×

คนเกาหลีกลัวผีอะไร & ทำไมยุคนี้ ‘ซอมบี้’ ยืนหนึ่ง

โดย bluesherbet_
11.10.2020
  • LOADING...
คนเกาหลีกลัวผีอะไร & ทำไมยุคนี้ ‘ซอมบี้’ ยืนหนึ่ง

HIGHLIGHTS

14 mins. read
  • เมื่อ 4 ปีที่แล้ว ภาพยนตร์เรื่อง Train To Busan (ด่วนนรก ซอมบี้คลั่ง) เปิดศักราชให้ชาวโลกรู้จักซอมบี้สไตล์เกาหลี แม้หนังจะดังสุดๆ แต่ก็ยังเป็นหนังซอมบี้เรื่องเดียวที่โดดเด่นในเวลานั้น แต่ช่วง 1-2 ปีมานี้ เราได้ดูทั้งซอมบี้ย้อนยุคโชซอนอย่าง Kingdom (ผีดิบคลั่ง บัลลังก์เลือด) และ Rampant (นครนรกซอมบี้คลั่ง) ที่เข้มข้นทั้งการเมืองและความสยองขวัญ หรือแม้แต่ช่วงสถานการณ์โควิด-19 ระบาด ชาวเกาหลีก็ยัง ‘ขอออกจากบ้านหน่อยน่า’ เพื่อไปดู Peninsula (ฝ่านรก ซอมบี้คลั่ง) หนังภาคต่อของ Train To Busan และไม่เพียงแค่ชาวเกาหลีเท่านั้นที่ติดใจหนังซอมบี้ เพราะล่าสุด #ALIVE (คนเป็นฝ่านรกซอมบี้) ก็กลายเป็นภาพยนตร์เกาหลีเรื่องแรกที่ติดเทรนด์ Netflix ทั่วโลก
  • สิ่งที่คนเกาหลียุคนี้รู้สึกกลัวอยู่ลึกๆ ในใจก็คือ ‘การสูญเสียความเป็นตัวเอง’ และ ‘ภาวะโรคระบาดที่ขัดขวางชีวิตประจำวันอันคุ้นชิน’ ข้อหลังบ้านเราอาจเพิ่งมาตื่นตัวกันในช่วงโควิด-19 แต่ที่เกาหลี จุดเปลี่ยนสำคัญอยู่ที่การแพร่ระบาดของไวรัส MERS กลางปี 2015 ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจสำคัญที่ทำให้ผู้กำกับยอนซังโฮสร้างภาพยนตร์ Train To Busan ขึ้นมาในปี 2016 ตอนนั้นคนเกาหลีต่างก็วิตกลึกๆ ว่า เกาหลีที่ผ่านทั้งสงครามและวิกฤตความอดอยากมาตลอดช่วงเวลาในประวัติศาสตร์ กว่าจะพลิกฟื้นขึ้นมาเป็นประเทศแถวหน้าทุกวันนี้ จะต้องกลับไปสู่สถานะผู้แพ้ยับเยินอีกครั้งหรือไม่
  • แม้จะมี ‘ซอมบี้’ อยู่ในเส้นเรื่องเหมือนกัน แต่ ‘ซอมบี้’ ถูกใช้เป็นตัวแทนสิ่งที่ต่างกันออกไป ซอมบี้ย้อนยุคใน Kingdom หรือ Rampant เกิดขึ้นในยุคที่ผู้ปกครองมีอำนาจล้นฟ้าอยู่ในมือ แต่กลับบริหารประเทศอย่างไร้คุณธรรม มุ่งหาแต่ผลประโยชน์ใส่ตน มองว่าความเดือดร้อนของชาวบ้านไม่เกี่ยวกับตัวเอง จนวันที่เชื้อโรคร้าย ‘ระบาด’ มาถึงกำแพงวัง ถึงได้มองเห็นความสำคัญของประชาชนอันเป็นฐานราก หากวันหนึ่งราษฎรระส่ำระสาย ก็สั่นคลอน ‘บัลลังก์’ ได้เช่นกัน 

ไม่จำเป็นต้องเป็นคนช่างสังเกต ไม่จำเป็นต้องเป็นแฟนพันธุ์แท้บันเทิงเกาหลี เราว่าคุณเองก็น่าจะสัมผัสได้ว่าวงการหนัง-ซีรีส์เกาหลีช่วงนี้ ถูก ‘ซอมบี้’ ปะทะเข้าอย่างจัง เมื่อ 4 ปีที่แล้ว ภาพยนตร์เรื่อง Train To Busan (ด่วนนรก ซอมบี้คลั่ง) เปิดศักราชให้ชาวโลกรู้จักซอมบี้สไตล์เกาหลี แม้หนังจะดังสุดๆ แต่ก็ยังเป็นหนังซอมบี้เรื่องเดียวที่โดดเด่นในเวลานั้น แต่ช่วง 1-2 ปีมานี้ เราได้ดูทั้งซอมบี้ย้อนยุคโชซอนอย่าง Kingdom (ผีดิบคลั่ง บัลลังก์เลือด) และ Rampant (นครนรก ซอมบี้คลั่ง) ที่เข้มข้นทั้งการเมืองและความสยองขวัญ หรือแม้แต่ช่วงสถานการณ์โควิด-19 ระบาด ชาวเกาหลีก็ยัง ‘ขอออกจากบ้านหน่อยน่า’ เพื่อไปดู Peninsula (ฝ่านรก ซอมบี้คลั่ง) หนังภาคต่อของ Train To Busan แล้วเชื่อไหมคะว่าขนาดฉายช่วงนี้ ก็ยังขายตั๋วในเกาหลีได้กว่า 3 ล้านใบ และไม่เพียงแค่ชาวเกาหลีเท่านั้นที่ติดใจหนังซอมบี้ เพราะล่าสุด #ALIVE (คนเป็นฝ่านรกซอมบี้) ก็กลายเป็นภาพยนตร์เกาหลีเรื่องแรก ที่ติดเทรนด์ Netflix ทั่วโลก การันตีได้ว่านาทีนี้ไม่ว่าใครก็อินกับซอมบี้เกาหลี

ว่าแต่…ตั้งแต่เมื่อไรกันนะที่คนเกาหลีคิดอยากจะมี ‘ซอมบี้’ เป็นของตัวเอง?

ผีเก่าถอยไป ผีใหม่มาแล้ว
คนเกาหลีเรียก ‘ซอมบี้’ ว่า 좀비 ‘จมบี/ชมบี’ ค่ะ น่ารักน่าชังทีเดียว เห็นชื่อทับศัพท์แบบนี้ แน่นอนว่า ซอมบี้ไม่ใช่ผีในความเชื่อดั้งเดิมของเกาหลี ตำนานศพเดินได้สุดสยองนี้มีที่มาจากนิทานพื้นบ้านเฮติ ว่ากันว่ามันคือศพคนตายที่ถูกปลุกให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง ซอมบี้ยุคแรกๆ ในโลกภาพยนตร์ มักถูกปลุกขึ้นมาด้วยไสยศาสตร์หมอผีวูดู เมื่อโลกไฮเทคขึ้น พวกมันก็ถูกอัปเกรดให้กลายเป็นภูตผีที่เกิดขึ้นจากการทดลองทางวิทยาศาสตร์บ้าง การแผ่รังสีบ้าง ไปจนถึงไวรัสระบาด และจากที่เคยปั่นป่วนอยู่ตามป่าเขา ซอมบี้ก็เริ่มออกอาละวาดในเมืองใหญ่

เชื่อมั้ยคะว่าตำนานซอมบี้ทั้งมวลบนโลกเพิ่งเกิดขึ้นมา 200 ปีเท่านั้นเอง ถ้าเทียบกับอายุประเทศเกาหลีที่ยาวนานกว่า 2,000 ปีเป็นอย่างน้อย มีเวลาให้สะสมตำนานผีท้องถิ่นตั้งเยอะ หนำซ้ำก่อนที่หนังซอมบี้จะครองแดนกิมจิ อุตสาหกรรมหนังผีสไตล์เกาลี้เกาหลีก็เฟื่องฟูและมีลายเซ็นชัดเจนสุดๆ แต่แล้วใย ‘ซอมบี้’ ถึงทำคะแนนตีตื้นผีรุ่นพี่ได้เร็วขนาดนี้

คนเกาหลี กลัวผีอะไร?
ย้อนไปในยุคสมัยที่วิทยาศาสตร์ยังไม่กำเนิด ‘ผี’ ถูกสร้างขึ้นมาเป็นตัวแทนความกลัวที่คนยังหาคำตอบไม่ได้ และมักเชื่อมโยงกับสภาพภูมิศาสตร์และความเป็นอยู่ของท้องถิ่นนั้นๆ ประเทศเกาหลีมีลักษณะเป็นคาบสมุทรและมีพื้นที่ภูเขาถึง 70% คนที่หากินแถบภูเขาก็จะกลัว 달걀귀신 ‘ทัล-กยัล ควีชิน’ เจ้าผีไข่ไก่ ซึ่งเป็นผีไม่มีหน้า ไม่พูดไม่จา ชอบมาหลอกหลอนคนเดินภูเขายามค่ำคืน ใครที่มองก็จะตายทันที ส่วนคนอยู่ริมทะเลก็จะกลัว 물귀신 ‘มุลควีชิน’ ผีพรายน้ำที่ชอบมาดึงขาคนลงน้ำตอนกลางคืน ซึ่งจริงๆ ก็คืออาการตะคริวนั่นเอง ส่วนลำแสงเรืองๆ ตอนกลางคืนที่คนไทยบอกว่าเป็น ‘ผีกระสือ’ นั้น คนเกาหลีเรียกว่า 도깨비불 ‘โทแกบีบุล’ หรือลำแสงยักษ์โทแกบี โดยเจ้ายักษ์ตัวนี้มีหลายเวอร์ชันเลยค่ะ บ้างก็มาร้ายทำลายข้าวของ บ้างก็ใจดี มาช่วยชาวบ้านเพาะหว่านแปลงผัก

จุดเปลี่ยนครั้งใหญ่อีก 2 ครั้งที่ทำให้เกาหลีมีผีเพิ่มขึ้นเพียบ ครั้งแรกคือการรับพระพุทธศาสนา ใครตะกละหรือโลภเงิน ตายไปก็จะกลายเป็น 아귀도 ‘อากวีโด’ ผีเปรต ตัวสูงเท่าเขาไท่ซาน ปากเล็กเท่ารูเข็ม (ต่างจากผีเปรตของไทยที่เกิดจากความอกตัญญู) ส่วนคนขี้โกหกกลับกลอก ตายไปจะกลายเป็น 콩콩귀신 ‘คงคงกวีชิน’ ผีห้อยหัวกลับหัวกลับหาง ใช้หัวลากไปกับพื้นอย่างน่าเวทนา (คงคง มาจากเสียงลากหัวกับพื้น ประมาณว่าเสียง ป๊อกป๊อก)

และจุดเปลี่ยนที่สำคัญที่สุดก็คือยุคโชซอน ที่เกาหลีรับขงจื๊อใหม่ (Neo-Confucianism) เข้ามาเป็นแนวปฏิบัติหลักในสังคม มีการแบ่งชนชั้น หน้าที่ชาย-หญิง แบ่งแยกอาวุโส คุณอาจคิดว่าถ้าเกิดเป็นชนชั้นสูงในยุคนี้เราคงสบายเนอะ แต่ไม่เลยค่ะ เป็นไพร่อาจแฮปปี้กว่า เพราะสังคมคาดหวังกับชนชั้นสูงไว้มากมาย ผู้ชายต้องสอบควากอ (จอหงวน) รับราชการให้ได้ ผู้หญิงต้องเป็นเมียและแม่ที่ดี ต้องให้กำเนิดบุตรชายที่สอบควากอได้เช่นกัน คนเคยดูซีรีส์ Hotel Del Luna น่าจะจำได้ เถ้าแก่เนี้ยจางมันวอล มีวิญญาณลูกน้องคนสนิทอยู่ 3 ตน ที่ไม่ยอมไปผุดไปเกิด คนแรกเป็นบัณฑิตสอบควากอได้อันดับหนึ่ง แต่ต้องมาตายทั้งที่ยังมีมลทิน อีกคนเป็นสะใภ้ที่ตายโดยไร้ลูกชายสืบสกุล วิญญาณเธอจึงวนเวียนสาปแช่งครอบครัวสามี ส่วนใหญ่ผีเฮี้ยนๆ ยุคโชซอน ก็ชนชั้นสูงทั้งนั้น มิชชันแกเยอะ พอทำไม่สำเร็จก็เลยแค้น

แต่ผีที่ถือเป็นสุดยอดผีเฮี้ยน สูสีกับ ‘ผีตายทั้งกลม’ ของไทยคือ 처녀귀신 ‘ชอ-นยอ ควีชิน’ ผีสาวพรหมจรรย์ค่ะ อย่างที่บอกไปว่าผู้หญิงเกาหลีสมัยก่อนถูกพร่ำสอนให้เป็นเมียและแม่ที่ดี ชีวิตถ้าไม่ผ่านมิชชันนี้ แทบจะไม่ถือว่าเกิดมาเป็นคนด้วยซ้ำ มันไม่เหมือนสมัยนี้ที่ถ้าเราไม่มีสามีก็อาจจะแค่รู้สึกเซ็งๆ แล้วรูด Tinder ต่อไป แต่สมัยก่อนมันคือความแค้นและอับอายอย่างยิ่งยวด ถูกสาปแช่งจากครอบครัวไม่ให้ไปผุดไปเกิด แถมหลุมศพของเธอจะถูกฝังประจานตรงสี่แยก เมื่อมีคนเดินผ่านพลุกพล่าน เธอจะอายจนไม่กล้าออกมาทวงแค้นกับใคร

 

ภาพจาก Rampant นครนรก ซอมบี้คลั่ง

 

พอถึงยุคล่าอาณานิคม คนเกาหลีเกลียดฝรั่ง คนก็ลือกันว่าให้ระวังผีผมทองตาฟ้าที่เดินเตร็ดเตร่ริมถนนชงโน ช่วงสงครามเกาหลีมีผีทหารและราษฎรมากมายที่พลัดพรากจากครอบครัว เรื่อยมาจนถึงปี 2000s ยุคที่เด็กนักเรียนเกาหลีเตรียมสอบหนักมาก บ้างก็ถูกบูลลี่ในโรงเรียน ยุคนั้นเลยมีหนังเกี่ยวกับผีบันไดโรงเรียนออกมา ตามด้วยซีรีส์ผีในโรงเรียน และบรรดาผีเฟอร์นิเจอร์ในบ้าน ตู้ซ่อนผี เตียงซ่อนผี โต๊ะซ่อนผีต่างๆ

ดูเหมือนเกาหลีจะมีผีมากมายจนไม่เปิดทางให้ใครแจ้งเกิด แต่จู่ๆ วันหนึ่ง ‘ซอมบี้’ กลับเป็นผีน้องใหม่มาแรงซะอย่างนั้น เกาหลี (ใต้) ยุคนี้พัฒนาแล้ว น้ำไหลไฟสว่างทางดี แล้วคนจะกลัวผีป่าเขาทำไม คนเคร่งศาสนาพุทธก็น้อยลง หรือสุดท้ายแม้สาวๆ จะตายทั้งที่ยังเวอร์จิ้น ก็ไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองบกพร่องในหน้าที่มนุษย์แต่อย่างใด

สิ่งที่คนเกาหลียุคนี้รู้สึกกลัวอยู่ลึกๆ ในใจ ก็คือ ‘การสูญเสียความเป็นตัวเอง’ และ ‘ภาวะโรคระบาดที่ขัดขวางชีวิตประจำวันอันคุ้นชิน’ ข้อหลังบ้านเราอาจเพิ่งมาตื่นตัวกันในช่วงโควิด-19 แต่ที่เกาหลี จุดเปลี่ยนสำคัญอยู่ที่การแพร่ระบาดของไวรัส MERS กลางปี 2015 ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจสำคัญที่ทำให้ผู้กำกับยอนซังโฮสร้างภาพยนตร์ Train To Busan ขึ้นมาในปี 2016 ตอนนั้นคนเกาหลีต่างก็วิตกลึกๆ ว่า เกาหลีที่ผ่านทั้งสงครามและวิกฤตความอดอยากมาตลอดช่วงเวลาในประวัติศาสตร์ กว่าจะพลิกฟื้นขึ้นมาเป็นประเทศแถวหน้าทุกวันนี้ จะต้องกลับไปสู่สถานะผู้แพ้ยับเยินอีกครั้งหรือไม่

ทำความรู้จัก 7 ซอมบี้ยอดฮิต
การเคลื่อนไหวแคล่วคล่องว่องไวคือจุดเด่นร่วมกันอย่างหนึ่งที่ทำให้ซอมบี้เกาหลีมีเอกลักษณ์ต่างจากซอมบี้ฝั่งตะวันตก แถมเกาหลียังใส่ใจงาน Choreography สมเป็นประเทศ K-Pop จากนี้เราจะพาคุณไปรำลึกถึง 7 ซอมบี้ยอดฮิตค่ะ

1. Train To Busan ด่วนนรก ซอมบี้คลั่ง (ภาพยนตร์ปี 2016)

 

 

ลูกสาวของคุณพ่อแสนบ้างาน ขอร้องให้พ่อพาเธอเดินทางจากกรุงโซลไปหาแม่ที่เมืองปูซาน เพื่อฉลองวันเกิด ทว่ารถไฟขบวนที่ไปปูซาน มีหญิงสาวติดเชื้อโรคประหลาดขึ้นมาบนขบวนด้วย เธอไล่กัดผู้คนจนกลายเป็นซอมบี้มากมาย หนทางเดียวที่จะมีชีวิตรอดคือรักษาชีวิตจนกว่าจะถึงปูซาน ดินแดนตอนใต้ที่ไวรัสประหลาดยังระบาดไปไม่ถึง

ธีม: ความช่วยเหลือเกื้อกูลในภาวะคับขัน ความเห็นแก่ตัวของมนุษย์
รีวิวซอมบี้: เคลื่อนไหวเร็ว ใช้หัวและแอ่นอกนำ ไวต่อเสียง/แสงจ้า ทักษะจู่โจมลดลงหากมองไม่เห็น

2. Peninsula ฝ่านรก ซอมบี้คลั่ง (ภาพยนตร์ปี 2020)

 

 

ภาคต่อ Train To Busan 4 ปีหลังซอมบี้ถล่มคาบสมุทรเกาหลี จนสูญสิ้นความเป็น ‘เกาหลี’ เหลือไว้แต่ ‘คาบสมุทร’ ที่ไม่ต่างจากนรก ผู้คนเกือบทั้งหมดติดเชื้อ ส่วนที่ยังมีชีวิตรอดก็อดอยาก บ้างก็ใช้ซอมบี้เป็นกีฬาแสนสนุก พระเอกเป็นอดีตทหารที่เคยลี้ภัยออกนอกประเทศสำเร็จ กลับมาบ้านเกิดอีกครั้งหลังได้ข้อเสนอเป็นเงินก้อนโต หากเก็บกู้ซากรถบรรทุกที่เต็มไปด้วยเงินมาส่งคืนที่ท่าเรือสำเร็จ ทว่าภารกิจไม่ได้ง่ายขนาดนั้น ฝูงซอมบี้นั้นคลั่งกว่าที่คิด

ธีม: แอ็กชันเต็มรูปแบบ และวิถีการเอาตัวรอดแบบ New Normal สุดๆ ทลายทุกกฎเกณฑ์ที่เคยเป็นมา
รีวิวซอมบี้: รวมตัวเป็นฝูงใหญ่ เคลื่อนไหวเร็ว ใช้มือและเท้าทั้งสี่เหมือนสัตว์เดรัจฉาน เน้นโจมตีเวลากลางคืน

 

3. Kingdom ผีดิบคลั่ง บัลลังก์เลือด (ซีรีส์ปี 2019-2020)

 

 

พระราชาแห่งโชซอนติดเชื้อซอมบี้ ทว่าเสนาบดีโจ ผู้เป็นทั้งพ่อของพระมเหสีและผู้ชักใยเกมการเมือง กลับ ‘เลี้ยงไข้’ พระราชา รอให้บุตรสาวคลอดพระโอรสสืบบัลลังก์เสียก่อน มิเช่นนั้นองค์ชายรัชทายาทที่เกิดจากสนมจะชุบมือเปิบเป็นพระราชา ด้านเมืองทงแนที่อยู่ตอนใต้ ก็มีซอมบี้ระบาดเช่นกัน เกิดจากผู้คนอดอยากจนเผลอไปกิน ‘เนื้อคน’ ที่ติดเชื้อซอมบี้ องค์ชายรัชทายาทที่ถูกเนรเทศมาอยู่เมืองนี้พร้อมด้วยหมอหญิงจึงต้องเสาะหายาสมุนไพรมารักษา

ธีม: การเมืองเข้มๆ ทริลเลอร์ข้นๆ เพื่อปกป้องคนคนเดียวที่ลอยตัวเหนือกฎหมาย ต้องแลกด้วยความพินาศไม่สิ้นสุด
รีวิวซอมบี้: เหล่าซอมบี้ผู้หลับใหลยามกลางวัน หิวโหย ยากไร้ คละคลุ้งด้วยเลือดเนื้อและหยาดน้ำตาประชาชน

4. Rampant นครนรก ซอมบี้คลั่ง (ภาพยนตร์ปี 2018)

 

 

เรื่องราวเกิดขึ้นในสมัยโชซอน เป็นเมืองขึ้นราชวงศ์ชิง องค์ชายแห่งโชซอนที่เป็นองค์ประกันถูกเรียกกลับแผ่นดินเกิด เพื่อต่อสู้กับฝูงซอมบี้กระหายเลือดและสะสางมลทินให้องค์รัชทายาท (พี่ชาย) ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นกบฏ สุดท้ายก็พบว่า ผู้ ‘อิมพอร์ต’ เชื้อซอมบี้เข้าอาณาจักรก็คือขุนนางที่พระราชาไว้ใจที่สุด เขาต้องการให้มันระบาดไปทั่วเมือง หวังใจว่าจะถือเป็นโอกาส ‘ล้มล้างราชวงศ์’ และสร้างอาณาจักรขึ้นใหม่

ธีม: การเมืองเข้มน้อยกว่า Kingdom ไม่ถึงกับปวดหัวจี๊ด แต่อยู่ในระดับน่าหมั่นไส้ เพราะ ผนงรจตกม.
รีวิวซอมบี้: เป็นซอมบี้ที่คล้ายผู้ป่วยโควิด-19 ที่สุดแล้ว มีระยะฟักตัว 1-3 วัน น่ากลัวตรงที่โดนกัดแล้วอาจจะไปแฝงตัวอยู่กับฝูงชนแบบเนียนๆ เป็นซอมบี้ออกไล่ล่าเฉพาะตอนกลางคืนเท่านั้น

5. #ALIVE คนเป็นฝ่านรกซอมบี้ (ภาพยนตร์ปี 2020)

 

 

ฝูงซอมบี้ระบาดกลางเมืองใหญ่ เกมเมอร์หนุ่มผู้ติดบ้านสุดๆ กลับเลือกที่จะอยู่ในห้องที่อพาร์ตเมนต์ตัวเอง แทนที่จะออกไปเสี่ยงข้างนอก เขาประทังชีวิตด้วยอาหารที่ยังพอมี ใช้โดรนบินสำรวจความเป็นไปของเมือง และส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือผ่านโซเชียลมีเดีย วิทยุสื่อสาร แม้จะไม่เชี่ยวชาญอะไรแต่ก็พร่ำบอกตัวเองว่า ‘ต้องมีชีวิตรอดให้ได้’ จนวันหนึ่งที่เขาหมดกำลังใจก็พบว่าที่ตึกฝั่งตรงข้ามมีหญิงสาวอีกคนที่รอดชีวิตอยู่เหมือนกัน

ธีม: หนังซอมบี้ที่ไม่เน้นซอมบี้ เน้นวิธีเอาตัวรอดและสร้างกำลังใจให้คนที่กำลังยอมแพ้ชีวิต
รีวิวซอมบี้: หูไวเป็นที่สุด ออกไล่ล่าไม่เลือกกลางวันกลางคืน แถมยังไม่ลืมทักษะสมัยเป็นมนุษย์ เคยเป็นนักกู้ภัย ตายไปก็ยังปีนตึกด้วยเชือกเส้นเดียวได้!

 

6. The Odd Family: Zombie on Sale (ภาพยนตร์ปี 2019)

 

 

หนังซอมบี้สุดฮา แบบว่า พล็อตแบบนี้ก็ได้เหรอ? ซอมบี้สุดหล่อหลงไปอยู่บ้านนอก แต่กลับไม่มีใครเหลียวแล จนวันหนึ่งไปกัดคุณพ่อเจ้าของปั๊มน้ำมัน (คนแก่) แทนที่จะกลายร่างเป็นซอมบี้ ช้างน้อยที่หลับใหลของคุณพ่อกลับฟิตปั๋งขึ้นมา เป็นที่โจษจันในหมู่คุณลุงคุณตาแถบนั้น ประกอบกับซอมบี้ก็แสนจะเลี้ยงง่าย เชื่องเหมือนน้องหมา ครอบครัวหัวใสเลยเปิดกิจการให้ซอมบี้กัดเสริมสมรรถภาพท่านชายซะเลย ร่ำรวยเป็นกอบเป็นกำ แต่ลืมไปหรือยังว่าที่กัดคนน่ะ ซอมบี้

ธีม: โลกทุนนิยมอะเนอะ อะไรที่ได้เงินมันก็มีประโยชน์ทั้งนั้น (คิดถึงคนที่ริเริ่มจับตั๊กแตนปาทังก้า หอยเชอรี่มากิน)
รีวิวซอมบี้: หล่อ ปรับลุคเป็นโอป้าได้ พบว่าซอมบี้จะน่ากลัวเมื่อรวมตัวเป็นฝูง ถ้าอยู่ตัวเดียวก็เหมือนหมาจริงๆ

 

7. Zombie Detective (ซีรีส์ปี 2020)

 

 

ซีรีส์ใหม่แกะกล่องจากช่อง KBS ชายหนุ่มคนหนึ่งตื่นขึ้นกลางกองขยะแล้วพบว่าตัวเองเป็นซอมบี้ เขาจำอะไรเกี่ยวกับตัวเองไม่ได้เลย เพื่อเอาตัวรอดบนโลกโหดร้ายที่คน (ในหนัง) ชอบทุบตีซอมบี้ เขาจึงใช้เวลา 2 ปีฝึกฝนตัวเองให้เหมือนคนที่สุด ฝึกเดิน ฝึกพูด ทาบีบีครีม และด้วยทักษะดมกลิ่นอันเยี่ยมยอดของเขา นักสืบคนใหม่จึงได้ถือกำเนิด

ธีม: ซอมบี้ไม่น่ากลัวหรอก มนุษย์สิน่ากลัว
รีวิวซอมบี้: เนียนไปกับมนุษย์ที่สุดแล้ว น่ารัก ตลก โก๊ะกัง จนแอบคิดว่าถ้าใช้ชีวิตกับซอมบี้แบบนี้ก็ไม่ได้แย่นะ

มีหรือไม่มีซอมบี้…พี่ก็ต้องวิ่ง
แม้จะมี ‘ซอมบี้’ อยู่ในเส้นเรื่องเหมือนกัน แต่ ‘ซอมบี้’ ถูกใช้เป็นตัวแทนสิ่งที่ต่างกันออกไป ซอมบี้ย้อนยุคใน Kingdom หรือ Rampant เกิดขึ้นในยุคที่ผู้ปกครองมีอำนาจล้นฟ้าอยู่ในมือ แต่กลับบริหารประเทศอย่างไร้คุณธรรม มุ่งหาแต่ผลประโยชน์ใส่ตน มองว่าความเดือดร้อนของชาวบ้านไม่เกี่ยวกับตัวเอง จนวันที่เชื้อโรคร้าย ‘ระบาด’ มาถึงกำแพงวัง ถึงได้มองเห็นความสำคัญของประชาชนอันเป็นฐานราก หากวันหนึ่งราษฎรระส่ำระสาย ก็สั่นคลอน ‘บัลลังก์’ ได้เช่นกัน

ในขณะที่ซอมบี้อย่าง Train To Busan เล่นกับวลีติดปากคนเกาหลี 빨리 빨리 ‘ปัลรี ปัลรี’ แปลว่า เร็วๆ หน่อย (ถูกใช้ในภาษาแชต ด้วยรหัส 8282 อ่านออกเสียงว่า 팔이 팔이 ‘พัลอี พัลอี’) หากมีใครจะถามว่าเกาหลีใต้ฟื้นตัวจากสงครามและ IMF ไวขนาดนี้ได้อย่างไร คำตอบก็คือ ‘ปัลรี ปัลรี’ เกาหลีใต้กลายเป็นเมืองหลวงแห่งใหม่ของความบันเทิงและเทคโนโลยีได้อย่างไร คำตอบก็คือ ‘ปัลรี ปัลรี’ เป็นคีย์เวิร์ดหลักที่รันประเทศเลยก็ว่าได้ คนเกาหลีคิดเร็ว ทำเร็ว ตัดสินใจเร็ว เดินเร็ว กินเร็วไปหมด ทำให้ประเทศพัฒนาปรู๊ดปร๊าดขนาดนี้ เกาหลีมีรถไฟความเร็วสูงที่เรียกว่า KTX นั่งจากโซลไปปูซาน เหนือจรดใต้ ใช้เวลาเพียง 2 ชั่วโมง 40 นาที  มีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่สุดในโลก และมีเทคโนโลยีอำนวยความสะดวกมากมาย แต่แทนที่เทคโนโลยีจะช่วยแบ่งเบาให้ผู้คนได้ใช้เวลาด้วยกันมากขึ้น กลายเป็นว่าเมื่อผู้คนเริ่ม ‘ออกวิ่ง’ ด้วยความเร็วสูง พวกเขากลับต้องวิ่งต่อไม่หยุดหย่อน ต้องดีกว่านี้ ต้องเก่งกว่านี้ ไม่มีเวลาพักเหนื่อย มองคนข้างๆ นั่นเป็นสาเหตุที่ทำให้ซอมบี้เกาหลีถูกออกแบบให้เคลื่อนไหวแคล่วคล่องว่องไว สอดรับกับสภาพสังคมเกาหลีที่แสนรีบเร่ง

 

ภาพจาก #ALIVE คนเป็นฝ่านรกซอมบี้ 

แต่กระนั้น การที่เกาหลีใต้มีอัตราฆ่าตัวตายและโรคซึมเศร้าสูง ส่วนหนึ่งก็มาจากวัฒนธรรม ‘ปัลรี ปัลรี’ นี่แหละค่ะ เมื่อสังคมบีบบังคับให้พวกเขา ‘วิ่ง’ แต่ใช่ว่าทุกคนจะเกิดมาเพื่อเป็นนักวิ่ง ในนิทานกระต่ายกับเต่า เจ้าเต่าจอมขยันอาจเข้าเส้นชัยชนะกระต่ายขี้เกียจได้ แต่สังคมสไตล์เกาหลี กระต่ายที่รู้ตัวว่าวิ่งเก่งอยู่แล้วก็ไม่เคยออมมือให้คู่ต่อสู้ เกิดมาเป็นเต่าแม้จะพยายามหนักแค่ไหน โอกาสจะลิ้มรสชัยชนะกลับแทบไม่มี หรือแม้แต่คุณเป็นกระต่ายที่วิ่งได้อันดับ 1 มาตลอด พลาดล้มสักครั้ง ก็จะมีกระต่ายอีกนับไม่ถ้วนวิ่งกรูเข้ามาช่วงชิงตำแหน่งที่ 1 ของคุณ หรือต่อให้อยากเป็นกระต่ายที่เดินชิลๆ เข้าเส้นชัยช้ากว่าเพื่อนก็ไม่ได้ เพราะอาจถูกฝูงกระต่ายที่วิ่งมาด้วยความเร็วสูงเข้าพุ่งชน สุดท้ายการใช้ชีวิตสไตล์ ‘ความเร็วสูง’ มันตอบโจทย์จริงหรือไม่นะ? Train To Busan เผยให้เห็นว่า สุดท้ายรถไฟที่พาผู้โดยสารไปถึงปูซาน ไม่ใช่ KTX แต่เป็น ‘มูกุงฮวา รถไฟหวานเย็นธรรมด๊าธรรมดา ส่วน Peninsula ที่เป็นภาคต่อนั้น สื่อให้เห็นถึงภาวะสังคมไร้กฎระเบียบที่คนเกาหลีกลัวว่าจะกลับไปเกิดขึ้นอีก แม้หนังจะบอกเล่าถึงโลกสมมติในอนาคต แต่นี่ก็ไม่ต่างกับความพินาศหลังสงครามเกาหลี

เมื่อสังคม ‘ปัลรี ปัลรี’ โฟกัสแต่ความสำเร็จของคนได้ที่ 1 ยกย่องคนเก่งเป็นฮีโร่ ทอดทิ้งอันดับ 2-3-4-5 จนถึงที่โหล่เอาไว้ในเงา หนังอย่าง #ALIVE จึงถือกำเนิดขึ้นมา โอจุนอู พระเอกของเรื่องไม่ใช่คนเก่ง เป็นคนใช้ชีวิตเรื่อยเปื่อย ชอบอยู่บ้าน ติดเกม ไม่ได้มีอาหารตุนมากพอ ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเชื้อซอมบี้มีที่มาจากไหน มิชชันของเขามีแค่ ‘ต้องมีชีวิตรอดให้ได้’ (รอดแล้วทำไงต่อ ก็ยังไม่ได้คิดอีกต่างหาก) โอจุนอูเป็นตัวแทนคนธรรมดาอย่างเราๆ นี่แหละค่ะ หนังเรื่องนี้ฉายในเกาหลีช่วงโควิด-19 พอดี เป็นหนังซอมบี้ฟีลกู๊ดที่ทำให้คนกักตัวอยู่บ้านใจฟูขึ้นอีกเยอะ ท้ายเรื่องยังเผยให้เห็นว่ายังมีโอจุนอูและคิมยูบินคนอื่นๆ ที่รอดชีวิต รอความช่วยเหลืออีกมากมาย ไม่ว่าสังคมจะบัดซบแค่ไหน เราก็ต้องไม่ลืมรักตัวเองกันนะ

ปิดท้ายด้วยซอมบี้สายฮาอย่าง The Odd Family: Zombie on Sale และ Zombie Detective เราคิดว่าคนเกาหลีเริ่มจะชินกับหนังที่มีซอมบี้จนคิดว่า เออ มันก็น่าจะอยู่ร่วมกันกับคนได้สิ นอกจากความตลกโปกฮาแล้วก็ยังแอบจิกกัดระบบทุนนิยม ที่แม้แต่จะเป็นซอมบี้ก็ต้องแปลงโฉม หาเงินเลี้ยงปากท้อง…สังคมเกาหลียุคนี้อยู่ยากจริงๆ

เราก็ไม่รู้ว่ากระแสซอมบี้เกาหลีจะอยู่อีกนานแค่ไหน แต่ความหวาดกลัวในใจที่จะสูญเสียตัวตน สูญเสียการใช้ชีวิตสะดวกสบายแบบปกติ จะตามหลอกหลอนคนยุคใหม่ไปอีกนานแน่นอน ยุคนี้ความมืดไม่น่ากลัวเท่าโรคระบาดและจิตใจผู้คน ดังนั้นซอมบี้ที่ออกมาไล่กัดคนตอนกลางวันแสกๆ ก็น่ากลัวสุดๆ ได้เหมือนกัน

ของแถม-ฮันซองซู ซอมบี้มืออาชีพ
ต่อให้เป็นแฟนพันธุ์แท้หนังซอมบี้เกาหลี คุณก็อาจไม่เคยสังเกตว่า มีนักแสดงที่เป็นซอมบี้หน้าตาซ้ำๆ กันอยู่นะ คนหนึ่งที่เป็นขาประจำบทซอมบี้เลยก็คือพี่คนนี้ คุณฮันซองซู เจอเขาได้เกือบทุกเรื่อง ไม่ว่า Train To Busan, Peninsula, Kingdom, Rampant และ #ALIVE และเมื่อถามว่าถ้าเจอซอมบี้ในชีวิตจริงจะทำอย่างไร “ผมก็คงวิ่งหนี ไปซ่อนตัวในที่ที่มีเสบียงเยอะๆ ครับ”

เนี่ย ขนาดมือโปรด้านซอมบี้ยังไม่คิดต่อกร

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising