×

ทำไมโควิด-19 สายพันธุ์แอฟริกาใต้ถึงน่ากังวล

23.05.2021
  • LOADING...
โควิด-19 สายพันธุ์แอฟริกาใต้

 

สายพันธุ์ ‘อินเดีย’ ไม่ทันหาย สายพันธุ์ ‘แอฟริกาใต้’ ก็เข้ามาแทรก สายพันธุ์อินเดียพบครั้งแรกในแคมป์คนงานหลักสี่ กรุงเทพฯ แต่ครั้งนี้เกิดขึ้นที่ชายแดนไทย-มาเลเซีย 

 

เมื่อวานนี้ (22 พฤษภาคม) กลุ่มพันธมิตร COVID-19 Network Investigations (CONI) ได้รายงานการตรวจพบไวรัสโคโรนา 2019 สายพันธุ์แอฟริกาใต้ในประเทศไทยเป็นครั้งแรกที่ อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส ซึ่งเป็นการติดเชื้อต่อเนื่องจากผู้ลักลอบเข้าเมือง โดยตัวอย่างที่ CONI ได้รับเป็นตัวอย่างที่เก็บเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2564

 

สายพันธุ์แอฟริกาใต้เป็นสายพันธุ์ที่เราได้ยินจากข่าวมาระยะหนึ่งแล้ว และเริ่มมีการระบาดในมาเลเซียช่วงกลางเดือนเมษายน 2564 แต่สายพันธุ์นี้น่ากังวลแค่ไหน

 

สายพันธุ์นี้มีชื่อในระบบ Pango ว่า B.1.351 ค้นพบครั้งแรกในเขตเนลสัน แมนเดลา เบย์ ประเทศแอฟริกาใต้ ในเดือนตุลาคม 2563 มีการกลายพันธุ์หลายตำแหน่ง เช่น N501Y (เหมือนสายพันธุ์อังกฤษ) แต่ตำแหน่งที่สำคัญคือ E484K เพราะทำให้มีความสามารถในการหลบหนีภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์เดิมหรือแม้กระทั่งวัคซีน

 

#การแพร่กระจาย: ความสามารถในการแพร่กระจายเพิ่มขึ้น 50% เมื่อเทียบกับสายพันธุ์เดิมในแอฟริกาใต้ จากการประมาณโดยใช้แบบจำลองทางคณิตศาสตร์ แต่ถ้าข้อมูลจากการเฝ้าระวังสายพันธุ์ในสหราชอาณาจักรและสหรัฐฯ ซึ่งมีการระบาดของทั้งสายพันธุ์อังกฤษและแอฟริกาใต้ สังเกตว่าสายพันธุ์อังกฤษมีสัดส่วนมากกว่า (เร็วกว่า) หลายเท่า

 

#ความรุนแรง: ยังไม่มีข้อมูลจากงานวิจัย 

 

#การตรวจหาเชื้อ: ไม่มีผลต่อการตรวจหาเชื้อ

 

#ประสิทธิภาพของวัคซีน: ลดลงทุกยี่ห้อ แต่ไม่เท่ากัน ดังนี้ 

 

  • วัคซีน Pfizer-BioNTech มีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อแบบมีอาการ 75.0% แต่ป้องกันอาการรุนแรง/เสียชีวิต 100.0% (การศึกษาในกาตาร์)
  • วัคซีน Johnson & Johnson มีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อระดับปานกลางขึ้นไป 52.0% แต่ป้องกันอาการรุนแรง/เสียชีวิต 73.1% (การศึกษาในแอฟริกาใต้)
  • วัคซีน AstraZeneca มีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อแบบมีอาการ 10.4% แต่ไม่สามารถประเมินการป้องกันอาการรุนแรงได้ เนื่องจากไม่มีผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง (การศึกษาในแอฟริกาใต้)
  • วัคซีน Sinovac มีผลการศึกษาในห้องทดลองว่าน้ำเหลืองของผู้ที่ได้รับวัคซีนมีความสามารถในการยับยั้งสายพันธุ์แอฟริกาใต้ลดลง 70% เมื่อเทียบกับสายพันธุ์เดิม

 

หากเรียงลำดับความสามารถในการหลบหนีภูมิคุ้มกันจะได้ว่า

สายพันธุ์แอฟริกาใต้ (B.1.351) > สายพันธุ์บราซิล (P.1) > สายพันธุ์อังกฤษ (B.1.1.7) 

 

นอกจากนี้ในสหรัฐฯ ยังพบการติดเชื้อสายพันธุ์แอฟริกาใต้ในกลุ่มที่ได้รับวัคซีนแล้ว (Breakthrough Case) อีกด้วย ดังนั้นความน่ากังวลสำหรับสายพันธุ์แอฟริกาใต้จึงเป็นเรื่องวัคซีนเป็นหลัก แต่สำหรับวัคซีน Pfizer ยังสามารถป้องกันอาการรุนแรงได้ (รวมถึง Johnson & Johnson) และบริษัทกำลังศึกษาวัคซีนรุ่น 2 เพื่อป้องกันสายพันธุ์นี้

 

สำหรับประเทศไทย มีอย่างน้อย 3 มาตรการที่รัฐบาลควรทำเพื่อจัดการกับสายพันธุ์แอฟริกาใต้ (ทำเลย ไม่จำเป็นต้องรอยืนยันว่าใช่สายพันธุ์แอฟริกาใต้หรือไม่) คือ 

 

(1) การควบคุมการระบาดของสายพันธุ์แอฟริกาใต้ให้อยู่ในวงจำกัด ควรสนับสนุนการตรวจหาเชื้อ การสอบสวนโรค และการแยกผู้ป่วย/ผู้สัมผัส (TTI) ให้ครอบคลุมที่สุด และจัดตั้งระบบการเฝ้าระวังสายพันธุ์ใหม่ในระดับเขตสุขภาพ เพราะในครั้งนี้เป็นการส่งตรวจกับ CONI แทนที่จะเป็นหน่วยงานหลักอย่างกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์

 

(2) การแก้ไขปัญหาการลักลอบเข้าเมือง การตรวจพบสายพันธุ์อินเดียและแอฟริกาใต้ในเวลาใกล้เคียงกันสะท้อนว่ามาตรการพรมแดนยังไม่ได้ผล จึงอาจอำนวยความสะดวกให้นายจ้างนำเข้าแรงงานให้ถูกกฎหมาย แล้วมีมาตรการกักตัวก่อนเข้าทำงาน เช่น OQ และให้ผู้ที่ลักลอบออกนอกประเทศกลับเข้ามาผ่านด่านพรมแดนเพื่อกักตัวใน LQ 

 

(3) การจัดหาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ เนื่องจากสายพันธุ์แอฟริกาใต้ดื้อต่อวัคซีนหลักของไทยคือ AstraZeneca และ Sinovac ดังนั้นรัฐบาลต้อง ‘ปรับพอร์ต’ กระจายความเสี่ยงโดยจัดหาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพต่อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ เช่น วัคซีน Pfizer มากขึ้น หรือเปลี่ยนวัคซีน Moderna จากวัคซีนทางเลือกมาเป็นวัคซีนหลักก่อน

 

สายพันธุ์ ‘อินเดีย’ ไม่ทันหาย สายพันธุ์ ‘แอฟริกาใต้’ ก็เข้ามาแทรก ท่ามกลางสายพันธุ์ ‘อังกฤษ’ ที่ระบาดอยู่ในประเทศไทย สำหรับประชาชนทั่วไป ระหว่างที่ยังรอฉีดวัคซีน (หวังว่าวัคซีนทุกยี่ห้อจะสามารถป้องกันอาการรุนแรง/เสียชีวิตได้) การสวมหน้ากากอนามัย การเว้นระยะห่างจากผู้อื่น และการล้างมือบ่อยๆ ยังคงป้องกันได้กับทุกสายพันธุ์

 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising