×

นั่นคุณด้วยหรือเปล่า? ทำไมคนไทยชอบแชร์เรื่องลบเรื่องร้ายบนโซเชียลมีเดียจัง?

29.09.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

7 Mins. Read
  • หลายคนโพสต์เพื่อสร้างอัตลักษณ์ใหม่บนเฟซบุ๊ก โพสต์เพื่อให้คนอื่นเห็นเราในแบบที่เราอยากเป็น และให้เขามากดไลก์เพื่อให้ได้การยอมรับในตัวตนนั้น แล้วพอเราเริ่มจริงจังกับอัตลักษณ์บนโลกเสมือน เราก็ถ่ายเทหลายส่วนที่เป็นเราแล้วทำให้มันเสมือนจริงมากขึ้นเรื่อยๆ
  • ธรรมชาติของคนเราต้องการความเชื่อมโยงและความเห็นอกเห็นใจจากใครสักคน แล้วบังเอิญมีโลกแห่งความเชื่อมโยงอยู่ในโลกไซเบอร์ เออ…ใครจะไม่ลองใช้ แถมก็มีหลายทีที่เราได้กำลังใจผ่านทางโซเชียลตั้งมากมาย แต่เราควรจะใช้งานมันในฟังก์ชันนั้นหรือเปล่า?

     “ทำไมคนไทยชอบแชร์เรื่องลบๆ ร้ายๆ บนโซเชียลมีเดียกันจัง?” เสียงของชาวต่างชาติคนหนึ่งเปรยขึ้นมาเบาๆ

     “อ้าว แล้วทำไมจะต้องไม่แชร์ มันเป็นอะไร” คนไทยที่นั่งข้างๆ เสียงแข็งใส่

     “เพื่อนชาวต่างชาติของไอ 99 เปอร์เซ็นต์ แชร์เฉพาะเรื่องบวกบนโซเชียลมีเดีย ส่วนเรื่องลบๆ แย่ๆ เขาเอาไว้ไปคุยกันส่วนตัว”

     “เหรอ…” คนไทยคนนั้นเริ่มนิ่งงัน

     สรุปคือ เขาสังเกตเห็นว่าคนไทยโยนเรื่องร้ายๆ ใส่ในบรรยากาศของโซเชียลมีเดียกันเป็นกิจวัตร เออ… เราทำแบบนั้นกันทำไมนะ แล้วทำไมคนต่างชาติเขาไม่ทำกันล่ะ?

     ไม่เริ่มวิเคราะห์จากความเป็นชาติให้บานปลาย แต่มองให้เป็นผู้ใช้โซเชียลมีเดียเป็นรายๆ ไปไม่เหมารวมน่าจะดีกว่า แต่บอกได้เลยว่า แม้จะเห็นพฤติกรรมนี้จนชินตาในแวดวง ‘Information Bubble’ ของเรา แต่มันไม่ใช่เรื่องปกติธรรมดาที่ใครๆ ก็ทำกัน

 

เริ่มจากตรงนี้ก่อน

     คนที่สามารถโพสต์เรื่องลบเรื่องร้ายลงโซเชียลมีเดียได้ มักเป็นพวกที่โพสต์เป็นประจำๆ จนกลายเป็นกิจวัตร เช่น กินข้าว รถติด งอนแฟน เผางาน ร้านอร่อย ฯลฯ เรียกว่ามีเสียงอะไรในใจก็มือลั่นออกมาเป็นโพสต์ แล้วทีนี้ลองเดาไหมว่าที่คนชอบใช้โซเชียลมีเดียกันมากๆ เป็นเพราะอะไร? เพราะมีความรู้สึกชื่นชมในตนเอง หรือ self-esteem ต่ำหรือเปล่า? หรือเป็นเพราะต้องการเรียกร้องความสนใจจากสังคม ก็เลยโพสต์เพื่อให้คนมากดไลก์กันเยอะๆ หรือเป็นเพราะต้องการกำลังใจในชีวิต? หรือเป็นเพราะเราไม่มีพื้นที่ปลอดภัยให้ระบายความในใจ จึงต้องวิ่งไปปลิ้นในพื้นที่โลกโซเชียล?

     คำตอบคือ… ใช่ทั้งหมดเลย แม้คุณอยากปฏิเสธเสียงสูงว่าไม่จริ๊ง! เพราะหากคุณเป็นหนึ่งคนที่ทำอย่างนั้นมันก็ยากที่จะยอมรับ แต่มันจริง! และคุณเองก็อาจไม่รู้ตัวว่าลึกๆ แล้วทำอย่างนั้นไปเพราะอะไร อย่าลืมนะคะว่าคนไทยติดอันดับ 8 ของผู้ที่ใช้เฟซบุ๊กมากที่สุดในโลก และคุณอาจจะเป็นหนึ่งในนั้นก็ได้

คนที่สามารถโพสต์เรื่องลบเรื่องร้ายลงโซเชียลมีเดียได้ มักเป็นพวกที่โพสต์เป็นประจำๆ จนกลายเป็นกิจวัตร

 

ประเด็นแรก: ความรู้สึกชื่นชมตนเองต่ำ

     สิ่งนี้มีสาเหตุจากครอบครัว แนวคิดการเลี้ยงดู และโครงสร้างทางสังคมที่สั่งสมมานาน เช่น พึงพอใจและนับถือในตัวเองน้อยเป็นทุน เพราะโตมากับค่านิยมที่ว่าเป็นหนี้ชีวิตแผ่นดิน คนแก่กว่าถูกกว่า หลักการมีค่ากว่าความเป็นคน ไม่ได้เน้นย้ำให้เห็นคุณค่าและเสียงของตนเอง บวกกับรู้สึกขาดความมั่นคงในชีวิต เพราะสวัสดิการรัฐไม่ได้เป็นเสาหลักให้แก่ประชาชนมากนัก และความรู้สึกเห็นคุณค่าตนเองต่ำนี้มันกลายเป็นปัญหาแห่งชาติ เพราะเราเห็นคุณลักษณะแบบนี้แทบจะในทุกคนที่เรารู้จักรอบตัว รวมถึงตัวเราเองด้วย

     ไม่เชื่อลองไล่อ่านดูว่าคนที่นับถือตัวเองน้อยจะมีลักษณะอย่างไรบ้าง ซึ่งไล่ได้ตั้งแต่ อ่อนไหวง่ายต่อคำวิจารณ์, จิตตกง่าย สะเทือนใจง่าย, กลัวการเข้าสังคม, ไม่กล้าพูดกับใครก่อน, มีพฤติกรรมเช็กเรตติ้งในหลายรูปแบบ, ยึดติดกับวัตถุนอกกาย,หาความสุขจากสิ่งภายนอก, ไม่ดูแลตัวเองหรือที่อยู่อาศัย, ไม่กล้าตัดสินใจ,

     แคร์สายตาคนอื่นมากกว่าความต้องการของตัวเอง, กลัวผิด, ไม่กล้าลงมือ, วางอำนาจ, ชอบแก้ตัว, มักยกตนข่มผู้อื่น, รู้สึกว่าต้องทำดีกว่าเดิมให้ได้อยู่เสมอ (สามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เพจ สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย)

     สรุปคือ เมื่อเราเห็นตัวเองไร้ค่าและขาดหลายอย่าง เราก็แอบโหยหาคุณค่าของตัวเองอยู่ลึกๆ แล้วมันก็ปรากฏเป็นพฤติกรรมในโลกเสมือนจริง หลายคนโพสต์เพื่อสร้างอัตลักษณ์ใหม่บนเฟซบุ๊ก เลือกโพสต์เฉพาะวันที่แต่งตัวสวย ไปเที่ยวที่ดีๆ เจออะไรเด็ดๆ โพสต์เพื่อให้คนอื่นเห็นเราในแบบที่เราอยากเป็น และให้เขามากดไลก์เพื่อให้ได้การยอมรับในตัวตนนั้น แล้วพอเราเริ่มจริงจังกับอัตลักษณ์บนโลกเสมือน เราก็ถ่ายเทหลายส่วนที่เป็นเราแล้วทำให้มันเสมือนจริงมากขึ้นเรื่อยๆ ถ่ายโอนทั้งเรื่องดี เรื่องไม่ดี เพราะเชื่อว่าสิ่งนี้มันเป็นธรรมชาติของมนุษย์ แล้วก็พาลเชื่อเวลามีคนมากดไลก์สเตตัสที่ลบๆ ร้ายๆ ว่า เขาสามารถยอมรับและเข้าถึงตัวตน (เสมือน) ของเราได้ในทุกด้าน โอ้ววว…โลกในฝันดีๆ นี่เอง

 

ประเด็นที่สอง: ต้องการความใส่ใจ

     ดูง่ายๆ คนที่โพสต์บ่อยมากเท่าไร ก็เพราะต้องการความสนใจจากเพื่อนและสาธารณะมาก มีงานวิจัยทางจิตวิทยาจาก Union College of New York บอกว่า คุณกำลังโหยหาความเป็นที่สนใจอย่างทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว

     เอ…หรือเพราะเราไม่ได้ให้ความสนใจต่อกันและกันในชีวิตประจำวัน เพราะแต่ละวันสำหรับหลายคนมันก็เป็นแค่วันธรรมดา ก็เลยรู้สึกดีเวลาที่มีคนมากดไลก์กดเลิฟกับเรื่องบางเรื่องที่เราหยิบยกมาแชร์ เมื่อมีคนสนใจเรื่องของเรา เราก็รู้สึกพิเศษ แล้วบังเอิญว่าบ้านเรานั้นชอบเหลือเกินเรื่องดราม่า อกหัก รักซ้อน ชีวิตทรุด มนุษย์หลายคนก็เลยขยี้เรื่องที่ตัวเองกำลังประสบพอเจอให้ดูพิเศษราวกับว่าตัวเองเป็นตัวละครเอกในละครหลังข่าว ให้คนอ่านอินไปตามๆ กัน

     ก็เห็นชัดกันอยู่ว่าบ้านเราชอบข่าวเมาท์ เรื่องดีๆ เบาๆ เหมือนที่เห็นในชีวิตประจำวันมันไม่ดึงความสนใจอะไรอีกแล้ว

 

ประเด็นที่สาม: เช็กดูเสียหน่อยว่ายังแคร์กันอยู่

     เราต้องการเช็กว่าซัพพอร์ต (support) รายล้อมเรายังมีชีวิตอยู่ไหม ยังแคร์เราอยู่ไหม เราก็เลยโยนภาวะทิ้งดิ่งลงไปในโซเชียล อย่างประโยคที่ว่า “ชีวิตที่ผ่านมาคืออะไร วันพรุ่งนี้ก็ไม่มีจริง” หรือบางทีเราก็โยนภาวะระเบิดในใจ อย่าง “staff ที่นี่น่าต่อยจริงๆ ขออย่าให้ได้ร่วมงานกันอีกเลย” เพื่อให้คนเข้ามาตอบง่ายๆ ว่า “เฮ้ย เกิดอะไรขึ้นวะ” “ใครทำมึง เดี๋ยวกูช่วย” อะไรเทือกนี้ ใครได้รับข้อความจากเพื่อนในเฟซบุ๊กแบบนี้ไปก็รู้สึกดีว่าเราเนี่ยมีคนคอยอยู่เคียงข้าง ไม่เดียวดาย

     บางคนทำในสเกลใหญ่เข้าข่ายบานปลาย ด้วยการหาพวกโพสต์เพื่อโจมตีคนอื่น

 

ประเด็นที่สี่: ต้องการความเห็นอกเห็นใจในวันที่แพ้พ่าย

     หลายคนอาจต้องการกำลังใจชีวิตและความเชื่อมโยงจากเพื่อนมนุษย์ในวันที่แพ้พ่าย ก็เลยแชร์เรื่องแย่ๆ ให้คนอื่นฟัง เดี๋ยว…นี่เราไม่มีพื้นที่ปลอดภัยไว้เล่าเรื่องเศร้าเรื่องแย่ๆ จนคนต้องเอามาเขียนลงบนโซเชียลฯ กันแล้วใช่ไหม? คำตอบก็คือ…น่าจะใช่ ตามธรรมชาติคนเรามีความต้องการที่จะเล่าระบายเรื่องทุกข์ใจให้กับใครสักคนที่ไว้ใจฟัง เมื่อมีความต้องการเชื่อมโยงและต้องการความเห็นอกเห็นใจหรือ ‘empathy’ แล้วบังเอิญมีโลกแห่งความเชื่อมโยงอยู่ในโลกไซเบอร์ เออ…ใครจะไม่ลองใช้ แถมก็มีหลายทีที่เราได้กำลังใจผ่านทางโซเชียลตั้งมากมาย

 

ประเด็นที่ห้า: ขาดการเก็บกลั้นอารมณ์

     ยิ่งเราไม่มีพื้นที่ในการเก็บกลั้นอารมณ์ที่เกิดขึ้นในตัวเราได้มากเท่าไร พอรู้ว่ามีพื้นที่ว่างๆ อยู่ในโลกออนไลน์ เราก็โยนทุกอย่างที่วิ่งเข้ามาในหัว โยนทุกความรู้สึกที่ก่อผลึกอยู่ในใจให้ไปวางไว้ใน status update พอเราได้เขียนออกไป เราก็โล่งใจปลอดโปร่ง อันนี้เหมือนผลักให้ทุกอย่างไปกองลงในเฟซบุ๊ก เหมือนเวลาคนโกรธหรืออัดแน่นไปด้วยความคิดในใจมากๆ แล้วจัดการมันไม่ได้ เช่น โกรธเวลาไปรับบริการบางอย่างแล้วไม่รู้จะพูดกับใคร โกรธไปรษณีย์ไทย โกรธประเทศชาติ โกรธคอนโดฯ ที่สร้างอยู่ข้างบ้าน โพสต์ก่นด่ามันก็จะมากันเป็นพรวน

 

ประเด็นที่หก: เก็บไว้เป็นความทรงจำ

     หลายคนใช้พื้นที่บนโลกโซเชียลมีเดียแทนไดอะรี จด บันทึก แปะภาพ ถ่ายโอนทุกอย่างที่อยากเก็บไว้ในความทรงจำทั้งหมดลงไปในไทม์ไลน์ แล้วพอเราเห็นมันเป็นไดอะรี เรื่องร้าย เรื่องดี เขียนหมดทุกอย่างในหลืบใจ เพราะเข้าใจว่าพื้นโซเชียลมีเดียเป็นพื้นที่ส่วนตัวของเรา เพราะเราจัดการมันได้ ซึ่งเป็นมุมมองที่ผิด เพราะพื้นที่เหล่านั้นห่างไกลจากคำว่าพื้นที่ส่วนตัวมาก มันเป็นที่สาธารณะที่ใครก็ตามสามารถเข้ามาดู ออกความเห็น แชร์ต่อ แคปหน้าจอ และทำอะไรได้หลายอย่าง ที่สำคัญแม้จะมีให้เลือกเซตค่าความเป็นส่วนตัว แต่เอาเข้าจริงๆ เราควบคุมการไหลเวียนของข้อมูลได้ไม่หมดหรอก

สิ่งที่น่าคิดซ้ำก็คือ หลายๆ อย่างที่เราต้องการไม่ว่าจะเป็นคุณค่าในตัวเอง ความใส่ใจจากคนรอบข้าง ซัพพอร์ตที่แบ็กอัพใจ ความเชื่อมโยงจากเพื่อนมนุษย์ เติมเต็มความรู้สึกเดียวดายและพื้นที่ปลอดภัยไว้ระบายความทุกข์ใจ และแหล่งกักเก็บความทรงจำอันมีค่าทั้งหลาย เราควรจะใช้พื้นที่บนโลกโซเชียลมีเดียในการทำหน้าที่นั้นไหม?

คำถามสำคัญ: เราต้องใช้โซเชียลมีเดียทำหน้าที่นั้นไหม?

     ประเด็นต่างๆ ที่กล่าวมาสะท้อนให้เห็นว่า เราใช้พื้นที่โซเชียลออนไลน์เพื่อตอบสนองความต้องการลึกๆ ทางใจหลายอย่าง ทุกอย่างมีที่มา เพียงแต่ว่าสิ่งที่น่าคิดซ้ำก็คือ หลายๆ อย่างที่เราต้องการไม่ว่าจะเป็นคุณค่าในตัวเอง ความใส่ใจจากคนรอบข้าง ซัพพอร์ตที่แบ็กอัพใจ ความเชื่อมโยงจากเพื่อนมนุษย์ เติมเต็มความรู้สึกเดียวดายและพื้นที่ปลอดภัยไว้ระบายความทุกข์ใจ และแหล่งกักเก็บความทรงจำอันมีค่าทั้งหลาย เราควรจะใช้พื้นที่บนโลกโซเชียลมีเดียในการทำหน้าที่นั้นไหม?

 

‘การแยกแยะ’ หาเส้น ‘ขอบเขต’

     ระหว่างตัวตนจริงและอัตลักษณ์เสมือนบนโลกโซเชียล คุณที่ได้รับยอดไลก์ ก็ไม่ใช่คุณจริงๆ ที่นั่งโพสต์รูปเหล่านั้นลงไป การที่คนชอบสิ่งที่คุณเขียนก็ไม่ได้แปลว่าเขายอมรับความเป็นคุณทั้งหมด เขาแค่ชอบข้อความนั้นๆ เท่าที่เขาเห็น เขาแค่ชอบตัวตนจำลองที่คุณปั้นแต่งลงไป

     ระหว่างปฏิสัมพันธ์จริงกับปฏิสัมพันธ์ปลอม แน่ใจได้อย่างไรว่าคนที่เขากดไลก์เขาชอบสิ่งนั้นจริงๆ บางคนทำเพื่อเหตุผลอื่น เช่น กดเพื่อแสดงตัวว่าเห็นข้อความนั้นนะ กดไลก์เพื่อกดดัน เราไม่มีวันรู้ความหมายที่แท้จริงผ่านปฏิสัมพันธ์ปลอม

     ท่องดังๆ วันละ 3 ครั้งค่ะว่า อินสตาแกรมเอย เฟซบุ๊กเอย ทวิตเตอร์เอย มันเป็นพื้นที่สาธารณะ ไม่ใช่พื้นที่ส่วนตัว และการใช้พื้นที่สาธารณะจำเป็นต้องแคร์คนอื่นที่ใช้ร่วมกัน ไม่ใช่ไอเดียที่ว่า พอเป็นพื้นที่สาธารณะแล้วเราจะทำอย่างไรกับมันก็ได้ ในเมื่อเรายังมีคนอื่นๆ รายล้อมให้เคารพและใส่ใจ

     พึงระลึกเสมอว่า อะไรที่คุณเขียนพ่นก่นด่า สาดส่งด้วยความเกลียด หรือแชร์ด้วยความชิงชังนั้น ไม่ได้ลอยอยู่แค่หน้าสเตตัสของคุณคนเดียว แต่เป็นคลื่นระลอกข่าวสารที่จะไปวนบนหน้าพื้นที่โซเชียลคนอื่น นั่นแปลว่าคุณกำลังโยนขยะความรู้สึกและปฏิกูลทางความคิดลอยเข้าไปในอากาศที่มีคนอีกหลายหมื่นคนอาจจะได้รับการปนเปื้อนมันไปโดยที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แล้วหลายคนเขาก็ไม่ได้อยากจะเห็นมัน เขาเลือกไม่ได้

     เพราะฉะนั้น มีขยะที่อยากขย้อนก็เอามันไปใส่ลงในพื้นที่ส่วนตัวที่มีคนใกล้ตัวสามารถฟัง ประคอง และกรองมันไปอย่างไว้ใจ หรือไม่ก็ไปพักไว้ในบ่อบำบัดน้ำเสียที่เรียกว่าไดอะรีจะดีกว่าไหม มันจะได้ไม่เบียดเบียนคนอื่นแล้วมันก็เป็นสิ่งที่ไม่ดีต่อสุขภาพจิต เพราะมันไม่ใช่การจัดการความรู้สึกแง่ลบอย่างแท้จริง เพราะคุณก็แค่ผลักโยนมันออกไปนอกตัวชั่วคราว

     เอาแบบจำง่ายๆ “ถ้ามีขยะ ก็ทิ้งขยะให้เป็นที่เป็นทาง อย่าโยนมันขึ้นไปบนอากาศให้คนอื่นตามหลบ ตามอี๋ แล้วขยะเหล่านั้นมันก็มีข้อดี มันเคยมีประโยชน์กับเรามาก่อน แค่ตอนนี้อาจเปลี่ยนไป เพราะฉะนั้นถือไว้ที่ตัวแป๊บนึง หยิบขึ้นมาดู พินิจพิเคราะห์ แล้วถ้าเจอถังขยะก็ค่อยปล่อยทิ้งมันให้ถูกที่ถูกทาง หรือบางครั้งเรามองมันนานพอที่จะเห็นประโยชน์จากขยะแล้วนำมันไปรีไซเคิลมาใช้ประโยชน์ใหม่ก็เป็นได้”

     และถ้าอยากได้ความเชื่อมโยงเพื่อเติมเต็มความเดียวดายอย่างแท้จริงในเวลาที่ทุกข์ทรมานแสนสาหัส แนะนำให้โทรหาเพื่อนสนิทหรือคนรู้ใจ แล้วใช้เวลาให้มันผ่านไปแบบลืมโทรศัพท์ไปเลย…อันนี้น่าจะเดียวดายน้อยลงได้อย่างแท้ทรู

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X