×

ทำไมต้องมีพิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์แห่งชาติ ถอดบทเรียนผ่านไต้หวัน บ้านเดิมของบรรพชนมลายู

21.02.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

10 mins. read
  • ย้อนกลับไปเมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว รัฐบาลไต้หวันได้มีนโยบายสร้างทางรถไฟลงไปทางใต้ ระหว่างกำลังขุดทางมาถึงที่เมืองเป่ยหนานก็ได้พบกับโลงศพหินจำนวนมากมายเข้า ซึ่งกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการค้นพบทางโบราณคดีที่สำคัญของไต้หวันและเอเชีย 
  • ด้วยความสำคัญของวัฒนธรรมเป่ยหนานและชนเผ่าดั้งเดิมที่สัมพันธ์กับความเป็นมาของไต้หวัน จึงเป็นที่มาของการสร้างพิพิธภัณฑ์ก่อนประวัติศาสตร์แห่งชาติ (National Museum of Prehistory) เมื่อปี 2002 หลังการค้นพบวัฒนธรรมเป่ยหนาน
  • นโยบายในการสร้างความเป็นไต้หวันผ่านพิพิธภัณฑ์มีที่มาจากมุมมองที่ว่า ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้นั้นต้องรู้จักและเข้าใจความหลากหลายทางชาติพันธุ์และวัฒนธรรม เพราะหากไม่รู้จักกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ แล้วย่อมก่อให้เกิดความเป็นอื่น (Otherness) ขึ้นด้วย ด้วยเหตุนี้เวลาเข้าไปยังพิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์ บางแห่งจะพบว่าได้รวมเอาคนจีน (ไต้หวัน) เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการด้วย เพื่อให้พิพิธภัณฑ์เป็นพื้นที่แห่งความเท่าเทียมนั่นเอง 
  • ถ้าเราอยากเห็นสังคมที่คนไทยมีความเคารพซึ่งกันและกันและเข้าใจความหลากหลายทางชาติพันธุ์ พิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์คือคำตอบหนึ่งของกระบวนการสร้างความเท่าเทียมกันทางสังคม

ไทเปมักเป็นจุดหมายปลายทางของใครหลายคนที่ไปเที่ยวไต้หวัน แต่น้อยคนจะรู้ว่าก่อนที่คนจีนนับล้านจะอพยพจากแผ่นดินใหญ่อันเป็นผลมาจากปัญหาความขัดแย้งของอุดมการณ์ทางการเมืองแล้วไปก่อตั้งประเทศไต้หวันขึ้นนั้น เกาะแห่งนี้ถือได้ว่าเป็น ‘Homeland’ หรือถิ่นฐานดั้งเดิมหรือต้นกำเนิดของบรรพชนทางภาษาของชาวมลายูในภาคใต้ของไทยอีกด้วย ซึ่งมีประวัติความเป็นมายาวนานหลายพันปี โดยมีร่องรอยบางอย่างที่อาจเกี่ยวโยงกับหลักฐานทางโบราณคดีในไทย และเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ผมเดินทางไปสำรวจโบราณคดีทางภาคใต้ของเกาะไต้หวัน  

 

อนุสาวรีย์ของเจียงไคเชก ผู้ก่อตั้งประเทศ หนึ่งในสัญลักษณ์ของไต้หวัน

 

ปริศนาโลงศพหินที่ไทย สู่จุดเริ่มต้นของการเดินทาง

เมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว ตอนนั้นผมเป็นนักโบราณคดีรับจ้าง ซึ่งทาง อบต.วังประจบ ร่วมกับสำนักศิลปากรที่ 6 สุโขทัย ได้ว่าจ้างให้ผมไปขุดค้นแหล่งโบราณคดีบ้านหนองร่ม อ.เมือง จ.ตาก โดยหวังว่าจะพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวหรือแหล่งเรียนรู้ ผลจากการขุดค้นไม่ได้พบอะไรที่น่าตื่นเต้น พบเพียงเครื่องมือขวานหินขัด ชิ้นส่วนกำไลหิน (นิยมหินสีเขียว) และเศษภาชนะดินเผาเท่านั้น จัดเป็นหลักฐานในช่วงสมัยหินใหม่ตอนปลาย

 

แต่เหมือนจะเป็นโชคดีของทาง อบต. หรือผมก็ไม่แน่ใจ เพราะวันท้ายๆ ของการทำงาน ปรากฏว่าผมได้ไปพบแหล่งโบราณคดีแห่งใหม่เข้าโดยบังเอิญในพื้นที่ใกล้เคียงกัน บริเวณที่พบมีชื่อว่าบ้านวังประจบ อยู่ติดถนนทางหลวง หลักฐานที่นี่นับว่าตื่นเต้นมาก เพราะมีประเพณีความเชื่อด้วยการนำแผ่นหินมาเรียงต่อกันคล้ายกับโลงศพ ซึ่งถือเป็นการค้นที่แรกและที่เดียวในประเทศไทย

 

โลงพวกนี้ไม่ใช่โลงศพ แต่คงเป็นสัญลักษณ์แทนโลงศพ เพราะภายในโลงไม่พบโครงกระดูกหรือเถ้าถ่านของมนุษย์เลย (ตรวจสอบด้วยน้ำยาแล้วก็ไม่พบร่องรอย) ในเวลานั้นผมจึงเรียกแผ่นหินที่มีรูปร่างคล้ายโลงศพนี้ว่า ‘กล่องหิน’ มากกว่าจะเป็น ‘โลงศพ’ เพื่อป้องกันความเข้าใจผิด ส่วนภายในบรรจุเพียงแต่ภาชนะดินเผา ชิ้นส่วนกำไลหิน ลูกปัดหิน และของอื่นๆ อีกเล็กน้อย กำหนดอายุด้วยคาร์บอน 14 อายุอยู่ระหว่าง 2,400-2,600 ปีมาแล้ว

 

 

โลงศพหินที่บ้านวังประจบ อ.เมือง จ.ตาก เป็นวัฒนธรรมโบราณที่พบที่เดียวในประเทศ น่าเสียดายที่ยังไม่มีการพัฒนาเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้หรือแหล่งท่องเที่ยว และมีความน่าเป็นห่วง เพราะอาจถูกทำลายจากการพัฒนาพื้นที่และทำไร่ได้ในอนาคต

 

กลุ่มของหินตั้งและโลงหินที่พบภายในหลุมขุดค้นที่แหล่งโบราณนายเสียน ใกล้กับแหล่งโบราณคดีวังประจบ

 

ในช่วงของการค้นข้อมูลเพื่อเขียนรายงานส่งกรมศิลปากรนั้น ผมก็ไปพบว่าโลงหินนี้มีรูปแบบเหมือนกับโลงอีกหลายๆ ที่ทั้งในมาเลเซีย ลังกา อินโดนีเซีย และเมียนมา (ที่รัฐคะฉิ่น) แม้จะใกล้เคียง แต่โลงพวกนี้ก็จัดอยู่ในยุคเหล็ก ไม่ใช่หินใหม่ มีเพียงที่เดียวคือทางใต้ของไต้หวันเท่านั้นที่มีความใกล้เคียงมากที่สุด ความรู้สึกที่อยากรู้ว่าโลงหินพวกนี้คืออะไรนั้น ทำให้เมื่อสัก 7 ปีก่อนผมกลับไปขุดแหล่งโบราณคดีนี้อีกครั้ง เป็นงานวิจัยในช่วงที่เป็นอาจารย์แล้ว โดยได้รับงบจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งขุดและสำรวจพบโลงอีกเกือบร้อยใบ แถมยังเจอหินตั้ง (Standing Stones) หรือหินรำลึกถึงผู้ตายเพิ่มขึ้นอีก กลายเป็นว่าโลงศพหินพวกนี้กลับยิ่งสร้างปริศนาให้กับผมมากขึ้น มากกว่าจะได้คำตอบอะไรที่ชัดเจน แต่ก็ถือเป็นธรรมชาติและเสน่ห์ของงานโบราณคดีครับ ดังนั้นเพื่อให้คลายสงสัย เมื่อ 3 ปีก่อนผมจึงเดินทางไปสำรวจที่ไต้หวัน 

 

เป่ยหนาน ถิ่นกำเนิดของบรรพชนมลายู 

ขอเล่าสักนิด ผมเลือกเดินทางไปไทเปด้วยเครื่องบิน เพราะประหยัดเวลาและสะดวกที่สุด ใช้เวลาสักชั่วโมงเศษๆ เท่านั้นก็ถึงเมืองเป่ยหนาน (卑南乡) ในเขตปกครองไถตง (台東縣) คนที่เป่ยหนานไม่เหมือนกับทางไทเปที่ใช้ภาษาอังกฤษได้คล่องแคล่ว เพราะในที่ราบใช้ภาษาจีนเป็นหลัก ในเขตที่สูงใช้ภาษาพื้นเมือง ดังนั้นก็จะมีปัญหาเรื่องการสื่อสารเอามากๆ แถมไม่มีรถโดยสารสาธารณะอีกต่างหาก ทำให้ช่วงที่เที่ยวอยู่ที่เป่ยหนาน 3 วันผมต้องใช้แท็กซี่ตลอด แต่ก็ใช่ว่าจะสะดวก เพราะลุงแท็กซี่ก็พูดอังกฤษไม่ได้ วิธีการสื่อสารกับแท็กซี่ก็คือยิงเบอร์เข้าไปเป็นสัญญาณว่าให้มารับ จากนั้นก็นั่งรออย่างมีความหวัง พอมาก็พูดว่า “เซี่ยเซี่ย” เพื่อขอบคุณ แต่คนเป่ยหนานนั้นมีน้ำใจ และเป็นเมืองที่สงบน่าอยู่มากเมืองหนึ่งเลยครับ

 

โลงศพหินของวัฒนธรรมเป่ยหนานที่พิพิธภัณฑ์ก่อนประวัติศาสตร์แห่งชาติเมืองไถตง

 

การค้นพบทางโบราณคดีหลายครั้งมาจากเหตุบังเอิญเสียมากกว่า ย้อนกลับไปเมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว รัฐบาลไต้หวันได้มีนโยบายสร้างทางรถไฟลงไปทางใต้เพื่อพัฒนาเส้นทางคมนาคมและความเจริญ ระหว่างกำลังขุดทางมาถึงที่เมืองเป่ยหนานก็ได้พบกับโลงศพหินจำนวนมากมายเข้า ซึ่งกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการค้นพบทางโบราณคดีที่สำคัญของไต้หวันและเอเชีย

 

รัฐบาลไต้หวันจึงส่งทีมนักโบราณคดีเข้ามาขุดค้นและมีความเห็นว่าควรตั้งพิพิธภัณฑ์ขึ้นด้วย เพราะหลักฐานนั้นมีความสำคัญระดับสูง ผลจากการศึกษาในครั้งนั้นพบว่า ‘วัฒนธรรมเป่ยหนาน’ (Peinan Culture) จัดอยู่ในสมัยหินใหม่ มีอายุระหว่าง 2,500-6,000 ปีมาแล้ว ครอบคลุมพื้นที่ราว 1 ล้านตารางเมตร หรือครอบคลุมเกือบทั้งเขตการปกครองเลยทีเดียว 

 

โลงหินที่พบเท่าที่มีการขุดค้นไปแล้วมีมากกว่า 1,500 โลง ทิศทางการฝังโลงมีทิศใต้-ตะวันตกเฉียงใต้ หรือทิศเหนือ-ตะวันออกเฉียงเหนือ โลงศพประมาณ 895 โลงใช้สำหรับการฝังศพคนตายเพียงหนึ่งคน โลงที่เหลืออีกราว 20% เป็นโลงสำหรับฝังศพมากกว่า 1 คนในโลงเดียวกัน บางโลงมีขนาดใหญ่มากและใช้ฝังศพมาหลายช่วงเวลาด้วยกัน โลงนี้จึงเป็นโลงศพประจำครอบครัว แต่ก็มีบางโลงที่พบฟันเพียงซี่เดียว หรือบางโลงไม่มีศพอยู่ภายใน ซึ่งข้อมูลนี้สำคัญสำหรับผม เพราะทำให้คิดว่าต้องมีความเชื่อมโยงอะไรบางอย่างกับวังประจบ 

 

ภาพจำลองการทำโลงศพของคนในวัฒนธรรมเป่ยหนานเมื่อ 5,000 ปีที่แล้ว

 

โลงศพหินที่ขุดพบในเมืองเป่ยหนาน จัดแสดงอยู่ในพื้นที่
อุทยานก่อนประวัติศาสตร์เป่ยหนาน (Peinan Site Park)

 

ผลจากการศึกษามาอย่างยาวนานของนักโบราณคดีไต้หวันนั้นพบว่าวัฒนธรรมเป่ยหนานมีจุดเด่นอยู่ตรงที่ 

1.การประกอบพิธีกรรมเกี่ยวกับความตายด้วยการทำโลงศพจากแผ่นหินขนาดใหญ่บ้างเล็กบ้างมาเรียงต่อกันเป็นโลงรูปสี่เหลี่ยม โลงพวกนี้ทำจากหินชนวน (วังประจบใช้หินฟิลไลต์) 

2.การใช้เครื่องมือหิน ขวานหินขัด (จึงจัดเป็นวัฒนธรรมสมัยหินใหม่)

3.การใช้ลูกปัด กำไล จี้รูปคน เครื่องประดับที่ทำจากหินชนิดต่างๆ และหยก ซึ่งหยกนี้เป็นที่นิยมมาก

4.มีประเพณีการทำหินตั้ง คือแผ่นหินขนาดเล็กและใหญ่ที่ปักลงไปในดินแล้วให้ตั้งขึ้น เพื่อใช้รำลึกถึงผู้ตายหรือบรรพบุรุษ จากหลักฐานการขุดค้นทางโบราณคดีพบว่าหินตั้งนี้มักปักไว้กลางบ้านไม่ห่างจากโลงศพหินที่ฝังในตัวบ้านเช่นกัน

 

แนวคิดในการฝังศพที่คล้ายคลึงกับวัฒนธรรมเป่ยหนานนี้พบว่าต่อเนื่องลงมาถึงกลุ่มชนพื้นเมืองในเขตทางใต้ของเกาะไต้หวัน ได้แก่ ชาวรูไก (Rukai) และชาวไปวัน (Paiwan) ในพื้นที่ใกล้เคียงกับแหล่งโบราณคดีเป่ยหนาน ซึ่งเดิมทีคนเหล่านี้อยู่ใกล้กับทะเลมาก่อน แต่เมื่อกลุ่มชาวจีนค่อยๆ อพยพเข้ามาจึงต้องอพยพไปยังพื้นที่ใกล้กับภูเขา ซึ่งเรื่องการอพยพนี้เกิดขึ้นหลายร้อยปีมาแล้ว ก่อนที่พวกก๊กมินตั๋งจะเข้ามาเสียอีก 

 

หลุมขุดค้นทางโบราณคดีแสดงพื้นที่อยู่อาศัยโบราณของคนในวัฒนธรรมเป่ยหนาน ซึ่งใช้หินมาก่อเป็นผนังบ้านและทางเดิน 

 

ชาวรูไกและชาวไปวัน 

บนเกาะไต้หวันนี้ นอกเหนือไปจากคนจีนไต้หวันแล้วยังมีกลุ่มคนที่พูดภาษาตระกูลออสโตรนีเซียน (Austronesian) หรือก็คือตระกูลมาลาโย-โพลีนีเซียอีกถึง 27 กลุ่มภาษาหลัก ในแต่ละกลุ่มก็มีกลุ่มย่อยๆ ลงไปอีกมาก มีประชากรราว 8 แสนคน นักภาษาศาสตร์นั้นก็มีหลักคิดง่ายๆ อยู่อย่างหนึ่งว่าถ้าภาษาในพื้นที่หนึ่งมีความหลากหลายสูง (หลายภาษาถิ่น) ที่นั่นมักจะเป็นแหล่งต้นกำเนิดทางภาษา ดังนั้นจึงสรุปกันว่าไต้หวันคือต้นกำเนิดของภาษาออสโตรนีเซียน 

 

แต่ในตอนนั้นก็ได้แต่คาดการณ์ว่าคงเกิดขึ้นเมื่อหลายพันปีมาแล้ว จนมีการขุดค้นที่เป่ยหนานนี้เองที่ทำให้พบหลักฐานโบราณคดี ประเพณีฝังศพ และดีเอ็นเอที่ใกล้เคียงกับชนพื้นเมืองเดิมในปัจจุบันสองเผ่าคือรูไก (Rukai) และไปวัน (Paiwan) จึงนำไปสู่ข้อสรุปที่ชัดมากขึ้นว่าภาษาออสโตรนีเซียนนี้มีการใช้กันมาแล้วไม่ต่ำกว่า 6,000 ปี 

 

ชาวรูไกนี้เป็นกลุ่มคนที่พูดภาษาตระกูลออสโตรนีเซียน ประกอบด้วยภาษาย่อยมากถึง 6 กลุ่ม ได้แก่ บูได, ลาบวน, มากา, มันตัวรัน, ตานัน และโตนา ในบรรดาสำเนียงต่างๆ นี้ สำเนียงของกลุ่มตานันนั้นยังคงใช้กันอยู่ที่เมืองเป่ยหนาน คาดว่าภาษานี้แยกมาจากภาษาออสโตรนีเซียนโบราณเมื่อราว 5,000 ปีมาแล้ว ในภาพรวมทุกวันนี้มีคนพูดภาษารูไกเหลืออยู่สัก 10,000 คนเท่านั้น นับว่าภาษากำลังอยู่ในภาวะวิกฤต ในแง่ประเพณีที่น่าสนใจคือชาวรูไกมีประเพณีการสักตามร่างกายและมือ เป้าหมายคือเพื่อบ่งบอกว่าเป็นผู้ใหญ่แล้ว อีกทั้งยังเป็นการแสดงความกล้าหาญและอดทน เพราะสามารถทนความเจ็บปวดได้ 

 

แผนที่แสดงถิ่นฐานของชาวรูไกและชาวไปวัน 

(ภาพบน) หัวหน้าเผ่าชาวรูไก ถ่ายภาพก่อนปี 1947 ในช่วงที่ญี่ปุ่นเข้าไปปกครองไต้หวัน (ภาพ: wikipedia)

(ภาพล่าง) ครอบครัวชาวไปวัน ถ่ายภาพก่อนปี 1947 เช่นกัน (ภาพ: wikimedia commons)

 

ส่วนชาวไปวันเป็นกลุ่มที่พูดภาษาตระกูลออสโตรนีเซียนเช่นกัน ภาษาของชาวไปวันไม่วิกฤตเท่ากับชาวรูไก เพราะมีคนพูดได้มากถึง 1 แสนคน ประกอบด้วยสองกลุ่มย่อยคือราวัลและบุตซุล นามชาติพันธุ์ของชาวไปวันนั้นแปลว่า ‘มนุษย์’ สังคมของชาวไปวันเป็นสังคมแบบมีชนชั้นชัดเจนและมีประเพณีการแต่งงานเฉพาะในกลุ่ม ไม่อนุญาตให้แต่งงานนอกกลุ่ม จึงทำให้ยังคงรักษาวัฒนธรรมประเพณีได้อย่างเข้มแข็ง ชาวไปวันมีประเพณีการสักร่างกายเช่นเดียวกับชาวรูไก โดยสักเมื่ออายุราว 14-15 ปี เพื่อเป็นการเปลี่ยนผ่านจากเด็กไปสู่ความเป็นผู้ใหญ่ (ภาษาทางมานุษยวิทยาเรียกว่า Rite of passage) 

 

เรือจำลองของชนพื้นเมืองดั้งเดิมบนเกาะไต้หวัน จะเห็นได้ว่ามีความคล้ายคลึงกับเรือของคนในเขตหมู่เกาะแปซิฟิกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และอาจทำให้นึกถึงเรือกอและด้วย

 

ทุกวันนี้สถานการณ์ของภาษาออสโตรนีเซียนของไต้หวันนั้นไม่สู้ดีนัก มีภาษาที่ตายไปแล้วถึง 11 ภาษา และมีบางภาษาอยู่ในภาวะวิกฤต ด้วยปัญหาและความสำคัญดังกล่าว ทางองค์การยูเนสโกจึงประกาศให้ภาษาออสโตรนีเซียนในไต้หวันอยู่ในภาวะวิกฤต เพราะเกรงว่าในอนาคตจะไม่มีการรักษาภาษานี้ไว้ด้วยการเปลี่ยนแปลงทางสังคม

 

คาดว่าคนที่พูดภาษาบรรพบุรุษของออสโตรนีเซียนเริ่มอพยพออกจากเกาะไต้หวันไปยังที่ต่างๆ เมื่อราว 3,500-6,000 ปีมาแล้ว และเข้ามายังคาบสมุทรมลายูเมื่อประมาณ 2,500 กว่าปีที่แล้ว จัดอยู่ในกลุ่มภาษามาลาโย-โพลินีเซียตะวันตก (Bellwood 2009; Bundell 2009:xx) กลุ่มหนึ่งแยกไปตามหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก อีกกลุ่มแยกเข้าไปตามหมู่เกาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และไปไกลถึงเกาะมาดากัสการ์

 

ปัจจัยเกื้อหนุนที่ทำให้คนเหล่านี้สามารถอพยพไปยังเกาะต่างๆ ได้นั้นเป็นผลมาจากการรู้จักการเพาะปลูกข้าว (มีเสบียงเดินทาง) มีความรู้เรื่องดวงดาว การเดินเรือ การออกแสวงหาดินแดนใหม่นี้คงเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของประชากรช่วงยุคหินใหม่และความเชื่อบางประการ เช่น ที่เกาะฮาวายมีความเชื่อว่าการจะเป็นผู้นำได้นั้นจะต้องมีดินแดนเป็นของตนเอง 

 

มหาสมุทรแปซิฟิกเมื่อมองออกไปจากเมืองเป่ยหนาน

 

ด้วยความสำคัญของวัฒนธรรมเป่ยหนานและชนเผ่าดั้งเดิมที่สัมพันธ์กับความเป็นมาของไต้หวันนี้เอง จึงเป็นที่มาของการสร้างพิพิธภัณฑ์ก่อนประวัติศาสตร์แห่งชาติ (National Museum of Prehistory) เมื่อปี 2002 หลังการค้นพบวัฒนธรรมเป่ยหนาน พิพิธภัณฑ์แห่งนี้มีขนาดใหญ่ จัดแสดงเรื่องราวก่อนประวัติศาสตร์ทั้งหมดของไต้หวันและเรื่องของชนพื้นเมืองดั้งเดิมทั้ง 16 เผ่าสำคัญ นอกจากนี้ที่เขตปกครองไถตงยังมีอุทยานก่อนประวัติศาสตร์ที่จัดแสดงหลักฐานทางโบราณคดีของวัฒนธรรมเป่ยหนานและงานประเพณีชนเผ่าประจำปีอีกด้วย 

 

พิพิธภัณฑ์ก่อนประวัติศาสตร์แห่งชาติเมืองไถตง ประเทศไต้หวัน

 

รัฐบาลไต้หวันนั้นให้ความสำคัญกับชาติพันธุ์มาก พิสูจน์ได้จากที่ไทเปมีพิพิธภัณฑ์ชุ่นอี้ ชนพื้นเมืองบนเกาะฟอร์โมซา (Shung Ye Museum of Formosan Aborigines) อีกด้วย ซึ่งนำเสนอชาติพันธุ์ต่างๆ ในไต้หวันทั้งที่อยู่ใกล้ทะเลและบนภูเขา หรือพิพิธภัณฑ์ของชนเผ่าอตายัล (Wulai Atayal Museum) และพิพิธภัณฑ์มานุษยวิทยาอีกด้วย ไทเปจึงไม่ได้มีดีแค่พิพิธภัณฑ์พระราชวังหลวง (Palace Museum) และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติไต้หวันเท่านั้น โดยแนวคิดการสร้างพิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์ในไต้หวันนั้นไม่ได้เกิดขึ้นจากวัตถุประสงค์ด้านการท่องเที่ยวหรือตำแหน่งที่ตั้งที่ทำให้ต้องมีพิพิธภัณฑ์เท่านั้น แต่เป็นผลมาจากนโยบายในการสร้างความเป็นไต้หวันผ่านพิพิธภัณฑ์ที่มองว่าความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้นั้นต้องรู้จักและเข้าใจความหลากหลายทางชาติพันธุ์และวัฒนธรรม เพราะหากไม่รู้จักกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ แล้วย่อมก่อให้เกิดความเป็นอื่น (Otherness) ขึ้นด้วย ด้วยเหตุนี้เวลาเข้าไปยังพิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์บางแห่งจะพบว่าได้รวมเอาคนจีน (ไต้หวัน) เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการด้วย เพื่อให้พิพิธภัณฑ์เป็นพื้นที่แห่งความเท่าเทียมนั่นเอง 

 

ทุกวันนี้ผมก็ยังไม่แน่ใจว่าวัฒนธรรมวังประจบนั้นเชื่อมโยงกับที่เป่ยหนานมากแค่ไหน ผมเคยนำเสนองานให้นักโบราณคดีไต้หวันดู ซึ่งเขาบอกว่ามีอะไรหลายอย่างที่น่าจะเชื่อมโยงกัน ผมคงต้องค้นคว้าต่อไปในอนาคต แต่ที่แน่ๆ ก็คือบรรพชนของชาวมลายูนั้นมาจากไต้หวันเมื่อหลายพันปีมาแล้วแน่นอน ผมขอจบลงที่การเสนอความเห็นว่าในประเทศไทยเราควรก็มีพิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์ ไม่ใช่มีเฉพาะพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ใช้จัดแสดงโบราณวัตถุเป็นหลักเท่านั้น แน่นอนครับ ไม่ใช่ว่าเราไม่มีพิพิธภัณฑ์ทำนองนี้อยู่ แต่ถ้าสำรวจกันจะเห็นได้ว่าค่อนข้างเกี่ยวข้องกับการเมืองหรือการโหยหาอดีต เช่น พิพิธภัณฑ์ชาวเขาที่เชียงใหม่ หรือพิพิธภัณฑ์ไทยทรงดำเขาย้อยที่เพชรบุรี ดังนั้นพิพิธภัณฑ์เหล่านี้จึงมีหน้าที่อื่นทางสังคมและชาติ ถ้าเราอยากเห็นสังคมที่คนไทย (ในความหมายของพลเมือง) มีความเคารพซึ่งกันและกันและเข้าใจความหลากหลายทางชาติพันธุ์ พิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์คือคำตอบหนึ่งของกระบวนการสร้างความเท่าเทียมกันทางสังคม และทำให้ความเป็นไทยไม่ผูกติดกับ ‘คนไทย’ เช่นทุกวันนี้ครับ  

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising