วันนี้ (30 มีนาคม) ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) สุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมติดตามและแก้ไขปัญหากรณีไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก โดยมี โชตินรินทร์ เกิดสม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย และคณะร่วมประชุม โดยเป็นการประชุมผ่านระบบ Video Conference กับผู้ว่าราชการจังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวม 62 จังหวัด
สุทธิพงษ์กล่าวว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้กระทรวงมหาดไทยในฐานะกองป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ บูรณาการทุกภาคส่วน ดำเนินแนวทางการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน ด้วยการยกระดับมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก
โดย พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้กำชับให้กระทรวงมหาดไทยดำเนินการ 8 มาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาอย่างเข้มข้น ส่วน พล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ได้มอบนโยบายและกำกับติดตามการดำเนินงานแก้ไขสถานการณ์ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็กอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การซักซ้อม การเตรียมการในเรื่องการป้องกัน และการแก้ไขปัญหาเมื่อเกิดสถานการณ์
ซึ่งที่ผ่านมาผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะผู้อำนวยการจังหวัดได้บูรณาการร่วมกับทุกภาคส่วนในพื้นที่ ดำเนินการทั้งมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหากันอย่างหนักและต่อเนื่อง โดยผู้บังคับบัญชาทุกระดับรับทราบการดำเนินงาน พร้อมทั้งให้กำลังใจผู้ว่าราชการจังหวัดและทีมงานทุกระดับ ในการดำเนินทุกมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนจากสถานการณ์ดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งจังหวัดที่ได้รับผลกระทบสูง ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย และนครนายก
สุทธิพงษ์กล่าวต่ออีกว่า วานนี้ (29 มีนาคม) ตนได้ลงพื้นที่ร่วมกับ พลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี และมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ซึ่ง นิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ได้รายงานสถานการณ์สาธารณภัยที่กำลังเผชิญในขณะนี้ ที่นอกจากต้องเผชิญกับไฟป่า หมอกควัน PM2.5 แล้ว ยังต้องบริหารจัดการภัยอื่นๆ ทั้งวาตภัย พายุลูกเห็บ ฯลฯ ผู้บังคับบัญชาเข้าใจดีว่าทางผู้ว่าฯ เชียงใหม่ มีภารกิจที่เหน็ดเหนื่อยแสนสาหัส และต้องเผชิญเหตุกับสาธารณภัยทั้งตามฤดูกาลและนอกฤดูกาล
“ขอเป็นกำลังใจให้ผู้ว่าฯ ทุกจังหวัดว่าผู้บังคับบัญชาทุกท่านทราบว่าท่านทำงานหนัก และขอให้ทุกท่านได้อดทน ไม่ย่อท้อในการบริหารสถานการณ์และแก้ไขปัญหา บรรเทาสถานการณ์ให้กับพี่น้องประชาชน เพราะไฟป่า หมอกควัน PM2.5 เป็นเหตุที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพพลานามัยของประชาชน โดยเฉพาะระบบทางเดินหายใจ และการที่จะใช้ชีวิตได้อย่างเป็นปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่เป็นภูมิแพ้ และซ้ำร้ายทรัพยากรธรรมชาติที่ความอุดมสมบูรณ์เหลือน้อยแล้ว ก็ต้องถูกไฟเผาทำลายให้เหลือน้อยลงไปอีก จึงจำเป็นที่ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดจะต้องช่วยกันร่วมไม้ร่วมมือกับหน่วยราชการที่มีอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวข้องโดยตรง” สุทธิพงษ์กล่าว
สุทธิพงษ์กล่าวต่อไปว่า ทั้งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ดูแลเขตป่าสงวนแห่งชาติ เขตอุทยานแห่งชาติ และพื้นที่ที่มีไฟป่าอยู่เยอะ กระทรวงอุตสาหกรรมที่กำกับดูแลโรงงาน ไร่อ้อย โรงงานน้ำตาล อันเป็นหนึ่งในสาเหตุให้เกิดหมอกควัน PM2.5 รวมถึงกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทั้งชาวนา ชาวไร่อื่นๆ และกระทรวงคมนาคม ที่ดูแลเรื่องการก่อสร้างถนน ระบบขนส่งมวลชนขนาดใหญ่ในเขตเมือง ยวดยานพาหนะ ก็มีส่วนที่ทำให้เกิดสถานการณ์
สุทธิพงษ์ยังกล่าวด้วยว่า เรื่องที่สำคัญคือ
- ผู้ว่าราชการจังหวัดต้องตื่นตัวในการสวมบทบาทผู้นำของจังหวัด ผู้อำนวยการจังหวัดในพื้นที่ที่จะช่วยกันระดมสรรพกำลัง ทั้งส่วนราชการ ผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พี่น้องประชาชน อาสาสมัครประเภทต่างๆ โดยเฉพาะจังหวัดที่ขณะนี้กำลังเผชิญปัญหาไฟป่า หมอกควันรุนแรง
- ผู้ว่าราชการจังหวัดต้องทำให้สังคมได้ประจักษ์ว่าทางราชการทำอย่างเต็มที่แล้ว ด้วยการพูดคุยกับพี่น้องประชาชนและภาคีเครือข่ายสื่อมวลชนให้ชัดเจนถึงขั้นตอนการปฏิบัติ ขั้นตอนการทำงาน ทำให้พี่น้องประชาชนและสังคมได้เห็นถึงความมุ่งมั่นทุ่มเท สร้างความอุ่นใจให้ผู้ปฏิบัติงานและประชาชน และอย่าทดท้อกับการที่จะถูกบ่นถูกว่า ต้องอดทนอดกลั้น ทำหน้าที่ให้ดีที่สุดในการช่วยกันสร้างความอบอุ่นให้กับพี่น้องประชาชน
- ต้องให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของพี่น้องจิตอาสา อาสาสมัครอย่างยิ่งยวด ด้วยการมีระบบในการวางแผน อำนวยการ ควบคู่กับการช่วยกันดูแลทำให้ทิศทางของไฟป่าเป็นไปในทิศทางที่สามารถจำกัดวงไม่ให้ลุกลามไปยังบ้านเรือนพี่น้องประชาชนได้ผลเป็นอย่างดี
- ในแง่วัสดุอุปกรณ์ของส่วนกลาง โดยเฉพาะเฮลิคอปเตอร์ KA-32 ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดได้ประเมินระดับสถานการณ์ และหากพื้นที่ใดต้องการขอรับการสนับสนุนให้ประสานมายังอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยโดยทันที
“การทำงานในภาวะจำกัด การสื่อสาร อธิบาย และการดำเนินการที่เป็นรูปธรรม ทั้งทางอากาศและภาคพื้นดิน จะช่วยทำให้เกิดความเข้าใจ โดยต้องสื่อสารชัดเจนทั้งในรูปแบบและนอกรูปแบบ ทั้งหอกระจายข่าว รถกระจายเสียงเคลื่อนที่ เพราะผู้ว่าฯ ไปเผชิญเหตุพื้นที่ในชนบท เขตป่าเขา ต้องอธิบายให้พี่น้องประชาชนเข้าใจ เช่น รถดับเพลิงทำไมต้องรอแก้ไขสถานการณ์ตามแนวหมู่บ้าน เพราะต้องวางแนวป้องกันไฟไม่ให้ลามเข้าบ้านประชาชน เพราะมันมีกองหญ้า ฟาง และขอให้ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ของจังหวัดและพื้นที่เกิดเหตุต้องทำงาน 24 ชั่วโมง เพื่อที่จะช่วยรับแจ้งเหตุ รับเรื่องราวร้องทุกข์ สแตนด์บายสายด่วนนิรภัย 1784 และสายด่วนศูนย์ดำรงธรรม 1567 เน้นย้ำต้องมีเจ้าหน้าที่อยู่เวรยามระวังเหตุ เพื่อให้พี่น้องประชาชนอุ่นใจ มีลู่ทางในการแจ้งเหตุ” สุทธิพงษ์กล่าว
หลังจากนั้นผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย นครนายก น่าน และสระบุรี ได้รายงานสถานการณ์ และได้รับเมตตาจากพระอาจารย์วิบูลย์ ธมฺมเตโช วัดพุทธอุทยาน (ดอยอินทรีย์) จังหวัดเชียงราย ได้เล่าถึงการทำงานภาคจิตอาสาร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้ง 7 ภาคี ในการป้องกันสถานการณ์ไฟป่าและหมอกควัน
ด้าน บุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดี ปภ. กล่าวว่า ภาพรวมสถานการณ์ PM2.5 ปี 2565-2566 สถานการณ์ปัจจุบันมีพื้นที่ประสบไฟป่า ในเดือนมีนาคม 27 จังหวัด ทั้งภาคเหนือ กลาง ตะวันออกเฉียงเหนือ โดยขณะนี้จังหวัดที่ยังมีสถานการณ์ นครนายก เชียงราย เชียงใหม่ สำหรับในการขอรับการสนับสนุนเครื่องมือจากส่วนกลาง ปภ. ได้ประสานทำงานอย่างใกล้ชิดกับทุกจังหวัด โดยหากพื้นที่ใดเป็นพื้นที่เสี่ยงโดยเฉพาะ เช่น ไฟจะลามเข้าสถานที่สำคัญ หมู่บ้าน ชุมชน หรือแหล่งท่องเที่ยวที่จะกระทบเศรษฐกิจ รวมถึงพื้นที่ที่ไม่สามารถใช้กำลังภาคพื้นดินเข้าไปช่วยได้ ถ้าพิจารณาแล้วต้องใช้อากาศยานให้ประสานโดยด่วน
ขณะที่สุทธิพงษ์ได้กล่าวเน้นย้ำช่วงท้ายว่า ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดได้กำชับนายอำเภอเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนงานร่วมกับทุกภาคส่วนในพื้นที่ และประสานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่งสนับสนุนการแก้ไขสถานการณ์ตามอำนาจหน้าที่ และขอเป็นกำลังใจให้กับพื้นที่ แต่อย่างไรก็ดี จังหวัดที่มีเหตุรุนแรงขณะนี้ ขอให้ทุ่มเทสรรพกำลังดำเนินการให้พี่น้องอุ่นใจ
ในส่วนจังหวัดที่ไม่มีสถานการณ์รุนแรง ขอให้เตรียมแผนสำหรับดำเนินการ ซึ่งต้องเป็นแผนที่ยั่งยืน ด้วยหัวใจ คือนายอำเภอเป็นผู้นำสำคัญที่จะดึงความรักความสามัคคีมาช่วยกันตามหลักการสามัคคีคือพลังค้ำจุนแผ่นดิน เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา เป็นกรอบวิธีการในการช่วยกันวางแผนป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน PM2.5 โดยต้อง Kick Off ทันทีตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ไม่ต้องรอให้เกิดเหตุก่อนหรือเข้าหน้าแล้งก่อน เพิ่มความเข้มข้นมาตรการตามสถานการณ์แต่ละพื้นที่ให้ได้ผล เพิ่มความรอบคอบรัดกุม และการสื่อสารกับสังคมเชิงรุก เพื่อที่จะทำให้พี่น้องประชาชนมีความเข้าใจ ความเชื่อมั่น และปฏิบัติตนได้อย่างถูกต้องตามสถานการณ์ในพื้นที่