×

จับตาแผนรัสเซีย พุ่งเป้ายึดดินแดนทางตะวันตกเฉียงใต้ของยูเครน โอกาสสำเร็จแค่ไหน?

28.04.2022
  • LOADING...
แผนรัสเซีย

หลังล้มเหลวในการบุกยึดกรุงเคียฟและพื้นที่ตอนเหนือของยูเครน ตอนนี้กองทัพรัสเซียกำลังมุ่งเน้นการพิชิตดินแดนทางตอนใต้ของยูเครนอย่างสมบูรณ์ ซึ่งจุดที่ถูกจับตามอง นอกเหนือจากเมืองสำคัญทางตะวันออกเฉียงใต้อย่างมาริอูโปล (Mariupol) ยังมีพื้นที่ทางตะวันตกเฉียงใต้ รวมทั้งเมืองโอเดสซา (Odesa) และมิโคลาอีฟ (Mykolaiv) ที่รัสเซียพยายามบุกยึดตลอดหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา

 

โดยทั้งสองจุดถือเป็นอีกจุดยุทธศาสตร์สำคัญสำหรับการสร้างสะพานบก (Land Bridge) เชื่อมระหว่างตอนใต้ของยูเครนกับแคว้นไครเมีย ที่รัสเซียผนวกรวมไปตั้งแต่ปี 2014 ขณะที่โอเดสซายังเป็นเมืองท่าติดทะเลดำ ที่มีความสำคัญสำหรับการส่งออกน้ำมันและสินค้าของยูเครนไปยังต่างประเทศ

 

ซึ่งการบุกยึดพื้นที่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของยูเครนได้สำเร็จ จะยิ่งส่งผลให้การขยายแนวรบของรัสเซียทำได้ง่ายขึ้น แต่โอกาสที่จะทำสำเร็จนั้นเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน?

 

ระเบิดสะพานจุดยุทธศาสตร์ ส่งทหารพลร่มเสริมแนวรบ

 

หนึ่งในความเคลื่อนไหวสำคัญของการโจมตีพื้นที่ตะวันตกเฉียงใต้ของยูเครนเกิดขึ้นเมื่อวันจันทร์ (25 เมษายน) ที่ผ่านมา หลังกองทัพรัสเซียระดมยิงขีปนาวุธนำวิถีหลายลูกทำลายสะพานข้ามแม่น้ำนีสเตอร์ใกล้เมืองบิลโฮรอด-ดนิสทรอฟสกี (Bilhorod-Dnistrovsky) ซึ่งเป็นจุดเชื่อมระหว่างเมืองโอเดสซากับชายแดนโรมาเนีย

 

การระเบิดสะพานดังกล่าวมีผลสำคัญคือเปิดทางให้กองทัพรัสเซียสามารถส่งทหารพลร่มลงไปยังแคว้นทรานส์นิสเตรีย (Transnistria) ซึ่งเป็นรัฐเอกราชที่แยกตัวมาจากประเทศมอลโดวาและได้รับการสนับสนุนจากรัสเซีย โดยนักวิเคราะห์มองว่า ดินแดนแห่งนี้อาจเป็น ‘สปริงบอร์ด’ ที่สำคัญสำหรับการเสริมกำลังรบของรัสเซียในปฏิบัติการบุกยึดตอนใต้ของยูเครน 

 

โอเลกซี เอเรสโตวิช (Oleksiy Arestovych) ที่ปรึกษาประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกีของยูเครน ระบุว่าการที่รัสเซียทำลายสะพานดังกล่าวเพื่อที่จะจัดเตรียมปฏิบัติการของทหารพลร่มจากทรานส์นิสเตรียได้ ขณะที่นักวิเคราะห์ของยูเครน เชื่อว่าความเคลื่อนไหวนี้เป็นเป้าหมายทางยุทธวิธีที่แท้จริงของรัสเซีย

 

พูดรัสเซียไม่ได้หมายความว่าสนับสนุนปูติน

 

จากการวิเคราะห์ของอเล็กเซ คุช นักวิเคราะห์ในกรุงเคียฟ ชี้ว่านอกจากการสร้างสะพานบกเชื่อมตอนใต้ยูเครนกับไครเมีย มอสโกยังมีเป้าหมายในการแยกพื้นที่ส่วนที่เหลือของยูเครนออกจากทะเลดำ พร้อมทั้งระดมความร่วมมือจากประชาชนที่สนับสนุนรัสเซีย

 

สำหรับพื้นที่ตอนใต้ของยูเครนนั้น เป็นดินแดนของประชาชนหลากหลายเชื้อชาติ ทั้งยิว กรีก บัลแกเรีย กากัซ และชาวโรมาเนียพลัดถิ่นที่นิยมพูดภาษารัสเซีย แต่ตัวเลือกทางภาษานั้นไม่ได้หมายความว่าประชาชนทางใต้ของยูเครนที่พูดภาษารัสเซียจะนิยมชมชอบรัฐบาลเครมลินหรือประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน

 

อิวาร์ เดล ที่ปรึกษาอาวุโสของคณะกรรมการนอร์เวย์เฮลซิงกิ ซึ่งเป็นหน่วยงานสิทธิมนุษยชนของนอร์เวย์ที่พูดภาษารัสเซียได้คล่อง และเคยอาศัยอยู่ทั้งในยูเครนและหลายประเทศอดีตสหภาพโซเวียตกล่าวว่า “ภาษานั้นไม่เกี่ยวกับมอสโก และไม่ได้เป็นของเครมลิน อันที่จริงผู้วิจารณ์ปูตินส่วนใหญ่นั้นพูดและเขียนด้วยภาษารัสเซีย”

 

ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญทางทหารในยูเครนเชื่อว่า แม้รัสเซียจะส่งทหารพลร่มไปยังทรานส์นิสเตรียได้ แต่ก็จะไม่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญต่อชะตากรรมของทหารรัสเซีย และมั่นใจว่ากองทัพรัสเซียจะต้องเผชิญกับความพ่ายแพ้ ซึ่งปัจจุบันรัสเซียกำลังขาดแคลนทั้งกำลังพล ยุทโธปกรณ์ และกระสุนปืน ในขณะที่ยูเครนนั้นได้รับการสนับสนุนทั้งด้านการทหาร การเงิน และการทูตจากชาติตะวันตก

 

มิโคลาอีฟและโอเดสซา

 

ช่วงต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา รัฐบาลเครมลินอ้างว่าประสบความสำเร็จครั้งใหญ่ ในการบุกยึดครองเมืองเคอร์ซอน (Kherson) ซึ่งถือเป็นเมืองเอกทางตอนใต้ของยูเครนที่มีพรมแดนติดกับไครเมีย

 

แต่สำหรับการบุกมิโคลาอีฟและโอเดสซาที่เป็นเส้นทางไปยังทรานส์นิสเตรียนั้น กองทัพรัสเซียกลับแทบไม่ประสบผลสำเร็จ

 

ที่ผ่านมากองทัพรัสเซียพยายามส่งกำลังทหารไปยังหมู่บ้านชอร์โนเบฟกา (Chornobaivka) ซึ่งเป็นพื้นที่คอขวดที่อยู่ทางตะวันตกของเมืองเคอร์ซอน และเป็นจุดเดียวในการเคลื่อนทัพเข้าสู่มิโคลาอีฟ โดยมีการส่งทหารไปทั้งหมด 17 ครั้ง แต่ทุกครั้งจะเผชิญการกวาดล้างจากโดรนจู่โจมและขีปนาวุธของยูเครน ซึ่งคลิปวิดีโอของการโจมตีที่หมู่บ้านแห่งนี้กลายเป็นมีมและเรื่องตลกในโลกออนไลน์สำหรับฝ่ายต่อต้านการกระทำของรัสเซีย

 

ขณะที่กองทัพรัสเซียยิงขีปนาวุธหลายสิบลูกใส่เมืองมิโคลาอีฟแต่ยังประสบความล้มเหลว และจนถึงตอนนี้ก็ยังไม่สามารถบุกโจมตีภายในตัวเมืองได้ ซึ่งในช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ทหารรัสเซียเผชิญความสูญเสียหนักจากการสู้รบในหมู่บ้านของมิโคลาอีฟและเคอร์ซอน ทำให้ต้องล่าถอยออกจาก 5 หมู่บ้าน

 

ส่วนความพยายามยกพลขึ้นบกที่เมืองโอเดสซานั้นก็ประสบความล้มเหลวเช่นกัน เนื่องจากขาดการสนับสนุนภาคพื้นดิน

 

ไม่ยึดโอเดสซา ปกป้องไครเมียไม่ได้

 

การมาถึงของขีปนาวุธจากชาติตะวันตก และความล้มเหลวในการบุกยึดโอเดสซา นั้นถูกจับตามองว่าจะเป็นอันตรายต่อฐานบัญชาการของกองทัพรัสเซียที่อยู่ในแคว้นไครเมีย 

 

โดย อิกอร์ สเตรลคอฟ อดีตรัฐมนตรีกลาโหมของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนโดเนตสก์ ที่สนับสนุนรัสเซีย ให้สัมภาษณ์ต่อ News.ru เว็บไซต์ข่าวออนไลน์ของรัสเซียเมื่อวันที่ 22 เมษายนที่ผ่านมาว่า “หากภูมิภาคโอเดสซาไม่ถูกยึด ยูเครนจะครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมดของทะเลดำและทะเลอาซอฟด้วยขีปนาวุธใหม่” พร้อมทั้งยืนยันว่า “เป็นไปไม่ได้ที่จะปกป้องไครเมียโดยไม่ปลดปล่อยโอเดสซา”

 

ขณะที่ วลาดิเมียร์ ชามานอฟ อดีตนายพลเกษียณอายุของรัสเซียให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ Argumenty i Fakty ในมอสโก โดยยอมรับว่ามีความยากลำบากในการยึดโอเดสซาที่มีการเพิ่มกำลังป้องกันจากกองทัพยูเครน และเปรียบเทียบว่า “โอเดสซานั้นถูกปิดเหมือนกับไส้ติ่งอักเสบ” แต่ยังมั่นใจว่ากองทัพรัสเซียมีโอกาสที่จะชนะ

 

ภาพ: Scott Peterson / Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X