×

ไอติม พริษฐ์ เปิดตัวหนังสือเล่มแรกของชีวิต ‘Why So Democracy ประชาธิปไตยมีดีอะไร?’

โดย THE STANDARD TEAM
21.10.2019
  • LOADING...
พริษฐ์ วัชรสินธุ

ไอติม-พริษฐ์ วัชรสินธุ อดีตผู้สมัคร ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ เปิดตัวหนังสือ ‘Why So Democracy ประชาธิปไตยมีดีอะไร?’ หนังสือเล่มแรกในชีวิตของเจ้าตัว พร้อมเปิดเวทีพูดถึงเรื่องของสถานการณ์การเมือง ประชาธิปไตยในปัจจุบันของประเทศไทย 

 

ไอติม บอกว่า เมื่อพูดถึงประชาธิปไตยตนจะแบ่งออกเป็น 2 มิติ มิติแรกคือเรื่องของระบบ หมายความว่ากฎกติกาที่ถูกกำหนดโดยรัฐธรรมนูญของประเทศไทยในปัจจุบัน มีความเป็นประชาธิปไตยมากน้อยแค่ไหน มิติที่สองคือ ด้านของวัฒนธรรม หมายความว่า ไม่ว่ารัฐธรรมนูญจะถูกเขียนอย่างไร ประชาชนทั่วไปในแต่ละมิติ  เข้าใจประชาธิปไตยมากน้อยแค่ไหน เคารพความแตกต่าง เชื่อมั่น ศรัทธาในประชาธิปไตยมากน้อยแค่ไหน

 

ถ้าพูดถึงในระบบต้องยอมรับว่าสถานการณ์ความเป็นประชาธิปไตยของไทยในปัจจุบันค่อนข้างอยู่ในสภาวะที่ถดถอย รัฐธรรมนูญปัจจุบันมีหลายๆ ปัญหาที่คิดว่าสังคมเริ่มตั้งคำถาม ตั้งแต่การเลือกตั้งที่มีระบบบัตรใบเดียว ที่ทำให้คนถูกบังคับว่าต้องเลือก ส.ส. เขต กับพรรคการเมืองที่ชอบจากพรรคเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นการคำนวณ ส.ส. บัญชีรายชื่อ ที่ก็มีคนตั้งคำถามเยอะว่า ทำไมได้คะเเนนน้อย แต่กลับมี ส.ส. เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นรายละเอียดที่สามารถถกเถียงกันได้ ว่าควรจะเป็นบัตรใบเดียวบัตรสองใบ แต่สิ่งที่คิดว่าเป็นอุปสรรคมากที่สุดต่อระบบปัจจุบันที่ยังไม่เป็นประชาธิปไตยคือเรื่องของวุฒิสภา

 

เมื่อถามถึงหน้าตาประชาธิปไตยที่ควรจะอยู่ในศตวรรษที่ 21 ไอติมแสดงความคิดเห็นว่า เราอยู่ในศตวรรษที่ 21 มาสักพักแล้ว ถ้ามองว่าอนาคตประชาธิปไตยเป็นอย่างไร ตนมองในเรื่องการเชื่อมโยงกับเทคโนโลยี เพราะเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงเร็วที่สุดในช่วงสิบปีที่ผ่านมา

 

เมื่อถามว่าเทคโนโลยีมาเปิดประตูอะไรบ้างให้กับวิวัฒนาการของประชาธิปไตย ย้อนกลับไปอดีตประชาธิปไตยเริ่มต้นจากความคิดที่ต้องเป็นระบบประชาธิปไตยโดยตรง แต่ผ่านมาสักพักเกิดปัญหาเพราะทุกคนไม่ได้มีเวลามานั่งประชุมถกเถียงกัน เช่น ถ้าทุกคน 60 ล้านคนต้องไปอยู่ประชุมสภาในช่วงสองสามวันที่ผ่านเศรษฐกิจคงหยุดทันที

 

เพราะฉะนั้น จึงมีนวัตกรรมใหม่ที่เรียกว่า ส.ส. เลือกคนเข้าไปทำหน้าที่แทน แต่ก็เริ่มเจอความท้าทาย เพราะบางที ส.ส. ที่เลือกเข้าไปไม่ได้โหวตตรงใจ ฉะนั้นในความไม่พอใจในตัวนักการเมืองในตัว ส.ส. จึงเริ่มทำให้คนเรียกร้องประชาธิปไตยโดยตรงกลับมา

 

ในสหราชอาณาจักร 3 ปีที่ผ่านมา มีหลายมิติมากกว่าแค่มาโหวตว่า ใช่หรือไม่ใช่ เกิดเป็นความคิดประชาธิปไตยรูปแบบใหม่ เรียกว่า ประชาธิปไตยแบบลื่นไหล (Liquid Democracy) ที่พยายามเอาข้อดีของทั้งสองแบบมารวมกัน สามารถแยกได้ว่าสิทธิในการโหวตเรื่องเศรษฐกิจจะโอนให้ตัวแทนคนใด สิทธิในการโหวตเรื่องสิ่งแวดล้อมจะให้ใครเป็นตัวแทน ถ้าผ่านไปสิบวันตัวแทนทำหน้าที่พอใจไม่พอใจ ก็สามารถดึงสิทธิกลับมาได้

 

ในอดีตพูดเรื่องนี้คนจะหัวเราะ แต่ปัจจุบันมีหลายประเทศในทวีปยุโรปเริ่มทดลองนวัตกรรมเหล่านี้ขึ้นมา ซึ่งสิ่งที่ทำให้เป็นไปได้ ก็คือเรื่องของเทคโนโลยี และแพลตฟอร์มที่สามารถให้คนโอนสิทธิ์ไปมาได้

 

แต่เมื่อพูดถึงเรื่องเทคโนโลยี ก็จะมีเรื่องของความเหลื่อมล้ำเข้ามาเกี่ยวข้อง ไอติมพูดถึงมุมนี้ว่า ในมุมหนึ่ง เทคโนโลยีก็ทำให้คนเข้าถึงอะไรหลายๆ อย่างมากขึ้น เทคโนโลยีสามารถทำให้เด็กที่อาจจะไม่ได้เรียนอยู่ในโรงเรียนที่มีคุณภาพดีสามารถเข้าถึงการเรียนการสอนที่มีคุณภาพผ่านทางโทรศัพท์มือถือได้ เทคโนโลยีทำให้คนที่อาจจะอยู่ในสังคมชนบทที่ไม่ได้มีโรงพยาบาลใหญ่สามารถปรึกษาแพทย์ที่อยู่ในสังคมเมืองได้

 

แต่ในอีกมุมหนึ่ง ถ้ามุ่งเน้นโอนบริการทุกอย่างไปอยู่บนโลกออนไลน์ก็จะสร้างสิ่งที่เรียกว่า Digital Divide หรือความเหลื่อมล้ำของดิจิทัล ซึ่งกลายเป็นว่าถ้าเราไม่มีตัวเลือกของคนสูงอายุที่ใช้เทคโนโลยีไม่เป็น หรือคนที่ไม่สามารถเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานได้ มันกลับไปตอกย้ำความเหลื่อมล้ำ

 

เพราะฉะนั้น เวลาพูดถึงการทำเทคโนโลยีลดความเหลื่อมล้ำ มันต้องเริ่มจากการ  วางโครงสร้างพื้นฐานให้ทุกคนสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ สามารถเข้าถึงบริการเหล่านี้ได้

 

“ศตวรรษที่ 21 ผมคิดว่ามันจะมีอะไรมากกว่าประชาธิปไตย อย่างที่บอก สังคมที่ก้าวหน้า ประธิปไตยต้องเป็นเหมือนออกซิเจน ต้องเป็นอะไรที่อยู่โดยไม่มีไม่ได้ และควรจะซึมซับทุกมิติของสังคม ผมคิดว่าประเทศไทยมีปัญหาหลายอย่างที่พยายามจะแก้ นอกจากประชาธิปไตย หรือความเหลื่อมล้ำ เช่น เรื่องของสิ่งแวดล้อมการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ การลดมลพิษ ลดการผลิตคาร์บอนไดออกไซด์ ท้ายสุดผมจึงบอกว่าการพัฒนาประชาธิปไตยที่เข้มแข็งต้องควบคู่กับการหาคำตอบด้านอื่นของสังคมด้วย” ไอติมกล่าวในที่สุด

 

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising