ายสนับสนุนรัสเซีย หลังจากที่เขาหักหลังประชาชนด้วยการไม่เซ็นลงนามข้อตกลงการค้าเสรีกับสหภาพยุโรป
สารคดีไม่ได้เจาะลึกรายละเอียดในแง่ว่าประเทศใดเป็นฝ่ายได้ฝ่ายเสียจากการเข้าร่วมสหภาพยุโรปของยูเครน หรือผู้นำคนไหนวางหมากเดินเกมได้ชาญฉลาดอย่างไร แต่เพียงนำเสนอช่วงเวลาในการต่อสู้ของภาคประชาชนที่ออกมาปกป้องอิสรภาพและอนาคตของลูกหลาน เพื่อนร่วมชาติ และประเทศชาติของพวกเขา
“ยูเครนคือส่วนหนึ่งของยุโรป” เสียงตะโกนดังขึ้นเรื่อยๆ จากผู้คนที่หลั่งไหลเข้ามาชุมนุม เพียงไม่นานหลังจากนั้นตำรวจก็เริ่มปราบปรามฝูงชนด้วยแก๊สน้ำตาและอาวุธอย่างรุนแรงจนเกิดความโกลาหลไปทั่วบริเวณ
“ตำรวจบอกว่า ‘สำนึกไว้ว่าไม่ได้ถูกจับก็บุญแล้ว’ คำขวัญที่ว่าตำรวจอยู่ข้างประชาชนไม่เป็นความจริง เพราะพวกเขาอยู่ข้างประธานาธิบดีห่วยแตก มีพวกสารเลวอยู่ในกลุ่มตำรวจ ผมไม่แปลกใจเลยที่ประธานาธิบดีของเราเป็นคนแบบยานูโควิช”
ชายคนหนึ่งให้สัมภาษณ์หลังจากถูกตำรวจทำร้ายร่างกายในคืนหนึ่งของการประท้วง ชาวยูเครนจึงยิ่งโกรธเคืองและพากันออกมาเดินขบวนกันจำนวนนับล้านคน แต่กองกำลังพิเศษเบอร์คุตและอันธพาลติตูชกีจากฝ่ายรัฐบาลกลับยกระดับความรุนแรง ด้วยการใช้ระเบิดเผาอาคาร และใช้กระสุนจริงยิงประชาชน นักบวช ทีมแพทย์พยาบาล ผู้ที่เข้าไปช่วยเหลือคนบาดเจ็บ อันถือเป็นการกระทำที่ไร้มนุษยธรรมอย่างยิ่ง
93 วันในไมดาน ตั้งแต่ฤดูหนาวเดือนพฤศจิกายนปี 2013 ข้ามผ่านปีใหม่เข้าสู่เดือนกุมภาพันธ์ปี 2014 องค์กรสิทธิมนุษยชนรายงานว่ามีผู้ถูกฆ่า 125 คน ผู้สูญหาย 65 คน และผู้เข้ารับการรักษาอาการบาดเจ็บอีก 1,890 คน
กระนั้นคนจำนวนมากก็ยังปักหลักอยู่ที่นั่นและตอบโต้กลับเท่าที่จะทำได้ โดยยืนกรานว่าพวกเขาจะเรียกร้องเพื่ออิสรภาพต่อไป จนในที่สุดชัยชนะก็เป็นของประชาชน เมื่อยานูโควิชยอมลงจากตำแหน่ง ก่อนหลบหนีไปยังรัสเซียโดยความช่วยเหลือของวลาดิเมียร์ ปูติน จากนั้นยูเครนจึงได้เลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่ และมีการเซ็นข้อตกลงกับสหภาพยุโรปในเวลาถัดมา
สารคดี Winter on Fire: Ukraine’s Fight for Freedom ส่งต่อแรงบันดาลใจให้กับการประท้วงในฮ่องกงปี 2019 ในฐานะที่เป็นการต่อสู้ของประชาชนกับรัฐเผด็จการ โดย Kenneth Chan อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัย Hong Kong Baptist กล่าวกับนิตยสาร TIME ว่า ผู้ประท้วงชาวยูเครนรู้สึกว่าผู้นำของพวกเขาเป็นหุ่นเชิดของรัฐบาลรัสเซีย เหมือนที่คนจำนวนมากในฮ่องกงมองผู้นำว่าเป็นหุ่นเชิดของปักกิ่ง
โลกผ่านสงครามโหดร้ายมาแล้วหลายครั้งหลายหน ผู้คนจารึกและระลึกถึงประวัติศาสตร์บาดแผลเป็นอนุสรณ์เตือนใจไม่ให้เกิดซ้ำรอยอีก แต่น่าเศร้าที่ล่วงเลยมาถึงปัจจุบันนี้ ความขัดแย้งยังคงดำเนินต่อมาและทวีความตึงเครียดมากขึ้นเรื่อยๆ ขณะเดียวกับที่โรคระบาดโควิดก็ยังไม่จากมวลมนุษยชาติไปไหน
ไม่ว่ามหาอำนาจและบรรดาผู้นำจะเลือกตัดสินใจอย่างไร สุดท้ายแล้วผู้สูญเสียที่แท้จริงคือฝ่ายประชาชนเสมอ
เกาะติดวิกฤตรัสเซีย vs. ยูเครน จากสำนักข่าว THE STANDARD ได้ที่ https://thestandard.co/tag/the-russia-ukraine-crisis/
ภาพ: Netflix
อ้างอิง: