รัฐวิสาหกิจใหญ่ของไทยที่พ่วงตำแหน่งสายการบินแห่งชาติอย่าง บมจ. การบินไทย (THAI) มีปัญหามาต่อเนื่องทั้งการขาดทุน ปัญหาเชิงโครงสร้าง ทำให้หลายฝ่ายมองว่า การบริหารขาดประสิทธิภาพ ล่าสุดการบินไทยเจอวิกฤตโควิด-19 ทำให้ปัญหาที่ซุกอยู่ใต้พรมล้นออกมา
ทว่าถ้าย้อนรอยดูการแก้ปัญหาการบินไทยครั้งที่ผ่านๆ มา จะเห็นว่ารัฐบาลเติมเงินทุนให้ต่อเนื่อง (กระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 51%) ส่วนปัญหาครั้งนี้ช่วง สัปดาห์ที่ผ่านมา มีข่าวว่ารัฐบาลอาจจะค้ำประกันเงินกู้ให้การบินไทยในวงเงิน 5 หมื่นล้านบาท แต่ล่าสุดกลับมีข่าวว่ารัฐบาลอาจสั่งให้การบินไทยต้องทำแผนฟื้นฟูแบบจริงจัง คือต้องเข้ากระบวนการกฎหมายล้มละลาย ซึ่งเจ้าหนี้จะกลายเป็นหัวหลักสำคัญในการฟื้นฟูกิจการกลับมาได้
แต่การแก้ปัญหาการบินไทยยังไม่ชัดเจน ทำให้ประชาชนที่มีส่วนเกี่ยวข้องทางอ้อมและทางตรงกับการบินไทยต้องคิดหนัก เพราะมีสหกรณ์ถึง 74 แห่งที่ลงทุนในการบินไทย (เช่น หุ้นกู้และหุ้นสามัญ) คิดเป็นมูลค่ากว่า 3.6 หมื่นล้านบาท ทำให้ประชาชนบางส่วนถอนเงินออกจากสหกรณ์ออมทรัพย์ฯ เพราะกลัวจะได้รับผลกระทบ
ปัญหาการบินไทยครั้งนี้จะลุกลามไปทั่วทั้งภาคการเงินหรือไม่?
สถานการณ์เรื่องเงินๆ ของการบินไทยเป็นอย่างไร?
ปัจจุบันการบินไทยจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของประเทศไทย (SET) โดยผลการดำเนินงาน 3 ปีที่ผ่านมา (ปี 2560-2562) ขาดทุนมาต่อเนื่อง โดยปี 2562 ขาดทุนสุทธิ 12,042 ล้านบาท ปี 2561 ขาดทุนฯ 11,625 ล้านบาท และปี 2560 ขาดทุนฯ 2,107 ล้านบาท
หากดูสินทรัพย์รวมของการบินไทยปี 2562 อยู่ที่ 256,665 ล้านบาท โดยหนี้สินรวมอยู่ที่ 244,899 ล้านบาท ถือว่าสถานการณ์การบินไทยจวนจะติดลบเต็มที หากจะดูด้านรายได้รวมของการบินไทยปี 2562 อยู่ที่ 15,454 ล้านบาท ลดลง 7.7% จากปี 2561 สาเหตุเพราะรายได้ค่าโดยสารและค่าน้ำหนักส่วนเกินทั้งภูมิภาคเอเชีย ข้ามทวีป ภายในประเทศ และเที่ยวบินไม่ประจำลดลงทุกหมวด
แม้ว่าจำนวนผู้โดยสารปี 2562 จะเพิ่มขึ้น 0.8% แต่ต้องดูกันที่ EBITDA (กำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย) ซึ่งเป็นตัวเลขวัดความสามารถว่าบริษัททำกำไรได้ดีเท่าไร โดยปี 2562 การบินไทยมี EBITDA 8,804 ล้านบาท ลดลง 39.3% เมื่อเทียบกับปี 2561
*ผลการดำเนินงานของการบินไทยไตรมาส 1/63 ยังไม่ออกมา เพราะขอเลื่อนส่งงบฯ ไว้ อ่านรายละเอียดได้ที่นี่
เมื่อข่าวไม่ชัดเจน สหกรณ์ฯ ออกประกาศปลอบสมาชิก ชี้แจงการลงทุนในการบินไทย
เบื้องต้นราคาหุ้นการบินไทยปรับลดลงอย่างต่อเนื่องนับจากปี 2560 (ปัจจุบันอยู่ที่ 4.78 บาทต่อหุ้น ลดลงจากปี 2559 ที่อยู่ 22.70 บาทต่อหุ้น) แต่อีกผลกระทบที่เกิดขึ้นคือ ความกังวลในกลุ่มสหกรณ์กว่า 74 แห่งที่ลงทุนในการบินไทย ทำให้ประชาชนบางส่วนถอนเงินออกจากสหกรณ์ออมทรัพย์ฯ เพราะกลัวจะได้รับผลกระทบ
หนึ่งใน 74 สหกรณ์ที่ลงทุนในการบินไทยนั้นมี สหกรณ์ออมทรัพย์การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยจำกัด (สอ.กฟผ.) สหกรณ์ออมทรัพย์พนักงานธนาคารแห่งประเทศไทย (สอ.ธปท.) ที่ออกมาชี้แจงต่อสมาชิกในสหกรณ์ของตน
ด้าน สอ.กฟผ. ออกประกาศมาชี้แจงว่า เข้าลงทุนใน THAI มาตั้งแต่ปี 2547 มูลค่ารวม 8,324 ล้านบาท แบ่งเป็นหุ้นกู้ 8,236 ล้านบาท และหุ้นสามัญ 88 ล้านบาท ซึ่งการบินไทยเป็นรัฐวิสาหกิจ และรัฐบาลให้การสนับสนุนทางการเงินที่เพียงพอกับการบินไทยมาต่อเนื่อง
ทั้งนี้ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ที่บริหารกองทุนส่วนบุคคลให้ สอ.กฟผ. ให้มุมมองว่า ประเด็นการบินไทยครั้งนี้ ในช่วง 1-2 ปีนี้ ไม่น่าจะเกิดปัญหาต่อตราสารหนี้ แต่ระยะยาวต้องขึ้นอยู่กับผลการดำเนินงานตามแผนฟื้นฟูกิจการ
ขณะที่ สอ.ธปท ชี้แจงว่าการลงทุนในหุ้นกู้การบินไทยรวม 705 ล้านบาท (ราคาหน้าตั๋ว) คิดเป็น 4.48% ของสินทรัพย์ทั้งหมด เป็นไปตามกรอบการลงทุนของ สอ.ธปท. เพราะการบินไทยได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่ระดับ A สูงกว่าเกณฑ์ พ.ร.บ. สหกรณ์ที่กำหนดว่า ให้ลงทุนได้ในระดับ A- ขึ้นไป
อย่างไรก็ตาม วันที่ 15 พฤษภาคมที่ผ่านมา พิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ แถลงข่าวกรณีสหกรณ์ออมทรัพย์นำเงินลงทุนในการบินไทยว่า ตอนนี้ทางการบินไทยอยู่ระหว่างรอความชัดเจนว่าภาครัฐจะมีผลการพิจารณาอย่างไร แต่เชื่อว่าไม่มีผลกระทบต่อการดำเนินการของสหกรณ์
บลจ. กสิกรไทย มองผลกระทบผู้ถือหุ้นสหกรณ์ได้ผลตอบแทนลดลง Finnomena เผย การบินไทยออกหุ้นกู้แล้ว 7.1 หมื่นล้านบาท
ชัชชัย สฤษดิ์อภิรักษ์ รองกรรมการผู้จัดการ สายงานจัดการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า ตลาดตราสารหนี้มี 2 ปัจจัยที่คนกังวลคือ 1. การผิดนัดชำระหนี้ (หุ้นกู้ครบกำหนดจ่ายคืน แต่บริษัทหุ้นกู้ที่ออกไม่จ่าย) และ 2. การที่อัตราดอกเบี้ยเปลี่ยนแปลงสูง โดยมองว่าปัจจุบันนักลงทุนมีความเข้าใจในการลงทุนตราสารหนี้หรือหุ้นกู้มากขึ้นว่าความเสี่ยงหลักอยู่ที่การผิดนัดชำระหนี้ เพราะเหตุการณ์เมื่อ 2 เดือนก่อนที่ตราสารหนี้ราคาลดลง และเป็นผลกระทบชั่วคราวเท่านั้น
“ตอนนี้มองว่าเครดิตในตลาดโอเคอยู่แล้ว สิ่งที่คนกังวลว่าการบินไทยจะกระทบวงกว้างไหม เพราะหากสหกรณ์ต่างๆ ที่ลงทุน (ในการบินไทย) อยู่ แล้วเกิดคนกังวลถอนเงินสหกรณ์ เงินจะมาจากไหน ดังนั้นทางสหกรณ์ต้องขายพันธบัตร ขายหุ้นกู้ไหม เท่าที่เราประเมินไม่ว่าการบินไทยจะเข้าหรือไม่เข้ากระบวนการฟื้นฟูฯ จะไม่กระทบการขายตราสารหนี้ เพราะในภาพรวมตัวสหกรณ์ลงทุนในหุ้นกู้การบินไทยไม่ถึง 5% ของทรัพย์สินทั้งหมด แต่จะกระทบกับคนที่ถือหุ้นสหกรณ์ที่จะได้เงินปันผลน้อยลง”
ทั้งนี้ หากสหกรณ์ถูกถอนเงินเยอะ อาจทำให้สหกรณ์ต้องกู้เงินไปจ่าย ดังนั้นอาจจะทำให้ผลตอบแทนของผู้ถือหุ้นในสหกรณ์ได้ผลตอบแทนน้อยลง ส่วนฝั่งกองทุนตราสารหนี้มองว่าจะไม่เกิดภาพเหมือน 2 เดือนก่อน เพราะนักลงทุนมีความเข้าใจว่า NAV (มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ) ที่แกว่งขึ้นลงตามผลตอบแทนที่ผันผวนในระยะนี้
เจษฎา สุขทิศ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้ก่อตั้ง บริษัท ฟินโนมีนา จำกัด (Finnomena) กล่าวว่า
หุ้นกู้การบินไทยมีทั้งหมด 46 รุ่น โดยมีมูลค่าทั้งหมดอยู่ที่ 71,608 ล้านบาท คิดเป็น 1.97% ของมูลค่าหุ้นกู้ไทย โดยหุ้นกู้ของ THAI ที่ได้รับการจัดอันดับค่อนข้างดีแม้ว่าหนี้สินสูง เพราะว่ามีรัฐเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่
สุดท้ายแล้ว การบินไทยจะหาทางทางออกในช่วงวิกฤตอย่างไร รัฐบาลจะใช้แนวทางใดเพื่อแก้ปัญหาระยะยาวให้สายการบินแห่งชาติ คงต้องติดตามกันต่อไป
อ่านข้อมูล รับฟังและรับชมข้อมูลที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมได้ที่
- https://thestandard.co/thestandarddaily13052563/
- https://thestandard.co/considering-that-thai-airways-has-entered-bankruptcy-law/
- https://thestandard.co/podcast/thesecretsauce-executive-espresso72/
อ้างอิง:
- botcoop.bot.or.th/Pages/default.aspx
- saving.egat.co.th/index.php/component/k2/item/824-2019-01-03-05-40-35
- investor.thaiairways.com/th
ห้ามพลาด! ฟอรัมที่เจาะลึก New Normal ที่ใหญ่ที่สุดในเมืองไทย จากวิทยากรระดับประเทศ 40 คน ซื้อบัตรงาน THE STANDARD ECONOMIC FORUM ที่ https://www.eventpop.me/e/8705-economic-forum