หลังจากที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดี สหรัฐฯ ประกาศลดอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจากประเทศคู่ค้าส่วนใหญ่ของสหรัฐฯ เหลือ 10% เป็นเวลา 90 วัน เพื่อเปิดทางให้มีการเจรจา และยังคงอัตราภาษีเฉพาะจีนเป็น 125% นั้น ทำไมทรัมป์ ‘กลับลำ’ เปลี่ยนเกมยอมทิ้งไพ่ หากสงครามไม่จบลงง่าย คำถามคือ ‘ไทย’ วางใจได้แค่ไหน
ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี ในฐานะที่ปรึกษาคณะทำงานนโยบายการค้า สหรัฐฯ อเมริกา ให้สัมภาษณ์กับรายการ THE STANDARD NOW เช้าวันนี้ (10 เมษายน) ว่า ไม่ได้คาดหมายว่าทรัมป์จะชะลอออกไป แต่ถามว่าสงสัยหรือไม่ว่าในที่สุดแล้ว เมื่อมองถึงแรงกดดันภายในทั้งหุ้นที่ปรับตัวลดลง และพันธบัตรของรัฐบาลอเมริการาคาก็ลง ดอกเบี้ยขึ้น ค่าเงินดอลลาร์อ่อน แน่นอนมีเสียงเตือนจากทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยว่าการเก็บภาษีศุลกากรสูงแบบนี้จะส่งผลกระทบในเชิงลบ
ดังนั้นเราก็คาดการณ์ได้ว่า แรงกดดันเหล่านี้อาจจะทำให้ประธานาธิบดีทรัมป์ปรับเปลี่ยนท่าที แต่ถามว่าเมื่อคืนนี้นอนหลับสบายหรือตื่นเช้ามาก็คงไม่ใช่
แรงกดดันจากภาคธุรกิจ และชาวอเมริกัน มีผลต่อการตัดสินใจชะลอขึ้นภาษี 90 วัน แค่ไหน?
มองว่า ในส่วนนี้ได้พยายามเจาะข่าว หาข้อมูล เท่าที่ผมประเมินได้ ภาพน่าจะเป็นเช่นนี้ และคนที่ประธานาธิบดีทรัมป์ขับเคลื่อนเรื่องนี้ ตอนแรกก็เป็นรัฐมนตรีพาณิชย์ นั่นคือ ฮาวเวิร์ด ลุตนิก
โดยตามการอ้างอิงของแหล่งข่าว ฮาวเวิร์ด ลุตนิก ไปพูดเรื่องต่างๆ ทำให้หุ้นตกเยอะ ทรัมป์ไม่พอใจ ดังนั้น ตอนหลังผู้ที่มีบทบาทมากขึ้นคือ รัฐมนตรีคลัง คือ สก็อตต์ เบสเซนต์ ซึ่งพยายามเตือนทรัมป์ว่า เป็นเรื่องที่แรง ต้องปรับ ถอย
ซึ่งท้ายที่สุด สก็อตต์ เบสเซนต์ ได้เสนอทรัมป์ว่า “คุณอย่าไปกดดันประเทศอื่นที่เป็นพันธมิตร คนที่เป็นเพื่อนกับอเมริกาเลย เอาแรงไปกดดันประเทศที่ต้องการจัดการเป็นหลักคือจีนดีกว่า”
จึงทำให้ประเด็นนี้มีน้ำหนัก เพราะรัฐมนตรีคลังอ้างว่า เขาได้คุยกับทรัมป์เป็นเวลานาน
อีกคนสำคัญ คือ ซูซี่ ไวลส์ เป็นผู้หญิงที่รันแคมเปญทรัมป์มาก่อนหน้า พูดง่ายๆ คือเป็นเลขาของประธานาธิบดี คุมทุกอย่าง เธอบอกว่า “อย่าไปทำให้เรื่องภาษีศุลกากรกระทบต่อคะแนนนิยมของทรัมป์ ต้องเก็บกระสุนทางการเมืองไว้ เพราะต้องไปต่อสู้กับเรื่องอื่นๆ”
สิ่งที่กล่าวมาข้างต้นล้วนสร้างแรงกดดันต่อทรัมป์ ยังไม่รวมกระแสข่าวอีกว่า ที่ปรึกษาของทรัมป์แตกคอ ทั้ง ปีเตอร์ นาวาร์โร และ อีลอน มัสก์ ก็ทะเลาะกัน ในแอป X หลักฐานเหล่านี้ “Something make hard to break.” ต้องแตกหักกันไปบ้าง หรือต้องมีอะไรหัก อะไรงอ จึงพอประเมินสถานการณ์ได้ แต่นั่นเป็นเรื่องของเขา เราก็ประเมินอยู่ห่างๆ
“สังเกตว่าทรัมป์เปลี่ยนเกม เกมนี้คือเกมที่ดีต่อพวกเรา เพราะคิดจะกดดันจีนคนเดียวที่ไม่ตอบสนองทรัมป์เลย ซึ่งทรัมป์อยากเป็นคนที่มีไพ่เยอะที่สุด”
อีกหนึ่งข้อสังเกต ในรอบการพบปะ โวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดีของยูเครน ที่ทำเนียบขาวเมื่อวันที่ 28 ก.พ. จะเห็นว่า คีย์เวิร์ดวันนั้นที่ทรัมป์พูดคือ “You don’t have the card.” คุณไม่มีไพ่จะเล่น อย่ามาทำเป็นเล่นไพ่กับผม ทรัมป์คิดว่า เขาถือไพ่เต็มมือและทุกคนต้องยอมเขา
“จริงๆ ทรัมป์ยอมลดไพ่ ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักมาตั้งนานแล้ว รอบนั้นเขาถือไพ่เต็มมือ เขานึกว่าเขาทำได้ทุกคนพร้อมกัน แต่กับจีน เป็นเป้าตั้งแต่แรกแล้วมากกว่า”
วิธีคิดง่ายเช่นๆ นี้ หากย้อนไปช่วงทรัมป์ 1 จะเห็นว่า ทรัมป์ขึ้นภาษีศุลกากรจีนคนเดียวเป็นหลักและมีสินค้าอื่นๆ อย่าง อะลูมิเนียม ประปราย แต่มุ่งเป้าไปที่จีนเป็นหลัก เมื่อจีนโดนเป็นหลัก จะเห็นว่า เป็นจุดเริ่มต้น นโยบาย ‘China Plus One’ ซึ่งในขณะนั้นจะเริ่มเห็นสัญญาณการย้ายฐานผลิตจากจีน เช่น Apple ส่วนหนึ่งมาอยู่เวียดนาม ไทย เม็กซิโก แคนาดา ทุกคนทำแบบนั้นหมด เพราะคิดว่าโอเค
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ทรัมป์ประกาศเมื่อไม่นานมานี้ 2 เมษายน ‘China Plus One’ ไม่โอเคอีกต่อไป เพราะว่า แม้แต่กัมพูชา เวียดนาม จะยอมลดภาษีเหลือ 0% ก็ไม่พอ ต้องไปจัดการ รวมถึงสินค้าจากจีนที่มาขายผ่านประเทศคุณ ดังนั้น ผมจึงมองว่า จีนเป็นเป้ามาตลอด
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- คุยกับ ‘วิบูลย์’ คำต่อคำ ภาษีทรัมป์ทุบธุรกิจไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์แรงแค่ไหน?
- เปิดรายชื่อประเทศคู่ค้าที่ สหรัฐฯ เก็บภาษีสูงสุด และ 8 อันดับชาติอาเซียน โหดแค่ไหน?
- ฟังจากปาก ดร.ศุภวุฒิ ทำไมไทยไม่รีบไปขอทรัมป์ลดภาษี พร้อมเปิดแผนรับมือ
- สรุปไทม์ไลน์ ทรัมป์ประกาศขึ้นภาษีอะไรไปบ้าง จับตา 2 เม.ย.
อ่านเกม สหรัฐฯ ทำไมทรัมป์ ‘กลับลำ’
จุดประสงค์ของการขึ้นภาษีคือ “ต้องการดึงให้เรามาเจรจา” ซึ่งการขึ้นแบบเวอร์ๆ นั้น ผิดกฎองค์การการค้าโลก (WTO) เพราะเขามีไพ่เต็มมือ และไม่ได้เจรจาให้เราลดภาษีอย่างเดียว แต่มาบอกว่า คุณลองมาเสนออย่างอื่นให้เราสิ ถ้าเราชอบ ก็โอเค นอกจากว่าเราจะแลกข้อเสนอ แต่คุณต้องมี โน่น นี่ นั่น ให้ผมด้วย นั่นก็ไม่จบอีก
ต่อเวลา 90 วัน ไทยควรโล่งอกไประยะหนึ่งหรือไม่
ดร.ศุภวุฒิ มองว่า หากดูในหลักการ ‘ไม่โล่งอกเลย’ เพราะนักธุรกิจที่วางแผน เขาวางแผนการลงทุนรายปี 5 ปี เมื่อบอกว่ายืดเวลาออกไป 90 วัน เปลี่ยนได้นั้น มันไม่ตอบโจทย์การทำธุรกิจแต่อย่างไร เพราะนักลงทุนอย่างไทยเองก็มีสินค้าที่จะส่งไปอเมริกา วันนี้ภาษี 10% หลังจากนี้ 90 วันอาจจะเป็น 36% อีกก็ได้ ฉะนั้นไม่ตอบโจทย์ใครเลย แต่ตอบโจทย์ทรัมป์คนเดียว เพราะหุ้นก็ปรับขึ้น
ถามว่าหากไทยมีเวลาเจรจา 90 วัน ไทยต้องปรับแผนหรือวางแผนเตรียมการอย่างไร ดร.ศุภวุฒิ ระบุว่า เราคิดกรอบการเจรจาค่อนข้างที่จะครบถ้วนแล้ว แต่แน่นอนว่านี่คือแนวทาง
“ต้องดูเขาตั้งโจทย์อะไร เขาจะไม่ใช่คนเดิม เขาจะไม่เป็นอเมริกาที่สร้างระบบการค้าพหุภาคี ไม่มี General Agreement on Tariffs and Trade: GATT) ที่ส่งเสริมประโยชน์ทางการค้าร่วมกันอีกต่อไปแล้ว อย่าไปหวังกลับไปสู่สมัยเดิม อเมริกาเปลี่ยนไปแล้ว ทรัมป์เปลี่ยนไปแล้ว ในโลกใหม่อเมริกาแบบใหม่เราจะอยู่กับเขาอย่างไร ตอบเร็วๆ คือ เราคิดว่า เขาตั้งเอาไว้เพื่อให้ต่อรองลงมา อาจจะต่อรองลงมาได้ เขาก็เปิดไต๋แล้วว่าลงมาได้ที่ 10% ทุกประเทศโดนหมด”
อีกเป้าคือ จะอยู่กับอเมริกาอย่างไร ซึ่งในทีมก็คุยกันว่า เราจะใช้ประโยชน์ร่วมกันกับอเมริกาอย่างไร ดังนั้น หลักการที่สำคัญคือ นอกจากตอบสนองสิ่งที่อเมริการ้องเรียนมาตลอด ซึ่งเรามาดูเป็นข้อๆ นั่นคือ
ไทยเป็นประเทศที่แปรรูปอาหารได้ดี เขาเป็นประเทศที่ผลิตสินค้าเกษตรได้ดี เราจะตั้งใจซื้อสินค้าเขามาแปรรูป นี่แหละคือวิธีที่จะทำมาหากิน เพราะเรื่องอาหารเราทำได้ดี ต่อยอดไปสู่จุดแข็งที่ไทยเป็นประเทศที่น่าเที่ยว น่าอยู่
สร้างแนวร่วมกับเกษตรกร กับนักการเมืองที่อยู่มลรัฐที่ทำเกษตร สหรัฐฯ เพื่อที่เราจะมีความสัมพันธ์อันดี จะเป็นประโยชน์ เพราะนี่คือฐานเสียงของทรัมป์ ของพรรครีพับลิกัน และเป็นฝ่ายที่กระทบจากการตอบโต้มากที่สุด เพราะคนอื่นไม่ซื้อถั่วเหลืองไม่ซื้อข้าวโพด ในส่วนนี้เราเติมเต็มอเมริกาได้
“เราต้องยอมรับตัวเองว่าเราไม่มีไพ่จะเล่น เราจะไปตอบโต้แบบจีนก็ทำไม่ได้”
ไพ่ของไทยมีกี่ใบ?
“มีไพ่อื่นๆ ด้วย ตรงนี้อยู่ในรายละเอียด ซึ่งผมเปิดเผยไม่ได้ เพราะบางเรื่องเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ ใช้ในการต่อรอง ปกติแล้วถ้าคณะที่จะไปเจรจา ในอดีตที่ผมเป็นข้าราชการจะต้องไปขออนุมัติครม.ว่าอย่างนี้อนุมัติหรือไม่ เราจะต้องไปออกแบบแบบนี้ เราจะไปเปิดอะไรมากไม่ได้ เพราะจะเป็นการเปิดไต๋ให้คนอื่นเขารับรู้ แต่ภาพใหญ่เรามีเท่าที่จะเล่าให้คนไทยฟังได้ ว่าเรามี 5 เสาหลักที่เราพูดถึง”
หมายความว่า หลังจากนี้แม้ทรัมป์ชะลอออกไปก่อน ภาครัฐก็เดินหน้าต่อไปเช่นเดิม ?
แผนนี้เป็นแผนที่จะใช้ในการเจรจาเพราะเราไตร่ตรองครบถ้วนและถี่ถ้วนแล้ว และจะเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์กับประเทศไทย เราจะรีเซ็ตกับความสัมพันธ์อเมริกันไปยาวอีกเป็นสิบปีในกรอบที่อเมริกาเปลี่ยนไปแค่ไหนก็จะเป็นกรอบเดิมเช่นนี้
“ก็ต้องรีบเจรจาให้แล้วเสร็จก่อน ให้มีข้อตกลงร่วมกัน จะเป็นสิ่งที่วางกรอบได้ในระยะยาวซึ่งได้เขียนไส้ในบันทึกของอาจารย์พันศักดิ์ วิญญรัตน์ ส่งไปถึงนายกรัฐมนตรีแล้ว ต้องการให้มีความสัมพันธ์กับอเมริกาที่มีเสถียรภาพ และคาดการณ์ได้ ซึ่งตอนนี้ไม่มีทั้งสอง แต่เราจะทำอย่างไรให้ได้เร็วที่สุด”
ดร.ศุภวุฒิ ยอมรับว่า “แน่นอนว่าเป็นเรื่องยาก อาจจะยอมเสียภาษี ถ้าจะได้มาในสิ่งที่เราว่านี้ เราต้องยอมสูญเสียอะไรบางอย่างแน่นอน เพราะเขาเรียกร้องมากเหลือเกิน แต่สิ่งที่เราต้องการคือ ยังไงอเมริกาก็เป็นคู่ค้าสำคัญ เป็นพันธมิตรด้านอื่นๆ ด้านความมั่นคง ท้ายที่สุดคือต้องการความเป็นเสถียรภาพ ฟังดูยากแต่นั่นคือสิ่งที่ต้องทำในระยะยาว ไม่ใช่แก้ปัญหาเฉพาะหน้า เท่านั้น”
ในฐานะที่มีประสบการณ์ในการเจรจา วันนี้ไทยต้องเตรียมตัวอย่างไร
เท่าที่ผ่านมาและเท่าที่อาจารย์พันศักดิ์ เสนอแนะให้ตั้งคณะทำงานขึ้นมา ก็จะสะท้อนได้ว่า
เมื่อต้นเดือนมกราคมท่านนายกได้ประกาศตั้งคณะทำงานที่มาดูปัญหาการค้าไทย กับ สหรัฐฯ ซึ่งเป็นคณะทำงานที่ปลัดกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน และอาจารย์พันศักดิ์และผมเป็นที่ปรึกษาเท่านั้นเอง
ถามว่าจะทำอย่างไรนั้น ระดับปลัดจะเพียงพอหรือ คำตอบคือ อเมริกามีการค้ารายละเอียดมากมาย ต้องใช้ความรู้กฎระเบียบ สำคัญคือ ต้องการคนที่เป็น “เทคโนแครต” คือกลุ่มคนที่ได้ชื่อว่ามีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ไม่อย่างนั้น ยกตัวอย่างเวียดนาม ที่มีการเจรจาระดับผู้แทนการค้า (USTR) แต่เมื่อหารือแล้วก็ต้องตั้งคณะทำงานอีก
“ฉะนั้น เราเตรียมก่อนตอนนี้ไม่ดีกว่าหรือ ระหว่างที่กำลังฝุ่นตลบ ทุกคนวิ่งไปหาทรัมป์ แต่วิ่งไปก็ไม่ได้อะไรกลับมาสักคน”
“วันที่ทรัมป์ยกชาร์ตขึ้นมา ตามข่าวบอกว่าทรัมป์เคาะวันที่ 31 มีนาคม ก่อนหน้านั้นลูกน้องเถียงกันไปมา แล้วจึงมาแถลง 2 เมษายน ถ้าเราเจรจาวันนั้น ซึ่งเราก็ติดต่อ USTR ก็ยอมรับว่า เขาก็ยังไม่รู้ว่าสาระสำคัญจะเป็นอย่างไร ซึ่งยังตอบไม่ได้ ”
คณะทำงานวางแนวทางไว้แล้ว?
ใช่ และรัฐมนตรีพาณิชย์ ได้ติดต่อ สหรัฐฯ อยู่แล้วอย่างไม่เป็นทางการ โดยต่อรอคิววุฒิสภา ซึ่งในขณะนั้นคณะทำงานก็ทำต่อเนื่องตั้งแต่เดือนมกราคม ซึ่งขณะนี้ เท่าที่ทราบสถานทูตที่วอชิงตันติดต่อไปแล้ว และตอบรับ เริ่มนัดวัน และไม่สายเกินไป เพราะแม้แต่วันนี้โจทย์ใหม่ คิดว่าสองสามวันนี้น่าจะได้ตกลงกัน ในระดับเจ้าหน้าที่จะมีอะไรบ้าง
อย่างไรก็ตาม ต้องย้ำว่า ส่วนตัวเป็นเพียงที่ปรึกษารัฐบาล ทุกอย่างต้องขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของรัฐบาล แต่เข้าใจว่า ท่านรองนายกพิชัย ชุณหวชิระ รัฐมนตรีคลัง จะไปประชุมที่เวิลด์แบงก์และ IMF อยู่แล้ว หากไปในนามภารกิจอื่นก็คิดว่าเป็นโอกาสที่ดี
โดยท้ายที่สุด ก็อยากจะสร้างแนวร่วมกับมลรัฐที่ทำเกษตรกับ สหรัฐฯ อเมริกา เพื่อการค้าขายภาคเกษตรให้เห็นถึงเจตนารมณ์
“30 ปีที่ผ่านมา ที่มีการเจรจากับ สหรัฐฯ ก็เป็นรัฐมนตรีพาณิชย์และรัฐมนตรีคลังเจรจามาตลอด ”
ทั้งนี้ ขอเน้นย้ำว่า ไทยควรเน้นสร้างกลไกกับมลรัฐในเรื่องภาคเกษตร อีกส่วนคือการเจรจากับรัฐบาล สหรัฐฯ ซึ่งเป็นการเจรจากับ ผู้แทนการค้า (USTR) และคณะกรรมการเจ้าหน้าที่นโยบายการค้าหรือ TPSC ซึ่ง USTR จะเป็นหน่วยงานหลัก หากเจรจาระดับนี้ก็จบ แต่ถ้าอีกระดับคือ ระดับปลัด รวมทั้งสิ้นสหรัฐจะมีราวๆ 19 หน่วยงาน
“จากประสบการณ์หากเจรจาลอยๆ หรือไม่มีผู้แทนการค้าไทย (Thailand Trade Representative หรือ TTR) คือผู้แทนพิเศษของนายกรัฐมนตรี ในการเจรจาการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศกับผู้แทนจากต่างประเทศหรือ ผู้ประกอบการธุรกิจในต่างประเทศ ก็เจรจายาก และถามว่าต้องตั้งวอร์รูมหรือไม่ ก็ไม่แน่ใจว่าวอร์รูมต้องมีขนาดนั้นหรือ เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องระยะยาว ต้องคุยกันอีกยาวๆ ซึ่งภาครัฐมีกลไกอยู่แล้ว”
ตั้งวอร์รูมสำคัญแค่ไหน ปัญหาที่แท้จริงของไทยคืออะไร?
จากกรณีศึกษาที่ผ่านมา เราเคยมีการห้ามนำเข้าสิ่งทอ ตอนนั้นท่านนายกเปรม ติณสูลานนท์ ท่านสั่งให้ปลัดสองคนไปเจรจา คือ ปลัดกระทรวงต่างประเทศกับปลัดกระทรวงพาณิชย์ กลไกรัฐมี ทำได้ และที่สำคัญการเจรจามีรายละเอียดเยอะมาก
“ปัญหาของประเทศไทยคือทำงานเป็นไซโล ในทุกเรื่อง นี่เป็นสิ่งที่บ่นกันในทุกเรื่อง ไม่ใช่แค่เรื่องนี้ แต่เป็นทุกเรื่อง เวลาเราจะทำอะไร กลายเป็นว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 10 หน่วยงานไม่คุยกัน”
ที่ผ่านมาชั้นเชิงการเจรจา USTR ขณะนั้นที่เป็นข้าราชการ C5-6 ได้มีประสบการณ์ดูผู้ใหญ่เจรจา ผู้ใหญ่ไทยสมัยนั้นเจรจาเก่งมาก ท่านเก่งและ Handle ได้ ผมจะสรุปตรงๆ ว่า “เจรจากับคนไทยด้วยกันเองยากกว่า หมายความว่า เจรจากับอเมริกา ยากน้อยกว่า เจรจากับคนไทยด้วยกัน”
ย้ำ “ไทยเลือกข้างไม่ได้”
ทั้งนี้ ท่ามกลางสงครามการค้าที่ต่างฝ่ายต่างกดดัน ช่วงชิงความเป็นหนึ่งในโลก กดดันให้นานาประเทศเลือกข้าง ดร.ศุภวุฒิ ย้ำว่า “ไทยเลือกข้างไม่ได้ ซึ่งไทยส่งออก นำเข้า และดูตัวเลขก็รู้เราจะไปเลือกข้างได้อย่างไร เช่น จีน เป็นประเทศที่ต้องนำเข้าอาหารจากทั่วโลก ประเทศไทยเป็นอันดับ 5 ที่ขายอาหารให้จีน
“ไทยเราสู้กับจีนหลายๆ เรื่องไม่ได้ เช่น รถยนต์ไฟฟ้า (EV) จีนผลิตมากสุด มีแบรนด์ EV เราก็สู้ไม่ได้ มีอย่างเดียวที่เราแข่งขันได้และพึ่งพาเราได้ในระดับหนึ่งคือ อาหาร แล้วเราจะไปทิ้งได้อย่างไร เราต้องการเป็นพื้นที่ผลิตอาหาร มีทั้งข้าว ทั้งทุเรียน ขายไปทั่วโลก และลูกค้าที่สำคัญคือ จีน”
แนะปรับนโยบายลงทุน BOI ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่
“ส่วนแนวทางที่จะนำเข้าสินค้าจาก สหรัฐฯ ในอนาคตก็ต้องเป็นไปตามกฎเกณฑ์ กฎหมาย มีหลายคนพูดแล้ว ผมคงไม่ต้องพูดเยอะ รวมถึงการจัดการการสวมสิทธิ์ส่งออก และที่สำคัญ เงื่อนไขในการส่งเสริมการลงทุนก็ต้องไปดูให้ดีว่าเราส่งเสริมนั้นเป็นประโยชน์กับประเทศไทยจริงหรือไม่ นโยบายส่งเสริมการลงทุนของ BOI จะต้องปรับเปลี่ยนหรือไม่อย่างไร จาก China Plus One วันนั้น วันนี้ต้องปรับให้เหมาะสม นี่คือเรื่องที่ BOI ต้องทำ”
ท้ายที่สุด ประเมินตัวเลขผลกระทบอย่างไร ดร.ศุภวุฒิมองว่า “ประเมินยาก แต่สิ่งที่เห็นคือ ทรัมป์สร้างความไม่แน่นอนทั่วโลก ผู้บริโภค ไม่กล้าบริโภค ผู้ลงทุนไม่กล้าลงทุน จะเป็นตัวทำให้เศรษฐกิจชะลอลงมากกว่าที่คิด”
ผมอาจมองโลก Down sign Risk เยอะไปหน่อย ซึ่งก็อาจจะทำให้เศรษฐกิจโตต่ำและหายไป 1 % และการส่งออกถ้ายังโตได้ 2-3% ก็ดีใจแล้ว ส่วนระยะยาว ความเสี่ยงมีจริง โอกาสที่ สหรัฐฯ จะเข้าสู่ภาวะถดถอยก็กว่าครึ่ง และตอนนี้ต้องลุ้นจะหัวหรือก้อย
“ถ้าอเมริกาเข้าสู่ Depression จริงๆ เราก็ไปด้วย ซึ่งต้องดูตลาดหุ้น เพราะตลาดหุ้นจะซื้ออนาคตเสมอ”
นอกจากนี้ การค้าจะฟื้นตัวช้า ซึ่งอเมริกาจะทุบซัพพลาย ซึ่งยาก แต่จะกระเพื่อมจนถึงจุดที่ทรัมป์มองว่า ได้แค่นี้
“สิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้ ทำให้พวกเราต้องหาทางใหม่ๆ ในการทำมาหากิน เช่น เราจะแปรรูปสินค้าเกษตรขายดีกว่าไหม สร้างแวลูเชนอาหาร เปลี่ยนเศรษฐกิจเดิมจากดีทรอยต์แห่งเอเชีย EV ก็เป็นเรื่องการทรานส์ฟอร์มอาหาร อยากเป็น EV ฮับ ไหวหรือ เพราะสีจิ้นผิง ไม่อยากให้ใครมาแข่ง ซึ่งมีเพียง Tesla หมายความว่า เราต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ และหาช่องทางทำมาหากินใหม่ๆ”
ส่วนศักยภาพไทยและอาเซียนก็พยายามหาอนาคตให้ตัวเอง ซึ่งเราก็ทำได้ดีในเรื่องเซมิคอนดักเตอร์ เช่นเดียวกับ สิงคโปร์ มาเลเซีย รวมถึงเรื่องยา ส่วนเวียดนามก็ต้องปรับแผน ฟิลิปปินส์ก็เน้นส่งออกแรงงานเสียส่วนใหญ่