SpaceX ประสบความสำเร็จในการนำส่งยาน Starship เดินทางขึ้นจากฐานปล่อย ในภารกิจการทดสอบครั้งที่ 3 ระหว่างขึ้นบินจริง
แม้ในท้ายที่สุดทั้งบูสเตอร์ Super Heavy (ส่วนที่ 1) และยาน Starship (ส่วนที่ 2) จะจบลงด้วยการระเบิดลงก่อนถึงมหาสมุทร แต่การทดสอบครั้งนี้ก็ยังเป็นความสำเร็จสำหรับ SpaceX เมื่อพิจารณาถึงความคืบหน้าของการพัฒนา Starship จากแต่ละเที่ยวบินทดสอบ รวมถึงข้อมูลที่พวกเขาได้รับจากการนำยานไปขึ้นบินในสถานการณ์จริง
เที่ยวบินทดสอบครั้งที่ 3 ของ Starship เริ่มต้นเมื่อวันที่ 14 มีนาคม เวลา 20.25 น. ตามเวลาประเทศไทย โดยเครื่องยนต์ Raptor ทั้ง 33 ตัวของบูสเตอร์ Super Heavy ได้สร้างแรงขับสูงสุด 74.4 ล้านนิวตัน เพื่อนำพาจรวด Starship สูง 121 เมตร ทะยานขึ้นจากฐานปล่อย Starbase ที่รัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา ได้สำเร็จ
ในระหว่างภารกิจ SpaceX ได้ทดสอบการทำ ‘Hot-Stage Separation’ หรือเริ่มการเดินเครื่องยนต์ของยาน Starship ในส่วนบน ก่อนจะแยกตัวออกจากบูสเตอร์ Super Heavy เบื้องล่าง เช่นเดียวกับการทำ ‘Boostback Burn’ เพื่อส่งตัวบูสเตอร์เดินทางกลับมายังจุดลงจอดในอ่าวเม็กซิโก
แม้บูสเตอร์ Super Heavy จะแตกออกเป็นเสี่ยงที่ความสูงราว 462 เมตรจากระดับน้ำทะเล แต่ถือเป็นครั้งแรกที่ SpaceX ได้ทดสอบการจุดเครื่องยนต์ เพื่อทำ ‘Landing Burn’ ชะลอความเร็วก่อนนำบูสเตอร์กลับมาลงจอด ซึ่งเป็นหลักการคล้ายกันกับการนำบูสเตอร์ส่วนแรกของจรวด Falcon 9 กลับมาลงจอดในปัจจุบัน ต่างแค่ Super Heavy เพียงส่วนเดียวนั้นมีความสูงถึง 71 เมตร หรือสูงกว่าจรวด Falcon 9 ทั้งลำเสียอีก
ด้านยาน Starship ในส่วนบนที่สามารถเดินเครื่องยนต์ จะเดินทางไปถึงวงโคจรที่ถูกวางไว้ตามแผนภารกิจได้สำเร็จ ถือเป็นครั้งแรกในการทดสอบของ SpaceX เช่นเดียวกับการสาธิตระบบขนถ่ายเชื้อเพลิงในอวกาศ และการเปิด-ปิดประตูเก็บสัมภาระระหว่างอยู่นอกโลก
โดยสิ่งสำคัญที่สุดจากภารกิจครั้งนี้เกิดขึ้นในช่วงนาทีที่ 46 ของการทดสอบ เมื่อยาน Starship ค่อยๆ ลดระดับกลับสู่บรรยากาศโลก (แบบที่ยังเป็นยานลำเดียวอยู่) ได้เป็นครั้งแรก ถือเป็นการทดสอบสำคัญสำหรับระบบป้องกันความร้อนและระบบควบคุมยานในระหว่างกลับสู่บรรยากาศโลกที่หนาแน่น พร้อมกับเป็นครั้งแรกที่มีการถ่ายทอดสดระหว่างช่วงกลับสู่บรรยากาศ ผ่านเครือข่ายดาวเทียม Starlink ของบริษัท SpaceX
ในท้ายที่สุด ยาน Starship ได้แตกออกเป็นเสี่ยงไปในนาทีที่ 49 ของภารกิจ หรือในระหว่างการกลับเข้าสู่บรรยากาศโลก แม้ยานยังไม่สามารถกลับมาลงจอดเหนือมหาสมุทรได้ตามแผนที่วางไว้ แต่การทดสอบครั้งนี้ถือเป็นภารกิจที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดของ SpaceX นับตั้งแต่เริ่มโครงการ Starship มา
เนื่องจาก SpaceX เป็นบริษัทเอกชนที่มีแนวทางพัฒนาจรวดและเทคโนโลยีด้วยการนำไปทดสอบในสถานการณ์จริง เพื่อนำบทเรียนจากความผิดพลาดมาเป็นองค์ความรู้ในการพัฒนายานเป็นลำดับต่อไป ทำให้แม้ภารกิจการทดสอบจรวด Starship ทั้งสามครั้งจะจบลงด้วยการสูญเสียทั้งส่วนของบูสเตอร์และยาน แต่ข้อมูลจากความล้มเหลวเหล่านี้ถือเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้วิศวกรและเจ้าหน้าที่ของพวกเขานำไปใช้แก้ปัญหาต่อได้
แนวทางดังกล่าวจะแตกต่างจากการทำงานของ NASA หรือหน่วยงานอวกาศของรัฐที่จำต้องทดสอบและสาธิตแต่ละองค์ประกอบของจรวดหรือยานอวกาศให้เรียบร้อยเสียก่อน
ลิซ่า วัตสัน-มอร์แกน ผู้จัดการโครงการ Human Landing System หรือ HLS ของ NASA ระบุว่า “ในแต่ละเที่ยวบินทดสอบ SpaceX ได้ยกระดับเป้าหมายที่พวกเขาตั้งไว้กับยาน Starship เพื่อพยายามเรียนรู้ข้อมูลให้ได้มากที่สุด เพื่อนำไปพัฒนาต่อในภารกิจถัดไป ซึ่งความสามารถในการทดสอบระบบสำคัญในสถานการณ์จริง ช่วยให้ทั้ง NASA และ SpaceX ได้ข้อมูลสำคัญเพื่อนำไปพัฒนายาน Starship เวอร์ชัน HLS ต่อได้”
ยาน Starship เวอร์ชัน HLS จะเป็นยานลงดวงจันทร์ของภารกิจอาร์ทีมิส 3 ที่ NASA วางแผนส่งนักบินอวกาศเดินทางกลับไปลงจอดบริเวณขั้วใต้ดวงจันทร์ในเดือนกันยายน 2026 ที่จะมาถึง ถือเป็นภารกิจการส่งนักบินอวกาศกลับไปลงจอดบนดวงจันทร์ครั้งแรกของสหรัฐอเมริกา นับตั้งแต่อพอลโล 17 ได้ทำไว้ในเดือนธันวาคม 1972
นอกจากนี้ SpaceX ยังวางแผนให้ยาน Starship เป็นระบบขนส่งอวกาศที่สามารถนำกลับมาใช้งานใหม่ได้ 100% นั่นคือทั้งส่วนของบูสเตอร์ Super Heavy และยาน Starship จะกลับมาลงจอดเติมเชื้อเพลิงและทำการซ่อมบำรุง ก่อนขึ้นบินไปอวกาศได้อีกหลายครั้ง เพื่อเป็นรากฐานสำคัญในการนำส่งนักบินอวกาศ ดาวเทียม และสิ่งของต่างๆ ขึ้นสู่วงโคจรรอบโลก โดยมีค่าใช้จ่ายที่ลดลงจากในปัจจุบัน เช่นเดียวกับเป้าหมายในการมุ่งหน้าไปสู่ดวงจันทร์ ดาวอังคาร และแห่งหนอื่นในระบบสุริยะในสักวันหนึ่ง
ไม่มีใครทราบว่า SpaceX จะพา Starship ไปถึงเป้าหมายที่พวกเขาวางไว้ได้จริงไหม แต่จากความคืบหน้าที่เราได้เห็นในปัจจุบัน ตั้งแต่ช่วงที่โครงการยังเป็นแค่ไอเดียและภาพจำลอง มาจนถึงภารกิจทดสอบครั้งที่ 3 ก็ถือเป็นสัญญาณที่ดีเลยทีเดียว
ภาพ: SpaceX
อ้างอิง: